รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัตน์
ในระหว่างวันที่ 17 – 20 มกราคมที่ผ่านมา มีการประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอสประเทศสวิสเซอร์แลนด์ การประชุมครั้งนี้นับว่ามีความสำคัญมากด้วยเหตุผล 2 ประการ ประการแรก การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่คุยกันถึงอนาคตการเปลี่ยนแปลงของโลกภายใต้ชื่อ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (the 4th Industrial revolution) ซึ่งเป็นหัวข้อการประชุมที่ฮือฮาไปทั่วโลก เพราะการประชุมได้ชี้ให้เห็นถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีที่จะส่งผลกระทบกับสังคมรวมทั้งการเมืองทั่วโลก การประชุมที่ดาวอสครั้งนี้ถือเป็นการประชุมต่อเนื่องโดยมีหัวข้อการประชุมคือ “ผู้นำที่ตอบสนองและรับผิดชอบ” (responsive and responsible leaders) กล่าวคือ เป็นการปรึกษาหารือถึงบทบาทผู้นำทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ในการดำเนินยุทธศาสตร์ในการรองรับการเปลี่ยนแปลงของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4
การประชุมที่เมืองดาวอสครั้งนี้มีความสำคัญด้วยเหตุผลประการที่ 2 คือ สังคมโลกกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่เคยมีมาก่อนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สังคมโลกกำลังอยู่ในจุดของแรงกระเพื่อมอันเกิดจากการขยายตัวของการต่อต้านที่มีต่อโลกาภิวัตน์และการเปิดเสรี กระแสต่อต้านเหล่านี้คือ การขยายตัวของกลุ่มที่เรียกว่า “อุดมการณ์ประชานิยม” (Populism) ภาพฉายของขบวนการดังกล่าวคือ การขยายตัวของพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ขวาจัดซ้ายจัดในยุโรป และการชนะการเลือกตั้งของนาย Donald Trump ปรากฏการณ์ดังกล่าวยังขยายมาสู่เอเชียโดยเฉพาะชัยชนะและพฤติกรรมของนาย Duterte ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์
ในการประชุมที่ดาวอสครั้งนี้ จะเป็นการปรึกษาหารือในเรื่องของยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงที่จะตอบสนองต่อโลกยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 แนวคิดเรื่องการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 มาจากแนวคิดของนาย Klaus Schwab ผู้ก่อตั้ง World Economic Forum นาย Schwab ได้แบ่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็น 4 ยุค ดังนี้ ยุคที่ 1 คือยุค 1.0 เมื่อเกิดการประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำ 200 ปีที่ผ่านมา ยุคที่ 2 คือยุค 2.0 เมื่อมีการประดิษฐ์ไฟฟ้าเมื่อ 100 กว่าปีที่ผ่านมา ยุคที่ 3 คือยุค 3.0 เมื่อมีการประดิษฐ์คอมพิวเตอร์เมื่อทศวรรษ 1960 และยุคที่ 4 คือ ยุค 4.0 ซึ่งกำลังมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตคือการบรรจบกัน (Convergence) ของ 3 ระบบ ได้แก่ ระบบดิจิทัลซึ่งในปัจจุบันเรียกว่ายุค 3.5 กับระบบฟิสิกส์ และระบบเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotech) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการบรรจบกันของ 3 ระบบดังกล่าวทำให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ที่กระทบกับวิถีชีวิตของคนบนโลกอย่างถอนรากถอนโคน เช่น Internet of Things (IOT), 3D printing, Material science, Energy Storage, Robotics, Autonomous Vehicles, Artificial Intelligence, Sintech, Blockchain, Bitcoin
การขยายตัวของสิ่งประดิษฐ์และปรากฏการณ์ดังกล่าวจะนำไปสู่ทั้งด้านดีและด้านไม่ดี ด้านดีคือ มนุษย์จะอยู่อย่างสบายมากขึ้น อายุจะยืนยาวขึ้น การผสมผสานระหว่าง 3D printing กับ Biotech จะทำให้วงการแพทย์เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย เนื่องจากสามารถวิเคราะห์แนวโน้มของโรคภัยไข้เจ็บของมนุษย์ได้ล่วงหน้า และใช้สิ่งประดิษฐ์เทียมทดแทนอวัยวะของมนุษย์ได้ ในด้านลบ คนจะมีการตกงานขนานใหญ่ Robot จะเข้ามาแทนที่ คนใช้ พนักงาน รถที่ไม่มีคนขับจะทำให้คนขับแท็กซี่ตกงาน Blockchain และ Bitcoin ด้านหนึ่งจะทำให้คน 7,300 ล้านคนในปัจจุบันสามารถเข้าสู่ตลาดการเงินได้อย่างรวดเร็ว ต้นทุนถูก โดยผ่านสิ่งที่เรียกว่า Crowd funding แต่อีกด้านหนึ่งก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสถาบันการเงิน คนจะตกงานเป็นแถว บุคลากรต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบคิด (Mindset) อย่างรุนแรงในอนาคต โรงงานไฟฟ้า ปั๊มน้ำมัน จะอันตรธานหายไป เนื่องจากจะมีการเก็บสะสมพลังแสดงแดด และแจกจ่ายทั่วไปผ่านระบบ IT ในบริบทดังกล่าว ประเทศต่าง ๆ ที่พึ่งพาน้ำมันเป็นรายได้หลักก็ต้องเจอสภาพวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างไม่เคยมีมาก่อนและย่อมส่งผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ของสังคมโลก
การประชุมครั้งนี้จึงตั้งประเด็นประชุมไว้ 14 ประเด็นที่จะให้ผู้นำทางการเมือง นักธุรกิจ NGO สื่อมวลชน มาถกแถลงระดมความคิดร่วมกันว่าจะดำเนินยุทธศาสตร์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของการปฏิรูปอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 อย่างไร หัวข้อทางยุทธศาสตร์ที่มี 14 หัวข้อ ประกอบด้วย อนาคตของตลาดการเงิน อนาคตของการบริโภค อนาคตของพลังงาน อนาคตของความเท่าเทียมของสังคม อนาคตของการค้าการลงทุน และอื่น ๆ
ในการประชุมครั้งนี้ ประเด็นที่น่าสนใจมากคือ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้เข้าร่วมการประชุมและนับเป็นครั้งแรกที่ผู้นำระดับสูงสุดของจีนได้เข้าร่วม นายสี จิ้นผิงได้เสนอความเห็นในทำนองว่า โลกาภิวัตน์ซึ่งเป็นกระแสหลักของโลกจะต้องพัฒนาต่อไป แม้ทุกวันนี้จะมีภัยคุกคามจากกระแสต่อต้าน ความอยู่รอดของสังคมโลกจึงมิใช่การย้อนกลับไปสู่การกีดกันทางการค้า การใช้นโยบายชาตินิยม การมุ่งโจมตีประเทศอื่น หรือที่เรียกนโยบายนี้ว่า Beggar-Thy-Neighbor นอกจากนั้นสี จิ้นผิงยังแสดงถึงเจตจำนงและบทบาทของจีนว่า จะเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนกระแสหลักของโลกาภิวัตน์และการเปิดเสรีต่อไป
สุนทรพจน์ของนายสี จิ้นผิงมีเป้าประสงค์ 2 ประการ ประการแรกคือ เป็นการโจมตีนโยบายของ Donald Trump ที่มุ่งการกีดกันทางการค้าและยังมีท่าทีข่มขู่ประเทศอื่น ๆ นอกจากนั้น ท่าทีของสี จิ้นผิงยังเป็นการต่อต้านกระแสชาตินิยมที่ต่อต้านการรวมกลุ่มการเปิดเสรีในด้านสินค้า บริการ เงินทุน และแรงงานซึ่งนอกจากเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดของ Donald Trump แล้วยังเป็นอุดมการณ์ของพรรคขวาจัดซ้ายจัดที่กำลังได้คะแนนนิยมในสหภาพยุโรปและเอเชีย
ประการที่ 2 นายสี จิ้นผิงกำลังประกาศศักดาในการขยายบทบาทของจีนในการเป็นอภิมหาอำนาจโลกและจะทำหน้าที่เป็นผู้นำในด้านโลกาภิวัตน์และการเปิดเสรีแทนที่บทบาทของสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของ Donald Trump
โดยสรุป อาจกล่าวได้ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นภาพฉายของการเปลี่ยนแปลงทางด้านประชาสังคมที่มีผลกระทบต่อสังคมโลก เป็นภาพฉายของบทบาทของผู้นำที่ต้องมีการเตรียมยุทธศาสตร์ และสุดท้ายคือเป็นภาพฉายของการขยายบทบาทของจีนในบริบทที่สหรัฐอเมริกากำลังถดถอยลง