เรื่องเล่า SMEs : Go Inter กับ…ข้าวตังของดังเมืองเพชร : สุภาวดี เวศยพิรุฬห์

สุภาวดี เวศยพิรุณฬห์

เกือบ 10 ปีที่แล้ว(2551)เมื่อครั้งเป็นผู้อำนวยการ สถานีโทรทัศน์เพื่อผู้ประกอบการ SME 24 ชั่วโมงในนาม Smart SME Channel ในงานเปิดตัวสถานีผู้เขียนได้มีโอกาสพบปะกับผู้ประกอบการรายหนึ่งที่มาร่วมแสดงความยินดี  มาวันนี้ได้มีโอกาสพูดคุยถึงความก้าวหน้าของกิจการที่ก้าวสู่ทศวรรษที่ 3  ได้เห็นหัวใจความสำเร็จของสินค้าชุมชนที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งจนวันนี้ก้าวไกลสู่ตลาดส่งออก  จึงอยากนำมาถ่ายทอดเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับ SME ไทยได้เรียนลัดกันค่ะ

ตำนานเริ่มต้นจากก้นครัว

เพชรบุรีเมืองที่อุดมไปด้วยวัตถุดิบน้ำตาลโตนด (น้ำตาลจากต้นตาล) ทำให้เกิดแหล่งของหวานเลื่องชื่อประจำถิ่น   แม่บ้านผู้ใช้เวลาว่างนำข้าวติดก้นหม้อแซะออกเป็นแผ่นบางๆ ผึ่งแดดให้แห้งแล้วนำไปทอดให้พองฟูทำ “ขนมข้าวตัง” ให้ลูกหลานทานเล่นและยังแจกจ่ายบ้านใกล้เรือนเคียง   ด้วยรสชาดถูกลิ้นจนถูกบอกต่อและถามไถ่ขอซื้อไว้กินยามว่าง   เกิดการค้าเล็กๆจนกลายเป็นงานหลักหลังเออร์รี่รีไทล์จากอาชีพแม่พิมพ์ของ “สุคันธา ตั้งพาณิชย์”   เริ่มจากผลิตบรรจุถุงแบบง่ายๆฝากขายตามร้านขายขนม พัฒนาเป็นหน้าร้านเปิดตำนานผู้ผลิตข้าวตังทรงเครื่องจริงจังเจ้าแรกของจังหวัดเพชรบุรี

สุคันธา ตั้งพาณิชย์ (ปัจจุบันวัย 78 ปี)

        


               ตลอด 10 ปี ที่เห็นการเติบโตของกิจการวิญญาณผู้ประกอบการได้ก่อตัวขึ้นกับสองพี่น้อง “คุณเต้ย”ปกรณ์ ตั้งพาณิชย์ และ “คุณตุ้ม” จุฑารัตน์  ตั้งพาณิชย์   พร้อมกับฝันที่อยากจะเห็นขนมไทยขายไปทั่วโลก

ทั้งคู่ตกลงร่วมกันในการสานต่อคุณค่าของขนมไทย  โดย“คุณตุ้ม” ออกจากงานประจำ มาล่วงหน้า 3 ปี  ก่อนที่“คุณเต้ย”พี่ชาย จะผันตัวเองจากวิศวกรควบคุมคุณภาพของบริษัทญี่ปุ่นมาดูแลธุรกิจอย่างเต็มตัว

การตัดสินใจออกจากงานประจำขณะนั้น“คุณตุ้ม” มองไว้ว่าถ้าไปไม่รอดก็ยังกลับไปทำงานสาย ควบคุมงานอิเล็กทรอนิกส์ได้เหมือนเดิม  แต่สิ่งที่ลงมือทำสานต่อธุรกิจครอบครัวก้ด้วยเหตุผล แม่สร้างฐานแล้วถ้าไม่ต่อยอดขนมไทยจะหายและเสียดายฐานลูกค้า คิดว่าจะทำแบบเสมอตัวหรือพัฒนาสินค้าไทยให้ส่งออกได้ ตุ้มมาดูลาดลาวก่อน 3 ปี  จากนั้นชวนพี่ชายให้ออกมาช่วยกันทำ  ต้องการต่อยอดบอกว่าถ้าไม่เวิร์คก็กลับไปทำงานในระบบ”

เก็บเกี่ยวความรู้ปูทางสู่สนามธุรกิจ

ภูมิปัญญาการทำขนมไทยคือต้นทุนที่มหาศาล แต่หากขาดการจัดการอย่างมืออาชีพก็อาจไปได้ไม่ไกล “คุณตุ้ม”เลือกที่จะตักตวงความรู้ด้วยการเข้าร่วมโครงการของภาครัฐ ตั้งแต่ด้านการบริหารจากโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (NEC : new entrepreneur creation) ช่วยให้ปัญหาขนมอายุสั้นเพียง 2 เดือน ยืดออกไปเป็น 1 ปี

กระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน คือภาระกิจที่ต้องทำ หลังเข้ารับการอบรมกับ Ismed (สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) ที่ถือว่าเป็นองค์กรอิสระที่ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมผู้ประกอบการด้านขนมไทยยกระดับสู่การเป็นสินค้าส่งออกในยุคแรกๆที่ประเทศไทยยังไม่มีสถาบันอาหารที่มาทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ

อย. GMP HACCP คือ สิ่งที่ถูกผนวกไว้ในแผนธุรกิจ  เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และต่อยอดไปถึงเครื่องหมายฮาลาลที่บ่งบอกว่าผลิตภัณฑ์นั้นชาวมุสลิมบริโภคได้  เป็นโอกาสทางการตลาดที่เติบโตอย่างเห็นได้ชัด (สถาบันวิจัยพิวในกรุงวอชิงตัน คาดการณ์ว่า ชาวมุสลิมทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 34 ของประชากรโลก ในปี 2100) คู่ขนานไปกับการหาความรู้เรื่องบรรจุภัณฑ์องค์ประกอบสำคัญในการสื่อสารการตลาดขั้นพื้นฐานในการนำเสนอให้ผู้บริโภคได้ทำความรู้จักสินค้าและลงลึกไปถึงบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสกับอาหารโดยตรง(ต้นทุนบรรจุภัณฑ์สูงถึง 50% ของราคาขาย)ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการหาความรู้เพื่อทำให้แผนธุรกิจ 5 ปีแรกที่วางไว้เกิดผลสัมฤทธิ

คุณตุ้ม” กล่าวถึง “ข้าวตังสุคันธา”อย่างภาคภูมิใจว่า “เป็นนวัตกรรมขนมไทยรุ่นแรกๆที่เอาขนมไทยมาใส่ซอง ตอนมาทำเปลี่ยนไซด์ใหญ่มาเป็นไซด์เล็ก จากซองธรรมดาเป็นซองสูญญากาศ แยกเป็นซองเดี่ยวโดยมองกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นหลัก”

 

ข้าวตังไทยดังไกลไปเมืองนอก

จากต้นตำรับสูตรข้าวตังชื่อดังประจำจังหวัดเพชรบุรี  ของฝากขึ้นชื่อที่นักท่องเที่ยวมักซื้อติดไม้ติดมือไปให้ญาติมิตรนับว่าเป็นการทำตลาดเชิงรับ  เมื่อมีความพร้อมมากขึ้นตลาดเชิงรุกในประเทศถูกขยายด้วยการใช้ตัวเองออกไปเจอะเจอกับลูกค้าผ่านการออกบูธตามงานแสดงสินค้าในกรุงเทพ  ตามมาด้วยการส่งเข้าห้างสรรพสินค้าชั้นนำ(สยามพารากอน) ห้างดิสเคาท์สโตร์ชื่อดัง ร้านสะดวกซื้อ  และยังได้เป็น OTOP 4.0 ที่พร้อมเสริฟบนสายการบินแห่งชาติ  โดยร้อยละ 60 ของกำลังการผลิตถูกส่งออกไปยังต่างประเทศ ภายใต้การนำของ “คุณเต้ย”ปกรณ์ ตั้งพาณิชย์ กรรมการผู้จัดการ ที่เริ่มเปิดตลาดประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง CLMV

คู่ขนานไปกับการพัฒนาข้าวตังหน้าใหม่ๆให้ถูกใจผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสการรักสุขภาพทำให้ข้าวตังหน้าธัญพืช  ผลิตแบบไม่ใช้น้ำมัน เป็นอาหารแครอรี่ต่ำ  โดยยังเน้นนวัตกรรมจากข้าว ได้รับการตอบรับอย่างสูงในประเทศจนเข้าตาผู้นำเข้าจากต่างประเทศอย่าง ฮ่องกง  ไต้หวัน มาเลเซีย ทั้งในรูปของแบรนด์ “ข้าวตังสุคันธา”และการรับจ้างผลิตในแบรนด์ของผู้นำเข้าจากอเมริกาและญี่ปุ่น ซึ่งลูกค้าจะให้ความสำคัญในการมาตรวจโรงงานอยู่เสมอ

 

 การปรับตัวของธุรกิจ

ในระยะ 10 ปีแรกที่คุณแม่“สุคันธา ตั้งพาณิชย์”  พัฒนารสชาดและความหลากหลายของสินค้า   อีก 10 ปีให้หลังที่ 2 พี่น้อง  “คุณเต้ย”ปกรณ์ ตั้งพาณิชย์ และ“คุณตุ้ม” จุฑารัตน์  ตั้งพาณิชย์ ได้เข้ามาพัฒนาธุรกิจสู่มาตรฐานการผลิตและช่องทางการจัดจำหน่าย  นับว่าเป็นการส่งไม้ต่อที่ต้องอาศัยการวางแผนที่ชัดเจนและการทำตามแผนอย่างจริงจัง

เพื่อตอกย้ำในฐานะสินค้าท้องถิ่นที่ผลิตจากคนในพื้นที่  การทำงานกับชุมชนเป็นสิ่งที่  “ข้าวตังสุคันธา” ให้ความสำคัญไม่ต่างจากการบริหารจัดการด้านอื่นๆ   ได้เปิดหน้าร้านและโรงงานเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับแม่บ้านและนักศึกษาให้เข้ามาดูงานนับเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาจังหวัดอีกด้วย

 

มาถึงการเข้าสู่ 10 ปีในรอบที่ 3 ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจที่ดิจิตอลเข้ามามีอิทธิพลต่อผู้บริโภค“คุณตุ้ม” มองว่าเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ “ตอนนี้ตลาดเปลี่ยนและมีดิจิตอลเข้ามาเป็น Big Change ตอนนี้เริ่มใช้โซเชียลมากขึ้นถูกบีบว่าต้องไป  ผู้ประกอบการควรอาศัยโอกาสนี้ ในการสร้างตัวบนโลกออนไลน์สื่อสารให้ลูกค้าอยู่ใกล้กับเรามากขึ้น นอกจากการเป็นเจ้าของธุรกิจแล้วยังต้องเป็นผู้สร้าง Content ด้วย

ไม่เพียงการเปลี่ยนแปลงของสื่อสังคมออนไลน์ที่เข้ามาสร้างโอกาสในการรับรู้ต้นทุนต่ำแต่ทรงประสิทธิภาพเท่านั้น การที่ประเทศกำลังก้าวสู่การเป็น Thailand 4.0  ยังเกี่ยวเนื่องถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่    “คุณตุ้ม” สะท้อนไว้อย่างน่าฟังว่า “นวัตกรรมไม่ใช่แค่เรื่องโพรดักใหม่  แต่อาจคือกระบวนการใหม่ที่เป็นของเรา  การเปลี่ยนแปลงตัวเองตลอดเวลาก็เรียกว่านวัตกรรมแล้ว  เช่น เปลี่ยนขบวนการ หรือเครื่องมือใหม่ๆ  สิ่งที่อยากให้รัฐบาลช่วยเสริมก็คือเรื่องการเข้าถึงงานวิจัย  เคยส่งไปของานวิจัยแต่ไม่มีคำตอบรับกลับมา  ไม่รู้ช่องทางว่าจะเข้าถึงได้ง่ายขึ้น  ทั้งที่ส่งเสริมงานวิจัยแต่น่าจะทำให้ลงตัวง่ายๆ  อีกทั้งการใช้งานวิจัยมีค่าลิขสิทธิ์แต่ไม่รู้ว่าเอามาใช้แล้วจะใช้ได้จริงหรือไม่  จะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่  ส่วนการให้เงินกู้เพื่อนำไปพัฒนานวัตกรรมเป็นเรื่องปกติที่ถือเป็นสิ่งทีดี

เมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 กิจการย่อมต้องพัฒนาต่อไปไม่ว่าโลกการค้าหรือพฤติกรรมของผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม  และผู้เขียนเชื่อว่าเมื่อได้พบกันอีกครั้ง  คุณตุ้ม” ก็จะยังมีเรื่องราวมาบอกเล่าให้ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ดีๆ อีกเช่นเคย

 

 

 

 

 

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ