การเรียนรู้การเป็นผู้ประกอบการ (The Entrepreneurship) ของสังคมไทยอย่างเป็นระบบเกิดขึ้นมาหลายช่วงของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ และที่มีนัยสำคัญคือช่วงที่ประเทศไทยประสบวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เมื่อปี 2540 มาถึงปัจจุบันล่วงไปกว่า 18 ปี กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามนโยบายกอบกู้เศรษฐกิจของรัฐบาล แต่อัตราความอยู่รอดและโอกาสที่จะเติบโตยั่งยืนต้องเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะสิ่งที่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนและสิ่งที่บั่นทอนเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างไม่สามารถคาดเดาได้
คอลัมน์เล่าเรื่อง SMEs กับสุภาวดี เวศยพิรุฬห์ ถือเป็นเป็นทึกเรื่องเล่าที่ผู้เขียนได้สั่งสมประสบการณ์การเรียนรู้ในฐานะสื่อสารมวลชนที่ให้ความสนใจเรื่องราวเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่องในหลายรูปแบบของการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลมากว่า 20 ปีและจะต่อเนื่องไปไม่มีท่าสิ้นสุดตราบเท่าที่ยังมีพื้นที่ให้ได้บอกเล่า
การเปลี่ยนแปลงที่เห็นเป็นรูปธรรมนับจากประเทศไทยประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2543 ก็คือ ขนาดของผลิตภัณฑ์มวลรวมเศรษฐกิจ (GDP) ขยายตัวมากขึ้น ( กว่าร้อยละ 40 ใน ไตรมาส 1/2558 ) แม้จะยังไม่ถึงเป้าหมายครึ่งๆที่ภาครัฐอยากเห็น ขณะเดียวกันได้มีการขยายนิยามกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจาก 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ภาคการผลิต ภาคบริการ ภาคการค้า มาเป็นเป็น 4 กลุ่มหลักโดยปรับเพิ่มภาคการเกษตร
ที่ยังไม่ชัดเจน คือ มี SMEs เท่าไหร่ในประเทศไทย เพราะตัวเลขที่ปรากฏ 2.95 ล้านราย เป็นตัวเลขประมาณการจากหลายส่วนงานของภาครัฐ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการจัดทำสำรวจสำมโนธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ทุก 10 ปีมาถึง 3 ครั้ง ( ครั้งแรก 2507 , ครั้งที่ 2 : 2540 , ครั้งที่ 3 : 2550 ) และจะปรับเป็นการสำรวจทุก 5 ปี ตั้งแต่ครั้งล่าสุด ( 2555) เป็นต้นไป เพื่อนำข้อมูลวิเคราะห์และสร้างนวัตกรรมการส่งเสริมและพัฒนา
ล่าสุดภายหลังจากที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)ได้ปรับเปลี่ยนต้นสังกัดจากกระทรวงอุตสาหกรรมไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรีโดยมีนายกรัฐมนตรีประกาศให้ SMEs เป็นวาระแห่งชาติ กับความพยายามที่จะจับต้อง SMEs ให้ได้ชัดเจนขึ้น โดยมี สสว. ร่วมกับศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย รับขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ ตั้งแต่ 20 พฤษภาคม 2558 โดยตั้งเป้าให้เกิดฐานข้อมูลปีละ 1 แสนราย ให้สามารถใช้ข้อมูลที่แม่นยำจัดกลุ่มธุรกิจลงลึกถึงวงจรธุรกิจ สำหรับการออกแบบยุทธศาสตร์ นโยบายตลอดจนมาตรการให้ตรงความต้องการของผู้ประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพ และยังเปิดรับเรื่องราวร้องทุกข์ต่างๆเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้สถานประกอบการ
ที่ผ่านมาประเทศไทยมีแผนชาติที่เรียกว่ายุทธศาสตร์การส่งเสริมวิสาหกิจขาดกลางและขนาดย่อม เพื่อเป็นการกำหนดทิศทางการส่งเสริมระยะ 5 ปี มาแล้วตั้งแต่ ฉบับปฐมฤกษ์ ( พ.ศ.2545-2549) และอยู่ระหว่างการจัดทำร่างฉบับที่ 4 (พ.ศ.2560-2564) ควบคู่ไปกับแผนปฏิบัติการรายปีที่สามารถเข้าถึงการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลา
การส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการการของไทยจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ก็ต้องมาจากฐานข้อมูลที่ชัดเจนและการออกแบบยุทธศาสตร์และแผนที่แม่นยำ ให้เกิดความแข็งแกร่งภายในองค์กรธุรกิจเพื่อรองรับกับทิศทางปัจจัยแวดล้อมที่กระทบ เพราะปัจจุบันเป็นสิ่งควบคุมได้ยาก ด้วยผลกระทบเหล่านี้เกิดขึ้นในรูปแบบที่หลายกรณีไม่เคยปรากฏมาก่อน หลายกรณีเกิดขึ้นจากต้นทางที่ไม่สามารถควบคุมได้เลย หลายกรณีเกิดขึ้นรวดเร็วอย่างไม่ทันตั้งตัว และหลายกรณีเกิดขึ้นต่อเนื่องในระยะเวลาที่กระชั้นชิดและถี่มากขึ้น
ปัจจัยทั้งหลายที่กล่าวคือเหตุผลสำคัญที่ผู้ประกอบการนอกจากอาศัยนโยบายระดับประเทศแล้วยังจำเป็นต้องหันกลับมาประเมินความสามารถในการแข่งขันของตัวเองใหม่ พร้อมไปกับการออกแบบธุรกิจให้สามารถปรับเปลี่ยนหรือยืดหยุ่นตามสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม ความพร้อมทั้งหมดที่ตระเตรียมไว้ก็เพื่อรับมือกับสิ่งเหล่านี้เพราะธุรกิจวันนี้แม้จะประกอบการในประเทศก็ต้องรับมือการแข่งขันจากเวทีการค้าโลกที่เข้ามาถึงตัว หรือจะเป็นธุรกิจส่งออกก็ไม่ใช่แค่การส่งออกสินค้าอีกต่อไป
โลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอาจเกิดทฤษฎีการจัดการใหม่ๆ กลยุทธ์ธุรกิจที่ทุกคนร่ำเรียนมาจากตำราเดียวกัน มาจากทฤษฏีที่ผ่านการวิเคราะห์และถูกออกแบบจากความเหมือนของข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ แต่การจะนำมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพอาจไม่เท่ากัน เพราะสถานการณ์จริงกับที่เกิดจากตำราต่างกันด้วยปัจจัยแวดล้อม ที่สำคัญคือศักยภาพของผู้ที่นำกลยุทธ์จากทฤษฎีมาใช้ออกแบบธุรกิจของตนเอง
ไม่มีใครที่จะสามารถออกแบบธุรกิจได้เข้าใจเท่าตัวผู้ประกอบการเอง เพียงแต่ต้องเริ่มเปิดใจ ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายธุรกิจเพื่อเข้าการส่งเสริมตามนโยบายรัฐ แล้วนำความรู้และประสบการณ์มาสร้าง Modern Business Model เป็นการสร้างพื้นที่ธุรกิจใหม่ๆจากฐานธุรกิจเดิมอย่างมีพลวัตร ( Dynamic )