เรื่องเล่า SMEs (เก็บตกหลังเวที) :  One Belt, One Road : สุภาวดี เวศยพิรุณฬห์

สุภาวดี เวศยพิรุณฬห์

“ สิ่งที่มองเห็นจากการเขียนหนังสือทำให้อนุมานได้ว่าไม่ว่าจะใช้นโยบายใดๆก็ตาม ต้องทราบถึงการใช้นโยบายของประเทศนั้นๆ เช่นเดียวกับที่ประเทศต่างๆ อยากรู้ว่าจีนใช้นโยบายอะไร ”

ห้วงเวลานี้ไม่ว่าภาครัฐ ภาคเอกชนต่างกล่าวถึง One Belt, One Road หรือ อีไต้อีลู่ (Yi Dai, Yi Lu) ซึ่งคำว่า Belt ในที่นี้ ก็คือ Silk Road Economic Belt ในความหมายที่ผู้นำจีนประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง (Xi Jinping)ผู้นำรุ่นที่ห้าของจีน นับจากยุคปฏิวัติวัฒนธรรม  ต้องการสื่อสารไปยังมิตรประเทศที่ร่วมเศรษฐกิจและการค้ากันอยู่ว่า จีนพร้อมที่จะเปิดประตูความร่วมมือในทุกด้าน ขณะที่ภายในประเทศรัฐบาลอัดฉีดนโยบายไปยังสถาบันการศึกษาในการทำหน้าที่วิจัยในทุกแง่มุม  พร้อมเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาของประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย

     

บันทึกช่วยจำ

ผู้เขียนได้มีโอกาสสนทนากับอาจารย์ผู้ทำหน้าที่หัวหน้าคณะเข้าร่วมนำเสนองานในการประชุม “Symposium on China-ASEAB Financial Cooperation & Book Lunch for Structure Features of Financial Development in 10 ASEAN Countries”  จัดขึ้นโดยสถาบันจีน-อาเซียนศึกษาของมหาวิทยาลัยกวางสี (China-ASEAN Research Institute of Guangxi University) ร่วมเป็นเจ้าภาพกับ School of Finance of Central University of Finance   ณ Central University of Finance and Economics  กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่  3 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา

รศ.ดร.นิสิต พันธมิตร หัวหน้าศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกถึงความกระตือรือล้นของสถาบันการศึกษาประเทศจีนในโครงการที่กำลังเลื่องชื่อว่า “แทบทุกมหาวิทยาลัยของจีนได้รับโจทย์หรืองานวิจัยในหัวข้อนี้ ที่ไม่ว่าบทความของหนังสือพิมพ์ วารสารทั้งแบบสิ่งพิมพ์ หรือออนไลน์ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ หรือแม้กระทั่งภาษาจีนเองต่างก็ประโคมข่าวกับนิยามของคำนี้มากมายเพื่ออธิบายถึงความเป็นไปที่จะเกิดขึ้น

นับจากครั้งแรกที่ผู้นำจีนเอ่ยคำว่า One Belt, One Road หรือ อีไต้อีลู่ (Yi Dai, Yi Lu) ขึ้นครั้งแรก (Belt ในที่นี้ หมายถึง Silk Road Economic Belt )ระหว่างการเยือนเพื่อนบ้านในเอเชียกลาง 4 ประเทศ ระหว่าง วันที่ 3 ถึง 13 กันยายน 2556  ประกอบด้วย คาซัคสถาน (Kazakstan) เติร์กเมนิสถาน (Turkmenistan) อุซเบกิสถาน (Uzbekistan) และคีร์กีซสถาน (Kyrgyzstan) เพื่อร่วมประชุม “Shanghai Cooperation Organization Summit : SCO)” ซึ่งประธานาธิบดีสีได้นำนโยบายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ “Economic Belt along the Silk Road” ขึ้นโต๊ะหารือ

จากนั้นในวันที่ 2 ตุลาคม 2556 ประธานาธิบดีสี  ได้เดินทางไปเยือนประเทศอินโดนีเซีย การกล่าวปาฐกถาที่รัฐสภาของอินโดนีเซียได้เปิดประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้กรอบ “China-ASEAN FTA” ด้วยเป้าหมาย คือ จีนกับอาเซียนจะร่วมกันผลักดันมูลค่าทางการค้า 1 ล้านล้านเหรียญในปี 2563  ซึ่งสองนโยบายสำคัญที่นำเสนอได้แก่ (1)จีนจะจัดตั้งธนาคารการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Asian Infrastructure Investment Bank : AIIB) และ (2) สร้างความร่วมมือทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 (the Maritime Silk Road of the 21st century) โดยเรียกกันสั้นๆ ว่า “One Belt One Road : OBOR)

ในภายหลัง  รศ.ดร.นิสิต ตั้งข้อสังเกตว่ามีการตัดคำว่า One ออกไปจากประโยค  หรือเพียงแค่ Belt and Road Initiative “ คงเป็นปฏิกิริยาที่เหมือนกับว่ารู้ตัวว่า  อาจเกิดความรู้สึกต่อการถูกประเทศต่างๆ ที่ตนแสวงหาความร่วมมือนั้น มองว่า จีนพยายามขยายอิทธิพลเข้าไป ”  แม้กระทั่งการแถลงข่าวโฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนนาย Geng Shuang ก่อนการประชุมที่ใหญ่ที่สุดของ Belt and Road Forum for International Cooperation ณ กรุงปักกิ่ง ซึ่งมีผู้นำจากนานาชาติ รวมถึงบุคคลสำคัญของภาคธุรกิจอื่นๆ เข้าร่วมมากกว่า 110 ประเทศ ระหว่างวันที่ 14-15 พ.ค. 2560 ที่ผ่านมา นายเกง ซวง กล่าวกับสื่อมวลชนซึ่งปรากฏในหนังสือพิมพ์ China Daily ฉบับวันที่ 6 พ.ค. 2560  ว่า ข้อตกลง Belt and Road Initiative ดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่จีนได้แต่เพียงฝ่ายเดียว เหตุเพราะโครงการดังกล่าวยังคงไม่มีการกล่าวถึงมิติที่จีนกำลังทำอย่างเงียบๆ ตามโครงการ OBOR มา ก็คือการพยายามเพิ่มบทบาททางการเงิน (financial cooperation) และการนำบทบาททางการเงินของจีนในการเข้าไปสู่ระดับโลกให้ได้ตามนโยบาย (go global)

China does not want to “put on a one-man show” with the Belt and Road Initiative, and it is not true that the initiative is “controlled” by China

If the Belt and Road really is controlled by China, and if everyone really has no way to share the benefits, I think they wouldn’t be rushing in to participate,”

ฟันเฟืองเชื่อมโยงสถาบันการศึกษา

หัวหน้าศูนย์อาเซียนศึกษา หัวหน้าคณะ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองถึงการเชื่อมโยงวิชาการระหว่างสถาบันการศึกษา  ในการประชุมครั้งนี้ว่า เป็นหนึ่งในฟันเฟืองระดับภูมิภาคที่จีนต้องการประกาศในสิ่งที่ พยายามสื่อสารให้สมาชิกอาเซียนทราบผ่านศูนย์อาเซียนศึกษาของประเทศ “เรียกได้ว่าเป็นการทำให้ประเทศสมาชิกมองเห็นว่าโครงการต่างๆ นั้น จีนเองมีความพร้อมทุกทางทั้งทางด้านสาธารณูปโภค เพื่อทำให้เกิดการค้า การลงทุน และการเงินกับอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบนั่นเอง ” รศ.ดร.นิสิต กล่าว

เจาะลึกเนื้อในการประชุม

การนำเสนองานของผู้เข้าร่วมประชุมที่มาตามคำเชื้อเชิญนอกเหนือจากอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในจีน และนักศึกษาปริญญาโท และปริญญาเอกแล้ว รศ.ดร.นิสิต ยังตั้งข้อสังเกตว่า “พวกเราจากอาเซียนที่มาจากไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และฟิลิบปินส์ ขาดเพียงสามประเทศ คือ สิงคโปร์ เมียนมาร์ และอินโดนิเซีย ” การประชุมเช้าจรดเย็นแบบโต๊ะกลมแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรกแนะนำหนังสือ  ช่วงที่สองเรื่องความร่วมมือทางการเงินของอาเซียน-จีน และช่วงที่สามเรื่องที่จีนมีนโยบายการลงทุนต่างประเทศรวมถึงการเคลื่อนย้ายทุนออกไปในต่างประเทศ

ช่วงแรกแนะนำหนังสือ  ชื่อ “Structure Features of Financial Development in 10 ASEAN Countries”  หรือ “โครงสร้างของพัฒนาการทางการเงินของ 10 ประเทศในอาเซียน” ผู้เขียนเป็นอาจารย์ 3 ท่าน ในมหาวิทยาลัย   Central University of Finance and Economics  เนื้อหาในหนังสือมาจากการเก็บข้อมูลทางการเงินของประเทศในอาเซียน 10 ประเทศ โดยมีการแบ่งทีมออกเป็น  3 ทีมเก็บข้อมูลตามประเทศ ทั้งงานทั้งเอกสาร และงานวิจัยเชิงพื้นที่   รศ.ดร.นิสิต ถ่ายทอดว่า “ สิ่งที่มองเห็นจากการเขียนหนังสือทำให้อนุมานได้ว่าไม่ว่าจะใช้นโยบายใดๆก็ตาม ต้องทราบถึงการใช้นโยบายของประเทศนั้นๆ    เช่นเดียวกับที่ประเทศต่างๆ อยากรู้ว่าจีนใช้นโยบายอะไร ” บรรยากาศการแนะนำหนังสือด้วยภาษาจีน ผู้เขียนบรรยายเป็นภาษาจีน ผู้เข้าฟังจากชาติอื่นๆ จึงต้องยก headphone ขึ้นมาฟังการแปลจากล่ามเป็นภาษาอังกฤษ  สิ่งนี้กำลังบอกว่า ถ้าจะค้าขายกับจีนการเข้าใจภาษาคือสิ่งที่ต้องทำ

การนำเสนองานทำให้ทราบถึงระบบของการสนับสนุนทางการเงินในโครงการ Belt and Road Initiative และเป้าหมายที่จีนต้องการส่งเสริมบทบาทของเงินหยวนให้ยุคโลกาภิวัฒน์  ด้วยมุมมองถึงบทบาทของจีนที่มีความเป็นสากล มีความทันสมัย และความภูมิใจของการก้าวไปเป็นส่วนหนึ่งในระบบตะกร้าเงินของ IMF รศ.ดร.นิสิต ย้ำว่า “การกล่าวถึงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศทั่วโลกที่ยังคงขาดแคลนเงินที่ใช้ในการกระตุ้นการเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะทำให้เกิดการเติมเต็มของ OBOR ก็คือการสร้างความเชื่อมโยงทางการเงินกับแต่ละภูมิภาค

ช่วงที่สองเรื่องความร่วมมือทางการเงินของอาเซียน-จีน พบว่า ปัจจุบันธนาคารของจีนเริ่มเข้ามาลงทุนในประเทศในภูมิภาคนี้ (CLMV) มากขึ้นเรื่อยๆ     มีการนำเสนองานต่อเนื่องถึงบทบาทของเงินหยวนกับความเป็นสากล มีสิ่งที่น่าสนใจสำหรับนักวิชากรอย่าง รศ.ดร.นิสิต อย่างหนึ่ง คือ “ ทำให้ผู้เข้าฟังอย่างผมและเพื่อนๆ อาเซียนต่างเห็นตรงกันว่า เราจำเป็นต้องคิดมากกว่าการประชุมในวันนั้น  ที่จีนนำไปหลายขั้นตอน เพราะจีนมีความได้เปรียบในสินค้าเมื่อเปรียบเทียบสินค้าทั้งหมดของโลก ไม่มีใครผลิตสู้ต้นทุนของจีนได้ มีการมองว่าอาเซียนเป็นสิ่งเติมเต็มทางปัจจัยการผลิต  เช่น การมีค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าจีน ส่วนที่จีนขาด คือ ความได้เปรียบในเชิงบริการ (service comparative advantage) ต่างหาก   ”

การนำเสนองานของอาจารย์และนักวิชาการจีนออกมาในแนวสนับสนุน หรือ การโยนโจทย์ หรือแจงกลับให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ทราบถึงแนวทางของการทำงานว่าด้วยการสร้างความสัมพันธ์ทางการเงิน (financial structure development) ของอาเซียนทั้ง 10 ประเทศอย่างไร  ส่วนมุมมองของนักวิชาการจากฝั่งอาเซียนที่นำเสนอมีความหลากหลาย แต่ไปในทางเดียวกันว่า การจะทำให้เกิดความร่วมมือด้านการเงินนั้นต้องทำให้เกิดความเข้าใจถึงระบบการเงินของจีนในหลากหลายระดับ จำเป็นต้องนำเสนอให้แต่ละประเทศเกิดความเข้าใจเองก็ต้องลงไปในรายละเอียดที่มากกว่านี้ เพราะหลักการของข้อตกลง OBOR  ยังมีเพียงในระดับเริ่มต้น ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติกับประเทศในอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ อีกทั้งในระยะยาวจะเกิดผลดีต่อจีนมากกว่า

บทบาทของเงินหยวนในไทย

รศ.ดร.นิสิต พันธมิตร หัวหน้าศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำเสนอกรณีศึกษาของบทบาทของเงินหยวนในไทย โดยเฉพาะตามบริเวณชายแดนที่ไทย ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านและจีนตอนใต้ว่า “ระบบการเงิน การชำระเงินระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงกับจีนนั้นมีมานานมากแล้ว ทั้งทางการค้าและการชำระเงินชายแดนนั้น มีทั้งเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ และแม้ว่าการค้าจะกระทำอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ แต่การชำระเงินการเงินนั้นยังมีมูลค่าของความไม่เป็นทางการมากกว่า

ด้วยอุปสรรคด้านกฎเกณฑ์ในการชำระเงินระหว่างประเทศ   ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงการผ่อนคลายกฎระเบียบของทางการจีน  การทำธุรกรรมชำระเงินหยวนกับคู่ค้าจีนนั้นมีข้อจำกัดมาก โดยเฉพาะเรื่องบัญชีรายชื่อผู้ประกอบการนำร่องของจีนที่สามารถทำธุรกรรมชำระเงินหยวนเพื่อการค้า ซึ่งจำเป็นต้องตรวจสอบรายชื่อคู่ค้าจีนก่อนทำธุรกรรมชำระเงินทุกครั้ง  ประการสำคัญคือผู้ประกอบการจีนส่วนใหญ่ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าว ทำให้ธนาคารพาณิชย์ของไทย ไม่แนะนำผู้ประกอบการไทยให้กำหนดราคาและชำระค่าสินค้าเป็นเงินหยวน

การรับรู้ข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างจำกัดไม่ทราบถึงการผ่อนคลายกฎระเบียบของทางการจีน  ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถให้ทางเลือกได้มากนัก  อาจเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ธนาคารที่ผู้ประกอบการติดต่อด้วยไม่ทราบพัฒนาการที่เกิดขึ้น นอกจากนี้การที่ผู้ประกอบการไทยมีบัญชีกับธนาคารที่เปิดให้ทำธุรกรรมเงินหยวนไม่เต็มรูปแบบ ทำให้ไม่สามารถใช้บริการเงินหยวนได้อย่างเต็มที่

ขณะที่ผู้ประกอบการจีนได้รับแรงส่งจากการอนุญาตให้มีการเปิดสาขาของธนาคารพาณิชย์ของจีนในไทย ตามเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต จึงเพิ่มมากขึ้น   หลังจากทางการจีนได้ผ่อนคลาย เปิดกว้างการชำระเงินหยวนมากขึ้น  นับตั้งแต่ 12 มิถุนายน 2555 เป็นต้นมา ทำให้ในปัจจุบันผู้ประกอบการจีนทุกรายสามารถทำธุรกรรมชำระเงินหยวนกับคู่ค้าต่างประเทศได้ทั้งหมด และยังสามารถฝากเงินหยวนในต่างประเทศได้ด้วย

รศ.ดร.นิสิต กล่าวว่า การปฎิเสธรับรู้กฎเกณฑ์การชำระเงินอาจสืบเนื่องมาจากการต้องการความรวดเร็วในการชำระเงินระหว่างกันจึงเป็นเหตุผลทำให้การชำระเงินที่ไม่เป็นทางการ (informal transfer payment) ยังคงเป็นตัวหลักของระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ (cross-border payment)  “ หากจะทำให้เกิดระบบการเงินที่มีความสัมพันธ์ที่ดีเกิดขึ้นในภูมิภาคจำเป็นต้องอาศัย ความรู้ความเข้าใจในพื้นที่  การทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจของการใช้เงินหยวนในการชำระเงิน หรือการทำธุรกรรมจึงจำเป็นต้องทำอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

รศ.ดร.นิสิต กล่าวทิ้งท้ายในการนำเสนอ ด้วยว่า “การเคลื่อนไหวด้านการจัดการทางการเงินของจีนผ่านเงินหยวน  โดยอาศัยนโยบาย OBOR  เป้นเครื่องมือการแสวงหาความาร่วมมือของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ยังคงน่าจับตามอง  ประเทศไทยและอาเซียน จำเป็นต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารซึ่งกัน ไม่ใช่ one man show

                ขอขอบคุณเรื่องราวดีที่ได้ถ่ายทอดจากการประชุมระหว่างสถาบันการศึกษาเกี่ยวกับ One Belt, One Road จากรศ.ดร.นิสิต พันธมิตร หัวหน้าศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ