นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ผลักดันอัตราการขยายตัวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง สร้างกำลังซื้อให้กับประชากรอันดับ 1 ของโลกที่คาดว่า ปี 2020 จะเพิ่มเป็น 1,420 ล้านคน คือ เป้าหมายที่ใครๆก็อยากส่งออกไปประเทศจีน รวมถึง SME ของไทย แล้วช่องทางไหนจึงจะเหมาะกับผู้ประกอบการติดตามได้จากบทความนี้
รัฐบาลตั้งเป้าหมายส่งเสริมผู้ประกอบการ SME พัฒนาธุรกิจไปสู่การค้าส่งออก แต่การที่จะเป็นไปตามนั้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับความพร้อมในทุกด้านของผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นความชัดเจนของสินค้า การพัฒนาให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค การแสวงหาโอกาส และความรู้ความเข้าใจในระบบการค้าระหว่างประเทศ จากนั้นจึงเลือกช่องทางที่เหมาะกับความพร้อมของตนเอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจาะตลาดจีนที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่อันดับ 2 ของโลก มีความกว้างใหญ่ไพศาลด้วย 22 มณฑล เขตปกครองตนเอง 5 แห่ง มหานคร 4 แห่ง และเขตบริหารพิเศษ 2 แห่ง คือ ความหอมหวานที่ผู้ประกอบการอยากลิ้มลอง
ผู้เขียนได้รับเกียรติให้เป็นผู้ดำเนินการเสวนาเกี่ยวกับ Online Business หลายเวที การได้พูดคุยกับ วิทยากรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา ทำให้ค้นพบช่องทางส่งออกสินค้าสำหรับผู้ประกอบการ SME ไทยที่สนใจบุกตลาดจีน
หนึ่งในนั้น คือ งาน Start Up to E-Commerce on Campus (ECOC) กับไปรษณีย์ไทย 4.0 จัดขึ้นที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในหัวข้อ “E-commerce กับตลาดจีน” 2 วิทยากรผู้คลุกคลีกับประเทศจีน ได้แก่ ท่านเรก ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ นักวิชาการจากมหาวิทยลัยเชียงใหม่ หัวหน้าศูนย์บ่มเพาะอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยนานาชาติและนวัตกรรมดิจิตอล และอาจารย์ประจำวิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี ท่านที่สอง คุณยรรยง ชินรักษา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท CP MERCHANDISING จำกัด ได้สะท้อนถึงนโยบายของรัฐบาลและความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนแปลงแต่เป็นโอกาสสำหรับ SME ไทยไปไว้อย่างน่าสนใจ
ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ กล่าวว่า “ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้ความแตกต่างในการผลิตสินค้าให้เหมาะสมกับผู้บริโภค และที่สำคัญคือการรอบรู้นโยบายทางเศรษฐกิจ เพื่อนำมาสร้างประโยชน์สูงสุดในการทำการค้า จีนวางนโยบายทั้ง 3 เรื่อง อีคอมเมิร์สต้องนำ ถึงจะทำให้ One Belt One Road ประสบความสำเร็จ เพราะเมื่อเกิดการค้าขายก็จะนำไปสู่การสร้างทาง ”
นโยบายที่สำคัญของจีนต่อการส่งเสริมการเติบโตในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 13 (2016-2020)ของจีนบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับไทย คือ One Belt One Road หรือ หนึ่งแถบ 1 เส้นทางหัวหอกในการเปิดวิสัยทัศน์การสร้างโลกาภิวัฒน์ใหม่ ในการผนึกกำลังประเทศกำลังพัฒนาและด้วยพัฒนามาร่วมขบวนขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดการเชื่อมต่อทางการค้า พลิกสถานการณ์โลกาภิวัฒน์ก่อนหน้าที่เป็นการรวมตัวกันของประเทศที่มั่งคั่ง , Made in China (New Normal) โดยกำหนดทิศทางว่าในปี 2030 สินค้าส่งออกของจีน ร้อยละ 60 จะเป็นสินค้านวัตกรรม ไทยจึงกลายเป็นตลาดรองรับที่สำคัญ และ Internet + โดยอาศัยกุญแจดอกสำคัญ คือ Cross Border Ecommerce เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับทั้งสามยุทธศาสตร์หลักของจีน ตามที่รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติเมื่อ วันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 2015 “一带一路建设中,要电商先行”(关于促进跨境电子商务健康快速发展的指导意见)
หัวหน้าศูนย์บ่มเพาะอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ วิเคราะห์ถึงความสำเร็จของการทำการตลาดเชิงรุกผ่าน online internet ในประเทศจีนว่า เกิดจากความสมบูรณ์พร้อม 3 ด้าน คือ
- Information Flow จาก Social Network ซึ่งเป็นช่องทางตลาดเชิงรุกสินค้าไทยในประเทศจีน ผู้ประกอบการต้องใช้เครื่องมือออนไลน์ของจีนในการสื่อสารเท่านั้น ได้แก่ youku.com = youtube ประชาสัมพันธ์สินค้าผ่าน web VDO / 微薄 weibo.com = Facebook / 微信 : We Chat= Line ใช้ค้าขายกับสินค้าทุกประเภท หรือ การขายผ่านเว็ปไซด์ C to C อย่างเถาเป่าที่เหมาะกับสินค้าที่ไม่มีความพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผู้ผลิตต้องมีความรู้ภาษาจีน
ดร.ดนัยธัญ เสริมว่า “แต่ถ้าผู้ผลิต SME ที่ภาษาจีนก็ไม่ได้ มีแต่ของ ของก็ยังไม่ได้มาตรฐานบังคับ สามารถนำสินค้าไปให้ผู้ขายซึ่งเป็นนักศึกษาจีนที่มาศึกษาปริญญาโทอยู่ที่วิทยาลัยนานาชาติและนวัตกรรมดิจิตอล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำสินค้าไทยไปจัดจำหน่ายในวงของช่องทางการค้าออนไลน์ของจีนได้ ”
- Financial Flow เมื่อขายของให้ชาวจีนแล้วจะรับเงินอย่างไร ผู้ประกอบการสามารถใช้ ALIPAY (จับมือกับ BBL)หัวหอกใหม่ของจระเข้แห่งลุ่มแม่น้ำแยงซีสู่มหาสมุทร (บริษัทในเครือของอาลีบาบา ก่อตั้งในปี 2004) หรือ We Chat Pay ALIPAY (จับมือกับ Kbank) เป็น Financial Gateway เชื่อมต่อนักท่องเที่ยวจีนที่พัฒนาไปสู่สังคมไร้เงินสด และการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการสร้าง DC สำหรับ Cross Border E-commerce
- Physical Flow จากระบบ Logistics ที่มีความก้าวหน้าถึงขั้นที่ใช้หุ่นยนต์แทนคนในการขนของ การวางแผนเส้นทางที่มีประสิทธิภาพ
นโยบายไห่เถา (海淘)
การตอบสนองต่อประชากรที่ต้องการซื้อสินค้าต่างประเทศ จากเดิมที่มักลักลอบนำเข้าสินค้า ให้เป็นการนำเข้าอย่างถูกต้องผ่านเว็ปไซด์ของทางรัฐบาลจีน เป็นการจัดระเบียบรูปแบบการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศ ผู้ซื้อได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร โดยกำหนดไว้ว่าแต่ละธุรกรรมไม่เกิน 2,000 หยวน และซื้อได้ไม่เกิน 20,000 หยวน(ราว 1 แสนบาท)ต่อคนต่อปี เกินกว่านั้นคิดอัตราภาษีตามอัตราการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศแบบปกติ
การเปิดเขตปลอดอากรสำหรับสินค้า E-commerce ของจีนไม่เสียภาษีศุลกากร เสียเฉพาะภาษีปกติ คือ VAT สำหรับสินค้าสำเร็จรูป (ของแห้ง)ร้อยละ 17 หากเป็นสินค้าวัตถุดิบ(ของสด)ร้อยละะ 13 หากออกจากเขตปลอดอากร ภาษีจะลดลงอีก ร้อยละ 30 ของอัตราปกติ ล่าสุดทางการจีนได้เปิดศูนย์บ่อหาน(เขต 12 ปันนาของยูนนานในอนาคตเส้นทางสามารถเชื่อมต่อไปถึงทวีปยุโรป) เป็นจุดปลอดอากรของ E-commerce สินค้าไทยไม่ต้องขออย.จีน สามารถส่งไปกระจายสินค้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะถือว่าป็นสินค้า E-commerce
คุณยรรยง ชินรักษา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท CP MERCHANDISING จำกัด ใช้ชีวิตทำงานที่เซี่ยงไฮ้นับ 10 ปี บอกเล่าว่า ประเทศจีนไปไกลมากคนในประเทศใช้ชีวิตออนไลน์ไม่จ่ายเงินสด เพราะถึงพร้อมของระบบหลังบ้านไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินหรือการส่งมอบสินค้าอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ได้สรุปให้ฟังถึงปัจจัยที่ทำจีนประสบความสำเร็จด้าน E-commerce ประกอบด้วย
- Platform มีผู้ให้บริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกซ์หลากหลาย
- Supplier (Goods/Price) รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้เกิดธุรกิจ ทำให้มีผู้ผลิตในประเทศมีกำลังผลิตเป็นจำนวนมาก
- Customer ผู้บริโภคนิยมซื้อของออนไลน์ตามจำนวนที่ใช้ เพราะที่อยู่อาศัยคับแคบไม่เหมาะกับการกักตุน
- Payment System ระบบการชำระเงินของผู้ให้บริการ Non Bank รายใหญ่พัฒนา Platfrom ที่อำนวยความสดวกและมีความปลอดภัยสูง
- Supply Chain System (Logistic) ผู้ประกอบการสร้าง DC ใกล้แหล่งชุมชนทำให้ส่งของได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับรูปแบบ E-commerce ในจีน (กรณี ขายสินค้าผ่านwebsite) คุณยรรยง กล่าวว่า แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่
- ฝากขาย เงื่อนไขเหมือนการขายผ่านซุปเปอร์มาเก็ต คือ ถ้าขายไม่หมดความรับผิดชอบสินค้าเป็นของผลิต
- ขายขาด เหมือนขายผ่านซุปเปอร์มาเก็ตเช่นกัน คือ ขายขาดให้กับผู้ประกอบการเว็ปไซด์หากของเหลือความรับผิดชอบเป็นของเว็ปไซด์ ที่จะนำไปทำโปรโมชั่นเอง
- แขวนป้าย เป็นเพียงพื้นที่โฆษณาแต่สินค้าอยู่ที่ผู้ผลิตเช่น เถาเป่า ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มตัวกลางช่วยเรื่องการ Promote คือ ตัวสินค้ายังคงอยู่กับผู้ผลิตเมื่อมีคำสั่งซื้อแพลตฟอร์มจะแจ้งมายังผู้ผลิตเพื่อดำเนินการจัดส่งถึงผู้บริโภคเอง (ผลิต จัดการ จัดส่ง)
นอกจากนี้คุณยรรยง ยังได้กำชับถึงสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้ความแตกต่างในการผลิตสินค้าให้เหมาะสมกับผู้บริโภค หากศึกษาจะพบว่าจีนมีอาหารหลัก 8 ตระกูลใหญ่ที่กระจายไปตามมณฑลต่างๆ ที่ตั้งแต่ละภูมิภาคมีสภาพอากาศไม่เหมือนกันมีผลต่อวัฒนธรรมการรับประทาน เช่นเดียวกับ 4 ฤดูกาลมีผลต่อการบริโภค เช่น ทางภาคเหนือเมื่อถึงช่วงฤดูหนาวที่หนาวสุดๆอุณหภูมิจะติดลบถึง 40 องศา ไม่สามารปลูกข้าวหรือพืชผลทางการเกษตรได้จึงนิยมทานแป้ง เช่น หมั่นโถว ส่วนภาคใต้ใกล้ทะเลจะไม่ทานเค็มเพราะอุดมไปด้วยอาหารทะเลมาก นิยมนำมานึ่งโดยไม่ปรุงแต่งอะไรมาก ดังนั้น หาก SMEไทยจะส่งออกไปที่จีนจำเป็นต้องพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับปัจจัยเหล่านี้
ไปจีนไม่ใช่ไม่มีช่อง แต่ต้องไปให้ถูก ทั้ง 2 ท่านจุดประกายให้เห็นว่า แม้ SMEไทย จะผลิตสินค้าได้แต่ไม่รู้ว่าจะขายไปประเทศจีนยังไง รวทถึงยังผลิตได้ไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐานแต่อยากพัฒนาให้ตรงตามความต้องการของตลาด นโยบายของรัฐบาลจีนได้เปิดช่องให้ลองทดสอบตลาดผ่านพน้าร้าน E-commerce