คำถามยอดฮิตที่ผมมักถูกถามจากผู้นำองค์กรส่วนใหญ่คือ… ทำไมคุยกับลูกน้องแล้วไม่รู้เรื่อง ทำไมลูกน้องทำงานไม่ตรงกับที่เราอยากได้ ทำไมลูกน้องทำงานได้ต่ำกว่ามาตรฐานที่ตั้งไว้ ทำไมลูกน้องทำงานมาผิดๆ ถูกๆ และคำถามเด็ดคือ…
ต้องทำยังไงลูกน้องถึงจะทำในสิ่งที่เราอยากได้???
ผมขอตอบด้วยการยกตัวอย่างการสื่อสารของผู้นำที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นการสื่อสารที่ดีตัวอย่างหนึ่งมาให้ดูครับ
เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ ท่านอธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต ท่าน ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ได้เขียนข้อความใน FB ส่วนตัวของท่าน เป็นข้อความที่ทำให้ผมรู้สึกประทับใจ ตื่นเต้น หัวใจเต้นแรง จนถึงขนาดต้อง Save เก็บไว้และอยากเอามาเล่าต่อ…
ท่านเขียนว่า “ขออนุญาตฝันกลางวัน และขออนุญาตปรึกษาดังๆ จากหน่วยงานต่างๆ ภายในม.รังสิต”
ท่านอยากสร้าง RANGSIT MODEL โดยมีรายละเอียดดังนี้
“เรามาช่วยกันร่วมสร้างประเทศไทย สังคมไทย ซึ่งเนื้อแท้เป็นสังคมที่สงบสันติสุข น่าอยู่ อุดมสมบูรณ์ สวยงามให้กลับมายั่งยืน มั่นคง และเจริญรุ่งเรืองด้วยความเป็น ไทย สวยงาม อุดมสมบูรณ์ อยู่ดีมีสุขกัน
- สร้าง ส่งเสริม สนับสนุนการเกษตรอินทรีย์ เกษตรประณีต เกษตรคุณภาพ การแปรรูปด้วยวิถีไทย ประดิษฐ์ประดอยด้วยความประณีต ด้วยคุณภาพ สุขภาพ ด้วยความภาคภูมิใจในความเป็นไทย
- สร้าง ส่งเสริม สนับสนุน อาหารไทยที่ประณีต มีคุณภาพ มีสุขภาพ ดีงาม
- สร้าง ส่งเสริม สนับสนุนการท่องเที่ยววิถีไทยที่สง่างาม สวยงาม สงบ สันติสุข คงความดีงามด้วยความเป็นไทยบนดินแดนสุวรรณภูมิที่เปรียบเสมือนสวรรค์บนดิน ทั้งที่อยู่ที่พักวิถีไทย ชีวิตวิถีไทย อัธยาศัยไมตรีการต้อนรับวิถีไทย ศิลปวัฒนธรรม การแสดง วิถีไทยแบบที่ไม่มีที่ใดเหมือนในโลก
ทั้งหลายทั้งปวง ได้แรงบันดาลใจจากญี่ปุ่น”
*** เมื่ออ่านเสร็จผมตั้งคำถามในใจว่า… หากเรากำลังเป็นหรือต้องเป็นหัวหน้าคน เป็นเบอร์ 1 ขององค์กร เป็นผู้อำนวยการ ผู้จัดการ ประธาน รองประธาน หรือตำแหน่งอะไรก็แล้วแต่ที่มีทีมงานของตัวเอง เราจะสื่อสารอย่างไรให้เค้าลงมือทำงานจนสำเร็จได้
จริงๆ แล้ว ในทางทฤษฎีก็มีอยู่หลากหลายวิธี หลากหลายรูปแบบ
วิธีที่ท่าน ดร.อาทิตย์ทำ ก็เป็นวิธีการหนึ่ง ผมขอแบ่งเป็นขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1: วาดภาพความท้าทายใหม่ สร้างโลกที่ต้องการเห็น
ท่านเริ่มต้นที่ ขออนุญาตฝันกลางวัน
“ฝันกลางวัน” เป็นการส่งสัญญาณว่า เราอยากทำอะไรที่ท้าทาย ไม่เหมือนเดิม Challenge ตัวเองมากๆ
ความท้าทายถือเป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรม การทำอะไรใหม่ๆ แตกต่างจากเดิม
นวัตกรรมเริ่มต้นด้วยการ Challenge สิ่งที่มีอยู่ ทำอยู่ ต้องการทำให้มันดีขึ้นๆๆ
การวาดภาพเปรียบเสมือนการเกริ่นนำก่อนเข้าเรื่อง เป็นวิสัยทัศน์ของผู้นำ
บางครั้งผู้นำเข้าเรื่องเร็วเกินไป ทั้งๆ ที่เรื่องนั้นเป็นเรื่องใหญ่มาก พูดเพียงว่า อยากได้นี่ ให้ไปทำมา
เราต้องเข้าใจก่อนครับว่า หัวหน้ากับลูกน้องมีภาพในหัวไม่เหมือนกัน ประสบการณ์ที่ผ่านมาไม่เหมือนกัน ถ้าเค้าคิดเหมือนเราได้ เค้าคงเป็นหัวหน้าเราไปแล้ว เราต้องค่อยๆ วาดภาพให้เค้าเห็นก่อนว่า เราอยากเห็นภาพใหญ่ๆ อะไรร่วมกัน แล้วค่อยๆ ลงมือทำมัน
ขั้นตอนที่ 2: สร้างความมีส่วนร่วม ไม่ใช่การสั่ง
คนเราชอบต่อต้านการทำตามคำสั่ง ตั้งแต่เด็กจนโต
สั่งซ้ายจะได้ขวา สั่งขวาจะได้ซ้าย สั่งเดินหน้าจะได้ถอยหลัง เป็นอย่างนี้ทุกครั้งไป
เรียกได้ว่า ไม่พอใจ ก็ไปทำเองสิ…
ขออนุญาตปรึกษาดังๆ จากหน่วยงานต่างๆ ภายในม.รังสิต
ข้อความนี้แสดงออกถึงความต้องการความมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง โดยอ้อมก็แล้วแต่
มีส่วนร่วมอะไร…
มีส่วนร่วมในการคิด ในการระดมสมอง ในการระดมสรรพกำลังที่มีอยู่
ในทางนวัตกรรมมีคำยอดฮิตที่เรียกว่า Co-Creation, Cross-Function และ Cross-Culture
มีความหมายว่า เราต้องทำงานร่วมกับคนอื่น เราต้องทำงานข้ามสายงาน เรียนรู้การทำงานข้ามวัฒนธรรม
ถ้าคุณต้องการทำอะไรซักอย่างและมีคนที่จะมาร่วมคิดกับคุณ
หากคนๆ นั้นหรือคนกลุ่มนั้นๆ มาจากคนละหน่วยงาน มาจากคนละประเทศ… สิ่งที่ได้จะแปลกใหม่ ไม่เหมือนเดิม
ผลที่ได้จะดีกว่ามากถ้าเทียบกับการคิดคนเดียว หรือการคิดกับคนในหน่วยงานเดียวกัน
ขั้นตอนที่ 3: สื่อสารและกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน
เรามาช่วยกันร่วมสร้างประเทศไทย สังคมไทย ซึ่งเนื้อแท้เป็นสังคมที่สงบสันติสุข น่าอยู่ อุดมสมบูรณ์ สวยงามให้กลับมายั่งยืน มั่นคง และเจริญรุ่งเรืองด้วยความเป็น ไทย สวยงาม อุดมสมบูรณ์ อยู่ดีมีสุขกัน
คำว่า เรามาช่วยกันร่วมสร้าง คือ การสื่อสารว่าจะทำอะไร
และ มีเป้าหมายที่ชัดเจน คือ RANGSIT MODEL ประเทศไทย สังคมไทย
ประโยคนี้เป็นเป้าหมายที่ทำให้ทุกคนเห็นร่วมกัน
การทำงานส่วนใหญ่ที่ล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นทีมเล็ก ทีมใหญ่ สาเหตุสำคัญประการหนึ่งของความล้มเหลวคือ…
“ผู้นำไม่เคยกำหนดทิศทางที่ชัดเจนให้คนในทีมเข้าใจตรงกัน”
ลูกทีมไม่เคยรู้ว่าทำไปทำไม ทำแล้วจะได้อะไร
สุดท้ายก็ต่างคนต่างทำ ล้มเหลวไม่เป็นท่า
ไม่ใช่เพราะคนในทีมไม่เก่ง แต่เดินกันคนละทาง ก็ทำให้ล้มเหลวได้ง่ายๆ
ตัวอย่างวิธีการที่ผมมักจะทำเป็นกิจกรรมเพื่อพิสูจน์เรื่องนี้
เราเริ่มจากการกำหนดให้ทีมเดินออกไปเก็บก้อนหินมาคนละหนึ่งก้อน โดยไม่ได้บอกว่าจะเอาไปทำอะไร
แต่ละคนก็จะเก็บก้อนหินที่ตัวเองชอบมา
บางคนชอบก้อนหินแบบเหลี่ยม บางคนชอบก้อนหินแบบกลม
เสร็จแล้วเราก็ค่อยบอกให้เรียงให้สูงที่สุด…
เรียงไม่ได้แน่ๆ ครับ ถ้าได้ก็เรียงไม่สูง
ความชอบแต่ละคนไม่เหมือนกัน รูปแบบการทำงานแต่ละคนไม่เหมือนกัน
ยิ่งไม่สื่อสาร ยิ่งจบ
แล้วให้ลองทำใหม่…
ไปเก็บก้อนหินมาใหม่ คราวนี้ เรียงกันได้สูงเลยทีเดียว
นี่แหละครับ หนึ่งในหน้าที่ของผู้นำ กำหนดเป้าหมายให้เห็นร่วมกัน และ สื่อสารออกไป
ไม่อยากจะเชื่อว่า จากประสบการณ์ที่เคยทำกิจกรรมนี้มา
หลายครั้งผู้นำไม่ได้กำหนดเป้าหมายร่วม หรือ กำหนดแต่ไม่ได้สื่อสารออกไป
จนทำให้คนในทีมทำงานแบบวันต่อวัน ทำไปเรื่อยๆ ไร้จุดหมาย ไม่ได้คิดอะไรใหม่
เพราะไม่รู้ว่า ผู้นำต้องการอะไร
ถ้าองค์กรนั้นใหญ่พอ ก็คงอยู่ได้เรื่อยๆ แต่ถ้าไม่ใหญ่พอ โอกาสขาดทุนและปิดกิจการก็มีสูง
ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ครับ เรื่องง่ายๆ แต่ตกม้าตายกันมาเยอะแล้ว
ขั้นตอนที่ 4 กำหนดแนวทางกว้างๆ อย่าแคบจนไม่ต้องคิด และอย่ากว้างมากจนไม่รู้ว่าจะเอาอะไรแน่
คำพูดสุดท้ายคือ 1., 2., 3.
บอกแนวทางกว้างๆ ให้ไปคิดต่อ ไม่บอกจนละเอียดเกินไป
ถ้าละเอียดมาก คนในทีมก็เป็นแค่หุ่นยนต์คอยรับคำสั่ง
แต่ถ้าไม่บอกเลย ก็วิ่งกันคนละทิศละทางอีก
การให้แนวทางก็เป็นการสื่อสารที่ทำให้ไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น
ตัวอย่างที่ผมยกขึ้นมา ดูผ่านๆ คงเป็นแค่ข้อความธรรมดา แต่ถ้าค่อยๆ ดูข้อความนั้น มันมีองค์ประกอบของความสำเร็จที่ชัดเจน
จากข้อความสั้นๆ ทำให้เรียนรู้เรื่องผู้นำได้เป็นอย่างดี
เมื่อองค์ประกอบครบ ที่เหลือคงต้องดูความสามารถของคนในทีมแล้วว่าจะตามวิสัยทัศน์ของผู้นำได้ทันหรือไม่ มีทรัพยากรเพียงพอมั้ย
หลายครั้งเรามักจะบอกว่า ความยากที่สุดในการทำงานให้สำเร็จคือ “เรื่องคน” คำพูดนี้จริงมากๆ แม้แต่ตัวเราที่จะผลักดันอะไรซักอย่างให้สำเร็จ เรายังไม่รู้เลยว่าจะทำยังงัย เมื่อต้องทำกับคนอื่นๆ ที่เกิดมาไม่เหมือนกัน ผ่านประสบการณ์โชกโชนไม่เหมือนกัน ความเป็นผู้นำที่ดีจะช่วยให้ทุกงานสำเร็จได้ง่ายขึ้น มีคุณค่ามากขึ้น สมัยนี้ไม่มีใครทำงานคนเดียวแล้วครับ มันยากมาก ต้องมีเพื่อน มีทีม การทำทีมให้ดี มุ่งเป้าเดียวกันต้องเริ่มจากตัวเรา แล้วทุกงานจะสำเร็จโดยดีเช่นกัน…สวัสดี
…………………………………………………………………….