คำว่า Startup ใช้กันบ่อยครั้งมากในรอบสองสามปีที่ผ่านมา คนจำนวนมากซึ่งรวมถึงตัวผมเองด้วยไม่รู้จักไม่รู้ความหมายไม่เข้าใจว่า Startup คืออะไร ไปสืบค้นมาพอรู้โดยสังเขปว่า Startup เป็นบริษัทเปิดใหม่ในวงการไอที ใน Silicon Valley สหรัฐอเมริกา มีผู้สนใจเปิดบริษัทแบบ Startup กันมากมายและมีนักลงทุน (Investor) เข้ามาลงทุนจำนวนมากเช่นกัน แสดงว่าต้นแบบของการทำธุรกิจ Startup มาจาก Silicon Valley สหรัฐอเมริกา แล้วประเทศอื่นๆรวมถึงประเทศไทยด้วยมีการตื่นตัวหันมาสนใจกันอย่างกว้างขวางมากมายโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการทำธุรกิจของตนเอง
ล่าสุดรัฐบาลประกาศจัดงาน Startup Thailand 2016 ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของภาครัฐและหน่วยงานเอกชน 12 หน่วย ระหว่างวันที่ 28 เมษายน ถึง 1 พฤษภาคม 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ เป้าหมายคือการระดมตัวผู้ประกอบการธุรกิจ Startup ของประเทศไทยให้มารวมตัวกัน เป็นการรวมพลัง Startup และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อน Startup Thailand ให้เป็นฐานเศรษฐกิจใหม่ของไทย
คำถามก็คือ Startup คืออะไรกันแน่? เขาทำกันอย่างไร ยากง่ายแค่ไหน โอกาสประสบความสำเร็จเป็นอย่างไร ในประเทศไทยมีผู้ทำธุรกิจนี้หรือยังและที่สำคัญมันแตกต่างอย่างไรกับธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม (SME) ที่เราคุ้นเคยกันมานาน
ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณไผท ผดุงถิ่น นายกสมาคมการค้าเพื่อผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (Thailand Tech. Startup Association) ในรายการ Money Talk ที่ผมเป็นผู้ดำเนินรายการอยู่จึงได้ความรู้ความกระจ่างในธุรกิจ Startup ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก
คุณไผทเองก็ไม่เคยมีความรู้เรื่องธุรกิจ Startup มาก่อน จบวิศวฯก่อสร้างก็เลยทำงานการก่อสร้างอยู่หลายปี จนเกิดความคิดว่าธุรกิจก่อสร้างเป็นธุรกิจที่ไม่รู้ต้นทุนค่าใช้จ่ายและกำไรที่แท้จริง ไม่มีการบันทึกรายละเอียดวัสดุอุปกรณ์ คุณไผทจึงพัฒนาซอฟแวร์สำหรับธุรกิจก่อสร้างออกขายในราคาที่สูงพอสมควร ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรลูกค้าไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเสียเงินไปซื้อซอฟแวร์ทำไม คุณไผทก็เลยหันเหเอาซอฟแวร์ไปขายให้ธุรกิจก่อสร้างในเวียดนามประสบความล้มเหลวอีกเช่นเคย แต่การไปเวียดนามทำให้คุณไผทรู้จักประเทศเวียดนามและมีโอกาสได้เข้าไปร่วมแข่งขันการนำเสนอแนวคิดธุรกิจในงาน Vietnam Startupจนได้รางวัลชนะเลิศทั้งๆที่ยังไม่เคยทำธุรกิจ Startup จากการชนะการแข่งขันครั้งนี้ทำให้คุณไผทได้เป็นตัวแทนจากเวียดนามไปร่วมงานการประชุมใหญ่ Startup ที่ประเทศสิงคโปร์ทำให้ได้ความรู้สร้างเครือข่ายในการทำธุรกิจ Startup จริงๆ คุณไผทเปลี่ยนแนวคิดในการขายซอฟแวร์ธุรกิจก่อสร้างมาเป็นให้ดาวน์โหลดฟรี ทำให้มีธุรกิจก่อสร้างเข้ามาดาวน์โหลดซอฟแวร์ของคุณไผทกันมากมายทำให้คุณไผทมีข้อมูลขนาดใหญ่หรือที่เรียกว่า Big Data สำหรับธุรกิจก่อสร้างที่คนอื่นไม่มี บรรดาซัพพลายเออร์ธุรกิจก่อสร้างวิ่งเข้าหาคุณไผทกันยกใหญ่ บริษัทก่อสร้างทุกขนาดก็วิ่งเข้าหากลายเป็น Tech Startup หรือผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ ที่ประสบความสำเร็จ
Startup คือการเริ่มต้นธุรกิจเพื่อการเติบโตแบบก้าวกระโดด สร้างรายได้จากการขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว (Scalable) และทำซ้ำ (Repeatable) ถ้าทำธุรกิจผ่านเทคโนโลยีก็จะเรียกว่า Tech Startupส่วนใหญ่มักจะเป็นธุรกิจเพื่อการแก้ปัญหา (Solutions) หรือโอกาสที่ยังไม่มีใครเคยเห็นหรือไม่เคยทำมาก่อน เช่นพวกแอพพลิเคชั่นบางอย่างเช่นแอพพลิเคชั่นให้บริการรถแท็กซี่ แอพพลิเคชั่นเคลมประกันเมื่อเกิดอุบัติเหตุด้วยตัวเอง เป็นต้น การใช้เงินทุนเริ่มต้นในการทำ Startup โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Tech Startup ไม่สูงนักเพราะอาศัยเทคโนโลยีที่มีการพัฒนานำมาใช้งานแล้ว การขยายธุรกิจผ่านเทคโนโลยีเป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็วทุกที่ทุกเวลา
ในขณะที่การทำธุรกิจ SME ต้องมีเจ้าของธุรกิจ ลงทุนเองหรือระดมทุนหรือหาแหล่งทุน การขยายธุรกิจและทำซ้ำต้องมีค่าใช้จ่ายเช่นการขยายสาขา การเพิ่มกำลังการผลิต การหาวัตถุดิบ การขนส่งกระจายสินค้าและบริการ การจ้างคนเพิ่มเป็นต้น การเพิ่มขนาดธุรกิจจากขนาดย่อม (Small) ไปเป็นธุรกิจขนาดกลาง (Medium) หรือก้าวต่อไปเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ (Large) มักอาศัยการระดมทุนด้วยการจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนซื้อขายเป็นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทยจำนวนหนึ่งก็เริ่มมาจากธุรกิจ SME
ถ้าเราสร้างเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นให้คนมาขายของ ถ้ามีคนเอาของมาลงขายเยอะ ของขายดีลูกค้าเยอะ รายได้ของเราก็เพิ่มมากขึ้นเป็นก้าวกระโดดโดยแทบไม่ต้องไปขยายอะไรตามมากมาย ถ้าได้รับความนิยมมากสามารถขยายไปเปิดธุรกิจในต่างประเทศได้อีกด้วยรูปแบบธุรกิจเดิมถือเป็นการขยายและทำซ้ำเรียกว่าเป็นธุรกิจ Startup บริษัทไอทีระดับโลกหลายแห่งผ่านการเป็น Startup มาแล้วไม่ว่าจะเป็น Facebook, Google, Youtube เป็นต้น เริ่มต้นยังไม่มีแผนธุรกิจอะไรที่ชัดเจน ตอนแรกให้ใช้ฟรี จนได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก ทำให้มีโฆษณาเข้ามามาก รายได้เพิ่มอย่างรวดเร็วในขณะที่รายจ่ายไม่ได้เพิ่มอะไรมากมาย ปัจจุบันมีแผนธุรกิจที่ชัดเจนมีการเช้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ประสบความสำเร็จแบบก้าวกระโดดอย่างแท้จริง
การทำ Startup ไม่ได้ประสบความสำเร็จไปทุกธุรกิจ ระยะเวลาที่คุณไผทบอกก็คือประมาณ 18 เดือนหรือปีครึ่งหลังการเริ่มต้นก็เห็นผลแล้วว่าเป็นธุรกิจ Startup ที่จะได้ไปต่อหรือต้องหยุดเพียงแค่นี้
คุณไผทได้พูดถึงการได้มาซึ่งเงินลงทุนสำหรับธุรกิจ Startup ไว้ดังนี้
1) เงินลงทุนของตนเอง
2) เงินลงทุนจากครอบครัวหรือเพื่อนฝูง
3) เงินลงทุนจากนักลงทุนเทพบุตรเทพธิดาหรือที่เรียกว่า Angle Investor นักลงทุนเหล่านี้จะจัดสรรเงินจำนวนหนึ่งจากพอร์ตการลงทุนมาลงทุนกับธุรกิจ Startup ที่เขาเห็นว่าแนวคิดดีน่าสนใจน่าลงทุนด้วยจึงยอมเสี่ยงมาลงทุนตั้งแต่ยังเป็น Startup ที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์หรือยังไม่ประสบความสำเร็จแบบก้าวกระโดด แต่ถ้าประสบความสำเร็จก็ถือเป็นโชคและโอกาสที่ดีของนักลงทุนเทพบุตรเทพธิดาเหล่านั้น
4) นักลงทุนประเภท Venture Capital ซึงมักจะเป็นนักลงทุนรายใหญ่มีเม็ดเงินลงทุนก้อนใหญ่ ปัจจุบันสถาบันการเงินและบริษัทโฮลดิ้งหลายแห่งมีการเปิด Venture Capital ให้ธุรกิจ Startup ที่น่าสนใจเข้าถึงแหล่งเงินทุน
5) แหล่งเงินทุนจาก Crowdfunding เป็นเงินลงทุนที่ระดมจากนักลงทุนจำนวนมากทำให้ได้เม็ดเงินลงทุนจำนวนเยอะ ผู้เกี่ยวข้องกับ Crowdfunding มี 3 ส่วนคือ
1. เจ้าของความคิดริเริ่มในการทำ Startup
2. คนหรือกลุ่มคนที่ให้การสนับสนุนความคิด
3. องค์กรหรือหน่วยงานที่จัดให้ทุกฝ่ายได้พบกันเพื่อนำเสนอโครงการ
6) การลงทุนแบบ Kickstarter เป็นการระดมทุนสนับสนุนผ่านทางอินเตอร์เน็ตให้ผู้มีความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาสิ่งใหม่ได้นำความคิดดีๆนั้นไปสู่การผลิตออกมาเป็นสินค้าหรือบริการที่ใช้งานได้จริงๆ ผู้สนับสนุนได้ใช้สินค้าตามจำนวนเงินที่สนับสนุน สินค้าหรือบริการนั้นอาจประสบความสำเร็จเป็นที่นิยมแบบก้าวกระโดด กระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆออกมาจนเป็นจริง
การลงทุนสนับสนุนเงินทุนธุรกิจ Startup แตกต่างจากการซื้อหุ้นซึ่งมีกฎหมายและกฎระเบียบรองรับชัดเจน ในเร็ววันนี้คงต้องมีการออกกฎหมายและกฎระเบียบมาเพื่อการรองรับการลงทุนสนับสนุนธุรกิจ Startup ซึ่งก็แน่นอนว่าจะเป็นกุญแจสำคัญทำให้ธุรกิจ Startup กลายเป็นฐานเศรษฐกิจใหม่ของไทย ในขณะที่อีกหลายประเทศทั่วโลกก็กำลังสนับสนุนและขับเคลื่อนธุรกิจ Startup เช่นกัน
ทราบกันดีว่าคนรุ่นใหม่ที่เป็น Gen Y และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Gen M หรือ Gen Z จะมีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีตั้งแต่เกิด เรียกว่าเป็น Technological Native ประกอบกับความคิดสร้างสรรค์ ท้าทายการพัฒนาและความแปลกใหม่ จึงทำให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้เริ่มให้ความสนใจเป็นผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่หรือ Tech Startup กันมากขึ้น ซึ่งสอดรับกับการภาครัฐให้การสนับสนุน Startup ที่ประสบความสำเร็จเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการหรือเจ้าของความคิด นักลงทุน สถาบันการเงินหรือบริษัทโฮลดิ้ง เศรษฐกิจของประเทศโดยรวม