ข่าวพบคราบน้ำมันลอยติดหาดหัวหินไปจนถึงปราณบุรีระยะทางนับสิบกิโลเมตรสร้างความเสียหายให้กับสภาพแวดล้อม สุขภาพอนามัยและการท่องเที่ยวทะเลหัวหินและปราณบุรีเป็นอย่างมาก ต้องระดมกันจัดการกำจัดคราบน้ำมันที่เปรอะหาดทรายสาหร่ายทะเลกันเป็นการใหญ่ ประมาณการค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท โดยไม่ทราบว่าเป็นน้ำมันชนิดใดต้องใช้เวลาในการตรวจและที่สำคัญไม่ทราบว่าคราบน้ำมันเหล่านี้มาจากไหนใครเป็นคนปล่อยทิ้งลงทะเล
ย้อนไปเมือปลายเดือนกรกฎาคม 2556 เกิดเหตุน้ำมันดิบของบริษัทพีทีที โกลบอล เคมีคอล(PTTGC)รั่วจากท่อรับน้ำมันดิบจากเรือบรรทุกน้ำมันไหลทะลักลงสู่ทะเลมาบตะพุดจังหวัดระยอง ปริมาณกว่า 7หมื่นลิตร คราบน้ำมันดิบกระจายเป็นวงกว้างไปทั่วบริเวณ บริษัทฯร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญรีบดำเนินการเก็บและกำจัดโดยเร่งด่วน ถึงกระนั้นก็พบว่ามีน้ำมันดิบอีกกว่า 3พันลิตรไหลไปเกยชายหาดอ่าวพร้าวเกาะเสม็ดจังหวัดระยองสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของคนไทยและชาวต่างชาติ จึงต้องระดมกำลังกันกำจัดคราบน้ำมันดิบเป็นการด่วน
กรณีนี้บริษัทพีทีที โกลบอล เคมีคอล(PTTGC) ซึ่งเป็นเจ้าของน้ำมันดิบได้แสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มความสามารถในการสกัดและกำจัดคราบน้ำมันดิบโดยผู้เชี่ยวชาญ ระดมผู้บริหารและพนักงานฯเข้าไปช่วยกันกำจัดคราบน้ำมันและฟื้นฟูทำความสะอาดชายหาดอ่าวพร้าวเกาะเสม็ด จ่ายค่าเสียหายให้กับชาวบ้านและผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะเสม็ดที่ได้รับผลกระทบ หลังการขจัดคราบน้ำมันและฟื้นฟูทำความสะอาดชายหาดอ่าวพร้าวเกาะเสม็ดแล้วก็ได้ออกโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวกลับไปเที่ยวเกาะเสม็ดที่สวยงามกันเช่นเดิม ล่าสุดผมไปพูดบนเกาะเสม็ดมาเมือเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาพบว่ามีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวกันอย่างคึกคักทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน
ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้บริหารเบอร์หนึ่งของพีทีทีจีซีหลังเกิดเหตุการณ์ได้สักระยะหนึ่ง ยืนยันถึงความรับผิดชอบในทุกด้านอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันก็มีมาตรการแก้ไขป้องกันไม่ให้เกิดกรณีน้ำมันดิบรั่วไหลขึ้นอีก เป็นนโยบายสำคัญของบริษัทฯในเรื่องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม
เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีพบคราบน้ำมันจำนวนมากที่ชายหาดหัวหินและปราณบุรีมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ไม่รู้แน่ชัดว่าใครเป็นคนทิ้งน้ำมันลงทะเล แสดงถึงการขาดจิตสำนึกความรับผิดชอบในการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เชื่อได้ว่าจากการเป็นข่าวที่ครึกโครมต้นเรื่องหรือคนทำก็คงรู้ตัวแล้วแต่ก็ไม่มีวี่แววว่าจะออกมาแสดงตัวว่าเป็นคนทิ้งน้ำมันลงทะเล ทำนองว่าจับไม่ได้ไล่ไม่ทันก็รอดตัวไป ถือเป็นการกระทำที่สมควรได้รับการประณามเป็นอย่างมาก
คำแก้ตัวที่เหมือนๆกันในกรณีทำอะไรไม่ถูกต้องหรือผิดพลาดไปก็คือ “รู้เท่าไม่ถึงการณ์”อ้างว่าไม่รู้ข้อกฎหมาย หรือกฎหมายไม่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นกรณีดาราคนดังโพสต์ภาพขวดเบียร์ลงบนสื่อสังคม ผู้โดยสารพูดเล่นขู่แอร์โฮสเตสขณะกำลังยกกระเป๋าขึ้นเก็บบนชั้นเก็บของเหนือศีรษะว่าให้ระวังนะในกระเป๋ามีระเบิด จนเป็นเหตุให้เที่ยวบินออกเดินทางไม่ได้ต้องตรวจสอบค้นหากันวุ่นวาย เป็นต้น เป็นคำแก้ตัวปลายเหตุที่เกิดจากความบกพร่องด้านจิตสำนึกมากกว่าว่าอะไรควรทำหรืออะไรไม่ควรทำทำนอง “รู้รับผิดชอบชั่วดี”
ความรับผิดชอบต่อสังคม(CSR – Corporate Social Responsibility) ขององค์กรต่างแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ
1) As Process CSR เป็นการจัดตั้งองค์กรหรือหน่วยงานขึ้นมาเพื่อสังคมสาธารณะประโยชน์และสิ่งแวดล้อมโดยไม่หวังผลกำไรเป็นการตอบแทน ได้แก่มูลนิธิ สมาคมการกุศลต่างๆ
2) In Process CSR เป็นการกำหนดความรับผิดชอบสังคมสิ่งแวดล้อมตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและลูกค้าในทุกขั้นตอนการผลิตและการดำเนินการขององค์กรธุรกิจ ได้แก่การเลือกใช้วัตถุดิบที่ปลอดภัยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กระบวนการผลิตสะอาดไม่ปล่อยมลพิษและของเสียไปสู่ชุมชนสาธารณะ ใช้แรงงานที่ถูกต้องตามข้อกำหนดกฎหมาย เป็นต้น
3) After Process CSR เป็นการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีผลดีต่อสังคมแม้ไม่เกี่ยวกับข้องหรือเป็นผลประโยชน์ขององค์กรธุรกิจโดยตรง เช่นการปลูกป่า การบริจาคโลหิต การช่วยเหลือผู้ประสบภัย การบริจาคให้ทุนการศึกษา
องค์กรและธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ถือว่าเป็นธุรกิจที่มีคุณธรรมไม่ใช่จ้องกอบโกยเอาผลกำไรเอาผลตอบแทนอย่างเดียวแต่มีการให้การตอบแทนกลับคืนสู่สังคมอย่างจริงใจ ลูกค้าผู้บริโภคก็จะให้การตอบรับอุดหนุนใช้สินค้าหรือบริการ ทำให้ธุรกิจเจริญเติบโตอย่างมั่นคง ความจริงการรับผิดชอบต่อสังคมไม่ควรจำกัดอยู่แต่เฉพาะองค์กรหรือธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ต้องหมายถึงองค์กรหรือธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก ธุรกิจเกิดใหม่ และรวมถึงบรรดาผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เรียกกันว่า Freelance ไม่ว่าจะเป็นศิลปินดารานักร้อง นักพูด พิธีกร ฯลฯ ตลอดจนตัวบุคคลทุกคน