การทำธุรกิจย่อมหลีกเลี่ยงจากเรื่องการเงินไปไม่พ้น เนื่องจากวัตถุประสงค์หลักของการทำธุรกิจก็คือ การแสวงหาผลตอบแทนหรือกำไรจากธุรกิจกลับคืนให้แก่เจ้าของธุรกิจเหมือนกับการประกอบอาชีพอื่นๆ เช่นเดียวกัน
หากจะลองมาลำดับขั้นตอนหรือกระบวนการในการทำธุรกิจดู ตั้งแต่การจัดหาผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจเป็นสินค้า บริการ หรือทั้งสินค้าและบริการรวมกัน มาเพื่อนำเสนอต่อลูกค้า ไปจนถึงการเก็บเงินจากลูกค้าได้ครบถ้วน เราก็จะเห็นได้ว่าทุกขั้นตอนก็จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของการเงินแทบทั้งนั้น หรืออาจจะเลยไปก่อนหน้านั้น คือตั้งแต่ตอนเริ่มต้นก่อตั้งธุรกิจ แม้ยังจะไม่มีลูกค้าเลยสักคนเดียวก็ต้องเริ่มมีการใช้เงินแล้ว ซึ่งก็คือสิ่งที่เรียกกันว่า เงินลงทุนทางธุรกิจนั่นเอง
การแสวงหาเงินลงทุนก่อตั้งธุรกิจเป็นธุรกรรมทางการเงินที่มีแหล่งที่มาของเงินได้ 2 ทาง คือ ใช้เงินส่วนตัวของเจ้าของที่เป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจเองกับการใช้เงินจากแหล่งเงินกู้ ในแง่ของส่วนที่เป็นเจ้าของธุรกิจ กฎหมายธุรกิจก็ยังกำหนดแยกออกได้เป็นอีก 4 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจแบบเจ้าของคนเดียว ธุรกิจแบบหุ้นส่วน ธุรกิจแบบบริษัท และธุรกิจแบบบริษัทมหาชน
ธุรกิจแบบเจ้าของคนเดียว ก็เห็นได้ชัดเจนว่า เงินลงทุนในส่วนของเจ้าของ ก็คือเงินที่เจ้าของนำมาลงทุนในธุรกิจของตนนั่นเอง ส่วนในกรณีของธุรกิจแบบหุ้นส่วน ไม่ว่าจะเป็นห้างหุ้นส่วนแบบสามัญ หรือห้างหุ้นส่วนแบบนิติบุคคล เจ้าของธุรกิจก็จะประกอบด้วยหุ้นส่วนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ซึ่งอาจนำเงินมาลงทุนเท่าๆ กัน หรือไม่เท่ากันก็ได้
ธุรกรรมทางการเงินของธุรกิจ “แบบห้างหุ้นส่วน” จึงต้องบันทึกเพื่อติดตามได้ว่าหุ้นส่วนคนใดนำเงินมาลงทุนในส่วนของเจ้าของเป็นเงินคนละเท่าใด เมื่อธุรกิจได้กำไรก็จะสามารถนำกำไรมาแบ่งสันปันส่วนกันได้ตามสัดส่วนเงินที่หุ้นส่วนแต่ละคนนำมาลงทุน
ธุรกิจแบบบริษัท จะมีการแบ่งความเป็นเจ้าของของบริษัทออกตามจำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนถือครองอยู่ ณ วันที่บริษัทกำหนดให้เป็นวันที่จะนำกำไรที่บริษัททำได้มาแบ่งปันกันให้กับผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนจำนวนหุ้นที่ถือครอง แต่จะเรียกว่า การจ่ายปันผล ไม่ใช่การแบ่งกำไร
ธุรกรรมทางการเงินของธุรกิจแบบ “บริษัท” จึงต้องมีการติดตามจำนวนหุ้น และราคาหุ้นแรกเริ่มในตอนที่ก่อตั้งบริษัท พร้อมทั้งทะเบียนผู้ถือหุ้น รวมถึงกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงการถือครองหุ้น ซึ่งหุ้นของธุรกิจอาจเปลี่ยนมือโดยการซื้อขายกันได้ ทำให้ผู้ที่เป็นเจ้าของและสิทธิ์ของความเป็นเจ้าของบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ต่างจากธุรกิจแบบเจ้าของคนเดียวและธุรกิจแบบหุ้นส่วนที่ความเป็นเจ้าของมักจะไม่เปลี่ยนแปลง
ธุรกิจแบบบริษัทมหาชน เป็นธุรกิจที่มีผู้ถือหุ้นจำนวนมาก เช่น มากกว่า 200 รายขึ้นไป เป็นต้น และหากนำบริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก็สามารถนำหุ้นมาขายให้กับบุคคลทั่วไปได้ด้วยทุกวันในเวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์
ธุรกรรมทางการเงินในช่วงการหาทุนมาก่อตั้งธุรกิจอาจจะเรียกโดยรวมได้ว่า การหา “แหล่งได้มาของเงินทุน” แหล่งได้มาของเงินที่ใช้ในการก่อตั้งธุรกิจอีกแหล่งหนึ่งที่ไม่ได้มาจากเงินของเจ้าของธุรกิจ ได้แก่ แหล่งเงินที่ได้มาจากการกู้ยืมในนามของธุรกิจ ซึ่งในทางธุรกรรมทางการเงินจะไม่เรียกว่าเป็นเงินทุน เนื่องจากเจ้าของเงิน
ธุรกิจจะมีภาระผูกพันในการชำระค่าดอกเบี้ยของเงินที่กู้ยืมมาให้กับเจ้าหนี้ พร้อมชำระคืนเงินต้นตามเงื่อนไขสัญญากู้ยืมเงินตามที่ได้ตกลงกันไว้ ส่วนเงินที่เจ้าของนำมาลงทุนจะไม่มีการคิดดอกเบี้ยให้ แต่เจ้าของธุรกิจจะได้ผลตอบแทนจากธุรกิจเมื่อธุรกิจสามารถทำกำไรได้ เงินกำไรที่สะสมไว้ในธุรกิจจะเป็นส่วนหนึ่งของผลตอบแทนที่เจ้าของธุรกิจจะได้รับคืนจากการลงทุนทำธุรกิจ
แต่หากธุรกิจ “ขาดทุน” ก็แสดงว่า เงินในส่วนของเจ้าของที่นำมาลงทุนไว้ก็จะสูญหายไปตามสัดส่วนการขาดทุน!! หลังจากการลงทุนก่อตั้งธุรกิจทำได้สำเร็จ ธุรกิจก็จะต้องดำเนินการต่อไปเพื่อแสวงหาผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาจำหน่ายให้กับลูกค้า และทำให้เกิดกำไรขึ้นในธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
ในการแสวงหาผลิตภัณฑ์มาเพื่อการจำหน่าย ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายไปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการหาซื้อสินค้า การเคลื่อนย้ายสินค้ามายังจุดจำหน่ายสำหรับธุรกิจค้าปลีก การจัดซื้อวัตถุดิบและเครื่องจักร การจัดหาแรงงานในการผลิต และการจัดหาทรัพยากรอื่นๆ มาสนับสนุนในการผลิต เช่น ไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำใช้ในกระบวนการผลิต ฯลฯ สำหรับธุรกิจอุตสาหกรรม หรือการจัดหาสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ สาธารณูปโภค และแรงงาน สำหรับธุรกิจการให้บริการ
กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้รวมกันก็จะกลายเป็นธุรกรรมทางการเงินในหมวดที่เรียกว่า “ต้นทุนขาย” หรือสำหรับธุรกิจให้บริการก็จะเรียกว่า “ต้นทุนการบริการ” กิจกรรมในส่วนที่เกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่าย เช่น การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ การส่งเสริมการขาย การจัดหาพนักงานขาย ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับหน้าร้านหรือสถานที่จำหน่ายจะรวมอยู่ในธุรกรรมการเงินหมวด “ค่าใช้จ่ายในการขาย” ส่วนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการอื่นๆ ของธุรกิจ เช่น ค่าเงินเดือนผู้บริหาร ค่าดอกเบี้ยที่ต้องชำระ ค่าใช้จ่ายในสำนักงานส่วนกลาง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกฎหมายหรือข้อบังคับต่างๆ อาจจัดรวมอยู่เป็นธุรกรรมทางการเงินประเภท “ค่าใช้จ่ายการบริหาร” ผลลัพธ์ทางธุรกิจที่เกิดจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะเรียกว่า “รายได้”
เมื่อนำ “รายได้” จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ หักออกด้วย “ต้นทุนสินค้า” ที่ขายไป และ “ค่าใช้จ่าย” ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็จะได้ “กำไรสุทธิ” ที่เป็นผลจากการทำธุรกิจ ซึ่งจะนำมารวมกับ “ส่วนของเจ้าของ” สำหรับเตรียมแบ่งสรรคืนให้กับเจ้าของเป็นผลตอบแทนจากการลงทุนในธุรกิจต่อไป