Live อย่างไรให้มีคนดู : ดร.พนม ปีย์เจริญ

ดร.พนม ปีย์เจริญ

ต้องใช้จังหวะที่เหมาะสมเพื่อนำเสนอในขณะที่กำลังดำเนินรายการอยู่หน้าจอ ขณะที่กำลัง Live อยู่ เลือกเอาเฉพาะจุดเด่นสัก 3 ถึง 4 จุดเด่นมานำเสนอก็พอ อย่าให้มากจนเกินไป จนรู้สึกน่าเบื่อหรือคนดูรู้สึกได้ว่า “ โม้เกินจริงหรือเปล่า ”

          ในขณะนี้ในโลกโซเซียลกำลังถ่ายทอดสด ( Live ) กันเป็นสารพัดรูปแบบ โดยเฉพาะการถ่ายทอดสดทางมือถือเพื่อขายสินค้าสารพัดชนิด ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก เพราะต้นทุนในการผลิตถูกมาก และสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในช่วงแรกๆนั้น ทั้งคนดูและคน (Live) ต่างตื่นเต้นกันมากเพราะเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในโลกมือถือที่ต่อยอดมาจาก Face book และ Line  ที่สำคัญคือ มันทำได้ไม่ยาก  พียงแค่พอใช้มือเป็นและเรียนรู้เพิ่มเติมอีกนิดก็สามารถผลิตรายการแบบทีวีไดเร็กได้แล้ว  แต่ก็นั่นแหละครับ การผลิตรายการถ่ายทอดสดนั้นไม่ได้ยากเย็นอะไรหรอกครับ เพราะใช้ความรู้พื้นฐานก็สามารถทำได้  แต่ถ้าจะผลิตรายการให้น่าสนใจ น่าติดตามและมีคนดูมากๆ อันนี้ไม่ง่ายเลยครับ   ฉนั้นวันนี้ผมจึงขอนำเสนอ  Live อย่างไรให้มีคนดู ”  มาเล่าให้ฟังกันพอสังเขปก่อน ในฐานะคนที่เคยทำหน้าที่ผลิตรายการทีวีมาหลายรายการ หลายช่อง

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนเลยว่า ส่วนสำคัญพื้นฐานของการ Live อย่างไรให้มีคนดูนั้น มีองค์ประกอบสำคัญเบื้องแรก 3 ส่วน คือ

  1. คนนำเสนอ
  2. เรื่องราวที่นำเสนอ
  3. วิธีการนำเสนอ
  4. คนนำเสนอ นับว่ามีความสำคัญมากในการนำเสนอในขณะที่ถ่ายทอดสด เพราะมีความสามารถพอหรือไม่ที่จะทำให้คนดูอยู่กับเราให้ได้นานที่สุด จนถึงนาทีสุดท้าย เพราะฉนั้นคนที่ทำหน้าที่เสนอต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นดังนี้

1.1 มีความสามารถในการสื่อสารกับคนดูใน 3 ระดับเบื้องต้น

1.1.1 มีความสามารถในการพูดให้รู้เรื่องให้เข้าใจ เพราะนี่ถือว่าเป็นความสามารถเบื้องต้นที่ผู้ที่ทำหน้าที่นำเสนออยู่หน้าจอ ต้องทำให้ได้ก่อน เพราะไม่ว่าเรื่องที่กำลังนำเสนอหรือสินค้าที่นำเสนอ จะน่าสนใจเพียงใดแต่ถ้าคนนำเสนอทำความเข้าใจกับผู้ชม ผู้ฟังไม่ได้ คุณค่าของสินค้าและเรื่องที่พูดจะดูด้อยไปทันทีเพราะฉนั้นผู้นำเสนอจะต้องรู้ว่า กำลังพูดสื่อสาร ถึงใคร อะไร ที่ไหน อย่างไร ทำไม

พร้อมทั้งทำความเข้าใจกับเรื่องที่กำลังจะพูดออกอากาศให้ถ่องแท้ เพราะการพูดจากการเข้าใจ จะไหลลื่น ดูเป็นธรรมชาติมากกว่าการท่องจำมาพูดอยู่หน้าจอ

1.1.2   ความสามารถในการพูดนำเสนอให้ผู้ฟังเชื่อในสิ่งที่พูดนับเป็นความสามารถอีกระดับหนึ่งที่ผู้ที่กำลังพูดออกอากาศสด ต้องพยายามทำให้ได้ เพราะถ้าคนดูเชื่อ ในสิ่งที่เรานำเสนอ โอกาสที่ลูกค้าดูเราอยู่ จะตัดสินใจซื้อสินค้าที่เรากำลังนำเสนอมีสูงมาก เพราะฉนั้นผู้นำเสนอต้องมีข้อมูลและเรื่องราวที่น่าสนใจ น่าติดตาม น่าเป็นเจ้าของ อันเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจ ตามที่เรากำลังนำเสนออยู่ในขณะนั้น

เพราะฉนั้นอะไรที่เป็นเหตุผล อ้างอิงมีที่มาที่ไป เป็นข้อมูลทางวิชาการ ทางวิทยาศาสตร์ ตัวเลขที่มาจากบทสรุปที่สำคัญๆ ฯลฯ นำออกมานำเสนอให้เหมาะสม สอดคล้องกับเรื่องหรือสินค้าที่เรากำลังพูดถึงเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้เกิดความเชื่อถือเพิ่มขึ้นไปอีก

1.1.3 ความสามารถในการนำเสนอให้ผู้ที่กำลังดูและฟังเราอยู่ตัดสินใจตามที่เราต้องการให้เขาตัดสินใจ เช่น ตัดสินใจซื้อเดี๋ยวนี้หรือในเวลาที่เรากำหนดเป็นต้น

แต่ก่อนจะมาถึงเวลานี้ เราต้องมีความสามารถในการนำเสนอให้คนดู คนฟัง มองเห็นโอกาสของเขา มองเห็นความได้เปรียบของเขาฯลฯ ที่จะกระตุ้นให้เขาต้องรีบตัดสินใจเร็วขึ้น อันเป็นข้อเสนอที่เขาไม่สามารถปฏิเสธได้เลย

นั่นหมายถึงผู้ที่กำลังดำเนินการ การจัดการรายการสดอยู่นั้น ต้องเริ่มสร้างบรรยากาศและความน่าสนใจตั้งแต่

– การเปิดรายการในช่วงแรก ให้ดูน่าตื่นเต้น น่าสนใจ หรือทำให้อยากรู้ว่า ต่อจากนี้มีอะไรน่าสนใจรออยู่บ้าง  เพราะฉนั้น “ ไพ่ใบแรก” ของผู้ดำเนินรายการ ต้องทิ้งไพ่ที่ดีที่สุด เพื่อตรึงคนดูให้อยู่กับเราให้ได้ก่อน

– การดำเนินการเนื้อเรื่อง ต้องมีการเตรียมการ พล๊อตวางโครงเรื่องให้น่าติดตามเป็นระยะๆ ประเภททำให้ติดตามไปตั้งแต่ตอนต้นไปจนถึงตอนจบรายการ หากเป็นสินค้าต้องนำเอา

– Story หรือเรื่องราวที่มาที่ไปของสินค้า ที่น่าสนใจ แปลกแตกต่าง กว่าสินค้ายี่ห้ออื่นในชนิดเดียวกัน ประเภทของเรามี แต่ของคู่แข่งไม่มี อะไรทำนองนั้น

– Strength จุดแข็งที่ของสินค้าที่ไม่พูดถึงไม่ได้และเป็นจุดแข็งที่คู่แข่งไม่มี ยิ่งน่าพูดและตอกย้ำให้ได้ยินบ่อยๆ (แต่พูดเฉพาะจุดแข็งของเรานะครับ อย่าโจมตีจุดอ่อนของบริษัทคู่แข่งโดยการออกชื่อยี่ห้อหรือชื่อบริษัทคู่แข่ง)

Selling point  จุดขายของสินค้าที่เรากำลังนำเสนอที่จะทำให้ลูกค้าตัดสินใจได้ง่ายขึ้นหากได้รู้ว่าจุดขายที่ทำให้สินค้าของเราขายดีนั้นคืออะไร

สิ่งต่างๆเหล่านี้ ผู้นำเสนอ จะต้องใช้จังหวะที่เหมาะสมเพื่อนำเสนอในขณะที่กำลังดำเนินรายการอยู่หน้าจอ ขณะที่กำลัง Live อยู่ เลือกเอาเฉพาะจุดเด่นสัก 3 ถึง 4 จุดเด่นมานำเสนอก็พอ อย่าให้มากจนเกินไป จนรู้สึกน่าเบื่อหรือคนดูรู้สึกได้ว่า “ โม้เกินจริงหรือเปล่า ”

  1. เรื่องราวที่นำเสนอ หรือสินค้าที่นำมาเสนอขายควรจะเป็นสินค้าที่แปลก แตกต่างยังไม่มีขายในท้องตลาดหรือห้างสรรพสินค้าทั่วไป หรือถ้ามีแล้วก็ต้องค้นหาจุดเด่น จุดขายที่คนดูสัมผัสได้ถึงความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด เช่น ชนิด จำนวน ราคา ของแถม ขนาด ฯลฯ เป็นต้น

นอกจากนั้นผู้นำเสนอต้องรู้จักหยิบเอาประเด็นหรือเรื่องราวที่ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ถึงความแหวกแนว แตกต่าง ความคุ้มค่า ความสมบูรณ์แบบวิวัฒนาการหรือนวัตกรรมใหม่ที่มีอยู่ในสินค้าที่เรากำลังนำเสนอแต่อย่านอกเรื่องไปจนไกลเกินไป จนเลอะเทอะ ไม่รู้อะไรเป็นอะไร

 

  1. วิธีการนำเสนอ ควรจะเป็นวิธีการนำเสนอแบบ Edutainment คือ เป็นแบบสาระบันเทิง สนุกสนานและน่าสนใจ น่าติดตาม นั่นหมายถึงว่า ก่อน Live จะต้องมีการเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า อาจไม่ต้องเขียนเป็นสคริปต์ หรือบทพูดแต่ควรจะรู้ว่าเราจะพูดถึง “ เรื่องอะไร ” บ้าง ไม่ต้องคิดว่าจะต้องพูด “ อย่างไร ” เพราะอาจจะทำให้เกร็งและไม่เป็นธรรมชาติในการนำเสนอและการพูด

การนำเสนอจะต้องดูสนุกสนาน น่าติดตามไหลลื่น ไม่ตระกุก ตระกัก ถึงแม้จะเป็นการถ่ายทอดสดก็ตาม เพราะถ้าหากมาจากการเตรียมตัวที่ดี มีการชักช้อมให้เกิดความคล่องตัว รู้ว่าจะทำอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร ตรงไหน การเคลื่อนไหวขณะนำเสนอ การหยิบจับของ ฯลฯ ก็จะดูคล่องตัว ไหลลื่น ไม่ติดขัด และไม่หลุดออกไปนอกเฟรมนานจนเกินไป

นี่เป็น 3 ขั้นตอนใหญ่ๆ ในเบื้องต้น สำหรับท่านใดจะถ่ายทอดสดเพื่อนำเสนอสินค้าในครั้งต่อไป อันจะมีผลให้การนำเสนอการถ่ายทอดสดของเราน่าสนใจและน่าติดตามมากยิ่งขึ้นและส่งผลไปถึงยอดการขายที่ผู้ชมจะตัดสินใจสั่งซื้อสินค้าที่เรานำเสนอในขณะนั้นตามมาด้วย

                                                                                           Dr.Panom  Peecharoen
Ph.D. Innovative Management
15/03/2017

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ