Live อย่างไรให้มีคนดู ( Part 2 ) : ดร.พนม ปีย์เจริญ

ดร.พนม ปีย์เจริญ

“ น้ำเสียงและลีลาการพูด ”

            น้ำเสียงและลีลาการพูด เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สามารถตรึงคนดูให้อยู่กับเราได้นานขึ้น ตั้งใจฟังและดูเราได้นานขึ้น ตลอดจนทำให้เรื่องที่เรานำเสนออยู่นั้นเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่เป้าหมายที่เราต้องการ ไปถึงในที่สุดคือ ทำให้ผู้ชมเห็นด้วยกับสิ่งที่เรานำเสนอในขณะนั้น ซึ่งน้ำเสียงและลีลาที่ดีในการถ่ายทอดสด ควรทำดังต่อไปนี้

  1. น้ำเสียงดังฟังชัด คือพูดให้ชัดถ้อยชัดคำ น้ำเสียงหนักแน่นและน่าฟัง อย่าพูดอ้ำอึ้ง หรือพูดอยู่ในลำคอ ซึ่งทำให้ได้ยินไม่ชัดเจน ดูไม่หนักแน่นและจะทำให้ดูไม่น่าฟัง ไม่น่าเชื่อถือ

พยายามพูดช้าๆ ชัดๆ อย่ารีบพูดจนเกินไป เพราะการพูดเร็วเหมือนพูดกับเพื่อนนั้นหากเพื่อนฟังไม่ทัน ยังขอให้พูดซ้ำได้ แต่การถ่ายทอดสด [ LIVE ] เป็นการสื่อสารทางเดียว คนฟังไม่มีโอกาสถาม หรือให้พูดซ้ำซึ่งอาจทำให้คนฟัง ฟังไม่ชัดหรือไม่รู้เรื่องทำให้เราเสียโอกาสในการนำเสนอที่เข้าถึงผู้ฟังไปในที่สุด

  1. น้ำเสียงและลีลาการพูด

ต้องสอดคล้องกับเรื่องที่เรากำลังนำเสนอ ส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญมาก ที่จะทำให้ผู้ชมติดตามการนำเสนอของเราอย่างมีอารมณ์ร่วม เพราะน้ำเสียงและลีลาของเราเป็นตัวกำหนดท่าทีและอารมณ์ ของผู้ฟัง เพราะฉะนั้นถ้าเรื่องที่เราตื่นเต้นเร้าใจ น้ำเสียงของเราต้องเร้าใจ แต่ถ้าเรื่องที่เรา กำลังพูด เป็นเรื่องที่เราต้องการความจริงจัง หนักแน่น น้ำเสียงของเราต้องจริงจัง หนักแน่น แต่ถ้าหากว่าเรื่องที่เรากำลังนำเสนออยู่นั้นเป็นเรื่องที่สนุกสนาน อารมณ์ดี น้ำเสียงของเราในการนำเสนอจะต้องสนุกสนาน ยิ้มแย้มแจ่มใส คึกคัก มีอารมณ์ร่วม ไปกับเรื่องราวที่กำลังนำเสนออยู่นั้นด้วย

เพราะฉะนั้นเราต้องรู้ว่า การนำเสนอของเราในขณะนั้นเราต้องการให้คนดูอยู่ในอารมณ์อย่างไร เราก็ต้องเริ่มต้นที่มีอารมณ์ในการนำเสนออย่างนั้นก่อน เราจึงจะทำให้คนดูมีอารมณ์คล้อยตามไปกับเราได้ เพราะถ้าหากเราต้องการให้ผู้ชมมีอารมณ์จริงจังกับเรื่องที่เราพูดและดูน่าเชื่อถือ แต่เราเองกลับพูดไปหัวเราะไป ท่านลองคิดดู ว่าผู้ฟังจะเชื่อในสิ่งที่เราพูดหรือไม่

 

  1. ใช้ศัพท์ภาษาให้เหมาะสมสอดคล้องกับสิ่งที่นำเสนอ

การเตรียมตัวล่วงหน้า เป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเด็นนี้ คือถ้าจะนำเสนอเรื่องใด ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการ เราจะต้องหาศัพท์ภาษาที่เหมาะสมกับสินค้าและบริการ ที่เป็นศัพท์ภาษาที่ทำให้สินค้าบริการของเราดูดีขึ้น ฟังดูน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ทำให้สินค้าและบริการของเราดูมีระดับมากยิ่งขึ้น ฯลฯ

เพราะฉะนั้นผู้นำเสนอผ่านหน้าจอ ต้องพยายามหาศัพท์ภาษาที่สอดคล้องกับสิ่งที่เรากำลังนำเสนอ เพื่อที่จะได้หยิบมาใช้ให้เหมาะสมกับเรื่องที่เรากำลังนำเสนอให้ทันท่วงที ดีกว่าพูดไปเรื่อยๆ โดยใช้คำศัพท์ ภาษา ที่ไม่ได้ช่วยให้สินค้า บริการ ดูดีขึ้น โดยเฉพาะ การพูดโดยไม่ได้เตรียมตัว แต่อาศัยที่ตัวเองเป็นคนพูดคล่อง ช่างพูด คนนำเสนอกลุ่มนี้ จะพูดคล่อง แต่พูดไม่น่าสนใจและมักจะมีคำเกิน ที่เอามาใส่ไว้เพื่อไม่ให้การพูดขาดช่วง ประเภท “ ขอบอกเลยว่า ”  “ มันเป็นอะไรที่ ”  “ ณ ที่นี้ ” อะไรทำนองนี้เต็มไปหมด สู้มีการเตรียมตัวล่วงหน้ามาก่อน เลือกศัพท์ภาษาดีๆ สวยๆ สอดคล้องเหมาะสมกับเรื่องที่จะนำเสนอ อาจจะพูดไม่คล่องมาก แต่จะเป็นคนพูดนำเสนอได้น่าสนใจมากกว่า

  1. พูดกับคนฟังอย่าหลบสายตาผู้ฟัง

ผู้นำเสนอ ต้องจินตนาการเองว่า เรากำลังพูดกับผู้ฟังหรือคนชมที่อยู่หลังกล้อง (มือถือ) ที่เรากำลังพูดด้วย

ดังนั้นเราจึงต้องมองหน้ากล้อง เสมือนหนึ่งเป็นหน้าคนฟังหรือคนชม อยู่ตลอดเวลา ถ้าจำเป็นจะต้องทำอย่างอื่น เช่น ก้มหยิบจับสินค้า เอกสาร หรือ อื่นๆ เมื่อทำเสร็จแล้วก็ต้องหันกลับมาพูดกับผู้ชมเหมือนเดิม อย่าทิ้งผู้ชมด้วยการที่เรากำลังพูดด้วยเด็ดขาดเพราะจะทำให้เสมือนหนึ่งเราไม่สนใจผู้ฟังหรือผู้ชม

โดยเฉพาะการนำเสนอในช่วงขณะที่เราต้องการยืนยันหรือตอกย้ำความมั่นใจ อย่าได้หลบสายตาผู้ฟัง หรือพูดโดยไม่มองผู้ฟังเด็ดขาด เพราะจะทำให้เสมือนหนึ่ง เราไม่มั่นใจในสิ่งที่เรากำลังพูดถึง

  1. พูดถึงสิ่งใดควรให้เห็นสิ่งนั้น

หลายครั้ง แม้กระทั่งมืออาชีพหลายคนยังพลาด ที่พิธีกรพูดถึงสิ่งใด แต่กล้องไม่แพนหรือตัดภาพให้เห็นสิ่งนั้น ซึ่งทำให้คนดู หงุดหงิดเสียอารมณ์มาก เพราะเหมือนมองไม่เห็นในสิ่งที่คนนำเสนอพูด และอยากจะเห็นสิ่งนั้นแล้ว แต่ภาพไม่ยอมตัดให้เห็นหรือตัดให้เห็นก็ช้าเกินไป คือจังหวะไม่ดีนั้นเอง

ดังนั้นผู้นำเสนอหรือผู้ดำเนินรายการถึงแม้จะรู้ว่ามันเป็นการถ่ายทอดสด ก็ควรเตรียมสินค้า อุปกรณ์ ต่างๆ ที่ประกอบการนำเสนอ วางไว้ใกล้ๆ หรือวางไว้ในจุดที่จะโชว์ให้ดูง่ายๆ และทันท่วงที พยายามอย่าให้ผู้ชมจินตนาการเอาเองจากการนำเสนอของเรา จงนึกถึงภาษิตจีนเอาไว้ว่า “ ภาพหนึ่งภาพ มีความหมายมากกว่าคำพูดหมื่นคำ ”

เพราะฉะนั้นการนำเสนอในการถ่ายทอดสดที่ดีนั้น ต้องมาจากการเตรียมตัวที่ดีด้วย

– เตรียมอุปกรณ์ในการนำเสนอ

– เตรียมศัพท์ภาษาที่จะใช้

– เตรียมสินค้า อุปกรณ์ และภาพประกอบ

– เตรียมการนำเสนอทุกครั้ง แม้เรื่องที่เรารู้ดีที่สุดก็ต้องเตรียมตัว เพราะนั่นเป็นสิ่งที่จะช่วยตอกย้ำความมั่นใจให้กับเราว่า “ LIVE กี่ครั้งก็มีคนดู”

Dr.Panom  Peecharoen
Ph.D. Innovative Management

 

คลิกอ่าน : Live อย่างไรให้มีคนดู Part 1

 

 

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ