เป็นเรื่องปกติที่คนเป็นหัวหน้านั้นต้องพูดจาพาทีกับลูกน้อง ไม่งั้นจะทำงานร่วมกันได้อย่างไร จริงไหมครับ
การเขียนเรื่อง”พูดแบบนาย”นี้มีจุดประสงค์จะแนะนำสิ่งที่ควรทำหรือสิ่งที่ควรระมัดระวังหรือไม่ควรทำในการพูดกับเขาทั้งหลายหมายถึงคนที่เป็นลูกน้อง เพราะพูดแล้วควรที่จะให้เขารักหรือเคารพนับถือเรา เต็มใจทำงานให้กับเรา ไม่ใช่พูดแล้วทำให้เขาไม่พอใจไม่รู้สึกในทางที่ดีต่อเราผู้เป็นนายของเขา
อย่าคิดว่าเป็นนายแล้วจะโอภาปราศรัยอย่างไรก็ได้ เพราะการพูดนั้นมีการเปรียบเปรยว่า จะขอบุหรี่ใคร (ตัวอย่างเชยไปหน่อยนะครับ เพราะสมัยนี้ส่วนใหญ่เขาไม่สูบกันแล้ว) ขอแล้วเขาอาจจะส่งให้ทั้งซองหรือไม่ให้เลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับขอด้วยวาทะอย่างไร
คนเป็นนายก็ควรต้องการความรู้สึกที่ดีจากลูกน้อง เพราะความรู้สึกที่ว่าจะทำให้เขาเต็มอกเต็มใจทำงานกับเราหรือเรียกว่า”เต็มที่” ผิดกับทำให้ด้วยความเต็มทีหรือขอไปทีเพราะทำด้วยความกลัวอำนาจมากกว่าอยากทำให้เพราะนายขอ
ภาษาไทยนี่ว่าไปแล้วไม่ใช่ธรรมดานะครับ ผมถือว่าเป็น”ภาษาศิลป์”ทีเดียวเจียวละ เพราะต้องรู้จักเลือกใช้ให้ถูกกับบุคคลหรือกาละเทศะ แล้วบางทียังมีความหมายไม่ตรงไปตรงมา ถ้าใช้ผิดไปตั้งใจอย่างหนึ่งผลอาจจะออกมาอีกอย่างหนึ่งก็ได้
ตัวอย่างเช่น การตักอาหารใส่ปาก กริยาอย่างนี้ใช้ได้ตั้งหลายคำ กิน ทาน รับประทาน แดก ยัด สวาปาม เสวย ฉัน ฯลฯ ใช้ได้ทั้งนั้นแต่ต้องเลือกให้เหมาะสม
พิธีกรงานแต่งงานประกาศลั่นงานว่า “บัดนี้ถึงเวลากินแล้วครับ เชิญเลือกกินได้ตามอัธยาศัย” แม้ความหมายชัดเจนแต่คนฟังย่อมเห็นว่าฟังขัดหูดูไม่ให้เกียรติ ว่าไหมครับ ยิ่งถ้าไปใช้คำว่า “แดก” เข้าละก็ มั่นใจได้เลยไม่มีใครลุกไปแดกแน่นอน ถ้าจะลุกขึ้นก็คงออกจากงานไปมากกว่า
งานแต่งงานอย่างนี้คำที่เหมาะสมที่สุดต้องเป็น”รับประทาน” ใช้คำอื่นไม่ได้เลย ไม่ต้องมีใครบอกก็ต้องรู้
คำว่า”เสวย”เป็นคำสูงต้องพระราชวงศ์ระดับหม่อมเจ้าเท่านั้นจึงจะใช้ได้ ชายกลางแห่งบ้านทรายทองยังไม่มีสิทธิใช้เลยเพราะท่านเป็นแค่ มรว.ภราดาพัฒน์รพี สว่างวงศ์ไม่ใช่ มจ…….แฮ่ ต้องท่านชายพจน์หรือ มจ.พจน์พจนปรีชาแห่งวังศิลาขาวในนิยายปริศนาจึงจะมีสิทธิใช้
แต่ถ้าเราได้ยินเสียงผู้หญิงข้างบ้านตระโกนเรียกสามีว่า “ลงมาเสวยได้แล้ว ตั้งข้าวเสร็จแล้ว” ก็อย่าได้ไปจินตนาการว่าชายใหญ่ย้ายมาอยู่ข้างบ้านละ จริง ๆ แล้ว ต้องเป็นเรื่องประชดประชันสามี เรียกหลายครั้งไม่ยอมลงมาเสวย เอ๊ย…กินสักทีต่างหาก
เพราะฉะนั้น ภาษาไทยนี่อย่าตามใจฉันนะขอรับ เพราะอาจมีการตีความหมายไม่ตรงกับเจตนาของผู้ใช้ก็ได้ อย่าประมาทหรือคิดว่าเป็นภาษาพ่อแม่ ใช้กันมาตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงไม่มีทางผิดพลาดดอก
หัวหน้าเจอลูกน้อง พูดจาต่อเขาด้วยภาษาพ่อขุน มึงอย่างนั้น กูอย่างนี้ หรือเอาภาษาต่างประเทศ เช่น ลื้อ – อั๊ว เจ้านายอาจจะคิดว่าแสดงความเป็นกันเอง แต่ถ้าลูกน้องเป็นคนเข้าใหม่หรือไม่รู้จักนิสัยเจ้านายมาก่อน อาจจะคิดเป็นเรื่องดูถูกดูหมิ่นหรือเหยียดหยาม เป็นไปได้เหมือนกันนะ จะบอกให้
ประธานหรือผู้จัดการใหญ่เจอหน้านักการภารโรง พูดจาให้เกียรติ คุณ – ผม ก็อาจทำให้ลูกน้องใจคอไม่ดีคิดว่าเจ้านายประชดประชัน ระวังคนคิดมากมีไม่น้อยนะครับ
การพูดจากับลูกน้องเรื่องสรรพนามนี่ ไม่ว่าจะบุรุษที่หนึ่งหรือบุรุษที่สองหรือบุรุษที่สามผมหมายถึงสตรีด้วยนะครับ บางทีก็ต้องพิจารณาให้ดีว่าจะใช้คำใดจึงจะเหมาะสมเป็นที่พอใจของผู้ฟังหรือผู้เป็นลูกน้อง
ข้อเสนอแนะคือพบเจอกันใหม่ ๆ ก็ คุณ – ผม ไว้ก็น่าจะปลอดภัยหรือไม่ต้องปรับใจ เมื่อไหร่สนิทสนมรู้จักกันมากขึ้นค่อยเปลี่ยนให้ดูใกล้ชิดขึ้น ไม่ใช่เจอกันครั้งแรกก็ มึง-กู เสียแล้ว คนเป็นลูกน้องอาจตกอกตกใจไม่กล้ามาทำงานก็ได้
สัมภาษณ์คนสมัครงานด้วยภาษาพ่อขุน แม้เราจะถูกอกถูกใจคนสมัครมาก ประกาศผลสอบทันทีที่สัมภาษณ์เสร็จ “พรุ่งนี้ มึงมาทำงานได้” แต่คนที่เรารับไว้อาจจะไม่มาให้เห็นหน้าอีกเลยก็ได้ เพราะกลัวเจ้านายที่พูดจาชวนขนพองสยองเกล้า
เวลาประชุมพนักงานในบริษัท อารัมภบทหรือคำขึ้นต้นใช้ได้ตั้งหลายประโยค เช่น “ท่านผู้มีเกียรติ” “พวกคุณ” “เพื่อนร่วมงาน” “พวกเรา” หรือจะดัดจริตใช้ “สมาชิกทุกท่าน” ก็ยังได้ แต่ลองพิจารณาแต่ละคำซีครับ จะเห็นว่าคำไหนเหมาะสมที่สุด เพราะแต่ละคำมีความหมายเฉพาะนะครับ
ใช้ลูกน้องทำงานอะไรก็แล้วแต่ เจอหน้ากันอยากติดตามงานก็ต้องสอบถาม ประโยคที่จะใช้ถามก็มีให้ใช้หลายประโยค เช่น “งานทำไปถึงไหนแล้ว” “มีปัญหาไหมที่ให้ทำนะ” หรือ “เสร็จหรือยัง” “ยังไม่เสร็จอีกหรือ” แต่ใช้แล้วลูกน้องได้ยินแล้วอาจจะคิดต่างกัน
เช่น “งานทำไปถึงไหนแล้ว” เขาก็อาจจะคิดว่าถามไถ่ธรรมดา
“มีปัญหาไหมที่ให้ทำนะ” ถามด้วยความเป็นห่วง
“เสร็จหรือยัง” ถ้าเขายังทำไม่เสร็จก็คงสะดุ้งเพราะเหมือนเจ้านายคาดว่าน่าจะทำเสร็จแล้ว
“ยังไม่เสร็จอีกหรือ” แบบนี้เหมือนกับตำหนิว่า อะไรกันจนป่านนี้แล้วยังไม่เสร็จอีก
เพราะฉะนั้น การพูดจากับลูกน้องต้องเลือกประโยคหรือถ้อยความตามสมควร อย่าคิดแบบเราอย่างเดียวขอให้คิดแบบคนฟังหรือลูกน้องบ้าง ถ้าเราต้องการจะผูกใจเขา แต่ถ้าเป็นเจ้านายประเภท “ช่างมัน ฉันไม่แคร์” ก็ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก อ้าปากส่งคำพูดอะไรออกมาก็ได้
ลูกน้องทำอะไรดี ๆ มีผลงานเจ๋ง ก็ต้องให้คำชมเป็นบำเหน็จ เพราะคำชมจะทำให้ลูกน้องสัมผัสได้ว่า หัวหน้าเป็นผู้มีความปรารถนาดีต่อเขา หรืออย่างน้อยก็รู้สึกว่า ทำดีแล้วได้ดีแม้จะแค่มธุรสวาจาไม่ใช่เป็นข้าวของเงินทองแต่ทำให้เกิดความยินดีและมีกำลังใจที่จะทำอะไรดี ๆ อีก จะได้ยินคำดี ๆ จากเราผู้เป็นเจ้านาย
มอบหมายให้ลูกน้องทำงานชิ้นหนึ่ง สั่งตอนวันจันทร์ให้ทำให้เสร็จวันพุธ ลูกน้องทำเสร็จเอามาส่งวันอังคาร เรื่องอย่างนี้เจ้านายหุบปากอยู่เฉยไม่ได้นะครับ ต้องกำนัลคำชมทันทีเลยละครับ
“ยอดจริง ๆ ทำได้ยังไง แจ๋ว ๆๆ “
ไม่ใช่รับมาแล้วทำเฉย ปล่อยให้ลูกน้องยืนเก้อรอรับคำชม จนในที่สุดเดินแกว่งออกไปด้วยความผิดหวัง เพราะหัวหน้าไม่ยักจะให้สิ่งที่ตัวคาดหวังว่าจะได้
พรรคพวกถามไถ่ว่า ทำไมทำเฉยไม่รู้หรือว่าลูกน้องรอคำชม ดันตอบว่า “รู้ ทำไมจะไม่รู้ แต่ไม่ชมหรอก เดี๋ยวมันเหลิง” เป็นยังงั้นไป เจ้านายแบบนี้ไม่มีทางหรอกครับ ที่จะผูกใจลูกน้องได้
แต่ตัวอย่างข้างต้นนี่ยังดี อย่าเป็นแบบหัวหน้าที่ไม่หยั่งถึงหัวใจคนเป็นลูกน้องเลย ลูกน้องทำงานเสร็จก่อนกำหนด ขมีขมันรีบนำมาส่งหวังจะได้อะไรก็น่าจะรู้ หัวหน้ากลับเอ่ยว่า
“รีบจริงนะ บอกให้เสร็จพรุ่งนี้ เอามาส่งวันนี้ อย่าให้ผมเห็นว่ามีผิด ผมเอาเรื่องหนักแน่”
ขืนเป็นอย่างนี้ลูกน้องคนไหนละครับที่จะมีกำลังใจในการทำงานอย่างขยันขันแข็ง มีเจ้านายที่ไม่เข้าใจพูดขาดจิตวิทยาแบบนี้ละก็ หาคนเก่งคนดีทำงานด้วยไม่ได้หรอก จะบอกให้
เพราะฉะนั้นหากคนที่ทำงานทำการก้าวหน้าขึ้นมาเป็นเจ้าคนนายคน จะให้ความสำคัญกับการพูดจาปราศรัยกับคนที่เป็นลูกน้องของเรา รู้ว่าอะไรควรพูดอะไรไม่ควรพูด หรือควรพูดอย่างไรจึงจะครองใจเขาได้ ก็น่าจะทำให้ศักยภาพในการเป็นหัวหน้าของเรามีสูงขึ้น เพราะการพูดนี่ถือเป็นอาวุธที่ธรรมชาติมอบให้นะ จะบอกให้ คำพังเพยที่ล้อกันเล่นว่า “พูดดีเป็นศรีแก่ปาก พูดมากปากออกสี” ฟังไว้บ้างก็น่าจะดีนะครับ.