“คนเราจะทำอะไรให้สำเร็จได้ต้องมีความมุ่งมั่น” คำพูดประโยคนี้ผมใช้เสมอในการบรรยายเวลาเป็นวิทยากรในการอบรมสัมมนาพัฒนาบุคคลากร ซึ่งก็เชื่อว่าผู้ฟังทุกคนรวมทั้งผู้อ่านด้วยคงเข้าใจความหมายเป็นอย่างดี
ทบทวนสักนิดก็ได้ คือ หมายถึงการตั้งใจจะทำอะไรแล้วต้องทำให้ได้ จะไม่ได้ก็ต่อเมื่อมีอุปสรรคหรือขวากหนามที่ไม่สามารถขจัดหรือข้ามพ้นได้มาขวางกั้น
ตัวอย่างเช่น นัดหมายอะไรไว้กับใคร ไม่ว่าฝนจะตกฟ้าจะร้องน้ำจะท่วมแต่ยังพอลุยได้ ก็ต้องบากบั่นไปจนพบกับผู้ที่นัดไว้จนได้ ยกเว้นแต่ตื่นขึ้นมาแล้วท้องเสียอย่างแรง จู๊ดๆๆ ต้องเข้าห้องส้วมตลอดเวลา แบบนี้ก็คงมุ่งมั่นไม่ไหว แต่ก็มีเหมือนกันนะครับ แม้อาการน่าเป็นห่วงก็ยังมุ่งมั่นอยู่กินยาอุดยาธาตุดั้นด้นออกไปตามนัดจนได้
อย่างไรก็ตามในกรณีที่ไปไม่ได้จริง ๆ ต้องขวนขวายหาทางแจ้งให้ผู้ที่นัดหมายทราบให้ได้ถึงการที่ไม่สามารถทำตามความมุ่งมั่นนั้น อย่าให้เขารอเก้อแล้วไปอธิบายทีหลัง เพราะจะเป็นการแก้ตัวเสียเครดิตความน่าเชื่อถือไป ไปไม่ได้แต่แจ้งให้ผู้นัดหมายทราบไม่รอเก้อถือว่ามีความรับผิดชอบ ยังนัดหมายกันใหม่ได้
อยากสนทนากับใครสักคนหนึ่ง พยายามต่อโทรศัพท์ไปหาเขา ไม่เจอตอนเช้าก็โทรใหม่ตอนสาย ไม่เจออีกก็โทรใหม่ตอนเที่ยง ตอนบ่ายตอนเย็นตอนค่ำกว่าจะเจอก็ล่วงเข้าตอนดึก อย่างนี้ก็ควรเรียกได้ว่ามีความมุ่งมั่น
อยากทำอะไรให้เป็น เช่น หัดขี่จักรยาน พยายามฝึกแล้วฝึกอีก ล้มลุกคลุกคลานได้แผลกี่แผลก็แล้วแต่ พยายามอยู่นั่นแหละ ไม่ยอมท้อถอย ใครเห็นเข้าเขาก็ต้องบอกว่ามีความมุ่งมั่น
ความมุ่งมั่นนี่ไม่ใช่สิ่งพิสูจน์ว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” นะครับ เพราะบางเรื่องแม้จะมีความมุ่งมั่นแล้วก็อาจจะไม่พบความสำเร็จที่ต้องการก็ได้
เหมือนอย่างผู้ชายคนหนึ่งไปหลงรักผู้หญิงคนหนึ่ง แต่ผู้หญิงคนนั้นรักอยู่กับผู้ชายอีกคนหนึ่ง อีแบบนี้ถึงจะมีความมุ่งมั่นสักเพียงใด ก็อาจไม่สมปรารถนาอาจจะเป็นน่าสมเพชเวทนาไปก็ได้ แต่เรื่องอย่างนี้ไม่แน่เหมือนกันนะครับ เพราะผู้มุ่งมั่นบางคนอ้างว่า “แต่งแล้วยังหย่าได้นี่นา”…….แฮ่
หรือร่างกายเราเกิดพิกลพิการขึ้นมา หมอทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าไม่มีวันกลับคืนสู่ภาวะปกติได้ แม้เราจะเวียนไปหาหมอไสยศาสตร์หรือหมอผีที่ไหน มุ่งมั่นอย่างไรก็อาจจะคืนสภาพไม่ได้ แต่ถ้ามุ่งมั่นไปทางอื่น เช่น คืนสภาพไม่ได้ก็หันไปสร้างสมรรถภาพแทนก็อาจพบความสำเร็จได้ ดูตัวอย่างนักกีฬาพาราโอลิมปิคซี ได้เหรียญมามากกว่านักกีฬาอวัยวะครบเสียอีก
แต่นั่นแหละครับ ใครที่เป็นคนที่มีความมุ่งมั่น ย่อมเป็นคนที่ได้รับการสรรเสริญหรือยกย่อง ถ้าเป็นพนักงานของบริษัทก็ต้องนับเป็นบุคลากรที่มีคุณค่า ควรแก่การบรรจุเข้าเป็นพนักงานหรือมอบหมายให้ทำงาน
อย่างไรก็ตาม มักจะมีผู้เข้าร่วมสัมมนาซักถามว่า ทำหรือปฏิบัติอย่างไรจึงจะทำให้คนมองเราเป็นผู้มีความมุ่งมั่น เพราะดูไปแล้วเป็นคุณสมบัติที่ดีที่คนที่หวังความก้าวหน้าในชีวิตอยากมี หรืออย่างน้อยก็ให้คนอื่นเห็นว่าตนเองมี
ผมบอกเขาว่า เอาอย่างนี้ซีครับ สมมุติว่าเจ้านายเขามอบหมายอะไรให้เราทำ เราก็พยายามทำให้สำเร็จโดยเร็ว แล้วรีบนำไปส่ง ยิ่งถ้าส่งได้เร็วกว่าที่เจ้านายกำหนดไว้ได้ยิ่งดี แบบนี้ละก็เจ้านายเขาต้องเห็นว่าเราเป็นคนมีความมุ่งมั่นหรืออย่างน้อยต้องเห็นว่าเป็นคนขยัน จริงไหมครับ
บางคนบอกว่า แล้วถ้าทำไม่เสร็จหรือไม่สำเร็จละครับ ถ้าแบบหลังนี่ก็คงต้องรีบรายงานถึงปัญหาและอุปสรรคให้เจ้านายทราบ ไม่ใช่รอให้ถามโดยหวังว่าเจ้านายอาจลืมก็ได้ ถ้าแสดงให้เจ้านายเห็นว่าเราเอาใจใส่และพยายามทำเต็มที่ก็คงเห็นแววความมุ่งมั่นของเรา
แต่นั่นแหละต้องระวังไว้บ้าง เพราะท่านอาจจะเห็นเราเป็นคนด้อยสมรรถภาพไปด้วย เพราะการที่ท่านมอบหมายให้นั่นก็คงเห็นแล้วว่าเราน่าจะทำได้ เมื่อทำไม่ได้ก็เลยดูประสิทธิภาพต่ำกว่าความคาดหมาย อย่างไรควรพยายามดิ้นรนทำให้ได้จะงามกับตัวเรามากกว่านะ จะบอกให้ ทำเองไม่ได้ก็ลองปรึกษามิตรสหายในที่ทำงานดูบ้าง เผื่อว่ามีใครจะอนุเคราะห์กู้หน้าให้เราได้บ้าง
ผมพยายามเพิ่มเติมรายละเอียดของพฤติกรรมของคนที่มีความมุ่งมั่นในลักษณะสัมผัสได้ให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาพิจารณา เผื่อว่าเขาจะเอาไปปฏิรูปตนเองให้กลายเป็นบุคลากรที่มีคุณค่า คนอยากในทางที่ดีนี่เราควรสนับสนุนชี้ช่องทางให้เขา พยายามยกสิ่งที่เป็นรูปธรรมให้มากกว่านามธรรม เพราะง่ายแก่การปฏิบัติตาม
สิ่งที่ผมเห็นว่าเป็น”ความมุ่งมั่น”ที่สัมผัสได้อีกวิธีปฏิบัติหนึ่งคือการเป็นคน”ตรงเวลา”
ปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่า เรื่องไม่ตรงเวลานี่กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนหลายคน การนัดหมายจะทำอะไรร่วมกัน เช่น การประชุม มักจะต้องช้ากว่ากำหนดเสมอเพราะต้องรอคนนั้นรอคนนี้ บางครั้งที่แย่เอามาก ๆ คือต้องรอคนที่เป็นประธานมาเปิดงาน คนสำคัญบางคนไม่ยอมเข้าใจความสำคัญของตนเองก็มี
ผมเป็นวิทยากรบรรยายตามที่ต่าง ๆ มักจะไม่ได้เริ่มบรรยายตามกำหนด ส่วนใหญ่มักจะล่ากว่าเวลาที่กำหนดไว้ นาน ๆ ครั้งจึงจะได้เริ่มตรงเวลา ซึ่งครั้งไหนได้เริ่มตามอุดมฤกษ์นี้ผมก็จะต้องกล่าวชมผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกครั้ง เพื่อให้เขารู้สึกว่าทำดีมีคนเห็นจะได้มีกำลังใจทำดีต่อไป
ข้ออ้างที่มาสายนั้นมีได้ร้อยแปดพันเก้าละครับ ถ้าจะอ้างกัน “รถติด” “ติดลูกค้า” “มีเรื่องด่วน” แต่รู้สึกว่าเรื่องที่อ้างกันบ่อยมากคือ “รถติด”
ครั้งหนึ่งผมเคยนัดหมายเพื่อนที่ทำงานแถวศาลาแดงไว้ที่ดุสิตธานี เพราะเห็นว่าจะได้สะดวกแก่เขา ผมสู้อุตส่าห์ถ่อมาจากหัวหมากปรากฏว่า เขายังมาสายจากเวลาเกือบครึ่งชั่วโมง พอผมต่อว่าเขาก็แก้ตัวว่า”รถติด” พอผมซักไซร้ว่า “อะไรแค่นี้ต้องเอารถมาด้วยหรือ” เขากลับตอบหน้าตาเฉยว่า “เปล่า ผมคิดว่าคุณคงรถติดก็เลยมาสายหน่อย” เป็นยังงั้นไป
คนเราถ้าเป็นคนมุ่งมั่นนี่ต้องตรงเวลาครับ คนเขาถึงจะสัมผัสความมุ่งมั่นของเราได้
อีกเรื่องหนึ่งที่จะทำให้เราเป็นคนมุ่งมั่นคือ” การสละเงื่อนไขส่วนตัวเพื่อส่วนรวม”
คนเรานั้นมีเงื่อนไขส่วนตัวหรือพูดให้กว้างขวางขึ้นว่าเฉพาะตัวมากมาย ถ้าเรายึดมั่นในเรื่องเฉพาะตัวมากเกินไป งานของส่วนรวมก็เป็นไปได้ยาก
เช่น หัวหน้าเรียกประชุมพนักงานตอนเช้า บางคนบอกว่า คงไม่ได้หรอก เพราะฉันมีนัดกับลูกค้าบ้าง นัดกับหมอบ้าง ต้องไปติดต่อราชการบ้าง อย่างนี้ก็ประชุมตอนเช้าไม่ได้ จริงไหมครับ ยกเว้นแต่จะปล่อยให้พวกที่มีธุระขาดประชุม ยอมประชุมโดยไม่พร้อมหน้าพร้อมตา
พอหัวหน้าเลื่อนไปประชุมบ่าย พวกมีธุระเช้าก็ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่อาจมีบางคนที่มีธุระบ่ายหน้านิ่วคิ้วขมวดขึ้นมา อ้างกิจของตัวขึ้นมาบ้าง พอหัวหน้าเออออยอมเลื่อนอีก นัดประชุมกันตอนเย็น ตอนนี้พวกมีความจำเป็นต้องไปรับลูกตอนเย็นยกมือประท้วงกันสลอน จนหัวหน้าต้องยอมประกาศ “ถ้าอย่างนั้น ตัวใครตัวมันก็แล้วกัน”
นี่แหละครับ ถ้าแต่ละคนมีเงื่อนไขส่วนตัวแล้วไม่ยอมเสียสละ เงื่อนไขส่วนรวมจะร่วมปฏิบัติกันได้อย่างไร การประชุมโดยพร้อมหน้าพร้อมตาและพร้อมพนักงานของบริษัท คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ทำให้ดูเป็นพนักงานไม่มีความมุ่งมั่นไป แค่จะเรียกประชุมให้พร้อมคนยังทำไม่ได้เลย
ถ้าพนักงานเป็นคนมุ่งมั่นนะครับ พอหัวหน้านัดประชุมตอนเช้าหรือตอนบ่าย ใครมีกิจธุระตอนนั้นก็ต้องโทรไปบอกเลิกนัดหรือเลื่อนนัด โดยให้เหตุผลตรง ๆ ว่าติดประชุมนี่แหละครับ เช่น “คุณแดงหรือครับ ขอเลื่อนไปบ่ายนะครับ เช้าต้องเข้าประชุมด่วนครับ ไม่แน่นะครับ อาจจะมีอะไรเป็นประโยชน์แก่ลูกค้าอย่างคุณก็ได้ บ่ายสองค่อยเจอกันนะครับ” ประโยคหลังนี่อาจหยอดให้คนที่เราเลื่อนนัดมีกำลังใจหน่อย
หรือถ้าหัวหน้านัดตอนเย็น ก็อาจจะโทรศัพท์ไหว้วานญาติพี่น้องหรือคู่ชีวิตไปรับแทน หรือถ้าลูกมีโทรศัพท์มือถือก็อาจโทรไปบอก “ไปรับสายหน่อยนะวันนี้ เล่นอยู่แถวโรงเรียนนั่นแหละ อย่าเผลอไปแถวบ้านพักครูละ(…แฮ่) ยังไงก็คงไม่เกินทุ่ม”
ต้องอย่างนี้สิครับ ถึงจะดูเป็นคนมุ่งมั่น ไม่ใช่คิดจะเป็นคนมุ่งมั่นแต่ไม่เคยยอมสละเงื่อนไขส่วนตัวเพื่อเข้าสู่เงื่อนไขส่วนรวมเลย บางคนอาจจะแย้งว่า อย่างนี้ก็น่าจะเรียกว่ามุ่งมั่นเหมือนกันแต่เป็นการมุ่งมั่นในเรื่องส่วนตัว ซึ่งความเห็นนี่ผมไม่สู้จะเห็นด้วยนัก ผมว่าน่าจะเรียกว่าเป็น”หมกมุ่น”มากกว่า
“หมกมุ่น”นี่เป็นลักษณะเสียหายนะครับ ไม่ดีงามเหมือน”มุ่งมั่น”หรอก….จะบอกให้