ประวัติการปฏิวัติอุตสาหกรรมของโลก (Industrial Revolution) จากยุคที่ 1 หรือ Industrial 1.0 เริ่มต้นในประเทศอังกฤษราวปี ค.ศ. 1784 เป็นยุคที่เริ่มใช้ไอน้ำ (Steam) และเครื่องจักรกลในการผลิต อุตสาหกรรมหลักในสมัยนั้นก็คือสิ่งทอ ต่อมาก็เป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุคที่ 2 หรือ Industrial 2.0 มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำในราวปี ค.ศ. 1870 เป็นยุคที่มีการใช้ถ่านหินที่มีคุณภาพความร้อนสูง ใช้เหล็กกล้ามาสร้างเรือกลไฟและรถไฟ พัฒนาเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า (Electricity) มีการแบ่งไลน์หรือสายพานการผลิต เป็นยุคของการผลิตสินค้าจำนวนมากเหมือนๆกันที่เรียกว่า mass production เป็นยุคเริ่มต้นของอุตสาหกรรมรถยนต์ การปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุคที่ 3 หรือ Industrial 3.0 เริ่มขึ้นในราวปี ค.ศ. 1969 เป็นยุคอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics) เทคโนโลยีสารสนเทศ(Information Technology – IT) คอมพิวเตอร์ (Computer) ระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ (Automated production) ผลิตสินค้าสลับซับซ้อน ลดต้นทุนการผลิตเพื่อการแข่งขัน
ปัจจุบันโลกกำลังก้าวเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุคที่ 4 หรือ Industrial 4.0 เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 และคาดว่าจะปฏิวัติเต็มรูปในปี ค.ศ. 2020 เป็นยุคที่มีการพลิกโฉมการผลิตครั้งใหญ่โดยการเชื่อมต่อระบบการผลิตเข้ากับเทคโนโลยีดิจิตอลและอินเตอร์เน็ตแบบที่เรียกว่า Cyber – Physical Systems (CPS) ใช้ประโยชน์จากการเชื่อมต่อเครือข่ายในทุกรูปแบบหรือ Internet of Things (IOT) โดยให้กระบวนการผลิตหรือตัวสินค้าเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีดิจิตอล มีระบบการป้อนข้อมูลให้เครื่องจักรรับคำสั่งการผลิตออนไลน์จากผู้บริโภคได้โดยตรง ใส่ตัวส่งข้อมูลในเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้สินค้าและเครื่องจักรคุยกันได้อง มีการแจ้งกลับโดยอัตโนมัติไปยังโรงงานเมื่อเกิดปัญหาทางเทคนิค
โรงงานในยุคอุตสาหกรรม 4.0 จะมีความสามารถในการผลิตของหลากหลายแตกต่างกันตรงตามความต้องการเฉพาะของผู้บริโภคแต่ละรายโดยตรงและสามารถผลิตได้เป็นจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว โดยใช้กระบวนการผลิตที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิตอลแบบครบวงจรแบบ Smart Factory
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุคที่ 4 ได้แก่
- การใช้หุ่นยนต์ขั้นสูง (Advanced robotics) และการขนส่งอัตโนมัติ (Autonomous transport)
- มีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) และ Machine learning โดยการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ทำให้เครื่องสามรถเรียนรู้ด้วยตัวมันเองกับความเปลี่ยนแปลงและข้อมูลใหม่
- มีการใช้วัสดุขั้นสูง (Advanced materials)
- ใช้ไบโอเทคโนโลยีและจีโนมิกส์ (Biotechnology and Genomics)
- บางตำแหน่งงานจะหายไปส่วนตำแหน่งอื่นก็ยังคงมีและเป็นที่ต้องการและจะมีตำแหน่งงานใหม่ๆเกิดขึ้น
- ทักษะงานประมาณหนึ่งในสามของทักษะงานที่มีความสำคัญในปัจจุบันจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง
- แรงงานใหม่ในอนาคตจะต้องสร้างทักษะให้ตรงตามความต้องการ
World Economic Forum ได้ประเมินว่า 10 ทักษะสำคัญสุด (Top 10 Skills) ในยุคที่ 4 ของการปฏิวัติอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนแปลงไปจาก 10 ทักษะสำคัญสุดในปี ค.ศ. 2015 ได้แก่
- Complex Problem Solving คือทักษะการแก้ปัญหาที่มีความสลับซับซ้อน
- Critical Thinking คือทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณมีเหตุมีผลไม่ด่วนสรุป
- Creativity คือทักษะการคิดสร้างสรรค์
- People Management คือทักษะในการบริหารบุคคล
- Coordinating with Others คือทักษะการประสานงานกับผู้อื่น
- Emotional Intelligence คือทักษะความฉลาดในการใช้อารมณ์
- Judgment and Decision Making คือทักษะการประเมินและการตัดสินใจ
- Service Orientation คือทักษะในการให้บริการ
- Negotiation คือทักษะในการเจรจาต่อรอง
- Cognitive Flexibility คือทักษะในเรื่องความยืดหยุ่นทางปัญญา หมายความว่าต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงแสวงหาพัฒนาความรู้ความสามารถให้ทันยุคทันสมัยอยู่เสมอ ทักษะนี้ไม่ได้อยู่ใน 10 ทักษะสำคัญสุดปี ค.ศ. 2015 มาก่อน
แรงงานไร้ทักษะ (Non-Skill Labor) ที่อาศัยแต่แรงงานรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นรายวันจะต้องได้รับการพัฒนาให้เป็นแรงงานมีทักษะ (Skill Labor) ซึ่งเป็นที่ต้องการในยุคที่ 4 ของการปฏิวัติอุตสาหกรรม แรงงานไร้ทักษะจำนวนมากจะถูกแทนด้วยเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ซึ่งทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตดีกว่า ปัจจุบันเริ่มมีบางโรงงานอุตสาหกรรมใช้กระบวนการผลิตด้วยหุ่นยนต์แขนยนต์ทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการผลิต เหลือเพียงการขนส่งเท่านั้นที่ยังใช้แรงงานคนอยู่ ซึ่งก็เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้ก็จะมีการพัฒนาระบบขนส่งอัตโนมัติไม่ต้องใช้แรงงานคน
เมื่อพิจารณา 10 ทักษะสำคัญสุดในยุค Industrial 4.0 เห็นได้ชัดว่าเป็นทักษะที่ต้องใช้ความรู้ ความสามารถ ความคิด สติปัญญามากกว่าการใช้แรงงานเหมือนในอดีต การควบคุมเครื่องมือเครื่องจักรอุปกรณ์จะไม่ใช่หน้าที่ของมนุษย์อีกต่อไปแต่เป็นเรื่องของการเชื่อมต่อควบคุมสั่งการผ่านเทคโนโลยีดิจิตอลและอินเตอร์เน็ตเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งสำคัญที่ต้องการการเรียนรู้และปรับตัวเชิงรุกไม่ต้องรอช้าอยู่
==========================================================