เมียนมาร์มาแรง : เสน่ห์ ศรีสุวรรณ

columnist

“มิงกะละบา” คำทักทายภาษาพม่าแปลว่า “สวัสดี” เป็นคำทักทายที่คนไทยและคนในประชาคมอาเซียนเริ่มรู้จัก จดจำง่าย ออกเสียงไม่ยาก เมื่อไม่นานมานี้ผมได้รับเชิญไปบรรยายเป็นภาษาอังกฤษเรื่อง “บรรษัทภิบาลและจริยธรรมทางธุรกิจ(Corporate Governance & Business Ethics)” ให้พนักงานคนไทยและคนพม่าที่ทำงานอยู่ในบริษัทมหาชนขนาดใหญ่จากประเทศไทยแห่งหนึ่งที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า ผมเริ่มต้นทักทายด้วยคำว่า “มิงกะละบา” ได้เสียงทักทายกลับจากพนักงานชาวพม่าสร้างไมตรีและรอยยิ้มโดยถ้วนหน้าก่อนเริ่มการบรรยาย

“มิงกะละบา” คำทักทายภาษาพม่าแปลว่า “สวัสดี” เป็นคำทักทายที่คนไทยและคนในประชาคมอาเซียนเริ่มรู้จัก จดจำง่าย ออกเสียงไม่ยาก เมื่อไม่นานมานี้ผมได้รับเชิญไปบรรยายเป็นภาษาอังกฤษเรื่อง “บรรษัทภิบาลและจริยธรรมทางธุรกิจ(Corporate Governance & Business Ethics)” ให้พนักงานคนไทยและคนพม่าที่ทำงานอยู่ในบริษัทมหาชนขนาดใหญ่จากประเทศไทยแห่งหนึ่งที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า ผมเริ่มต้นทักทายด้วยคำว่า “มิงกะละบา” ได้เสียงทักทายกลับจากพนักงานชาวพม่าสร้างไมตรีและรอยยิ้มโดยถ้วนหน้าก่อนเริ่มการบรรยาย

เดิมพม่าใช้ชื่อประเทศว่า เบอร์มา(Burma) มาจากการตั้งชื่อของอังกฤษที่เข้ามายึดครองประเทศ  ซึ่งชื่อนี้น่าจะมีรากฐานมาจากชนเผ่าที่ใหญ่ที่สุดคือ บามาร์ (Bamar) ที่ไทยเราออกเสียงว่าพม่านั่นเอง ต่อมารัฐบาลทหารพม่าได้ประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น เมียนมาร์ (Myanmar) ในปี 1989 พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงจากแรงกูนหรือย่างกุ้ง (Rangoon) เป็นยางโกง (Yangon) นัยว่าเป็นการลบเลือนร่องรอยต่างๆที่สร้างขึ้นโดยลัทธิล่าอาณานิคมอย่างอังกฤษในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ล่าสุดในปี 2005 รัฐบาลทหารพม่าก็ได้ประกาศย้ายเมืองหลวงจากเมืองย่างกุ้งหรือยางโกงไปสร้างเมืองหลวงใหม่ชื่อ  เนปีดอว์ (Naypyidaw) เป็นศูนย์ราชการและทหาร โดยยางโกงก็ยังคงเป็นเมืองใหญ่ที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุน

ทุกวันนี้คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังเรียกติดปากว่าพม่า มีการเรียกว่าเมียนมาร์บ้างอย่างถ้าเป็นทางการแต่ไม่ค่อยติดปากนักคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง คงเหมือนกับที่ประเทศสยามเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทยเมื่อ 24 มิถุนายน 2482 หรือปี ค.ศ.1939 ซึ่งกว่าที่คนทั่วโลกจะเรียกว่าประเทศไทยก็ใช้เวลานานพอสมควร

สมัยที่รัฐบาลทหารปกครองพม่าโดนการบอยคอตกดดันจากนานาชาติหลายประเทศนำโดยสหรัฐอเมริกา มีการร่างรัฐธรรมนูญอยู่ 16 ปีจนเสร็จและลงประชามติรับรองประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปี 2008 ทำให้มีการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยที่ยังมีทหารเป็นผู้กุมอำนาจ นางออง ซาน ซู จี ผู้นำฝ่ายค้านรัฐบาลทหารที่ถูกกักกันอยู่เป็นเวลานานได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระและชนะการเลือกตั้งเข้าสภา ทำให้สถานการณ์การบอยคอตจากนานาชาติผ่อนคลายลงอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการเปิดประเทศของพม่า จนเมื่อปลายปีที่แล้ว 2015 นางออง ซาน ซู จี นำพรรค NLD ชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายได้จัดตั้งรัฐบาลพร้อมกับการถอยจากอำนาจของรัฐบาลทหารกลายเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยเต็มใบ การบอยคอตของนานาประเทศยกเลิกไปหมดสิ้นเปลี่ยนเป็นการให้การสร้างสัมพันธไมตรีให้การสนับสนุนการลงทุนในพม่ากันอย่างครึกโครมจากหลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนและไทยที่เป็นเพื่อนบ้านชายแดนติดกันระยะทาง  2,401 กิโลเมตร

นางออง ซาน ซู จี มาเยือนไทยตั้งแต่ตอนเป็นฝ่ายค้าน ไปพบปะพูดคุยกับแรงงานพม่าที่มหาชัย สมุทรสาคร จังหวัดที่ได้รับฉายาว่า “เมืองประมง ดงพม่า” ที่มหาชัยมีคนงานพม่าทำงานอยู่หลายแสนคนทั้งงานประมงและ งานโรงงาน ล่าสุดเมื่อรับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาใหญ่ในรัฐบาลพม่านางออง ซาน ซู จีก็มาเยือนไทยอีกครั้งและไปพบกับแรงงานพม่าที่มหาชัย สมุทรสาครอีกเช่นเคย เปรยว่าวันหนึ่งจะพาแรงงานพม่ากลับไปทำงานที่พม่า ถ้าคนงานพม่ากลับกับหมดประมงและโรงงานที่มหาชัย สมุทรสาครก็คงเดือดร้อนเพราะขาดแคลนแรงงาน

ค่าแรงขั้นต่ำของคนพม่าที่ย่างกุ้งวันละ 3,000 จ๊าดหรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 90 บาทซึ่งถือว่าเป็นค่าแรงที่ถูกมาก จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมคนพม่าจึงอยากมาทำงานในประเทศไทยที่ได้ค่าแรงมากกว่า 3-4 เท่า ผมถามคนที่ย่างกุ้งว่าได้ค่าแรงน้อยอยู่ได้อย่างไรเพราะลองไปสำรวจราคาของราคาอาหารแล้วไม่ได้ถูกนัก เขาตอบว่าอยู่อย่างประหยัดทำอาหารที่บ้านแล้วใส่ปิ่นโตไปกินที่ทำงาน เย็นก็กลับมาทำอาหารกินที่บ้านแทบจะไม่ต้องกินอาหารแพงๆนอกบ้านเลย

คนพม่านิยมใช้เงินสดในการซื้อสินค้า วันที่เงินเดือนออกก็มักไปถอนเงินสดจากธนาคารมาเก็บไว้ที่บ้านเพื่อให้สะดวกในการใช้จ่าย ไม่ชอบถอนเงินจากเอทีเอ็ม เวลาจะซื้อรถไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ก็จะหอบเงินสดจำนวนมากใส่ถุงไปซื้อ ไม่มีการกู้เงินหรือใช้บริการสินเชื่อ เช่าซื้อ ไม่ใช้บัตรเครดิต ทำให้คนพม่าไม่ค่อยเป็นหนี้เป็นสิน คล้ายกับพฤติกรรมคนไทยเมื่อหลายปีก่อน ผมเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้อาจจะมีธุรกิจให้สินเชื่อหรือเช่าซื้อเกิดขึ้นซึ่งอาจทำให้พฤติกรรมการใช้จ่ายของคนพม่าเปลี่ยนไป

เมื่อไม่นานมานี้โทรศัพท์และซิมมือถือในพม่ามีราคาแพงมาก ผู้คนทั่วไปไม่มีโอกาสได้ซื้อได้ใช้โทรศัพท์มือถือคล้ายกับประเทศไทยเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ปัจจุบันโทรศัพท์และซิมมือถือในพม่าราคาถูกลงเป็นอย่างมากเพราะธุรกิจมือถือหลายบริษัทเข้าไปลงทุนเครือข่ายทำธุรกิจแข่งขันกัน ทำให้คนพม่าใช้โทรศัพท์มือถือกันทั่วไปไม่แตกต่างจากเมืองไทยในปัจจุบัน

ถนนหนทางในเมืองย่างกุ้งได้รับการปรับปรุงให้มีสภาพดีขึ้นกว่าในอดีต มีการสร้างสะพานข้ามแยกหลายสะพาน จำนวนการใช้รถบนท้องถนนเยอะมากจนเกิดปัญหารถติดโดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วนทั้งตอนเช้าและตอนเย็น  บ้านเรือนดั้งเดิมของคนพม่าก็ยังอยู่แต่มีสิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่ โรงแรมขนาดใหญ่เกิดขึ้นมากมายพร้อมธุรกิจการค้าที่คึกคัก

ตำแหน่งที่ตั้งของพม่าเชื่อมต่อกับเพื่อนบ้านห้าประเทศ ชายแดนทางทิศตะวันออกของพม่าจะอยู่ติดกับไทย ทิศตะวันตกตอนบนติดกับอินเดียและบังคลาเทศ ทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือติดกับจีน และทิศตะวันออกตอนบนติดกับลาว แนวชายฝั่งทางทิศตะวันตกของพม่าติดอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามันความยาวประมาณหนึ่งในสี่ของพรมแดนทั้งหมด

เมืองท่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญของพม่าคือมะละแหม่ง(Moulmein) เป็นจุดบรรจบของแม่น้ำใหญ่ 3 สายไหลลงสู่ทะเลอันดามันคือ แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำใจ แม่น้ำอัตตรัน ถูกพัฒนาให้เป็นปลายทางของเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก( East-West Economic Corridor) เชื่อมทะเลจีนใต้กับทะเลอันดามัน  ความยาวประมาณ 1,450 กิโลเมตรที่เริ่มต้นมาจากเมืองดานังเวียดนาม ผ่านลาวเข้าไทย ผ่านจังหวัดตากของไทยเข้าพม่า

อีกโครงการทางเศรษฐกิจที่กำลังได้รับการพัฒนาร่วมกันระหว่างไทยกับพม่าก็คือโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ทำถนนเชื่อมเข้าประเทศไทยทางบ้านพุน้ำร้อนจังหวัดกาญจนบุรี ไปยังท่าเรือกรุงเทพและแหลมฉบัง ข้ามเข้ากัมพูชาไปถึงเวียดนาม เพื่อการขนส่งสินค้าไปมาระหว่างท่าเรือทวายทะเลอันดามันไปท่าเรือกรุงเทพหรือแหลมฉบังอ่าวไทยและท่าเรือเวียดนามทะเลจีนใต้

ก่อนหน้านี้ในช่วงรัฐบาลทหารมีคนเคยประเมินว่าพม่าตามหลังไทยอยู่ประมาณห้าสิบปี มาถึงวันนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยที่ทั่วโลกให้การยอมรับ เปิดประตูสู่การพัฒนาในทุกด้านโดยเฉพาะเศรษฐกิจ ถนนสายลงทุนและธุรกิจการค้าจากประเทศทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ รวมทั้งไทยมุ่งตรงสู่พม่า แม้ว่าโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ข้อกำหนดกฎระเบียบจะยังไม่ค่อยพร้อมนักแต่ไม่ใช่อุปสรรคที่ต้องทำให้รอเพราะอาจช้าไป พม่าหรือเมียนมาร์มาแรงจริงๆครับ

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ