เข้าใจตัวเลข เข้าใจอนาคต : ดร. เรวัต ตันตยานนท์

columnist

SME ทำธุรกิจก็เพื่อหวังผลกำไร แต่เรื่องของกำไรขาดทุนจากการทำธุรกิจก็เป็นเรื่องของตัวเลขนั่นเอง การก้มหน้าก้มตาทำแต่ธุรกิจโดยไม่สนใจดูตัวเลข ก็เปรียบเสมือนการขับรถไปข้างหน้าโดยไม่มีเข็มวัดน้ำมันว่ายังมีน้ำมันเหลือมากน้อยเพียงใด

SME ทำธุรกิจก็เพื่อหวังผลกำไร แต่เรื่องของกำไรขาดทุนจากการทำธุรกิจก็เป็นเรื่องของตัวเลขนั่นเอง การก้มหน้าก้มตาทำแต่ธุรกิจโดยไม่สนใจดูตัวเลข ก็เปรียบเสมือนการขับรถไปข้างหน้าโดยไม่มีเข็มวัดน้ำมันว่ายังมีน้ำมันเหลือมากน้อยเพียงใด

 

SME ควรสนใจตัวเลขอะไรบ้าง?

ตัวเลขที่สำคัญอันดับต้นๆ ก็น่าจะเป็นเรื่องของเงินสดในมือ!! SME ควรรู้ว่าวันนี้ธุรกิจมีเงินสดในมือเหลืออยู่เท่าไร? สัปดาห์ต่อไปจะมีเท่าไร? เดือนหน้าจะมีเท่าไร? หรือแม้กระทั่งปีหน้าจะมีเท่าไร? ถ้าจะว่ากันไปแล้ว กระแสเงินสด อาจมีความสำคัญกับ SME มากกว่าอัตรากำไรที่เกิดจากธุรกิจเสียอีก เพราะการขาดเงินสดเพียงพอที่จะทำให้ธุรกิจไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ตามปกติ อาจทำให้ธุรกิจเกิดการสะดุดได้โดยง่าย

 

นอกจากเรื่องของกระแสเงินสดที่จะไหลผ่านเข้าออกของธุรกิจแล้ว ตัวเลขอื่นๆ ที่สำคัญ ก็อาจได้แก่ เรื่องของอัตราการขยายตัวของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของยอดขายที่เพิ่มขึ้น หรืออัตรากำไรที่ทำได้ ตลอดไปจนถึงตัวเลขของทรัพย์สินหรือเงินทุนที่จมอยู่ในรูปของวัตถุดิบและสินค้าที่เก็บค้างอยู่ในโกดังหรือคลังสินค้า และยังต้องไม่ลืมถึงตัวเลขของภาระหนี้สินที่ธุรกิจมีอยู่ และเงินค้างชำระจากลูกหนี้การค้าที่ยังตามเก็บไม่ได้

 

สภาพของการทำธุรกิจที่จะนำไปสู่การสร้างกำไรที่เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ล้วนแต่จะสะท้อนออกมาจากตัวเลขดังกล่าวโดยตรง SME จึงควรจะต้องให้ความสนใจ และฝึกฝนทักษะในการอ่านตัวเลข แปลความหมาย และนำมาใช้ในการตัดสินใจและการนำพาธุรกิจไปในอนาคตได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ เพื่อแสดงให้เห็นความสำคัญของการอ่านตัวเลขให้ออก

 

ลองมาดูตัวอย่างสถานการณ์สมมติที่จะสะท้อนได้ว่า ท่านสามารถใช้ทักษะในการมองตัวเลขทางธุรกิจและเห็นอนาคตของธุรกิจได้มากน้อยแค่ไหนครับ

 

ผู้ประกอบการ SME รายหนึ่ง นำสินค้าประเภทของชำร่วยและของขวัญที่มักมอบให้กันในโอกาสเฉลิมฉลองต่างๆ ในปีที่ผ่านมา สามารถทำสถิติสูงสุดขายได้ถึงกว่า 20,000 ชิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทศกาลสวัสดีปีใหม่จะเป็นช่วงเวลาที่ขายได้มากที่สุด สินค้ามีต้นทุนเฉลี่ยชิ้นละ 50 บาท และตั้งราคาขายเฉลี่ยชิ้นละ 100 บาท

 

ในเดือนมิถุนายนปีนี้ ซัพพลายเออร์จากต่างประเทศบินเข้ามาเยี่ยมเยียนและนำเสนอข้อเสนอใหม่สำหรับออเดอร์สินค้าที่ 40,000 ชิ้น ในราคาเฉลี่ยเพียงชิ้นละ 25 บาท โดยต้องชำระค่าสินค้าภายใน 1 เดือน ราคานี้เป็นราคาที่ปฏิเสธได้ยาก เพราะจะทำกำไรได้เพิ่มขึ้นมาก แต่ผู้ประกอบการรายนี้ ไม่มีเงินพอที่จะชำระค่าสินค้าได้ตามข้อเสนอ เขาควรจะทำอย่างไรดี?

 

ผู้ประกอบการที่ตัดสินใจว่าจะต้องอาศัยแหล่งเงินจากภายนอกมาช่วยเหลืออาจจะกำลังตัดสินใจผิด!!

 

ประการแรก อาจต้องมาตัดสินใจในเรื่องศักยภาพการขายของตนเองก่อนว่าสามารถจะเพิ่มยอดขายได้อีก 1 เท่าตัวได้หรือไม่ หากเป็นไปไม่ได้ก็ควรเจรจาต่อรองเรื่องจำนวนล็อตของสินค้าก่อน ก่อนที่จะเหลือสต๊อกสินค้าเป็นจำนวนมากและไม่แน่ว่าสินค้าที่เหลือจะล้าสมัยไปหรือไม่

 

ประการต่อมา หากพอมีความเป็นไปได้ในการขาย อาจจะต้องลองพิจารณาเรื่องเทอมการชำระเงิน เช่น จะชำระล่วงหน้าส่วนหนึ่งก่อน และส่วนที่เหลือในช่วงปลายปีได้หรือไม่

 

อีกเรื่องหนึ่งซึ่งอาจจะถูกมองข้ามไปได้โดยง่ายก็คือ “เรื่องของการจัดเก็บสินค้า” ที่ต้องมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จะสามารถเจรจาเรื่องการทยอยจัดส่ง หรือกำหนดเวลาจัดส่งให้สอดคล้องกับการขายได้หรือไม่ การจัดเก็บสินค้า เป็นเรื่องที่มีต้นทุนแฝงอยู่ไม่น้อย หากกำหนดการจัดส่งที่สอดคล้องกับการขาย ภาระเรื่องการจัดเก็บสินค้าก็จะเป็นเรื่องของซัพพลายเออร์ที่ต้องดูแล

 

ส่วนเรื่องสุดท้ายที่ต้องคำนึงถึงก็คือ การกู้เงินมาเพื่อใช้ในธุรกิจจะสอดคล้องกับสภาพธุรกิจหรือไม่ ทั้งในแง่ของต้นทุนทางการเงิน เช่น อัตราดอกเบี้ย และระยะเวลาชำระคืน สอดคล้องกับการขายสินค้าในล็อตนี้หรือไม่

 

หลักทั่วไปในการกู้เงินของธุรกิจก็คือ ต้องสามารถทำผลตอบแทนจากธุรกิจได้สูงกว่าต้นทุนทางการเงินของเงินกู้ที่จะหามา จึงจะเป็นการคุ้มค่า

 

จะเห็นได้ว่าการทำธุรกิจหรือการดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจจะต้องเกิดจากการมองเห็นอนาคตของธุรกิจ ผ่านการอ่านตัวเลข และความเข้าใจความหมายของตัวเลขที่เกิดขึ้นจากธุรกิจ จึงจะสามารถเข้าใจและมองเห็นทิศทางในอนาคตของธุรกิจได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง!!!

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ