ผู้ประกอบการทุกคนต่างรู้ดีว่า การทำนวัตกรรมจำเป็นที่จะต้องใช้เงินในการลงทุน และที่สำคัญที่สุดก็คือ ยังไม่มีใครที่สามารถรับประกันได้ว่าเงินลงทุนในการทำนวัตกรรมนั้น จะสร้างผลตอบแทนให้กลับคืนมาสู่ธุรกิจได้มากหรือน้อยเพียงใด อัตราส่วนมีตั้งแต่การไม่มีผลตอบแทนใดๆ เลย
เนื่องจากสินค้านวัตกรรมไม่เป็นที่ต้องการของตลาด หรืออาจได้ผลตอบแทนกลับมามากมายมหาศาล หากสินค้านวัตกรรมนั้น สร้างการตอบรับจากตลาดได้อย่างท่วมท้น และอาจถึงกับเขย่าบัลลังก์ของเจ้าตลาดที่ครอบครองตลาดเดิมอยู่ได้ ตัวอย่างง่ายๆ ที่เห็นก็เช่น การตกต่ำของโนเกีย ในขณะที่ ไอโฟน และซัมซุง เข้ามาครอบครองตลาดเพราะสร้างนวัตกรรมที่โดดเด่นกว่า
ในปัจจุบันโดยเฉพาะในประเทศที่เจริญแล้ว มักจะมีกลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมของประเทศได้ในหลายๆ ด้าน โดยการพัฒนานวัตกรรมของประเทศที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ต้องอาศัยภาคเอกชนเป็นตัวนำทั้งสิ้น ไม่ใช่จากองค์กรภาครัฐ
ดังนั้นกลไกทางการเงินที่จะสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมจึงต้องให้ความสำคัญไปกับการช่วยเหลือธุรกิจภาคเอกชนให้มีความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมขึ้นเองภายในบริษัทได้ สำหรับเครื่องมือที่ภาครัฐจะนำมาใช้เพื่อสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมนั้น อาจมีได้ทั้งเครื่องมือทางการเงิน และเครื่องมือทางการคลัง
เริ่มต้นจากการใช้กลไกทางภาษี เช่น การผ่อนผัน หรือการลดหย่อนภาษีให้กับธุรกิจที่มีการทำนวัตกรรม แต่ก็อาจมีปัญหาในเรื่องของการตัดสินว่า ธุรกิจมีการทำนวัตกรรมจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการพัฒนาธุรกิจไปตามปกติวิสัยที่ธุรกิจจะต้องแข่งขันกันโดยธรรมชาติอยู่แล้วเท่านั้น และประเด็นที่ว่า ธุรกิจเริ่มใหม่หรือสตาร์ทอัพ และธุรกิจที่ดำเนินการขาดทุนอยู่แล้ว อาจไม่ได้รับความช่วยเหลือส่วนนี้ไปโดยอัตโนมัติ
กลไกต่อมา ได้แก่ นโยบายเงินสนับสนุนแบบให้เปล่า ซึ่งอาจสนับสนุนสำหรับโครงการนวัตกรรมในระยะเริ่มต้น โดยภาครัฐอาจกำหนดลำดับความสำคัญของอุตสาหกรรมและประเภทของนวัตกรรมที่จะได้รับความช่วยเหลือไว้อย่างชัดเจน แต่อุปสรรคของกลไกนี้ก็คือ อาจเกิดข้อครหาเกี่ยวกับความยุติธรรมในการให้เงิน หรืออาจลามไปถึงเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชัน
พฤติกรรมการเติบโตของธุรกิจนวัตกรรมและแหล่งเงินสนับสนุนจากภาครัฐ
ยากขึ้นมาอีกนิดหนึ่งก็จะเป็น การสนับสนุนแบบร่วมทุน ในรูปแบบของการเข้ามาร่วมทุนหรือร่วมหุ้นและมีส่วนเป็นเจ้าของบริษัทเหมือนกับผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ และอาจมีส่วนเข้ามาติดตามการบริหารงานหรือเข้ามาในรูปของการเป็นกรรมการบริษัท ในกรณีนี้ธุรกิจก็จะได้รับเงินไปก่อน และธุรกิจก็จะดูดี ได้รับความเชื่อถือสูงเพราะภาครัฐเข้ามาถือหุ้นร่วมด้วย
อีกกลไกหนึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของการจัดหา สินเชื่อธุรกิจ ให้กับธุรกิจนวัตกรรม โดยผ่านสถาบันการเงินหรือองค์การเฉพาะกิจของภาครัฐ ในกรณีนี้ธุรกิจนวัตกรรมอาจจะต้องเสียดอกเบี้ย และต้องคืนเงินต้นในระยะเวลาและเงื่อนไขตามข้อตกลงที่ทำไว้ในสัญญากู้
หากผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมหรือสตาร์ทอัพไม่มีทุนรอนของตนเองเพียงพอ และไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินสนับสนุนจากภาครัฐได้ ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็คงจะต้องหันมาใช้บริการของแหล่งทุนภาคเอกชน ซึ่งอาจเริ่มจากการเข้าไปเสนอโครงการให้กับบริษัทที่ทำธุรกิจร่วมลงทุน ที่มักเรียกกันว่า VC หรือ Venture Capital ซึ่งหาก VC มีความสนใจในนวัตกรรมที่นำเสนอ ก็อาจเข้ามาร่วมลงทุนในลักษณะที่เป็นหุ้นส่วน โดยมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการธุรกิจด้วย
ด่านสุดท้ายที่อาจมีความเป็นไปได้น้อยลง ก็คือการขอสินเชื่อหรือกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งอาจต้องเกี่ยวข้องกับการหาหลักทรัพย์ค้ำประกัน และจ่ายดอกเบี้ยในอัตราค่อนข้างสูง เนื่องจากธนาคารพาณิชย์จะเห็นว่าธุรกิจนวัตกรรมมีความเสี่ยงสูง ดังนั้นจึงต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สูงตามด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับการใช้สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ ภาครัฐก็ยังมีกลไกที่อาจนำมาช่วยสำหรับการหาหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยคิดค่าบริการเล็กน้อย เช่น การให้บริการของ บสย. หรือบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม เป็นต้น
การเลือกใช้แหล่งเงินเพื่อนำมาสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมอาจต้องพิจารณาให้รอบคอบและเลือกใช้แหล่งเงินที่เหมาะสมกับระดับการพัฒนาของธุรกิจ เช่น เงินให้เปล่า หรือเงินทุนประเดิม อาจนำมาใช้ในช่วงต้นๆ ของการพัฒนาธุรกิจ เช่น การวิจัยตลาด การสร้างต้นแบบสินค้า
เมื่อธุรกิจเริ่มไปได้บ้างแล้ว อาจขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจมาเพื่อบริหารเงินทุนหมุนเวียนให้ธุรกิจเดินไปได้อย่างราบรื่นขึ้น