5 ความกล้าที่ผู้นำทุกคนต้องมี : ดร.พยัต วุฒิรงค์

ดร.พยัต วุฒิรงค์

การทำงานในหน่วยงานเดียวกันให้สำเร็จก็ว่ายากแล้ว การทำงานที่ต้องใช้หลายหน่วยงาน หลากหลายศาสตร์มาทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างสิ่งแปลกใหม่ที่ตอบโจทย์ได้มากกว่า ยิ่งยากขึ้น

หลายๆ หน่วยงานในประเทศไทยอยากเป็นองค์กรนวัตกรรม (Innovative Organization)

หลายๆ องค์กรอยากให้คนในองค์กรมีหัวใจแห่งความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Organization)

แต่หลายๆ องค์กรยังไม่เข้าใจหรือยังไม่มี DNA เด่นในการสร้างนวัตกรรมหรือหัวใจแห่งความเป็นผู้ประกอบการ

เมื่อไม่มีแก่น ความยั่งยืนก็ไม่มีทางเกิดได้

แก่นในที่นี้เริ่มต้นจากผู้นำขององค์กร

ผู้นำองค์กรที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้นั้นต้องมี DNA เด่นของการประสบความสำเร็จ อาจเรียกได้ว่าเป็นผู้นำ 5 กล้า มีความกล้า 5 อย่าง

 

  1. ผู้นำต้องกล้าคิดในสิ่งที่ดี แตกต่างและท้าทาย

ผู้นำต้องสามารถประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่ในองค์กรให้มีคุณค่าเพิ่มขึ้นได้ ผู้นำที่ประสบความสำเร็จต้องมีฝัน ฝันที่จะเห็นองค์กรของตัวเองเป็นอย่างไรในอีก 5-10 ปีข้างหน้า และผู้นำต้องประกาศความฝันนั้นให้ทุกคนในองค์กรรู้เหมือนๆ กัน เรียกได้ว่าต้องกล้าคิดในสิ่งที่ดี แตกต่างและท้าทายความสามารถของตัวเอง คนในองค์กรเพื่อทำให้ความฝันนั้นกลายเป็นจริง

 

  1. ผู้นำต้องกล้าลงมือทำในสิ่งคิด

ผู้นำบางคนชอบคิด แต่พอจะทำกลับไม่กล้า สิ่งที่คิดจึงไม่ถูกผลักดันไปสู่การลงทำจริง การเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องคิดและทำเสมอ เวลาองค์กรประกาศจะทำอะไรซักอย่าง สิ่งที่ทุกองค์กรเป็นเหมือนกันหมดคือ พนักงานทุกคนจะหันไปมองผู้นำก่อน ถ้าผู้นำเริ่ม พนักงานจะเริ่ม ถ้าผู้นำอยู่เฉยๆ พนักงานก็จะอยู่เฉยๆ เป็นเรื่องปกติ ถ้าใครลงมือทำโดยที่ผู้นำไม่สนใจก็คงได้ทำงานฟรี เสียเวลาเปล่า ผู้นำจึงต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการลงมือทำ หรือที่ฝรั่งเค้ามักใช้คำว่า “เป็น Role Model” ของน้องๆ องค์กรถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้

 

  1. ผู้นำต้องกล้าพูดความจริง

หลายครั้งที่ผู้นำคิดและทำได้ แต่เมื่อเกิดปัญหาผู้นำกลับเงียบ ไม่กล้าพูดความจริงออกมา ทำให้พนักงานขาดศรัทธาจากผู้นำ ผู้นำองค์กรจึงต้องเป็นคนที่รับทั้งผิดและรับทั้งชอบ ภาษาไทยจึงใช้คำว่า ต้องมี “ความรับผิดชอบ” บางองค์กรต้องการการเปลี่ยนแปลง ถ้าประสบความสำเร็จด้วยดี ชั้นรับ แต่ถ้าเกิดความผิดพลาดขึ้น ชั้นขอชิ่งไปก่อนหล่ะ อันนี้ถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆ เมื่อไหร่ องค์กรนั้นนอกจากไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้แล้ว พนักงานจะเกิดอาการกลัวความเปลี่ยนแปลงโดยปริยาย

 

  1. ผู้นำต้องกล้าสร้างความฮึกเหิมทีมงาน

ผู้นำหลายคน นอกจากไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำ แล้วยังไม่กล้าเป็นศูนย์รวมจิตใจของทีมงาน บางคนไม่กล้าสร้างความฮึกเหิม บางคนไม่รู้ว่าการสร้างความฮึกเหิมทำอย่างไร ต้องไปเรียนรู้ครับ ในภาวะที่ต้องการเปลี่ยน เปลี่ยนให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้น หรือกำลังต่อสู้กับภาวะขาดทุนใกล้ล้มละลาย ถ้าทีมงานไม่มีเป้าหมายเดียวกันกับผู้นำ ไม่มีส่วนร่วมกับความสำเร็จที่ฝันไว้ คงไม่มีทางไปถึงจุดหมายได้ หรือถ้าได้ก็คงใช้เวลายาวนานหลายปี ถึงเวลานั้นองค์กรอาจไม่รอดถึงวันที่เกิดการเปลี่ยนแปลงก็เป็นได้

 

  1. ผู้นำต้องกล้าสนับสนุนให้ทีมงานเสนอความคิดเห็นและลงมือทำ

โลกเปลี่ยนเร็ว หลายหัวย่อมดีกว่าหัวเดียว ไม่อย่างนั้นจะมีลูกน้องไว้ทำอะไร ผู้นำจึงต้องกล้าสนับสนุนให้ลูกน้องกล้าแสดงความคิดเห็น กล้าถาม กล้าปรึกษา กล้าที่จะโง่ ผู้นำต้องกล้าที่จะเปิดโอกาสให้ทีมงานได้แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างไม่ว่าจะกระตุ้น สนับสนุน ให้กำลังใจ หรืออำนวยความสะดวกต่างๆ ก็แล้วแต่ การเปลี่ยนแปลงที่ต้องการถึงจะมีโอกาสประสบความสำเร็จ

 

เมื่อผู้นำมี DNA เด่น หรือเป็นผู้นำ 5 กล้าแล้ว เป้าหมายจะเหนื่อยยากแค่ไหน โอกาสประสบความสำเร็จก็มีอยู่เสมอ

 

ผู้นำที่จะส่งสารที่ดีไปถึงทีมงานได้นั้น ต้องเป็นผู้นำที่มีภาวะผู้นำที่นำคน นำทีมและนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จ

ยิ่งถ้าเราต้องการทำสิ่งใหม่ สิ่งที่แตกต่าง และสิ่งที่ดีขึ้นเรื่อยๆ หรือหลายคนเรียกมันว่า นวัตกรรม ยิ่งต้องมีความเป็นผู้นำ 5 กล้ามากขึ้นไปอีก

 

*** การทำสิ่งใหม่ที่แตกต่าง หรือนวัตกรรมนั้นโดยทั่วไปจะทำได้ใน 2 ระดับ

 

  1. การสร้างสิ่งใหม่ แตกต่างให้เกิดขึ้นทั้งองค์กร

ทำให้คนทุกคนหันมาช่วยกันผลักดัน กระตุ้น สนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมทั้งองค์กร หรือ ใครๆ ก็คิดอะไรใหม่ๆ ได้

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือที่ SCG บริษัทที่ผมอยู่มาเกือบ 20 ปี เป็นองค์กรที่ตั้งใจทำให้นวัตกรรมเกิดขึ้นกับพนักงานทุกคน ไม่ใช่เฉพาะกับคนที่อยู่ในหน่วยงานวิจัยเท่านั้น

การผลักดันให้เกิดสิ่งใหม่กับทุกคนในองค์กร ต้องเริ่มจากการสร้างผู้นำที่ใช่!!! ผู้นำ 5 กล้า!!! เพื่อนำไปสู่การวางกลยุทธ์ที่ดี การจัดการความรู้ภายในองค์กร การบริหารคนในทุกระดับ การพัฒนากระบวนการใหม่ๆ

และสุดท้ายคือ การสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างให้มีเงินเข้า คนในองค์กรพอใจ ลูกค้าดีใจ และชุมชนสังคมสนับสนุน

 

  1. การสร้างสิ่งใหม่ แตกต่างให้เกิดขึ้นในตัวคนหรือทีม

การพัฒนานวัตกรรมแบบนี้คือการสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะคนหรือเฉพาะกลุ่ม ซึ่งจะแตกต่างจากแบบแรก

คนเก่งหรือคนที่มีความสามารถสูงจะสร้างสิ่งใหม่ที่แตกต่างจากเดิมมาก

สิ่งที่ต้องทำคือ การผลักดันงานวิจัยหรือนวัตกรรมออกไปสู่เชิงพาณิชย์ เชิงอุตสาหกรรม หรือเชิงสังคมให้ได้

หรือเรียกว่า ทำให้สิ่งที่คิดกลายเป็นจริงและใช้ในแวดวงอุตสาหกรรมให้ได้

เปลี่ยนจากกระดาษเป็นการกระทำจริง

ถ้าทำงานคนเดียวก็คงไม่เป็นไร แต่ทุกงานไม่มีทางทำคนเดียวได้

ต้องมีเพื่อน มีทีม สุดท้ายก็ต้องมีความกล้า ไม่อย่างนั้นงานก็เสร็จช้า ทีมงานหนีหมด

 

*** การทำงานในหน่วยงานเดียวกันให้สำเร็จก็ว่ายากแล้ว การทำงานที่ต้องใช้หลายหน่วยงาน หลากหลายศาสตร์มาทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างสิ่งแปลกใหม่ที่ตอบโจทย์ได้มากกว่า ยิ่งยากขึ้น

 

ตัวอย่างที่ผมเคยทำในมหาวิทยาลัยมหิดลเช่น การทำงานร่วมกันระหว่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะวิศวกรรมศาสตร์ และสมาคมวิชาชีพฯ

ทั้งสองศาสตร์กับหนึ่งสมาคมวิชาชีพฯ จะเติมเต็มซึ่งกันและกัน ภาษาอังกฤษจะเรียกว่า Co-Creation หรือ Collaboration หรือ Intregration หรือ Convegence ก็แล้วแต่

แต่มันคือการร่วมกันสร้างให้เกิด 1+1 มากกว่า 2 อาจเป็น 3, 4, 5 หรือ 10 เลยก็เป็นไปได้

โดยการนำจุดแข็งของแต่ละคนเติมเต็มจุดอ่อนของกันและกันเพื่อสร้างพลังสูงสุด

หากจะให้สรุปสั้นๆ

 

ผู้นำต้องสร้างความท้าทาย Challenge สร้างการมีส่วนร่วม Co-Creation สร้างเป้าหมายร่วม Shared Vision และสร้างการสื่อสารที่ชัดเจน Communication

 

แนวคิดของผู้นำที่จะเปลี่ยนแปลงองค์กรได้จำเป็นต้องสร้างคุณค่าเพิ่ม (Value Added) ให้เกิดขึ้นเสมอ ไม่ว่าองค์กรนั้นกำลังทำสินค้า บริการหรือกระบวนการก็ตาม

 

หากไม่มีแก่น ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปรไปตามสิ่งที่ต้องการทำแบบฉาบฉวย เหมือนอย่างที่หลายๆ องค์กรทำเรื่องการจัดการความรู้ (KM: Knowledge Management) แล้วบอกว่า ไม่เห็นมีประโยชน์ เบื่อจะทำเอกสาร เพราะเรายังเข้าไม่ถึงแก่นของมัน เราแค่เข้าถึงเปลือกที่ไม่ทำให้เกิดการหมุน (Spiral) ซึ่งเป็นหัวใจของ KM

 

*** ทุกๆ ธุรกิจก็ไม่ต่างกัน

 

ผู้นำถือเป็นจุดรวมใจขององค์กรที่ต้องมี DNA เด่นในการผลักดันงานให้ประสบความสำเร็จ

และผู้นำที่ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องเป็น “ผู้นำที่เป็นผู้กล้า” เท่านั้นจึงจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

หลายครั้งเรามักจะบอกว่า ความยากที่สุดในการทำงานให้สำเร็จคือ “เรื่องคน”

คำพูดนี้จริงมากๆ แม้แต่ตัวเราเอง การผลักดันอะไรซักอย่างให้สำเร็จ เรายังไม่รู้เลยว่าจะทำยังไง

เมื่อต้องทำกับคนอื่นๆ ที่เกิดมาไม่เหมือนกัน ผ่านประสบการณ์โชกโชนไม่เหมือนกัน

ความเป็นผู้นำที่ดีจะช่วยให้งานทุกอย่างสำเร็จได้ง่ายขึ้น มีคุณค่ามากขึ้น

สมัยนี้ไม่มีใครทำงานคนเดียวแล้วครับ มันยากมาก ต้องมีเพื่อน มีทีม การทำทีมให้ดี มุ่งเป้าเดียวกันต้องเริ่มจากตัวเรา แล้วทุกงานจะสำเร็จได้โดยง่าย ถามว่า ”วันนี้คุณเป็นผู้กล้าแล้วหรือยัง”…สวัสดี

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ