5 วิธีคิดให้ธุรกิจและสิ่งที่ทำมี “คุณค่าเพิ่ม” และ “ความสุข” ไปพร้อมๆ กัน : ดร.พยัต วุฒิรงค์

ดร.พยัต วุฒิรงค์

“ภาพนี้มีคนไทยมาขอซื้อที่ราคา 40 ล้านบาท ชาวต่างชาติมาขอซื้อที่ราคา 550 ล้านบาท แต่ลูกชายอาจารย์ไม่ขาย เพราะถ้าขายก็จะไม่มีอะไรให้พวกเราได้ดูอีก ถ้าคิดเป็นมูลค่าอาจไม่คุ้ม เพราะไม่ได้เงินมา แต่ถ้าคิดเป็นคุณค่า มันคุ้มมาก เพราะคนรุ่นหลังจะได้มาชมภาพนี้ตลอดไป” นี่คือ ความแตกต่างระหว่างคุณค่าและมูลค่า

การทำอะไรซักอย่างให้สำเร็จและยั่งยืน สิ่งที่สำคัญอย่างคือการสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นกับสิ่งนั้น แต่การสร้างคุณค่าเพียงอย่างเดียวก็อาจยังไม่เพียงพอ เรายังต้องสร้างความสุขให้เกิดขึ้นกับทั้งเราในฐานะ ”ผู้ให้” และผู้ใช้บริหารในฐานะ “ผู้รับ” ควบคู่กันไปด้วย

 

ลองอ่านวิธีคิดของการสร้าง “คุณค่าเพิ่ม” และ “ความสุข” ไปพร้อมๆ กันผ่าน 5 เรื่องราวนี้

ครั้งหนึ่งผมได้ร่วมทำกิจกรรมกับนักศึกษา MBA15 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

เราไป 5 สถานที่ในจังหวัดเชียงรายทั้งบ้านดอยดินแดง พิพิธภัณฑ์บ้านดำ วัดร่องเสือเต้น ร้านอาหารติดดอยติดดินและร้านสวนกุหลาบเชียงรายเพื่อค้นหาวิธีสร้างคุณค่าเพิ่มและความสุขจากคนที่อยู่ในสถานที่เหล่านี้

เรามีเวลาทำกิจกรรมกันทั้งหมดประมาณ 6 ชั่วโมงครึ่ง

และนี่คือ จุดเรียนรู้ที่ได้รับจากการดำเนินงานของหน่วยเล็กๆ ของคนในจังหวัดเชียงราย

  1. บ้านดอยดินแดง

“บ้านดอยดินแดง” เป็นสถานที่ที่ อ.สมลักษณ์ ปันติบุญ ศิลปินเซรามิค เชียงราย ได้สร้างสรรค์ไว้ให้การปั้นดินกลายเป็นงานศิลปะ

ทำมา 26 ปี จนปัจจุบันพออยู่ได้ บรรยากาศร่มรื่นมาก มีร้านกาแฟและที่จำหน่ายสินค้า

คำพูดหนึ่งที่อ.สมลักษณ์ พูดตอนบรรยายให้กลุ่มเราฟัง

“ถ้ามันอยู่ไม่ได้ก็เลิก จะไม่ขยายมากกว่านี้อีก เพราะทำเท่านี้ก็มีความสุขแล้ว”

สั้นๆ ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ทำสิ่งที่มีอยู่ให้ดีที่สุด ไม่ทำอะไรเกินตัว ค่อยๆ ทำ และทำอย่างมุ่งมั่น

เป็นการทำธุรกิจแบบ “พอแล้วดี”

พอดี มีสุข ผู้ทำมีความสุข ผู้มาใช้บริการก็มีความสุข

  1. พิพิธภัณฑ์บ้านดำ

“บ้านดำ” เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะของศิลปินแห่งชาติถวัลย์ ดัชนี ขณะที่ผมไปเค้าเปิดให้บุคคลที่สนใจได้เข้าไปชมฟรี

อาจารย์เชิด ผู้บรรยายเล่าว่า

“ก่อนที่อาจารย์ถวัลย์จะเขียนภาพ อาจารย์จะศึกษากระดูกสันหลังของสัตว์ว่ามันเดินอย่างไร ขยับร่างกายอย่างไร”

แล้วค่อยเขียนออกมาเป็นภาพตามจินตนาการของอาจารย์

เราได้ไปชมภาพสุดท้ายที่อาจารย์ถวัลย์ท่านได้เขียนก่อนเสียชีวิตซึ่งเป็นภาพที่เขียนเสร็จ 60-70% เท่านั้น

ผู้บรรรยายเล่าว่า

“ภาพนี้มีคนไทยมาขอซื้อที่ราคา 40 ล้านบาท ชาวต่างชาติมาขอซื้อที่ราคา 550 ล้านบาท แต่ลูกชายอาจารย์ไม่ขาย เพราะถ้าขายก็จะไม่มีอะไรให้พวกเราได้ดูอีก ถ้าคิดเป็นมูลค่าอาจไม่คุ้ม เพราะไม่ได้เงินมา แต่ถ้าคิดเป็นคุณค่า มันคุ้มมาก เพราะคนรุ่นหลังจะได้มาชมภาพนี้ตลอดไป”

นี่คือ ความแตกต่างระหว่างคุณค่าและมูลค่า เป็นวิธีคิดในการสร้างคุณค่าให้เพิ่มขึ้นและนำมาซึ่งความสุขของผู้ให้และผู้รับ

 

  1. วัดร่องเสือเต้น

“วัดร่องเสือเต้น” เป็นวัดที่มีศิลปะแบบไทยประยุกต์ มีพระประธานคือ พระพุทธรัชมงคลบดีตรีโลกนาถ

วัดนี้กำลังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมของจังหวัดเชียงราย

จุดเด่นของวัดนี้นอกเหนือจากการมาทำบุญเพื่อเป็นสิริมงคลแล้ว

“พระวิหารหลังใหม่มีศิลปะที่มีความสวยงามแปลกตา เป็นศิลปะประยุกต์ที่เป็นเอกลักษณ์ ใช้เฉดสีเป็นสีน้ำเงินฟ้า รูปแบบของศิลปะส่วนหนึ่งมีความคล้ายกับผลงานของ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และ อ.ถวัลย์ ดัชนีย์ สองศิลปินแห่งชาติชื่อดังชาวเชียงราย”

การสร้างวัดนี้ให้สำเร็จจำเป็นต้องอาศัยความคิดที่ตกผลึกเป็นอย่างดี ต้องอาศัยความตั้งใจและความมุ่งมั่นเพื่อพัฒนาสิ่งที่คิดนั้นออกมาให้เป็นจริงให้ได้

เป็นการสร้าง “คุณค่าและความแตกต่างให้เกิดขึ้นจากสิ่งที่มีอยู่ดั้งเดิม” และนำมาซึ่งความสุขของผู้มาเยือน

  1. ร้านสวนกุหลาบเชียงราย

“สวนกุหลายเชียงราย” เป็นร้านอาหารริมแม่น้ำกก อยู่ข้างร้านมโนรมย์ที่คนเชียงรายและผู้มาเยือนรู้จักกันดี

เมื่อไปถึงผู้บรรยายบอกว่า

“ตั้งใจทำร้านนี้ให้เป็นจุดท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย พื้นที่ล้อมรอบด้วยดอกกุหลาบหลายชนิด เป็นตัวแทนของความรัก มีคู่รักมาแต่งงานที่นี่หลายคู่แล้ว”

วิธีคิดในการสร้างคุณค่าและความสุขของที่นี่คือ

การสร้างจุดขายและความแตกต่างจากร้านอาหารที่มีจำนวนมากในจังหวัดเชียงรายโดยการเชื่อมโยงความรัก ความทรงจำและความสุขเข้าด้วยกัน

เป็นการสร้างธุรกิจด้วยการสร้างคุณค่าเพิ่มให้เกิดความสุขควบคู่กันไป

  1. ร้านอาหารติดดอยติดดิน

“ติดดอยติดดิน” เป็นร้านอาหารเล็กๆ ขายไวน์ กาแฟ อาหารสไตล์อิตาเลียนและอาหารไทย อยู่ถนนด้านหน้ามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ร้านนี้มีความแตกต่างจากร้านอาหารแบบดั้งเดิมในจังหวัดเชียงราย

ฉีกกฎการทำอาหารพื้นเมือง เป็นอาหารแบบผสมผสาน หรือ Fusion Food เพื่อสร้างความแตกต่าง

บรรยากาศสบายๆ สร้างความแตกต่างและคุณค่าของธุรกิจ

ทำให้คนเชียงรายและผู้มาเยือนได้พบสิ่งแปลกใหม่

สร้างทางเลือกของตัวเอง ทางเลือกที่สร้างอาชีพและรายได้

ที่สำคัญ ร้านนี้สร้างความสุขให้ทั้งผู้ให้และผู้รับท่ามกลางบรรยากาศอันแสนสงบของเมืองเชียงราย

หลังจากได้อ่านวิธีคิดของการสร้าง “คุณค่าเพิ่ม” และ “ความสุข” ไปพร้อมๆ กันผ่าน 5 เรื่องราวนี้แล้วเราได้อะไรจากวิธีคิดของห้าสถานที่นี้

สำหรับผม ทั้งห้าสถานที่นี้มีพื้นฐานที่แตกต่างกัน

แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ “คุณค่า” และ “ความสุข”

คำถามคือ ถ้าเราจะทำอะไรซักอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นกิจการเพื่อสังคม กิจการเพื่อชุมชน กิจการเพื่อตัวเอง หรือกิจการเพื่อธุรกิจ

ต้องตอบให้ได้ว่า

“คุณค่า” ในการดำเนินงานอยู่ที่ไหน

และ

“ความสุข” ในการดำเนินงานนั้นจะอยู่ที่ใด

คุณค่าทั้งต่อผู้ให้และผู้รับ ความสุขทั้งต่อผู้ให้และผู้รับ

ถ้าคิดได้และทำตามที่คิดไว้ ความยั่งยืนจะตามมาเอง

หลายคนมีความอยากทำธุรกิจ อยากเริ่มต้นทำอะไรซักอย่างด้วยตัวเอง

แต่ไม่ได้สร้างคุณค่าให้สิ่งที่ทำ ไม่ได้ทำอย่างมีความสุข

ทำไปเพราะความอยาก อยากทำร้านกาแฟ อยากทำร้านเบเกอรี่ อยากทำร้านดอกไม้ อยากทำอะไรอีกมากมาย

เป็นการทำอะไรที่เหมือนๆ กัน ทำอะไรโดยไม่ได้คิดว่าจะมี “คุณค่า” กับใคร ใครมี “ความสุข” บ้างจากสิ่งที่เราทำ

ผมอยากยกตัวอย่างให้เห็นภาพเพิ่มเติมของการเริ่มต้นสร้าง “คุณค่า” และ “ความสุข” 

การสร้างความสำเร็จในการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

สิ่งสำคัญที่ต้องมีคือการสร้างระบบนิเวศน์ทั้งหมดของการท่องเที่ยว (Ecosystem) โดยไม่แยกส่วน

* ความรู้ -> ต้องมีความรู้เดิม ที่มาที่ไปของความเป็นชุมชน ประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม

** คน -> ต้องเข้าใจคน/ชาวบ้าน/ผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ และต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติ แต่ละกลุ่มมี

ความต้องการที่แตกต่างกัน

*** ทีมหรือเครือข่าย -> เมื่อมีความรู้และคนแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือ เครือข่ายของการสร้างความแข็งแกร่งที่ทำให้เกิดการรวมตัว ร่วมมือของคนในพื้นที่ นอกพื้นที่ รวมถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาคุณค่าให้เกิดขึ้น (Value Co-Creation)

การดำเนินงานใดๆ ก็เช่นเดียวกัน จำเป็นต้องมีความรู้ คน และทีมหรือเครือข่ายเสมอ

เป้าหมายต่อไป นักศึกษาหลายคนมีธุรกิจส่วนตัวและธุรกิจครอบครัว เราจะลองช่วยกันคิดกันว่าธุรกิจธรรมดาๆ ทั่วไปแบบนี้จะสร้างให้เกิด “คุณค่า” และ “ความสุข” ได้อย่างไร

ร้านข้าวมันไก่
ร้านจำหน่ายและติดตั้งระบบเสียง
ปั๊มน้ำมัน
บริษัทรักษาความปลอดภัย
บริษัท Trading & Marketing
ร้านขายวัสดุก่อสร้าง AEC
สวนส้ม
ร้านขายเสื้อผ้าพื้นเมือง
สวนผัก Hydroponic
ร้านขายของ Online
ร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า
ร้านอาหาร
ส่งออกสัปปะรด
ขายส่งผักสด
…และอื่นๆ อีกมากมาย

องค์กรส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่มีอยู่ทั่วไป เราจะทำอย่างไรถึงจะทำให้ธุรกิจมีความแตกต่าง มีคุณค่า มีความยั่งยืน และคนทำมีความสุข

ลองช่วยกันคิดครับ…สวัสดี

 

 

 

ดร.พยัต วุฒิรงค์

นักบริหารจัดการนวัตกรรมและสร้างคุณค่าแถวหน้าของเมืองไทย มีพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์ธุรกิจ แต่หันมาเอาดีด้านการตลาด การบริหารคน และการบริหารจัดการนวัตกรรม เพราะมองว่ามีความท้าทายและมีความสุขมากกว่า สั่งสมประสบการณ์จากองค์กรอันดับ 1 ด้านนวัตกรรมและการบริหารคนของไทยเกือบ 20 ปี จากนั้นลาออกมาช่วยพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ในหลากหลายศาสตร์จาก “หิ้งสู่ห้าง” สร้างคุณค่าเพิ่มให้กับสิ่งที่มีอยู่ และพัฒนานวัตกรรมให้เกิดขึ้นตลอดเวลา ชอบพูดคุยกับผู้รู้ CEO องค์กรต่างๆ ชอบเดินทางท่องเที่ยวเพื่อหาประสบการณ์และวัตถุดิบมาต่อยอดความรู้และถ่ายทอดสู่สังคม

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ