วิธีทำธุรกิจจาก “ห้องเรียน” สู่ “การลงมือทำจริง” : ดร.พยัต วุฒิรงค์

ดร.พยัต วุฒิรงค์

เนื่องจากคนที่มาเรียนวิชานี้มีพื้นฐานไม่เท่ากัน บางคนเป็นทันตแพทย์ บางคนเป็นพยาบาล บางคนเป็นวิศวกร บางคนจบศิลปศาสตร์ นิเทศศาสตร์ และอีกหลายคนเป็นนักวิทยาศาสตร์ อายุของคนที่เรียนก็ต่างกัน มีตั้งแต่ 23-35 ปี ผมเลือกวิธีการสอนผ่านการทำกิจกรรมที่หลากหลาย

หลายครั้งมีคนถามผมว่าทำอย่างไรให้เปลี่ยนจากการทำธุรกิจแบบที่เราคิดเองเออเองเป็นการลงมือทำจริงให้สำเร็จให้ได้

ผมขอยกตัวอย่างการฝึกลงมือทำจริงที่ผมได้ทำให้กับกับนักศึกษา MBA มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในวิชากระบวนการจัดการหรือ Processes of Management

วิชานี้เป็นวิชาแรกของหลักสูตร MBA มีเนื้อหาเกี่ยวกับกระบวนการจัดการ ทั้งการจัดการนวัตกรรม การจัดการคน การจัดการองค์กร และการจัดการเพื่ออยู่กับสังคมอย่างมีความสุข ก่อนที่วิชาถัดๆ ไปจะลงรายละเอียดในด้านผลิต โลจิสติกส์ ตลาด การเงินบัญชี วิจัย เศรษฐศาสตร์

 

“ทำไมวิชานี้ต้องเป็นวิชาแรก”

ก็เพราะ…ก่อนที่จะลงมือทำอะไร ซึ่งในที่นี้คือการทำธุรกิจ เราต้องเข้าใจภาพรวมของธุรกิจว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง และการจัดการที่ดีที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จคืออะไร

 

โดยเริ่มจากการตอบคำถามว่า…

  1. อนาคตที่เราต้องการสร้างขึ้นหรือจุดหมายปลายทางของธุรกิจคืออะไร เราเรียกมันว่า Vision หรือวิสัยทัศน์
  2. สิ่งที่ต้องทำเพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทางนั้นเป็นอย่างไร เรียกว่า Mission หรือพันธกิจ
  3. สิ่งที่ทำให้เรายังคงอยู่ในเส้นทางนั้นหรือสิ่งที่เรายึดถือในการทำธุรกิจคืออะไร เราเรียกว่า Values หรือค่านิยม
  4. แผนสำหรับการเดินทางหรือการทำธุรกิจ เรียกว่า Strategy กลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ เป็นแผนใหญ่หรือแผนหลักขององค์กร
  5. วิธีการในการจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสมกับแผนการดำเนินงานที่ทำ เรียกว่า Tactics
  6. แผนการทำงานเพื่อบรรลุกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ขององค์กร เรียกว่า Plan เป็นแผนย่อยๆ ในการทำงาน
  7. อะไรที่เราต้องการทำให้บรรลุผล เรียกว่า Goal หรือเป้าหมาย
  8. เราจะจัดโครงสร้างองค์กรของเราอย่างไรและใครจะต้องทำเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น เรียกว่า Organizing
  9. เราจะจูงใจให้คนในองค์กรอยากทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างไร เรียกว่า Leading
  10. เราจะติดตามผลการทำงานอย่างไรไม่ให้ออกนอกเส้นทางและบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ เรียกว่า Controlling

 

วิชานี้จึงเปรียบเสมือนการตั้งต้นสร้างบ้าน ต้องลงเสาเข็มที่แข็งแรงก่อนจะขึ้นโครงสร้างและหลังคาจนกลายเป็นบ้านที่อบอุ่น

 

ในทางธุรกิจก็คือ การวางรากฐานของการทำธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

 

เนื่องจากคนที่มาเรียนวิชานี้มีพื้นฐานไม่เท่ากัน บางคนเป็นทันตแพทย์ บางคนเป็นพยาบาล บางคนเป็นวิศวกร บางคนจบศิลปศาสตร์ นิเทศศาสตร์ และอีกหลายคนเป็นนักวิทยาศาสตร์ อายุของคนที่เรียนก็ต่างกัน มีตั้งแต่ 23-35 ปี

 

ผมเลือกวิธีการสอนผ่านการทำกิจกรรมที่หลากหลาย โดยใช้เวลาทั้งหมด 45 ชั่วโมงเพื่อให้ผู้เรียนได้ซึมซับศาสตร์แห่งการจัดการ และเข้าใจ “สิ่งที่ผู้บริหารยุคใหม่จำเป็นต้องมี” ประกอบด้วย

  1. การค้นคว้าด้วยตนเอง ในหัวข้อที่อยู่ในกระแสปัจจุบัน (Learning by Yourself) ในยุคที่โลกหมุนเร็วกว่าหนังสือ เราต้องเรียนรู้ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องรอสิ่งใดให้ได้ ไม่เช่นนั้นเราจะตกยุคทันที เพราะสิ่งที่อยู่ในหนังสือจะล้าหลังทันทีเมื่อมันถูกพิมพ์ออกมา
  2. การอ่านและสรุปบทความที่เกี่ยวข้องสั้นๆ (Content Briefing) เราต้องจับประเด็นสำคัญของสิ่งที่ผ่านสัมผัสทั้งห้าให้ได้ เพราะข้อมูลในโลกมีเยอะเกินกว่าจะจำได้ทุกอย่าง เราจึงต้องเลือกสิ่งที่คู่ควรกับเราเท่านั้น
  3. การเล่าเรื่อง (Story Telling) การเล่าเรื่องที่ดีจะสร้างคุณค่าที่เพิ่มขึ้น เราต้องฝึกการนำเสนอสาระสำคัญภายใต้เวลาที่กำหนด พร้อมการฝึกการตั้งคำถามและหาคำตอบที่แสดงถึงคุณค่าของธุรกิจหรือสินค้าบริการของเรา
  4. การวิเคราะห์และเข้าใจองค์กรที่ตัวเองเป็นเจ้าของธุรกิจหรือทำงานอยู่ (Organization Diagnosis) ยิ่งโลกเปลี่ยนเร็วเท่าไหร่ เรายิ่งต้องเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราและองค์กรมากขึ้นเท่านั้น จุดแข็งยังคงเป็นจุดแข็งหรือไม่ อำนาจการต่อรองยังคงอยู่หรือเปล่า เพื่อนำไปสู่การพัฒนาตนเองและองค์กร และรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
  5. การฝึกตั้งธุรกิจและพัฒนาสินค้าใหม่ (New Business and Product Development) สินค้าและบริการเก่าจะถูกทดแทนเร็วขึ้นๆ รถยนต์รุ่นเก่าจะถูกทดแทนด้วย major/minor change เร็วขึ้น ผู้บริหารต้องมองรอบด้านเพื่อเริ่มต้นธุรกิจใหม่ สินค้าใหม่ บริการใหม่ด้วยตัวเองผ่านกระบวนการที่ถูกต้อง
  6. การทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ (Creating New Competency) หลายคนมักมีข้ออ้างกับการออกนอกพื้นที่ของตัวเอง ไม่เคยทำ ไม่รู้เรื่อง กลัวหลง กลัวทำผิด การออกจากพื้นที่เล็กๆ ของเรา แม้เพียงเศษเสี้ยวจะทำให้เราเห็นโลกที่ใหญ่ขึ้นเสมอ
  7. การทำงานภายใต้เวลาที่จำกัด (Timing Pressure) โลกไม่เคยยุติธรรม เราควบคุมสภาพแวดล้อมทั้งเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน ลูกค้าไม่ได้ แต่ภายใต้เวลาที่มีอยู่เราต้องเลือกในสิ่งที่ตอบโจทย์ที่สุด
  8. การลงมือทำจริงนอกห้องเรียน นอกกระดาษ นอกการคิดเองเออเองซะที  (Learning by Doing) 

 

บางครั้งกิจกรรมในการทำธุรกิจที่เราคิดยังคงเป็นกระดาษและการนึกคิดว่าจะทำ แต่ยังไม่ได้ “ลงมือทำจริง” สิ่งที่คิดจะถูกหรือผิดก็ได้

 

การเข้าใจ “กระบวนการจัดการ” หรือ “กระบวนการทำธุรกิจ” จะต้องทำจริง เจ็บจริง เพือให้เกิดการเรียนรู้

 

ครั้งนี้ ผมได้ออกแบบกิจกรรมให้แต่ละกลุ่มได้ “ทำจริง” ไม่มีอะไรจำลอง ไม่มีบทบาทสมมติ ไม่มีการอยู่ในห้อง ไม่มีอะไรควบคุมได้ ทุกคนจะได้รับรู้ “สิ่งที่ควบคุมไม่ได้” ในสิ่งที่เราพยายามควบคุมให้ได้ วางแผนจริง เดินทางจริง ติดต่อประสานงานจริง แก้ปัญหาจริง และอีกหลายๆ จริง

 

“กระบวนการการจัดการ” ที่ดีควรเริ่มจากการกำหนดสถานที่ เวลา คน แผนงาน โดยกำหนดตัวชี้วัดให้ชัดเจน

  1. กิจกรรมเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ เป็นไปตามเวลาที่กำหนดหรือเปล่า (Monitoring)
  2. ผู้ใช้บริการเข้าใจ Goal ที่คุณทำหรือเปล่าว่าคืออะไร (Value Perception)
  3. เปรียบเทียบ (Comparing) สิ่งที่แต่ละกลุ่มทำกับกลุ่มที่มีกิจกรรมเหมือนกัน
  4. เมื่อเกิดปัญหา มีการแก้ไขสถานการณ์จริงอย่างไร (Correcting)
  5. ทั้งหมดนี้ต้องอยู่ภายใต้หลักการจัดการที่ดี
  • มีกระบวนการจัดการที่ดี >> การวางแผน จัดโครงสร้างองค์กร การนำองค์กร และการควบคุม หรือ POLC (Planning-Organizing-Leading-Controlling)
  • มีความรับผิดชอบต่อสังคม >> CSR (Corporate Social Responsibility)
  • มีการจัดการนวัตกรรมทั้งองค์กร >> Total Innovation Management
  • มีการจัดการคนที่ดี >> HRM (Human Resource Management)

 

ทุกการทำธุรกิจที่จะสำเร็จและยั่งยืนได้ ต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ

  1. การมีข้อมูลหรือข้อเท็จจริง เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบัน
  2. การวิเคราะห์ข้อมูลหรือข้อเท็จจริง เพื่อประเมินสถานการณ์ที่ถูกต้อง
  3. การเสนอแนะ เพื่อนำเสนอแนวทางการพัฒนาในอนาคต
  4. การสื่อสารที่ดี ครบถ้วน ตรงประเด็นเข้าใจตรงกันทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสารภายใต้เวลาที่จำกัด

บางงานหรือบางกิจกรรมที่ให้ทำเป็นงานเดี่ยว บางงานเป็นงานกลุ่ม และทุกงานจะถูกเปลี่ยนสมาชิกในกลุ่มไปเรื่อยๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้เจอกับคนที่หลากหลาย เพราะโลกแห่งความเป็นจริงไม่มีอะไรยุติธรรม เวลาที่จำกัด การเดินทางที่จำกัด เพื่อนที่ไม่รู้จัก ทำให้ต้องปรับตัวตลอดเวลา

 

ทั้งหมดนี้ผมคาดหวังเพียงการทำให้ผู้เรียนเข้าใจ จิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการ และได้มุมมองที่หลากหลายมากขึ้น เพราะการจัดการ และ การทำธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถในการจัดการ บางคนเป็นเจ้าของกิจการ บางคนเป็นลูกเจ้าของกิจการที่ต้องสืบทอดธุรกิจ บางคนเป็นพนักงานบริษัท บางคนเป็นคนที่คิดจะทำธุรกิจ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร คุณต้องเข้าใจ “กระบวนการจัดการ” เพื่อให้การทำงานบรรลุเป้าหมายที่วางไว้…สวัสดี

 

 

 

 

 

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ