5 ข้อคิดสำคัญจากสุดยอด MD ที่คุณอาจไม่เคยได้ฟัง : ดร.พยัต วุฒิรงค์

ดร.พยัต วุฒิรงค์

ผมได้ไปทานข้าวกับหัวหน้าเก่า พี่ไพโรจน์ อานามวัฒน์ อดีตกรรมการผู้จัดการ CPAC, SCG ผู้ถ่ายทอดแนวคิด “ชีวิตที่ดีคือ ชีวิตที่สงบ เย็นและเป็นประโยชน์” ของท่านพุทธทาสฯ ให้ผมและพนักงานในบริษัท

*** บทสนทนานี้เกิดขึ้นบนโต๊ะอาหาร เป็นการสนทนาที่ทำให้ผมได้แรงบันดาลใจหลังจากทานอาหารมื้อนี้

ผมได้ไปทานข้าวกับหัวหน้าเก่า พี่ไพโรจน์ อานามวัฒน์ อดีตกรรมการผู้จัดการ CPAC, SCG ผู้ถ่ายทอดแนวคิด “ชีวิตที่ดีคือ ชีวิตที่สงบ เย็นและเป็นประโยชน์” ของท่านพุทธทาสฯ ให้ผมและพนักงานในบริษัท

เราทานข้าวกันที่ร้าน Flow Restaurant and Bar ในซอยพหลโยธิน 9 ซึ่งเป็นร้านที่พี่ไพโรจน์ชอบไป อาหารอร่อย ราคาเป็นกันเอง และมี Super Flow ถ้าจำชื่อไม่ผิด เป็นซี่โครงหมูน้ำซุปเผ็ดเล็กน้อย อร่อยไม่เหมือนใคร

แปลก…แต่จริง โต๊ะเราน่าจะเป็นโต๊ะเดียวในร้านที่คนสามคนดื่มแต่น้ำเปล่า!!!

ดื่มด่ำกับอาหาร ดนตรี สายฝน แอร์เย็นๆ และบทสนทนาของคนสามช่วงอายุ 50+ 40+ และ 30+

*** เหตุผลของการนัดเจอกันครั้งนี้คือ ทั้งสามคนออกจาก SCG หมดแล้ว เลยหาเวลามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน (ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว)

แต่วันนี้เนื้อหาเข้มข้นขึ้น คุยกันหลายเรื่องราวมากขึ้น

หลายเรื่องผมเองก็ไม่เคยฟังมาก่อน ถือเป็น 5 ข้อคิดสำคัญของสุดยอด MD มืออาชีพคนหนึ่งของไทยที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาจากองค์กรร้อยปีอย่าง SCG

  1. ชีวิตทุกคนเลือกได้ (ภายใต้ภาระที่มีอยู่แตกต่างกัน)

เราคุยกันว่าทำไมแต่ละคนออกจาก SCG ผมก็บอกเหตุผลของผมว่า ผมต้องการทำในสิ่งที่อยากทำและมีความสุข ส่วนพี่ไพโรจน์บอกว่าเคยถามตัวเองหลายครั้งว่า

“เราได้ใช้ประโยชน์จากการที่เราเกิดมาแล้วแค่ไหน”

สุดท้ายพี่ไพโรจน์สรุปว่า พี่อยากรู้ในเรื่องที่เรายังไม่รู้ อยากศึกษามัน โลกนี้มีเรื่องราวอีกมากมายนอกเหนือจากการทำงานของเรา ถ้าไม่มีเงินก็ไม่จำเป็นต้องไปเที่ยว เราอาจหาสิ่งเหล่านี้ได้จากการอ่าน

อ่านในเรื่องที่ตอนทำงานไม่มีเวลาอ่าน บางคนชอบบิ๊กไบค์ บางคนชอบทำอาหาร แต่ละเรื่องมีรายละเอียดของมันและแตกแขนงไปไม่รู้จบ อาหารก็มีหลายชาติ แต่ละชาติก็มีทั้งทอด ต้ม นึ่ง ผัด อีกมากมาย แค่นี้เราก็เรียนรู้ไม่หมดแล้ว

แต่ถ้าเรามีเงิน ไปดูความแตกต่างของชีวิตในแต่ละมุมโลกก็ดี

ผมก็เลยเล่าเรื่องน้องคนนึงที่ชอบไป backpack ต่างประเทศนานๆ ไปใช้ชีวิตเหมือนคนท้องถิ่น เลี้ยงวัว เลี้ยงม้า เหมือนโฮมสเตย์ ผมคิดว่ามันน่าจะได้อะไรเยอะและทำให้คุ้มค่ากับการเกิดมาครั้งหนึ่งในชีวิต

พอผมฟังเสร็จ ผมบอกว่า ใช่เลย!!! นั่นคือสิ่งแรกที่ผมชอบมากตอนมาทำงานที่มหิดล งานจากหลากหลายศาสตร์ แพทย์ วิศวะ วิทยาศาสตร์ เภสัช ทันตะ สาธารณสุข และอื่นๆ อีกมากมาย

ในแพทย์ก็แตกแขนงไปอีกมากมาย ยิ่งทำยิ่งรู้ ยิ่งรู้ยิ่งสนุก มันเป็นอะไรที่เปิดโลกเรามากๆ คุ้มมากที่เกิดมาและได้ทำ

นอกจากนี้ตอนสอนหนังสือ ถึงแม้จะสอนเรื่องเดียวกันเช่นนวัตกรรม แค่คนละอุตสาหกรรม เราก็ต้องศึกษาและประยุกต์ใช้ให้ถูก นวัตกรรมในการท่องเที่ยว ไฟฟ้า ประปา โรงงาน บริการ ค้าปลีก ค้าส่งล้วนแล้วแต่แตกต่างกัน

การมองไปในอุตสาหกรรมที่แตกต่างจะทำให้เรามองอะไรได้กว้างขึ้น เพิ่มมุมมองต่อความคิดและการตัดสินใจของเรา

*** ตอนนี้ทุกคนเลยเลือกและทำในสิ่งที่ตัวเองมีความสุข ไม่เดือดร้อนใครและไม่ทำให้ใครเดือดร้อน สถานการณ์ที่แตกต่างกันจะทำให้ทางเลือกของแต่ละคนต่างกัน ไม่มีผิด ไม่มีถูก แต่มันคือ “ทางเลือก” ที่เราต้องเลือกเอง

>>> ข้อคิดแรกที่ผมได้เรียนรู้คือ เราไม่สามารถ copy ความสำเร็จของใครมาเป็นของเรา เพราะบริบทมันต่างกัน สิ่งที่ควรทำคือ เราต้องรู้จักประยุกต์ความสำเร็จนั้นให้เข้ากับสิ่งที่เราเป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคนหรือองค์กร

  1. เรื่องง่ายๆ ที่คนมองข้าม แค่เปลี่ยนวิธีคิด คำตอบก็เปลี่ยน

เราคุยกันถึงเรื่องครอบครัว

นอกจากพี่ไพโรจน์จะเป็นคนเก่งที่ลูกน้องรักแล้ว ลูกพี่ไพโรจน์ยังเรียนเก่งมากๆ ได้ทุนไปเรียนปริญญาตรี ที่ University of Pennsylvania เรียนปริญญาโทและปริญญาเอกที่ Oxford ที่สำคัญเรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ น่าทึ่งมาก!!!

พี่ไพโรจน์เล่าให้ฟังว่าตอนแรกที่ลูกมาขอเรียนเรื่องนี้

ลูกถามว่าเรียนได้มั้ย

พี่ไพโรจน์ตอบว่า ได้!!!

เพราะประวัติศาสตร์คือ พื้นฐานของทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นรัฐศาสตร์ จิตวิทยา สังคม การปกครองและอีกหลายๆ เรื่อง

ผมว่าวิธีคิดพี่ไพโรจน์ลึกซึ้งมากๆ ผมคิดไม่ถึงเรื่องนี้เลย

แต่พอผมมานั่งคิดดีๆ มันจริงมากๆ การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ทำให้เราได้เรียนรู้วิธีคิดของคนแต่ละกลุ่ม แต่ละสังคม แต่ละยุคสมัย

ทำไมสมัยโบราณจึงต้องส่งลูกสาวลูกชายไปแต่งงานกับเมืองอื่น ทำไมคนโบราณต้องใช้วิธีคิดแต่ละแบบในแต่ละยุคสมัย

คิดแล้วรู้สึกว่า เอออ…น่าสนใจมาก

>>> ข้อคิดที่สองที่ผมได้เรียนรู้คือ ทำไมบางเรื่องง่ายๆ เราถึงไม่ค่อยนึกถึงมัน ทุกเรื่องมันก็มีความน่าสนใจในตัวมันเอง อยู่ที่เราจะมองมันในมุมไหนเท่านั้นเอง

  1. “What Happened and Why” หรือ “มันเคยเกิดอะไรขึ้น และ ทำไมมันจึงเกิดขึ้น”

ต่อเนื่องจากเรื่องที่ 2 พี่ไพโรจน์เล่าว่า ตอนเทอมแรกของการเปิดเทอมปริญญาโทของลูก มหาวิทยาลัยส่งตารางสอนมาให้ดู มีวิชานึงที่พี่ไพโรจน์บอกว่า เห็นแล้วอยากไปเรียนด้วยเลย วิชานั้นชื่อว่า “What Happened and Why”

ผมเลยบอกว่า เป็นผมก็อยากเรียน นี่คือความแตกต่างระหว่างวิธีคิดของคนและระบบการศึกษาของต่างชาติกับไทย

ผมพูดเสมอเวลาสอนหนังสือว่า คนต่างชาติไม่ได้เก่งกว่าคนไทย สิ่งที่เค้าทำได้ดีกว่าคือ การมีวิธีคิดที่ดีกว่า ทำให้มันทิ้งห่างกัน

วิธีการทำงาน วิธีการทำธุรกิจ วิธีการขาย มันจึงต่างกัน

ผมสอนหลักสูตรเกี่ยวกับการคิดและการสร้างคุณค่าเพิ่มมาก็มาก

พยายามฝึกให้คนของเรามีระบบการคิดที่แตกต่างจากเดิม

สอนนักศึกษา สอนคนทำงาน ก็พยายามให้ “คิดมากกว่าจด”

 “ตั้งคำถามมากกว่าคอยตอบคำถาม”

ของพวกนี้ฝึกได้แต่ต้องใช้เวลาหน่อย ทำไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นความเคยชินแบบที่ฝรั่งทำกัน

>>> ข้อคิดที่สามที่ผมได้เรียนรู้คือ ฝรั่งไม่ได้เก่งกว่าเรา แต่การตกผลึกทางความคิดดีกว่า จนมีหนังสือที่น่าสนใจเล่มนึงที่บอกเล่าถึงการทำให้คนประสบความสำเร็จชื่อว่า Start with WHY หรือเริ่มต้นที่การตั้งคำถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เพื่อหาช่องว่างในการทำธุรกิจ

  1. เข้าใจ Context ถึงจะเข้าใจเนื้อหา ถ้าไม่เข้าใจ Context จะไม่มีทางเข้าใจเนื้อหาเลย

คราวนี้เรามาคุยกันในเรื่องหนังสือ พี่ไพโรจน์ยกตัวอย่างหนังสือภาษาอังกฤษเล่มหนึ่งซึ่งบางมากๆ มีคนเอามาให้แกอ่าน แกอ่านไป 5 หน้าแกบอกว่าอ่านไม่รู้เรื่อง ไม่ใช่ว่าเพราะภาษาแต่มันคือเนื้อหาที่เราไม่เข้าใจมัน

หลังจากนั้นก็มีคนแปลเป็นภาษาไทยจำนวนหน้าใกล้ๆ กัน แกก็อ่านไม่รู้เรื่องอีก!!!

จนมีคนเอามาขยายความจากเล่มบางๆ เป็นเล่มหนามากๆ คราวนี้ได้ใส่ที่มาที่ไป ย้อนไปถึงความเป็นมาของมันก่อนที่จะเกิดเนื้อหาที่เล่มบางๆ ได้เขียนถึง นั่นแหละ แกถึงจะเข้าใจมันจริงๆ

>>> ข้อคิดที่สี่ที่ผมได้เรียนรู้คือ บางครั้งเราจะทำความเข้าใจอะไรซักอย่าง เราต้องเข้าใจภูมิหลังของมันว่ามันเกิดอะไรขึ้น อย่าด่วนตัดสินใจในสิ่งที่เห็นตรงหน้าเพราะเราจะไม่มีทางเข้าใจมันอย่างแท้จริงเด็ดขาด

  1. Continuous Improvement หรือการปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่อง

คราวนี้มาพูดถึงเด็กรุ่นใหม่ที่ทำงานที่ SCG เราคุยกันว่า “เด็กรุ่นใหม่ทำไมถึงชอบทำงานภายนอกขอบเขตในการทำธุรกิจ” ทั้งที่ภายใต้ขอบเขตเดิมเรายังสามารถทำอะไรได้อีกเยอะ เยอะมากๆ แต่เด็กรุ่นใหม่ก็ไม่ยอมทำ อาจเพราะคิดว่าทำแล้วจะย่ำรอยเท้าเดิมที่รุ่นพี่ๆ เคยทำไว้ หรืออยากเด่นดังมีรอยเท้าของตัวเอง

ไม่ว่าจะเหตุผลอะไรก็ตาม เราคุยกันว่า “เราไม่สามารถสร้าง Innovation หรือนวัตกรรมประเภท Breakthrough หรือก้าวกระโดดได้เลยถ้าคุณไม่ทำ Continuous Improvement”

พี่ไพโรจน์เปรียบเทียบให้ผมฟังว่า มันเหมือนการแข่งเขย่งก้าวกระโดด ทุกครั้งจะเริ่มจากการซอยเท้าช้าๆ และค่อยๆ วิ่งเร็วขึ้นๆ แล้วถึงกระโดด ไม่มีใครกระโดดไกลได้โดยไม่วิ่งช้าๆ ไม่อย่างนั้นก็คงล้มลงก่อนแน่ๆ หรือถ้ากระโดดได้ก็ไปไม่ไกล

>>> ข้อคิดสุดท้ายที่ผมได้เรียนรู้จากการสนทนาครั้งนี้คือ การพัฒนาอย่างต่อเนื่องจะทำให้เห็นช่องว่างในการก้าวกระโดด เมื่อคุณก้าวกระโดดจากช่องว่างที่เห็น คุณจะกระโดดได้ไกลมากขึ้น และทุกธุรกิจก็เป็นเช่นนั้น

*** การคุยครั้งนี้ มันเป็นการคุยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “คน” และ “นวัตกรรม” โดยบังเอิญ

ผมว่าสองเรื่องนี้มันอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิดไม่ใช่แค่การทำงานในองค์กร แต่ตามติดไปถึงชีวิตประจำวันส่วนตัวด้วย

 ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ได้ ชีวิตก็จะสงบ เย็นและเป็นประโยชน์ได้ไม่ยาก ใครทำธุรกิจก็จะประสบความสำเร็จได้ตลอดเวลา

*** หลังจากจบบทสนทนาบนโต๊ะอาหาร ผมรู้แล้วว่าผมอยากทำอะไรต่อไป

แล้วคุณล่ะ รู้หรือยังว่าเป้าหมายในชีวิตคืออะไร??? จะเริ่มต้นที่ตรงไหน

ความจริงมีเนื้อหาอีกมาก ตลอดเวลาเกือบ 4 ชั่วโมงตั้งแต่หกโมงเย็นจนเกือบสี่ทุ่ม พูดซะเยอะ กินพอประมาณ ดื่ม(น้ำเปล่า)น้อยมาก

จนพี่ไพโรจน์บอกว่า คราวหน้าไม่ต้องรอนานขนาดนี้นะ ว่างเมื่อไหร่นัดมา…ว่างทุกวัน

ชีวิตที่ไม่มีหัวโขนมันมีความสุขตรงนี้แหละครับ ไม่มีผลประโยชน์ ไม่มีธุรกิจ มีแต่คำว่าพี่น้อง

นี่คือสิ่งที่พี่ไพโรจน์อยากให้เกิดตอนเป็น MD CPAC ที่เรียกว่า พี่สอนน้อง และ หัวหน้า = หัว+หน้า

ถ้าเราทำได้ ชีวิตของหัวหน้าและลูกน้องจะมีความสุขในการทำงาน ผลงานก็จะดีขึ้นแบบ What’s Better!!! คือเราจะทำอะไรให้ดีขึ้นบ้าง ดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีอะไรดีที่สุด เราไม่ต้องเปรียบเทียบกับใคร ทุกครั้งให้เปรียบเทียบกับตัวเอง และทำตัวเองให้ดีขึ้น ดีขึ้น ดีขึ้นเรื่อยๆ เรื่อยๆ…สวัสดี

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ