ยุคปัจจุบันเป็นยุคที่แข่งขันที่ประสิทธิภาพและความเร็วของการบริหารสต๊อกและกระจายสินค้า เคยได้ยินว่าสินค้าแต่ละประเภทที่ ซีพี ออลล์ รับเข้ามาที่คลังสินค้ากลาง DC สามารถกระจายไปถึงผู้บริโภคร้านเซเว่น-อิเลฟเว่นทั่วประเทศถึงระดับตำบล ภายใน 3 วัน ธุรกิจการค้ายุคใหม่ดำเนินบนถนนไฮเวย์ จากเหนือสุดเชียงราย จรดใต้สุดนราธิวาสสามารถวิ่งถึงกันภายในสองวัน ยุคนี้การขนส่งสินค้าแบบด่วนๆ จากภาคตะวันออก หรือ กรุงเทพฯถึงเชียงใหม่ก็แค่ส่งเช้า-เย็นถึง
แต่ย้อนเวลากลับไปไม่ถึง 100 ปี ยุคที่ทางรถไฟกำลังก่อสร้าง ยังไปไม่ถึงเชียงใหม่การขนส่งสินค้าทั้งหลายต้องขนส่งด้วยเรือขึ้นล่องแม่น้ำปิง เขาว่ากันเป็นเดือนนะครับ ไม่ใช่สัปดาห์ เพราะต้องใช้การเดินเรือล่องแม่น้ำปิงลงมาถึงปากน้ำโพ ที่นั่นเป็นศูนย์กลางการค้าที่มีชาวจีนปักหลักอยู่อาศัยมานานแต่ต้นๆ รัตนโกสินทร์ พ่อค้าแม่ค้าจากทางเหนือที่ไม่ต้องการเสียเวลาลงไปถึงกรุงเทพฯ หยุดอยู่แค่ปากน้ำโพก็ได้ทุกอย่างสมประสงค์แล้ว ขายของจากทางเหนือแล้วหาซื้อสินค้าที่ต้องการทวนน้ำกลับขึ้นไป
ทางรถไฟสายเหนือเริ่มสร้างจากชุมทางบ้านภาชีที่เดิมจะเลี้ยวไปอีสาน สร้างแยกขึ้นเหนือไปเมื่อพ.ศ. 2444 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 แต่กว่าจะสร้างไปถึงลำปางก็พ.ศ. 2458 ล่วงไปแล้ว ก็เพราะเส้นทางจากอุตรดิตถ์แถวๆ ศิลาอาสน์ขึ้นไปเริ่มเป็นภูเขาเป็นป่าเขาแล้ว และก็ไม่ใช่ป่าที่ถูกถางเหี้ยนปลูกข้าวโพดเหมือนยุคนี้หรอกครับ ป่าดิบๆ เสือเป็นๆ ขวางหน้าอยู่เป็นร้อยกิโลเมตรการก่อสร้างจึงใช้เวลานานกว่าสิบปีก็ยังไม่ถึงปลายทาง เมื่อทางรถไฟไปถึงลำปาง พ.ศ.2458 ก็เข้าสู่รัชสมัยของรัชกาลที่ 6 แล้ว
ตอนที่ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี เดินทางกลับไปเยี่ยมเชียงใหม่พ.ศ. 2451 รถไฟยังไปได้ถึงแค่ปากน้ำโพธิ์จากนั้นต้องเสด็จโดยขบวนเรือ กว่าจะไปถึงเชียงใหม่ใช้เวลานานกว่า 2 เดือนเทียวนะครับ ตอนที่เสด็จขึ้นไปนี่ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน เป็นฤดูแล้ง น้ำน้อย น้ำแม่ปิงพอเลยจังหวัดตากขึ้นไปไม่ได้กว้างใหญ่เป็นแม่น้ำแบบที่คนภาคกลางคุ้นเคย สภาพแม่น้ำปิงฤดูแล้งจากตากขึ้นไปเล็กมากและตื้นมาก แถมไหลเชี่ยวแรงเพราะถูกบีบผ่านร่องภูเขา
ย้อนไปก่อนหน้านั้นสมัยต้นรัชกาลที่ 5 เมื่อพ.ศ.2410 หมอแดเนียล แมกกิลวารี มิชชันนารีอเมริกันพาครอบครัวเดินทางจากกรุงเทพฯไปยังเชียงใหม่หัวเมืองลาว ยุคนั้นคนบางกอกเขาเรียกคนทางเหนือทางอีสานว่าลาวทั้งสิ้น ปรากฏใช้เวลาเดินทางเกือบๆ 3 เดือนแน่ะครับ นานกว่าขบวนของพระราชชายาเจ้าดารารัศมีเสียอีก
แม่น้ำปิงเป็นเส้นทางคมนาคมหลักที่สะดวกที่สุดสำหรับการค้าเพราะสามารถบรรทุกสินค้าเบ็ดเตล็ดจำนวนมาก แล้วก็เป็นโอกาสและช่องทางทำมาหากินของนักบุกเบิกการค้าล้านนายุคแรกๆ ยุคที่ราชสำนักสยามเริ่มปฏิรูปการปกครอง มีการส่งขุนนางไปประจำที่เชียงใหม่และหัวเมืองล้านนาก็มีชาวจีนที่เดินทางตามไปเพื่อแสวงหาโอกาสแล้วก็มีบางรายที่เลือกจะทำการค้าทางไกล ซื้อขายสินค้าทางเหนือล่องลงมาขายภาคกลางพร้อมกับนำสินค้าของภาคกลางกรุงเทพฯ กลับไปขายทางเหนือ สามารถตั้งตัวได้เป็นเศรษฐีร่ำรวยในชั่วอายุคนก็หลายราย
ตระกูลเศรษฐีชื่อดังเชียงใหม่อย่างตระกูลศักดาธร เจ้าของกลุ่มบริษัทนิยมพานิช ดีลเลอร์รถยนต์และเครื่องไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดนี่ก็เริ่มต้นจากการค้าทางเรือ คนรุ่นใหม่หรือคนภาคอื่นอาจไม่รู้จักนิยมพานิชแต่ควรจะรู้จักนักร้องชื่อดัง ณัฐ ศักดาธร นี่ก็เหลนรุ่นที่ห้าของผู้บุกเบิกค้าทางเรือตระกูลนี้ นอกจากศักดาธรแล้วยังมีชาวจีนตระกูลอื่นที่ทำการค้าทางเรือจนร่ำรวยเหมือนกัน เช่น ตระกูลเลียว ตระกูลนี้ต่อมาแยกกิจการหลายแขนง สายหนึ่งคือ เลียวสวัสดิพงษ์ ทำร้านอาหารหรูริมแม่น้ำปิงที่ดัดแปลงจากเรือนเก่าโบราณชื่อว่า ร้านเดอะ แกลลอรี่ ย่านวัดเกตุนั่นล่ะคือร่องรอยที่ยังจับต้องได้ของตระกูลค้าขายทางเรือยุคแรกสุดโน้น…แต่ก็นั่นล่ะ เมื่อมีการสร้างฝายสร้างเขื่อนขึ้นมาในยุคหลังแม่น้ำปิงไม่ได้ใช้สำหรับการคมนาคมขนส่งเหมือนแต่ก่อน เรือพายที่ใช้ก็สูญหายไปหมด เรือหางแมงป่อง ซึ่งเป็นเรือหลักสำหรับสัญจรของแม่น้ำปิงเคยหายไปไม่เหลือจนยุคหลังมีกิจการท่องเที่ยวรื้อฟื้นมารับนักท่องเที่ยวชมทิวทัศน์ แต่ไม่สามารถล่องลงไปไกลจากตัวเมืองเพราะติดฝายการเกษตรทิ้งไว้แต่ตำนานว่าครั้งหนึ่งเคยมีการค้าสำคัญบนลำน้ำสายนี้
การค้าคือกำไรและความมั่งคั่งก็จริงอยู่ แต่กว่าที่จะขนส่งสินค้าอุปโภค บริโภค รวมถึงน้ำมันก๊าดที่เป็นของจำเป็นนำเข้ากลับเอาขายทำกำไรต่อจนร่ำรวยไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ตอนที่พระราชชายาเดินทางใช้เวลาราว 2 เดือนแต่สำหรับขบวนเรือค้าขายมืออาชีพ เขาใช้เวลาน้อยกว่านั้นคือ ระยะล่องลง 12 วัน และใช้เวลาในการทวนน้ำขึ้นเชียงใหม่ 33 วัน เร็วสุดคือ 45 วันไปกลับ และไม่ใช่แค่ความลำบากของระยะทางเท่านั้น สภาพของแม่น้ำปิงบางช่วงที่เป็นเกาะแก่งอันตราย บางช่วงต้องลากหรือใช้เชือกค่อยๆ “โรย” เรือผ่านแก่ง ต้องรอนแรมกลางลำน้ำไปกลับนับเดือนซึ่งมีภัยอันตรายไม่น้อย อุปสรรคสำคัญของการค้าทางเรือที่สุดก็คือโจรปล้นชิง
โจรแม่น้ำปิงนี่ขึ้นชื่อลือชา นักเขียนเก่าแก่ผู้ล่วงลับไปแล้วอย่าง ปราณี ศิริธร ณ พัทลุงผู้เขียน เพ็ชร์ลานนา กับ ยุทธ เดชคำรณ ผู้เขียน ล่องแก่งแม่น้ำปิง กล่าวถึงตรงกัน… ว่าคนที่จะมีกองเรือค้าขายได้นี่ต้องใจนักเลง มีอิทธิพลต่อสายกับผู้ใหญ่เจ้าถิ่นแต่ละถิ่นที่ผ่านอยู่พอสมควร จึงสามารถผ่านจุดคับขันที่เป็นแก่งซึ่งอยู่บริเวณอำเภอบ้านนา จังหวัดตาก (ปัจจุบันคือละแวกเหนือเขื่อนภูมิพลขึ้นมา เดิมเป็นหุบเขา น้ำเชี่ยว แรงระยะทางช่วงนี้เกือบๆ 100ก.ม.) ไปโดยปลอดภัยไม่ถูกปล้นสะดมถึงขั้นเสียชีวิตเหมือนพ่อค้าหลายรายในยุคเดียวกัน ที่จริงทางน้ำเส้นนี้มันมีเจ้าพ่อใหญ่สุดอยู่ก็คือบริษัททำไม้ของฝรั่งที่ไปได้สัมปทานตัดไม้ตั้งแต่ต้นร.5 วิธีการของพวกเขาจะรอฤดูน้ำเพื่องัดซุงจากป่าให้ล่องลงมาจากทางน้ำเส้นน้อยสู่แม่น้ำปิง มัดรวมเป็นแพแล้วล่องไปถึงด่านป่าไม้ปากน้ำโพ พวกบริษัทไม้อย่างบอมเบย์ เบอร์มา/บอร์เนียว /สยามฟอเรสต์ ฯลฯ ต่างก็มีทีมที่คอยติดตามไม้ซุง บางแก่งที่ไม้จะไปติดค้างอยู่จะมีช้างไปประจำเพื่อส่งซุงที่ค้างอยู่ลงไป ชาวจีนที่ค้าขายซึ่งมีสายสัมพันธ์กับฝรั่งทำไม้ เช่นเป็นคนในบังคับอังกฤษก็จะอาศัยอิทธิพลนายฝรั่งทำการค้าขึ้นล่องพร้อมกันด้วย นอกเหนือจากต้องมีสายสัมพันธ์กับนักเลงโตของชุมชนรายทาง
และสุดท้ายสิ่งที่พ่อค้านักบุกเบิกทางเรือต้องทำเพื่อความปลอดภัยราบรื่นก็คือการบูชาเซ่นสรวงเจ้าที่เจ้าทางให้ถูกต้องตามความเชื่อ มิฉะนั้นจะไม่มีใครยอมเป็นลูกเรือให้ ธรรมเนียมของชาวเรือขึ้น-ล่องก่อนยุคที่จะเกิดมีเขื่อนภูมิพล เขาจะต้องแวะจอดสักการะพ่อเจ้าทุ่งจ๊ะ ที่ดอยหลวงก่อนถึงอ.บ้านนา จ.ตาก ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้อ่างเก็บน้ำทะเลสาบเขื่อนภูมิพลไปแล้ว
ยุทธ เดชคำรณ เล่าไว้ในหนังสือว่า ถ้าดูแต่ไกลดอยหลวงคล้ายช้างทอดงวงหันหน้าล่องใต้ หน้าผามีหินใหญ่ตั้งเกลี้ยงเกลาไม่มีต้นไม้เกาะเป็นอารักษ์คุ้มครองผู้เดินทางขึ้นล่องแม่น้ำปิง หน้าที่ของคนเรือคือต้องไปไหว้สักการะแล้วเซ่นว่าขากลับ (จากกรุงเทพ/ปากน้ำโพ) จะเซ่นด้วยหมูตัวหนึ่งเป็นการแก้บน พื้นที่แถบนี้มีป่าไผ่ลำงามอวบแต่ไม่มีใครกล้าตัดถือเป็นของเจ้าพ่อ เรือเมื่อขึ้นกลับจากกรุงเทพฯ คนเรือจะขอเงินจากเจ้าของขบวน 5 บาทเพื่อซื้อหมูแก้บน 1 ตัว (ค่าเงินยุคกระโน้น 5 บาทก็แพงทีเดียว)
การล่องแก่งแม่น้ำปิง สมัยก่อนสร้างเขื่อนภูมิพล แสดงถึงกระแสน้ำเชี่ยวกรากอันตรายที่มา/ หนังสือล่องแก่งแม่น้ำปิง โดย ยุทธ เดชคำรณ |
การจะเป็นคนค้าขายยุคนั้นนอกจากต้องเข้มแข็งอดทนกับความยากลำบาก กว่าจะขนส่งสินค้าไป-กลับ กินนอนกับเรือ อย่างเร็วที่สุดรอบหนึ่งก็ 45 วัน ต้องมีเส้นสายอิทธิพลรายทางมิฉะนั้นจะถูกปล้นชิง หรือก็ต้องไปฝากตนกับเจ้าพ่อใหญ่คือบริษัททำไม้ฝรั่งอาศัยเครือข่ายทำไม้คุ้มครองการเดินทาง นอกจากเจ้าพ่อคนแล้ว ยังต้องดำเนินการกับเจ้าพ่อผีเทพาอารักษ์ให้ถูกต้องตามขนบท้องถิ่นด้วย มิฉะนั้นจะไม่มีแรงงานคนเรือยินยอมทำงานให้ กว่าจะสะสมทุนและความมั่งคั่งขยายฐานต่อ จนเป็นตระกูลเศรษฐี มหาเศรษฐีที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย
การค้าทางเรือล่องแม่น้ำปิง ค่อยๆ หมดความนิยมลงเมื่อทางรถไฟสายเหนือสร้างขึ้นไปถึงลำปางพ.ศ.2458 พ่อค้าแม่ค้าทางเชียงใหม่ว่าจ้างขบวนม้าต่างขนสินค้าไปที่สถานีนครลำปางแทน และเมื่อรถไฟมาถึงนครเชียงใหม่ พ.ศ.2469 รูปแบบการค้าและธุรกิจของเชียงใหม่ก็เปลี่ยนโฉมไปอีกขั้นหนึ่ง
ทิ้งตำนานของการค้าทางเรือเอาไว้….จนกระทั่งแม่น้ำปิงถูกยุติใช้เพื่อการคมนาคมอย่างสิ้นเชิงหลังการสร้างเขื่อน