บีบีซี.ไทย พาดหัวข่าวชวนให้ตีความ “กต.ยอมรับจีนไม่เชิญ “ประยุทธ์” ร่วมประชุม “เส้นทางสายไหม” ไม่นานข่าวชิ้นนี้ก็แพร่กระจายไปแบบพวกใครพวกมัน ฝ่ายที่จับจ้องเล่นงานก็เย้ยทันที ประยุทธ์ถูกจีนมองข้าม, จีนไม่ให้ความสำคัญไทย, ขนาดฮุนเซนพม่าลาวยังไปแต่ไทยไม่ได้ไป ฯลฯ
การเมืองกีฬาสีแบบไทยก็คล้ายกองเชียร์แมนยูลิเวอร์พูลแหละครับ แพ้ชนะยังไม่สำคัญเท่ากับได้เย้ยได้โต้ อีกฝ่ายแชร์บ้างโต้ว่าเขาเชิญเวทีอื่น BRICs น่ะ ขั้วมหาอำนาจใหม่เลยนะ บ้างก็ยกที่จีนเชิญรัฐมนตรี 6 กระทรวงไปเพื่อแก้ต่างว่าไทยไม่ตกขบวน ฯลฯ
ที่จริงแล้วมันไม่ใช่เรื่องใหญ่โตชนิดที่ไทยเราเสียท่าทางการทูต หรือตกเวทีประวัติศาสตร์อะไรเลยครับ นายกรัฐมนตรี มเหนทรา โมฑี แห่งอินเดียรับปากว่าจะไปร่วม BRF – Belt and Road Forum จู่ๆ ก็กลับหลังไม่ไปเฉย เป็นกึ่งๆ การแสดงการประท้วงไปถึงเจ้าภาพจีนที่จะให้น้ำหนักโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน CPEC – China-Pakistan Economic Corridor เป็นเซสชั่นสำคัญในการประชุม แนวความร่วมมือ CPEC นี่ยิ่งใหญ่จริงๆ แหละครับ มีท่าเรือน้ำลึก แนวท่อก๊าซและถนนเชื่อมมหาสมุทรอินเดียผ่านปากีสถาน-ฮินดูกูซเข้าไปถึงจีนได้ และจีนก็ลงทุนในปากีสถานมากเป็นพิเศษ แต่อย่างไรก็ตามก็รู้ๆ ว่าปากีสถานกับอินเดียนั้นเป็นเพื่อนบ้านลิ้นกับฟันกันมาตั้งแต่ตั้งประเทศ การที่นายกรัฐมนตรีอินเดียอันเป็นชาติมหาอำนาจ BRICs ที่มีสถานะเคียงกันกับจีนจะต้องไปเป็นแค่ไม้ประดับในเวทีประชุม มันก็ไม่เหมาะ โมฑีเลยไม่ไปเสียเลยไม่เพียงแค่นั้นยังเลือกที่จะเดินทางไปเยือนศรีลังกาเปิดตัวโครงการช่วยเหลือเพื่อนบ้านทางใต้ประเทศนี้เป็นสัญลักษณ์กระทบชิ่งเกทับจีนที่ถูกชาวศรีลังกาประท้วงโครงการท่าเรือน้ำลึกอีกดอกด้วยซ้ำ
แต่ที่สุดมันก็แค่เกมชิงไหวพริบ ต่อรองทางการเมืองระหว่างประเทศที่มีน้ำหนักและสถานะใกล้กัน ไม่ใช่เรื่องแตกหักอะไร เวทีประชุม BRICs กลางปีเชื่อแน่ว่าต้องมีอินเดียหนึ่งในแกนหลักร่วมวงประชุมด้วยแน่
จีนผลักดันโครงการหนึ่งถนนหนึ่งเส้นทาง OBOR – One Belt, One Road มาตั้งแต่ 2013 มาถึงบัดนี้ก็ครบ 4 ปีพอดี ต้องยอมรับว่าจีนเก่งจริงที่ทำให้ความร่วมมือดังกล่าวขยายวงได้อย่างรวดเร็วถักสานเป็นเส้นทางและเครือข่ายความร่วมมือเศรษฐกิจ-ลงทุนเป็นรูปร่างทั้งทางบกทางทะเล ในทางบกไม่ใช่แค่เส้นทางถนน – ท่อก๊าซ ยังมีแนวทางรถไฟสินค้าที่วิ่งเชื่อมยุโรปได้แล้ว OBOR ไม่เหมือนทางสายไหมในอดีตที่มีแค่เส้นทางและเครือข่ายการค้าส่งทอดสินค้ากันเป็นช่วงๆ แต่สำหรับทางสายไหมยุคใหม่ มันต้องพูดกันด้วยเม็ดเงินเป็นล้านล้านหยวน โครงการเมกะโปรเจ็กต์ สาธารณูปโภคที่เปลี่ยนสถานะการแข่งขันได้
จีนใช้การทูตกับการค้าลงทุนผูกเข้าหากัน เชื่อมสัมพันธ์ด้วยผลประโยชน์ของทุนในนามของความร่วมมือ ซึ่งจีนก็ย้ำอยู่เสมอว่าต้องเป็นความร่วมมือแบบ Win-Win (ซึ่งเรื่องนี้ต้องมาวิเคราะห์กันต่อ)
ด้วยความที่ OBOR ก้าวหน้าไปมาก รายละเอียดของภาพรวมจึงไม่ใช่ หนึ่งแถบ-หนึ่งทางตามนิยามเดิมเสียแล้ว แต่เป็นหลายแถบหลากหลายกิจกรรมและเส้นทาง จึงเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่เป็น Belt and Road Initiative – BRI แทน การประชุมครั้งนี้ใช้ BRF แทนคำว่า OBOR Forum ที่เคยเรียกเดิม
ผู้นำชาติอาเซียนเพื่อนบ้านเราไปกันเกือบหมดเลยครับ ปธน.ดูเตอร์เต้ จากฟิลิปปินส์, ท่าน บุญยัง วอละจิต ประธานสปป.ลาว, ปธน.โจโค วิโดโด้ แห่งอินโดนีเซีย, นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซะก์ แห่งมาเลเซีย, มุขมนตรี อองซานซูจี แห่งพม่า ในทางการเมือง คนนี้มีน้ำหนักมากกว่าประธานาธิบดีถิ่นจอเสียอีก, ส่วนคนนี้ขาดไม่ได้เพราะประกาศว่ากัมพูชาอยู่ในอ้อมอกอันอบอุ่นของจีนแล้วก็คือ สมเด็จฮุนเซน ส่วนประธานาธิบดีเวียดนาม เจินดั่ยกวาง นี่ก็ไปเช่นกัน
ชาติใหญ่ๆ ในอาเซียนที่ไม่มีผู้นำไปก็แค่ ไทยกับสิงคโปร์เท่านั้น !
สิงคโปร์น่ะเป็นตัวแทนของชาติตะวันตกในอาเซียนอย่างเด่นชัดที่สุด แม้จะมีความสัมพันธ์กับจีนแต่ก็มีรอยสะดุด ล่าสุดก็จากกรณีจีนยึดรถหุ้มเกราะสิงคโปร์หลังจากซ้อมรบที่ไต้หวัน (คลิกอ่าน สิงคโปร์ร้องฮ่องกงคืน “รถหุ้มเกราะ” ที่ถูกยึดหลังซ้อมรบในไต้หวัน)
ไทยเราไม่เหมือนสิงคโปร์ น้ำหนักของฝ่ายข้างไทยเราไม่ได้เอียงกระเท่เร่ตะวันตกจ๋าถึงขนาดนั้น แม้ประธานาธิบดีทรัมป์จะเพิ่งยกหูโทรศัพท์มาจีบและเชิญพล.อ.ประยุทธ์ไปเยือน แต่ก็เป็นไปหลังจากที่ความสัมพันธ์ตกต่ำอย่างยิ่งมาตลอดสามปี ในทางกลับกันความสัมพันธ์กับปักกิ่งในยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ดูจะแนบแน่นกว่าพญาอินทรีด้วยซ้ำไปแค่ดูจากการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ การแถลงสนับสนุนไทยในวาระต่างๆ ของรัฐบาลจีน ก็จะเห็นถึงระดับความใกล้ชิดไทย-จีนได้ชัดเจน
แล้วไทยอยู่ตรงไหนในอาเซียน ? …..
แต่เมื่อเทียบความแนบแน่นกับเพื่อนบ้าน กลับพบว่า บรรดาเพื่อนบ้านอาเซียนล้วนแต่แน่นแฟ้นกับพญามังกรกว่าเราหลายก้าว ชนิดที่หากมีการแบ่งฝ่ายกันเหมือนสมัยสงครามเย็น เพื่อนบ้านเหล่านี้จะประกาศตัวเข้าสังกัดหลังม่านไม้ไผ่โดยไม่รีรอ
กัมพูชาแสดงตนสนับสนุนจีนในทุกวิถีทางมาตั้งแต่เหตุพิพาทหมู่เกาะทะเลจีนใต้ ฮุนเซนเป็นตัวแทนของจีนในวงอาเซียนที่ไม่ต้องการให้อาเซียนนำประเด็นหมู่เกาะทะเลใต้ขึ้นมาหารือมานานหลายปีแล้ว จนกระทั่งฟิลิปปินส์มีการเลือกตั้งเปลี่ยนมาเป็นประธานาธิบดีดูเตอร์เต้ ที่ไม่ชอบหน้าอเมริกาขึ้นมา บทบาทของฮุนเซนในด้านนี้ค่อยลดลงไป ปัจจุบันกัมพูชาเกือบจะเป็นมณฑลหนึ่งของจีนไปแล้ว มีการลงทุนในโครงการใหญ่มากมายทั้งพนมเปญ ชายฝั่งด้านเกาะกง-สีหนุวิลล์
ส่วนมาเลเซียนี่ก็ยิ่งชัดว่าเอนเอียงไปทางจีน ในขณะที่เกิดเหตุแปลกๆ เช่นกรณีเครื่องบิน MH370 ถูกอุ้มหาย หรือกรณีที่อัยการสหรัฐชี้มูลว่านายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซะก์เกี่ยวข้องกับการทุจริตกองทุน 1 MDB มาเลเซียยุคนี้มีโครงการร่วมกับจีนมากมายล้วนแต่ระดับเกิน 4 แสนล้านไปจนถึงล้านล้านบาท รถไฟความเร็วสูงกัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์ก็คงจะเสร็จจีน ส่วนรถไฟในประเทศระยะ 3 ปีหลังซื้อจากจีนทั้งหมด อย่างรถ ETS ความเร็ว 160ก.ม./ชม.เคยสั่งจากยุโรปแต่ล็อตหลังจากนั้นสั่งซื้อจากจีนทั้งหมด
พม่าและลาว เป็นชาติเล็กพรมแดนติดกับพญามังกร หนีไม่ออก พม่าเคยพึ่งพาจีนมาก หลังๆ พยายามบาลานซ์โดยคบหาตะวันตกมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามก็ยังต้องตามใจจีนอยู่ดี รัฐบาล NLD เพิ่งจะบรรลุเงื่อนไขการใช้ท่อก๊าซจากยะไข่ส่งไปยูนนานที่สร้างเสร็จมาปีกว่าแต่ยังไม่ได้ใช้ ในที่สุดก็เจรจากันได้เสร็จจีนไปอีกเรื่อง เท่านั้นยังไม่พอจีนเสนอขอหุ้นเพิ่มในท่าเรือจ๊อกผิ่ว ที่รัฐยะไข่จากที่ถือ 50% แนว OBOR จีน-พม่ามีความก้าวหน้าเป็นลำดับ เช่นเดียวกับการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงบ่อเตน-เวียงจันทน์ที่คืบหน้าไปมาก
เวลาพูดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ควรจะมองภาพรวมไว้ด้วย เพราะเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านแล้ว…ไทยเรายังไม่แนบแน่นใกล้จีนอะไรถึงขนาดนั้น !!
ซึ่งก็ไม่แปลกที่ทำไมไทยเราไม่ใกล้เขาเหมือนมาเลเซีย กัมพูชา นั่นเพราะนโยบายการต่างประเทศของไทยที่เป็นมาตลอดก็คือการไม่กระโดดเข้าข้างฝ่าย เลี้ยงตัวเองท่ามกลางการปะทะของยักษ์ใหญ่มาโดยตลอด ถ้ายังจำได้แม้กระทั่งระหว่างสงครามเย็นมีฐานทัพอเมริกามาตั้งก็ยังมีช่องการทูตกับจีนด้วยซ้ำไป
เรื่องความระมัดระวังทางการทูตก็อย่าง แต่ประเด็นสำคัญที่ทำให้ผู้นำไทยไม่ได้รับเชิญร่วมอยู่ใน OBOR รอบนี้ก็คือการเจรจาโครงการใหญ่สำคัญๆ โดยเฉพาะทางรถไฟความเร็วสูง เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอยท่าเรือ–มาบตาพุด ระยะทาง 845.27 กม.ยังเจรจารายละเอียดกันไม่เสร็จ
เมื่อเมษายนที่ผ่านมาเพิ่งจะมีการปรับแผนในการประชุมรอบที่ 17
คืบไปช้าๆ !!
ในความล่าช้ามีการเจรจาต่อรองกันอยู่ เงื่อนไขการกู้ ดอกเบี้ย และเงื่อนไขอื่นเช่นวัสดุต้องมาจากในประเทศ ฯลฯ ซึ่งหากช้าแล้วไทยได้ประโยชน์มากขึ้นก็พอจะโอเคอยู่
จริงๆ แล้วในท่ามกลางภาพรวมใหญ่ของการก้าวรุกของมหาอำนาจมังกรบูรพาลงมายังทางสายไหมตอนใต้นั้น มันก็คือการที่ทุนใหญ่เข้ามาร่วม/และหาผลประโยชน์ในบรรดาชาติอาเซียนนั่นล่ะ
มีฝ่ายที่ได้..ย่อมมีฝ่ายสูญเสีย
ถ้าจะสังเกตดีๆ ระหว่างที่ไทยกำลังเจรจากับจีนในเรื่องทางรถไฟอันเป็นข้อต่อสำคัญของ Maritime Silk Road เชื่อมต่อจากลาว ไทยก็เจรจาทางรถไฟความเร็วสูงเชียงใหม่-กรุงเทพฯ กับญี่ปุ่น-ไจก้า และหากพิจารณาแผนระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก EEC ก็มีการเปิดกว้างให้กับทุนสัญชาติอื่นที่ไม่ใช่แค่จีน
ความเป็นจริงที่เราต้องไม่หลงลืมกันก็คือ ไทยเราเป็นฐานผลิตสำคัญของญี่ปุ่นซึ่งเป็นมหาอำนาจเดิมมายาวนาน นอกจากญี่ปุ่นก็ไทยนี่แหละ ที่เขาปักหลักลงทุน ดังนั้นมันถึงมีชื่อของญี่ปุ่นปรากฏอยู่ทั้งในนิคมอุตสาหกรรมทวายเชื่อมมาถึงแหลมฉบัง และเขต EEC ภาคตะวันออกที่ญี่ปุ่นแทบทั้งนั้นลงทุนไว้เดิม เอาแค่ฐานประกอบรถยนต์ก็มหาศาลแล้ว และฐานที่อยุธยาอีกเท่าไหร่
เรื่องเหล่านี้แหละครับ ที่ทำให้เวลาไทยเราเข้าแถวเทียบกับกัมพูชา มาเลเซีย ลาว พม่าแล้ว…เขาใกล้ชิดอ้อมอกอันอบอุ่นของพญามังกรมากกว่าเราทั้งสิ้น
ซึ่งถ้าคิดดีๆ ก็ไม่เห็นต้องน่าอิจฉาตรงไหน
การพยายามเป็นตัวของตัวเอง บาลานซ์ผลประโยชน์จากฝ่ายต่างๆ ไม่ใกล้ไปจนร้อน ไม่ห่างไปจนหนาวเกิน แล้วก็พยายามวางยุทธศาสตร์ กำหนดการขยับเคลื่อนของตนเองเพื่อยังประโยชน์ให้ตัวเองมากที่สุดน่าจะดีกว่าตามเขาไปตะพึดตะพือ
อย่างไรเสียเราต้องคบหาจีน มีความร่วมมือค้าขายนี่เป็นยุคของลมบูรพาโบกพัด ที่บางเรื่องอาจจะต้อง(จำ)ยอมเขาชนิดให้เราเสียน้อยที่สุด แต่ในความสัมพันธ์ดังกล่าวนั้นก็ควรมีที่ยืนที่เหมาะสมให้กับเราด้วย
ดีแล้วครับ ที่พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้อยู่ในรายชื่อไปร่วม BRF เพราะถึงไปก็ยังไม่มีเนื้อหนังบทสรุปอะไรไปประกาศกับเขา ไปก็แค่เป็นไม้ประดับให้เพื่อนบ้าน ถ้าแบบนี้ไม่ต้องไปดีกว่า
….คลิกอ่าน
กต.ยอมรับจีนไม่เชิญ “ประยุทธ์” ร่วมประชุม “เส้นทางสายไหม
สิงคโปร์ร้องฮ่องกงคืน “รถหุ้มเกราะ” ที่ถูกยึดหลังซ้อมรบในไต้หวัน)