ยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์ไทย : ดร. ฐาปนา บุญหล้า

อ.เสน่ห์ ศรีสุวรรณ

เรื่องของระบบการขนส่งหรือโลจิสติกส์กำลังเป็นประเด็นสำคัญของการพัฒนาประเทศ ยิ่งเปิดเป็น AEC ขึ้นมาไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่ง การพัฒนาโลจิสติกส์ย่ิงทวีความสำคัญ

ยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศไทยฉบับใหม่ พ.ศ.2555-2559 จากการระดมความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพอประมวลสรุปได้ 7 ประเด็นสำคัญดังนี้

               1.การพัฒนาจากโลจิสติกส์เพื่อกฎระเบียบ เป็นการพัฒนาโลจิสติกส์เพื่อมุ่งเน้นโครงสร้างพื้นฐานและลดต้นทุน แต่เนื่องด้วยบริบทโลกาภิวัตน์เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ดังนั้นแผนยุทธศาสตร์ในระยะ 5 ปีข้างหน้า จึงควรเน้นการพัฒนาโลจิสติกส์เพื่อตอบโจทย์การเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาศักยภาพของประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ในตลาดภูมิภาคอาเซียนและจีนในอนาคตอันใกล้ เช่น การตั้งเป้าหมายการพัฒนาไปสู่การเป็นผู้นำการบูรณาการในภูมิภาค เพื่อให้สามารถร่วมพลังในระดับภูมิภาคได้อย่างยั่งยืน การพัฒนาโลจิสติกส์และซัพพลายเชนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของภาคธุรกิจภายในประเทศและอุตสาหกรรมส่งออกของไทยควบคู่ไปกับการพัฒนาโลจิสติกส์และซัพพลายเชน เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันและร่วมมือได้ในระดับภูมิภาคเป็นต้น

               2.การพัฒนาการลดต้นทุนและประสิทธิภาพ เป็นการสร้างโอกาสและการสร้างมูลค่าเพิ่ม

               จุดหมายในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่ผ่านมา มุ่งเน้นเฉพาะมิติการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ โดยวัดจากการลดต้นทุนโลจิสติกส์ในเชิงปริมาณเท่านั้น ยังขาดในส่วนของการสร้างมูลค่าเพิ่มและประเด็นในเชิงคุณภาพ รวมถึงการสร้างโอกาสสำหรับการพัฒนาในอนาคตโดยในแผนระยะยาว ควรเร่งพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการด้านการตลาดและการกระจายสินค้า โดยไทยจำเป็นต้องมีความสามารถในการบริหารและจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน และควบคุมการตลาดและช่องทางการจัดจำหน่ายในภูมิภาคอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ พ่อค้าคนกลาง (Trader) และผู้ประกอบการโลจิสติกส์ของไทยให้มีองค์ความรู้ และความสามารถในการแข่งขันและค้าขายกับพ่อค้าคนจีนได้อย่างเหมาะสม นอกจากนั้นภาครัฐควรส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้ไปลงทุนในตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยให้การสนับสนุนสิทธิประโยชน์และสิ่งจูงใจต่างๆ เช่น ยกเลิกการเก็บภาษีซ้ำซ้อนจากรายได้ในประเทศและจากต่างประเทศ เป็นต้น ในขณะที่ภาคเอกชน ผู้ประกอบการขนส่งรายเล็กของไทยควรรวมกลุ่มให้เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เข้มแข็ง มีอำนาจในการต่อรองและสามารถร่วมมือกับผู้ประกอบการขนส่งต่างชาติได้

               3.การพัฒนาจากการขนส่งภายในประเทศเป็นการขนส่งระหว่างประเทศในภูมิภาค

               การพัฒนาการขนส่งระหว่างประเทศภายในภูมิภาคอาเซียนควรมีการเชื่อมโยงเมือง/ประตูการค้าในประเทศไทยกับเมือง/ประตูการค้าหลักที่สำคัญของต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศจีน ลาว กัมพูชา มาเลเซีย พม่า และเวียดนาม เพื่อมิให้ไทยต้องตกอยู่ในภาวะเสียเปรียบทางการค้า ดังเช่นกรณีของประเทศไทยกับมาเลเซียในปัจจุบัน โดยนอกเหนือจากการเร่งพัฒนาระบบการเชื่อมโยงภายในประเทศแล้ว ควรพัฒนาการขนส่งระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคที่เชื่อมโยงประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านให้มากขึ้น โดยคำนึงถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่จะได้รับกลับมาสู่ประเทศจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งระหว่างประเทศ โดยเฉพาะจีนซึ่งได้กำหนดเป้าหมายของแผนชาติฉบับที่ 12 อย่างชัดเจนว่า ต้องการมุ่งเน้นการค้ากับภูมิภาคอาเซียนเป็นหลัก และมีแนวโน้มที่จีนจะใช้ประเทศไทยเป็นเส้นทางสู่ภูมิภาคอาเซียน

               4.การพัฒนาจาการขนส่งแบบรูปแบบเดียว โดยเฉพาะทางถนนเป็นการขนส่งแบบหลายรูปแบบ โดยเน้นระบบรางและการขนส่งทางน้ำ

               ที่ผ่านมารูปแบบการขนส่งสินค้าและคนของประเทศไทยยังพึ่งพารูปแบบการขนส่งทางถนนเป็นหลัก ซึ่งพึ่งพาการใช้พลังงานนำเข้า เป็นเหตุให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยสูงกว่าประเทศอื่น และมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ในขณะที่การพัฒนาระบบรางและการเร่งพัฒนาโครงข่ายเส้นทางคมนาคมและขนส่งที่เหมาะสม โดยเฉพาะระบบรางและทางน้ำ ในขณะที่พัฒนาทางถนนที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสนับสนุนการพัฒนาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบให้สำเร็จเป็นรูปธรรม ในขณะเดียวกันเพื่อรองรับการค้าระหว่างประเทศ ทั้งประเทศสมาชิกในภูมิภาคอาเซียน จีนและอินเดีย

               5.การพัฒนาจากการมุ่งเน้นโครงสร้างพื้นฐานและปริมาณ เป็นการมุ่งเน้นองค์ความรู้และคุณภาพ

               ที่ผ่านมา ประเทศไทยพัฒนาระบบโลจิสติกส์มุ่งเน้นที่การสร้างโครงสร้างพื้นฐานและเชิงปริมาณเป็นหลัก ประเทศไทยยังประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพ และสอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ ซึ่งส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการขาดอาจารย์/ผู้ฝึกสอนที่มีคุณภาพ และหลักสูตรที่ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของภาคเอกชน จึงจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพระบบการศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรของชาติให้สามารถพึ่งตนเองและเป็นที่พึ่งของชาติบ้านเมืองได้

               6.การพัฒนาบทบาทของภาครัฐจากการเป็นผู้สั่งการ เป็นผู้สนับสนุน

               จากความล้มเหลวของภาครัฐในการปรับแก้กฎหมาย และกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ขาดการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อิเล็กทรอนิสก์ รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าที่นำมาใช้ได้จริงให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น การพัฒนาบทบาทของภาครัฐในระยะต่อไป จึงควรเปลี่ยนจากการที่รัฐเป็นผู้นำหรือการเป็นผู้กำหนดการค้า มาเป็นการให้ภาคเอกชนมีบทบาทเป็นผู้นำ ในขณะที่ภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน เพื่อให้การดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของไทยประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม รวมทั้งพัฒนาระบบและสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าและการบริหารและจัดการโลจิสติกส์ตามแนวชายแดน นอกจากนั้นควรเร่งปรับแก้กฎหมายและกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศ การค้า และลงทุนระเหว่างประเทศโดยเร่งด่วน

               7.การพัฒนากลไกหลักในการขับเคลื่อนจากการเป็นผู้กำหนดนโยบาย เป็นผู้มอบหมายนโยบาย

               ตลอดเวลาที่รัฐจะเป็นผู้กำหนดควบคุมกลไกทางการค้า ทำให้ขาดศักยภาพการแข่งขันกับต่างประเทศ ควรปรับปรุงกลไกหลักในการขับเคลื่อนให้เป็นการมอบหมายนโยบายมากกว่าเป็นการกำหนดนโยบาย เพื่อให้แผนยุทธศาสตร์ที่ได้พัฒนาสามารถนำไปแปลงและขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมได้สำเร็จ

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ