การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้มีการรายงานถึงสภาวการณ์การท่องเที่ยวที่ผ่านมาและแนวโน้มในอนาคต ทั้งนี้ส่วนที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวต่างประเทศ (Inbound Tourism) ในปีที่ผ่านมามีจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 29 ล้านคน โดยคาดว่า ในปีนี้ แนวโน้มของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่จะมาไทยเพิ่มเป็น 34 ล้านคน และในปี 2017 จะเพิ่มเป็น 36 ล้านคน โดยทั้งนี้ รายได้ที่คิดเป็นตัวเงินจากการท่องเที่ยวโดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศในไทยอยู่ที่ 1.89 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.82% คิดเป็นรายได้ต่อ GDP ประมาณ 13% ซึ่งนับเป็นสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ถ้าพิจารณาจากจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่จัดทำโดยองค์การการท่องเที่ยวโลกของสหประชาชาติในปีล่าสุดที่ออกมาคือปี 2014 นั้น จำนวนนักท่องเที่ยวโลกเท่ากับ 1.133 พันล้านคน เพิ่มขึ้น 4.3% โดยทั้งนี้ ประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมากที่สุด 10 อันดับแรกของโลกคือ 1. ฝรั่งเศส 83.7 ล้านคน 2. สหรัฐอเมริกา 74.8 ล้านคน 3. สเปน 65 ล้านคน 4. จีน 55.6 ล้านคน 5. อิตาลี 48.6 ล้านคน 6. ตุรกี 39.8 ล้านคน 7. เยอรมนี 33 ล้านคน 8. อังกฤษ 32.6 ล้านคน 9. รัสเซีย 29.8 ล้านคน และ 10. เม็กซิโก 29.1 ล้านคน จากภาพรวมนี้ เราจะเห็นว่า ประเทศที่มีนักท่องเที่ยวไปเยือนมากที่สุดอยู่ในทวีปยุโรปซึ่งติดอันดับ 7 ประเทศ อเมริกาเหนือ 2 ประเทศ และเอเชียมีประเทศเดียวคือจีน
แต่ถ้าพิจารณาจากรายได้จะเห็นได้ว่าในปี 2014 รายได้รวมของการท่องเที่ยว (Inbound Tourism) ของทั้งโลกเท่ากับ 1.245 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.7% โดย 10 อันดับแรกที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงสุดประกอบด้วย 1. สหรัฐอเมริกา 177.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ 2. สเปน 65.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ 3. จีน 56.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ 4.ฝรั่งเศส 55.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ 5. มาเก๊า 50.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ 6. อิตาลี 45.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ 7. อังกฤษ 45.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ 8. เยอรมนี 43.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ 9. ไทย 38.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 10. ฮ่องกง 38.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
จากภาพรวมของรายได้จะเห็นว่า ประเทศในเอเชียมี 3 ประเทศที่ติดอันดับรายได้จากการท่องเที่ยว Top 10 ของโลก ซึ่งถ้าเทียบกับบทวิเคราะห์ของจำนวนนักท่องเที่ยวแล้ว จะเห็นได้ว่า ค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวในเอเชียสูงขึ้นโดยเฉลี่ยเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ เช่น ในยุโรป โดยเฉพาะประเทศไทยที่ติดอันดับ Top 10 ด้วย
ในรายงานล่าสุดของสหประชาชาติเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของโลกนั้นจะพบว่า รายจ่ายในด้านการท่องเที่ยวสูงสุด 10 อันดับแรกคือ 1.จีน 2. สหรัฐอเมริกา 3.เยอรมนี 4. อังกฤษ 5. รัสเซีย 6. ฝรั่งเศส 7. แคนาดา 8. อิตาลี 9. ออสเตรเลีย และ 10 บราซิล โดยเฉพาะจีนนั้นในปี 2014 มีการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวต่างประเทศสูงถึง 164.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 27% ซึ่งถือเป็นอัตราที่เพิ่มสูงสุด รองลงมาที่เพิ่มสูงคือรัสเซียที่เพิ่ม 13.7%
จากรายงานของสหประชาชาติซึ่งเริ่มมีการทำบทวิเคราะห์แนวโน้มการขยายตัวของการท่องเที่ยวจนถึงปี 2030 นั้น (โดยใช้ปีฐานคือปี 2010) บทสรุปก็คือ จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นปีละ 3.3% ระหว่างปี 2010-2030 ถ้าคิดเป็นจำนวนจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 43 ล้านคนต่อปี เทียบกับเฉลี่ย 28 ล้านคนต่อปีระหว่างปี 1995-2010 ดังนั้นจึงเป็นที่คาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2020 จะสูงถึง 1.4 พันล้านคน และเพิ่มขึ้นเป็น 1.8 พันล้านคนในปี 2030
ในรายงานดังกล่าวมีการวิเคราะห์ว่า นักท่องเที่ยวจะไปเที่ยวที่ประเทศเกิดใหม่มากกว่าไปเที่ยวประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศเกิดใหม่ซึ่งประกอบด้วย เอเชีย ละตินอเมริกา ยุโรปกลางและตะวันออก ตะวันออกกลางและแอฟริกา จะเพิ่มจำนวนจาก 2.2% ต่อปีเป็น 4.4% ต่อปี และในปี 2030 สัดส่วนของนักท่องเที่ยวในโลกจะอยู่ที่ประเทศเกิดใหม่ 57% (เทียบกับ 30% ในปี 1980)
ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่มีนักท่องเที่ยวไปมากที่สุดคือ เอเชียและแปซิฟิก เพิ่มจาก 331 ล้านคน เป็น 535 ล้านคนในปี 2030 หรือเพิ่ม 4.9% ต่อปี โดยภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกจะมีสัดส่วนเท่ากับ 30% ของนักท่องเที่ยวโลกในปี 2030 เทียบกับ 22% ในปี 2014
จากสถิติดังกล่าว จะเห็นได้ว่าเอเชียจะกลายเป็นภาคพื้นที่ขยายตัวสูงในด้านการท่องเที่ยว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของนักท่องเที่ยวจีนโดยเฉพาะการขยายตัวของชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น อีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากการรวมกลุ่มซึ่งนำไปสู่การขยายตัวของการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม โดยเฉพาะในกรอบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ประเทศไทยนั้นถือว่ามีความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรงแรม อาหาร สถานที่ตั้ง ขนบธรรมเนียมประเพณี สิ่งอำนวยความสะดวก และเมื่อไม่นานมานี้ เชียงใหม่ก็ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวชอบเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่สิ่งที่เสียเปรียบคือ การจราจรติดขัดเป็นอันดับหนึ่งของโลก ขนส่งมวลชนไม่เพียงพอ ข้อมูลไม่เพียงพอ และมีปัญหาการเชื่อมต่อคมนาคมในประเทศกับประเทศใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นทางน้ำ ทางบก หรือทางทะเล ซึ่งถ้าหากว่าได้รับการดูแลและพัฒนารวมถึงมีข้อมูลแล้ว ประเทศไทยจะอยู่ในฐานะประเทศที่ได้รับผลพวงซึ่งกระทบจากการขยายตัวการท่องเที่ยวของโลก โดยเฉพาะในเอเชียอย่างมากในอนาคต