ส่องปัจจัยฉุดเศรษฐกิจและการส่งออกไทยถดถอย : รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

ในยุคนั้นการส่งออกมีมูลค่า 70-80% ของ GDP จึงไม่แปลกใจว่าการเติบโตในยุคนั้นถึงได้โตถึง 8-9% ดังที่กล่าวมา เศรษฐกิจไทยเริ่มแย่ลง เริ่มปรากฏสัญญาณขึ้นในปีค.ศ. 1996 ในปีนั้นการส่งออกติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี

เมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมาแล้วธนาคารโลก (World Bank) ได้มีการทำรายงานเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจไทย

ในรายงานดังกล่าวเขาได้พูดถึงเศรษฐกิจไทยว่ามีการเติบโตโดยเฉลี่ยต่ำกว่าประเทศในกลุ่มอาเซียน อีกทั้งประเทศไทยเสียความสามารถในการแข่งขัน ความจริงนั้นการที่ประเทศไทยมีปัญหาในเรื่องของความสามารถการแข่งขันที่ถดถอย เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาติดต่อกันเป็นเวลาเกือบ 2 ทศวรรษ ดังจะเห็นได้ว่าอัตราการเติบโตของประเทศไทยซึ่งเดิมในช่วงทศวรรษ 1980 และครึ่งแรกของทศวรรษ 1990 มีการเติบโตสูงมาก เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยต่อปีเคยอยู่ที่ 8-9% ในยุคดังกล่าวการส่งออกเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยต่อปี (คิดเป็นดอลลาร์) ประมาณ 20%

ในยุคนั้นการส่งออกมีมูลค่า 70-80% ของ GDP จึงไม่แปลกใจว่าการเติบโตในยุคนั้นถึงได้โตถึง 8-9% ดังที่กล่าวมา เศรษฐกิจไทยเริ่มแย่ลง เริ่มปรากฏสัญญาณขึ้นในปีค.ศ. 1996 ในปีนั้นการส่งออกติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี ในช่วงดังกล่าวประเทศไทยขาดทุนบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 7-9% ของ GDP (ติดต่อกันมา 3 ปี) ในขณะเดียวกันเงินสำรองอยู่ในระดับ 38,000 ล้านเหรียญ หนี้ต่างประเทศสูงประมาณ 1 แสนล้านเหรียญ หนี้ต่างประเทศระยะสั้นสูงถึง 5 หมื่นล้านเหรียญ ในปีค.ศ. 1997 จึงเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเงินสำรองมีไม่เพียงพอครอบคลุมหนี้ระยะสั้น นับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง ประเทศไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าประเทศในกลุ่มอาเซียน ยกเว้นบรูไน ระหว่างปีค.ศ. 2000-2015 GDP ของไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.8% ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าประเทศในกลุ่มอาเซียน ยกเว้นบรูไนที่อยู่ที่ 1.8% กลุ่ม CLMV จะเฉลี่ยอยู่ที่ 7.8%

ในขณะที่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และมาเลเซียจะเฉลี่ยอยู่ที่ 5.3% ในช่วงดังกล่าวการส่งออกของไทยโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียงปีละ 6-7% และโดยเฉพาะในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาการส่งออกของไทยมีลักษณะติดลบ ยกเว้นปีที่แล้วที่เป็นบวกเล็กน้อย ในปีนี้ที่ภาครัฐคาดว่าการส่งออกเป็นบวก 3-4% ซึ่งดีขึ้นเล็กน้อยแต่ก็ต่ำกว่าเฉลี่ยในปีที่ผ่านมา ในขณะที่อัตราการเติบโตปีที่แล้ว 3.2 % และในปีนี้คาดว่าจะเป็น 3.5% ซึ่งดูเหมือนดีแต่ยังน้อยกว่าช่วง 15 ปีที่ผ่านมาที่เฉลี่ยอยู่ที่ 3.8% อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและการส่งออกที่ลดน้อยลงมีผลมาจากความสามารถการแข่งขันที่ถดถอย หรืออีกนัยหนึ่งการปรับตัวของเราช้าไม่ทันการเปลี่ยนแปลง

ความจริงนั้นการที่เศรษฐกิจและการส่งออกของประเทศไทยถดถอย ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจโลกที่เกิดวิกฤติ เช่น วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ และวิกฤติสกุลเงินยูโร ตามมาด้วยปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน แต่ส่วนสำคัญมาจากขีดความสามารถการแข่งขันของไทยแย่ลง อันมีส่วนสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงยุคดิจิตอล สาเหตุที่เกิดปัญหาคือ

  1. ยุคดิจิตอลส่งผลให้สังคมโลกเปลี่ยนจากระบบสงครามเย็นมาเป็นหลังสงครามเย็นซึ่งมีประเทศเกิดใหม่ที่มีต้นทุนค่าแรงที่ต่ำกว่าเราทั้งหมด เช่น จีน อินเดียหรือประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่ง CLMV มีค่าแรงต่ำกว่าไทย 3 เท่า ทำให้เผชิญกับปัญหาคู่แข่งค่าแรงถูกกว่าในประเทศกลุ่มอาเซียนและทั่วโลก
  2. ยุคดิจิตอลเป็นยุคการแข่งขันการค้าปลาใหญ่กินปลาเล็ก ดังนั้นประเทศต่างๆ รวมตัวเป็นเขตการค้าเสรี สหภาพศุลกากรและตลาดร่วม เช่น สินค้าที่มีต้นทุนต่ำจาก CLMV ก็สามารถเข้ามาสูประเทศไทยหรือประเทศอื่นภายใต้กำแพงภาษี 0% ประเทศเหล่านี้มีค่าแรงต่ำกว่าประเทศไทย รวมทั้งฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย สินค้าไทยถูกแซนวิชด้วยสินค้าจาก CLMV อีกด้านหนึ่งจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย
  3. ยุคดิจิตอลมีการขยายตัวของเขตการค้าเสรีและตลาดร่วมอยู่ในทุกภูมิภาค ประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมกับเขตการค้าเสรีจะไม่เสียภาษีนำเข้าและไม่มีการจำกัดโควต้าย่อมได้เปรียบประเทศที่ไม่เข้ารวมกลุ่ม ในกรณีดังกล่าวสิงคโปร์ได้เข้าร่วมกลุ่มประเทศต่างๆ ทั่วโลก มาเลเซียก็มีลักษณะคล้ายกัน (แต่มีอัตราที่น้อยกว่า) แต่ไทยมีการรวมกับประเทศต่างๆ ในระดับที่น้อยมาก สินค้าไทยจึงเสียเปรียบสินค้าจากประเทศเหล่านี้

4.ในยุคดิจิตอลมีสินค้าใหม่ๆ อันนำไปสู่การขยายตัวของการบริการและสิทธิทางปัญญา ในประเทศที่มีการผลิตสินค้าดังกล่าวต้องมีระดับ           การศึกษาที่สูง มีผู้จบวิศกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ อีกทั้งมีความได้เปรียบด้านภาษา ด้านการศึกษา ไทยมีความเสียเปรียบในการผลิต           สินค้าดังกล่าว ในขณะที่ประชากรโลกมีสัดส่วนการใช้สินค้าเทคโนโลยีและบริการมากขึ้น สินค้าไทยจึงไม่สามารถตอบสนองความ               ต้องการของโลก ดังจะเห็นได้ว่าสินค้าอย่างไอโฟน ราคา 3 หมื่นบาท อย่างเก่งจะมีชิปที่ผลิตจากไทยที่มีมูลค่าต่ำมาก ในขณะที่ไทย         เสียเงินต่อเครื่อง 3 หมื่นบาท แต่ได้เงินจากการส่งออกชิปไม่กี่บาท ตัวอย่างดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสินค้าไทยปรับไม่ทันการ                   เปลี่ยนแปลง

จึงไม่น่าแปลกใจว่าในบริบทดังกล่าว ไทยจึงเสียเปรียบในเรื่องการแข่งขันกับประเทศอื่นโดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน ขณะที่โลกกำลังวิ่งจากยุคดิจิตอลไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นยุคการผสมผสานดิจิตอล Bio-tech และ Physical จึงเป็นคำถามว่า ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 เราสามารถปรับตัวให้ทันกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือไม่

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ