การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจหรือที่เราเรียกว่า บูรณาการทางเศรษฐกิจ (Economic Integration) ถือเป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นมากกว่าการรวมตัวทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Economic Cooperation) บูรณาการทางเศรษฐกิจเป็นลักษณะของการรวมตัวที่เข้มข้น เนื่องจากมีการเสียอธิปไตยทางเศรษฐกิจโดยมีระดับความเข้มข้น 5 ระดับ
ขั้นที่ 1 เขตการค้าเสรี (Free trade area) ซึ่งหมายถึงประเทศสมาชิกจะต้องเสียอธิปไตยเพราะจะไม่มีการเก็บภาษีนำเข้าและไม่มีการกำหนดโควตา
ขั้นที่ 2 สหภาพศุลกากร (Custom Union) ซึ่งหมายถึง การรวมกลุ่มที่นอกจากเขตการค้าเสรีแล้วยังมีการประสานนโยบายภาษีนำเข้าในอัตราเดียวกันสำหรับสินค้าที่มาจากนอกกลุ่ม
ขั้นที่ 3 ตลาดร่วม (Common market) หมายถึงการเปิดเสรีปัจจัยการผลิต 4 ประการ คือ 1.เปิดเสรีสินค้า (Free trade area) 2.เปิดเสรีบริการ 3. เปิดเสรีเงินทุน 4.เปิดเสรีแรงงาน
ขั้นที่ 4 สหภาพทางเศรษฐกิจ (Economic union) ซึ่งหมายถึงการผ่านการเป็นตลาดร่วมแล้วยังมีการประสานนโยบายทางเศรษฐกิจและการเงิน
ขั้นที่ 5 สหภาพทางเศรษฐกิจสมบูรณ์แบบ (Total Economic Union) หมาถึง การผ่านสหภาพทางเศรษฐกิจที่มีการประสานนโยบายทางเศรษฐกิจแล้ว ยังดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจแบบเดียวกัน (Common Policy) ในขั้นนี้จะมีการขยายไปสู่การเป็นสหภาพทางการเมือง ซึ่งหมายถึงการประสานนโยบายทางมหาดไทย การต่างประเทศ และความมั่นคง
ในโลกยุคหลังสงครามเย็น (Post cold war) หลังปี 1989 เป็นต้นมาก็เกิดปรากฏการณ์การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจแบบบูรณาการทางเศรษฐกิจทั่วทุกภูมิภาค เกือบทั้งหมดเป็นการรวมตัวแบบขั้นที่ 1 ขั้นที่ 2 และขั้นที่ 3 คือ เขตการค้าเสรี สหภาพศุลกากร และตลาดร่วม มีเพียงภูมิภาคยุโรปเท่านั้นเองที่รวมตัวกันถึงขั้น 4 และ 5 กลายเป็นสหภาพยุโรป (European Union) ในทุกวันนี้ (นับตั้งแต่สนธิสัญญามาสทริชต์ – Treaty of Maastricht ค.ศ. 1993 เป็นต้นมา)
การขยายตัวของการรวมกลุ่มดังกล่าวนี้เป็นผลจากแรงกดดันของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง กล่าวคือ
ประการแรก เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุด ประเด็นความร่วมมือระหว่างประเทศก็เปลี่ยนจากประเด็นความมั่นคงจากการเผชิญหน้าระหว่างค่ายตะวันตกกับค่ายคอมมิวนิสต์มาสู่การแข่งขันทางการค้า ในยุครอยต่อดังกล่าวนั้นอาจเรียกว่า “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” การแข่งขันทางการค้าดังกล่าวนั้น สหรัฐอเมริกาและยุโรปจึงอยู่ในฐานะได้เปรียบ ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ดังนั้นจึงไม่นาแปลกใจที่ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจึงเกิดแนวคิดในการป้องกันตัวเอง เสริมอำนาจต่อรอง และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้วยการรวมกลุ่มเป็นเขตการค้าเสรีจนถึงตลาดร่วม ซึ่งเป็นลักษณะการรวมกลุ่มทั้งแบบทวิภาคีและพหุภาคี
ประการที่สอง ยุคหลังสงครามเย็นยังตรงกับยุคที่เรียกว่า ยุคดิจิตอลอันเป็นยุคของสังคมความรู้และข่าวสาร ยุคดังกล่าวนี้พัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสารส่งผลให้เกิดการขยายตัวของปรากฏการณ์ที่เรียกว่า โลกาภิวัตน์ (Globalizaion) ทั้งด้านมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ปรากฏการณ์ดังกล่าวจึงเป็นอีกปัจจัยที่ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในกรอบการบูรณาการทางเศรษฐกิจ
เกือบ 30 ปีนับตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุด การเปิดเสรีและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจก็กลายเป็นปรากฏการณ์ที่แผ่ขยายและขยายวงในอัตราเร่งทั่วทุกภูมิภาค ถ้ารวมการรวมกลุ่มแบบทวิภาคีและพหุภาคีทั้งหมดมีกว่า 500 ข้อตกลง ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีส่วนช่วยขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าของโลก มีส่วนทำให้วิถีชีวิตโดยทั่วไปดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ดังกล่าวก็ได้สร้างด้านลบอีกด้านหนึ่งนั่นก็คือ การตกงานของแรงงานภาคอุตสาหกรรมที่เกิดจากการย้ายฐานการผลิตและสินค้าที่มาจากนอกประเทศ อีกทั้งก่อปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ คนรวย 10% มีสินทรัพย์กว่า 50% ของประเทศ อีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ การเคลื่อนย้ายของคนทั้งในแง่แรงงานและการย้ายถิ่นฐานตลอดจนผู้ลี้ภัย ซึ่งนำไปสู่ประเด็นปัญหาการก่อการร้าย ด้านลบทั้งหมดที่ได้กล่าวถึงจึงนำไปสู่การขยายตัวการต่อต้านโลกาภิวัตน์ การเปิดเสรีและการรวมกลุ่ม จนทำให้เกิดปรากฏการณ์ของ Donald Trump ในอเมริกา และคะแนนนิยมที่เพิ่มขึ้นของพรรคขวาจัดและซ้ายจัดในยุโรปซึ่งหลายประเทศจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปีนี้
ถ้าวิเคราะห์จากบริบททางการเมืองและเศรษฐกิจโลกจะเห็นว่า อนาคตของโลกาภิวัตน์และโดยเฉพาะการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจกำลังได้รับการท้าทาย และจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบและโครงสร้าง การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของโลกในอนาคต ผู้เขียนเชื่อว่า อนาคตของการรวมกลุ่มในโลกคงจะพัฒนาไปสู่ลักษณะดังต่อไปนี้
ประการที่ 1 การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในหลายประเทศและภูมิภาคยังพัฒนาการต่อไปโดยไม่หยุดชะงัก เช่น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC), Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) นอกจากนั้น ในภูมิภาคละตินอเมริกายังมีแนวโน้มในการรวมกลุ่มที่เข้มข้นมากขึ้น เช่น Pacific Alliance ซึ่งประกอบด้วยชิลี เปรู โคลอมเบีย และเม็กซิโก
ประการที่ 2 จะเกิดการขยายตัวการรวมกลุ่มระหว่างภูมิภาค เช่น CETA ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มระหว่างสหภาพยุโรปกับแคนาดา อีกทั้งยังมีแนวโน้มการขยายตัวของสหภาพยุโรปกับ Mercosur ในละตินอเมริกา สหภาพยุโรปกับ Gulf Cooperation อีกทั้งสหภาพยุโรปยังสนใจที่จะรวมกลุ่มกับอาเซียน และมีแนวโน้มการขยายตัวของ APEC และ RCEP ภายใต้แรงกระตุ้นของจีน
ประการที่ 3 การรวมกลุ่มหมายถึง พหุภาคีในบางภูมิภาคและบางกรณีจะเปลี่ยนเป็นทวิภาคี ดังจะเห็นจากนโยบายของ Donald Trump ที่ยกเลิก TPP และกลายเป็นทวิภาคี และกรณีของอังกฤษในเรื่อง Brexit
ประการที่ 4 การรวมกลุ่มบางแห่งอาจจะมีปัญหาดังจะเห็นได้ในกรณีของสหภาพยุโรปกับกลุ่มMercosur ในละตินอเมริกา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในบริบทของการแข่งขันดังกล่าวนั้น ความจำเป็นในการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองยังสูงกว่าการแตกแยก ต่างฝ่ายต่างพาย ด้วยตรรกะดังกล่าว แม้สหภาพยุโรปจะมีปัญหาบ้าง สหภาพยุโรปจะยังคงความเป็นกลุ่มประเทศที่รวมตัวกันแน่นแฟ้นทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เพียงแต่ว่า ความลึกซึ้งในการรวมตัวเริ่มชะลอตัวลง และความเหนียวแน่นอาจจะน้อยลงบ้างก็ตาม
โดยสรุป อาจกล่าวได้ว่า การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในบางกรณีอาจมีการเดินหน้าต่อ บางกรณีอาจถดถอยไปบ้าง และบางแห่งจะเปลี่ยนจากพหุภาคีเป็นทวิภาคี กล่าวคือ การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจยังเป็น “ความจริงของชีวิต” (Fact of life) เพียงแต่กำลังเผชิญความท้าทายที่ยิ่งใหญ่เท่านั้นเอง