………แม้ Trump จะยังไม่ได้เข้ามาเป็นประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะต้องรอถึงวันที่ 20 มกราคม 2017 อย่างไรก็ตาม Trump ก็มีการเตรียมการให้การตั้งที่ปรึกษาและตั้งทีมที่ต้องสรรหารัฐมนตรีและตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ เป็นพันตำแหน่ง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พอวิเคราะห์จากแนวนโยบายของ Trump แม้จะเป็นเพียงแนวนโยบายลาง ๆ แต่ก็พอสรุปหลักการได้ว่า Trump ในฐานะประธานาธิบดี Trump จะเป็นคนที่มีเหตุมีผล (Rational) มากขึ้น เป็น Trump ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์และสภาพข้อเท็จจริงของสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกัน Trump ก็ต้องซื่อสัตย์กับแนวนโยบายในการหาเสียง มิฉะนั้นจะทำให้ผู้เลือกเขาเข้ามาไม่พอใจ แนวนโยบายที่จะออกมานั้นจะมีบางส่วนโดยเฉพาะส่วนสำคัญที่อาจจะต้องทำ 100% และบางนโยบายอาจต้องหารสองหารสามเพื่อสอดคล้องกับโลกความเป็นจริง นโยบายของ Trump จะมีลักษณะเป็นดุลยภาพระหว่างลักษณะที่ใช้ในการหาเสียงและการปรับให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและประโยชน์ของอเมริกา ไม่ใช่แค่ประโยชน์ของคนที่เลือกเขาเข้ามา นโยบายของ Trump นั้นมีทั้งนโยบายเศรษฐกิจ สังคม การเมือง แต่บทความนี้จะวิเคราะห์เพียงนโยบายเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อโลก ภูมิภาคและต่อไทย
นโยบายทางเศรษฐกิจที่ Trump ต้องทำตามสัญญาคือ การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา อัตราการลดต้องมีการลดแบบมีนัยสำคัญซึ่งอาจจะตรงหรือแตกต่างจากที่สัญญาไว้บ้าง อีกนโยบายที่ Trump ต้องทำแน่คือ การใช้จ่ายเรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งตอนหาเสียงกำหนดไว้พันล้านล้านดอลลาร์ โดยหวังว่ารัฐจะไม่ต้องใช้งบประมาณเลยเพราะจะให้เอกชนดำเนินการ สมมติฐานของ Trump คือ เอกชนเป็นผู้ลงทุนและเอกชนจะได้ Tax credit ในอัตราสูงเพื่อจูงใจ และ Trump หวังจะเก็บภาษีทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาที่มาจากบริษัทก่อสร้างและอื่น ๆ ที่ปรึกษาบอกว่า โครงการแบบนี้รัฐบาล Trump ไม่ต้องใช้งบประมาณเลย อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงนั้น การสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานหนึ่งพันล้านล้านดอลลาร์นั้น เอกชนอาจแบกรับไม่ไหว จำนวนเงินดังกล่าวเอกชนอาจไปไม่ถึง ที่ปรึกษาของ Trump จึงออกมาพูดในทำนองว่าจะสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานในวงเงินประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์
การลดภาษีเงินได้บวกกับการขยายการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเป็นนโยบายที่ Trump ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจของอเมริกา ดัวยเหตุผลนี้เองจึงทำให้ตลาดหุ้นดาวโจนส์ หลังจากที่ตกลงไปอย่างหนักเมื่อรู้ข่าวว่า Trump ชนะการเลือกตั้ง แต่ในวันต่อมาก็ดีดกลับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ นักวิชาการเชื่อว่า เศรษฐกิจของอเมริกาจะฟื้นตัวขึ้นซึ่งคาดว่าอาจจะสูงประมาณ 2.2 – 2.4% และเงินเฟ้อจะสูงขึ้นเกิน 2% ในขณะเดียวกันก็มีการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยในอเมริกาจะสูงขึ้นเนื่องจากธนาคารกลางของสหรัฐ ฯ จำเป็นต้องดำเนินนโยบายป้องปรามเงินเฟ้อด้วยการขึ้นดอกเบี้ย ผลจากแนวคิดนี้ส่งผลให้นักลงทุนทั่วโลกหันมาซื้อดอลลาร์แลมีการทิ้งหุ้นและพันธบัตรในประเทศกำลังพัฒนา ดังจะเห็นได้ในกรณีของไทย 2-3 เดือนที่ผ่านมา ต่างชาติขายสุทธิประมาณ 35,000 ล้านบาท (ความจริงมีการขายมาก่อนการเลือกตั้งหนึ่งถึงสองเดือน) และมีแนวโน้มขายต่อไปในอนาคต เนื่องจาก 7 เดือนแรก ต่างชาติซื้อหุ้นสุทธิประมาณ 105,000 ล้านบาท ผลกระทบดังกล่าวทำให้เกิดความผันผวนของตลาดหุ้น พันธบัตร อัตราแลกเปลี่ยน โภคภัณฑ์ โดยเฉพาะโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง เช่น ทองแดง นิกเกิล เพราะเชื่อว่า การลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานจะทำให้เกิดอุสงค์ของโภคภัณฑ์ดังกล่าว
Trump มีนโยบายยกเลิกข้อตกลงปารีส และให้ความสำคัญกับพลังงานฟอสซิล เนื่องจากข้อตกลงปารีสนั้น Trump เห็นว่าเป็นแค่การหลอกลวงของจีนที่ต้องการให้อเมริกาลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลและหันมาใช้พลังงานทดแทนซึ่งนั่นหมายถึงจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลของอเมริกาซึ่งมีวัตถุดิบมากมาย และส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของอเมริกาด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนยังไม่เชื่อว่า Trump จะยกเลิกข้อตกลงปารีสซึ่งอเมริกาได้ให้สัตยาบันไปแล้ว ทั้งนี้เพราะจะส่งผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ เกือบ 200 ประเทศที่ร่วมตกลง และจะส่งผลต่อปัญหา Climate change อย่างไรก็ตาม Trump คงจะมีการให้ความสำคัญและเปิดเสรีให้กับธุรกิจที่ใช้พลังงานแบบเดิมทั้งถ่านหินและน้ำมัน ผลที่ตามมาคือ ถ่านหินราคาเพิ่มขึ้น ส่งผลดีกับประเทศที่ส่งออกพลังงานประเภทนี้ โดยเฉพาะในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย เป็นต้น
นโยบายทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของ Trump ที่มีผลกระทบต่อโลกคือ การที่ Trump จะเก็บภาษีนำเข้าจากจีนในอัตรา 45% ความจริงนั้นผู้เขียนเชื่อว่า Trump คงจะไม่กล้าทำถึงขนาดนั้นเพราะจะทำให้เกิดสงครามด้านการค้าโดยจีนสามารถตอบโต้ได้เช่นกัน จีนนั้นมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากอเมริกา อเมริกาเองก็ลงทุนในจีนเยอะจึงมีการพูดเปรย ๆ ว่า ถ้าทำเช่นนั้นจะไม่มีการสั่งชื้อ Boeing และสินค้า IT ของอเมริกา และจีนสามารถแก้เผ็ดด้วยการ sanction อเมริกาเช่นกัน
มีการประเมินว่า ทุก ๆ 15% ของการขึ้นภาษีมีผลทำให้ GDP ของจีนลดลง 1% และเนื่องจากอาเซียนมีความสัมพันธ์ทั้งทางการค้าและการลงทุนกันจีนจะส่งผลให้ GDP ของไทยลดลง 0.5% มาเลเซียลดลง 0.3% เกาหลีใต้และญี่ปุ่นลดลง 0.3% ดังนั้นถ้ามีเพิ่มภาษีนำเข้า 45% เศรษฐกิจจีนก็คงเผชิญปัญหาวิกฤตซึ่งจะส่งผลเป็นลูกโซ่ต่อเอเชีย ต่อโลก และต่ออเมริกาด้วย ผู้เขียนเชื่อว่า Trump คงจะสร้างเงื่อนไขต่อรองระดับสูงไว้ แต่เอาเข้าจริงจะมีมาตรการผ่อนปรนโดยในที่สุดอาจมีการเล่นงานจีนโดยเรียกจากภาคธุรกิจที่มีการอุดหนุนทางการค้า การทุ่มตลาดและขอให้จีนอย่าเอาผลผลิตที่มีเหลือ เช่น เหล็ก ออกขายไปยังประเทศต่าง ๆ ซึ่งก็ทำให้ธุรกิจประเภทนี้ในประเทศต่าง ๆ มีปัญหาและล้มละลายก็มี กล่าวอีกนัยหนึ่งแม้ Trump จะไม่ได้ทำกับจีนเต็มที่ตามที่เคยกล่าวไว้ แต่การขยายตัวของการกีดกันทางการค้าจะสูงขึ้น รวมกับการยกเลิก TPP และการปรับ NAFTA ใหม่ การขยายตัวการกีดกันทางการค้าอาจทำให้เศรษฐกิจโลกทรุดลง เศรษฐกิจของยุโรปและญี่ปุ่นซึ่งยังต้องใช้มาตรการช่วยไม่ว่าจะเป็น QE หรือดอกเบี้ยติดลบ อีกทั้งจีนก็มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำ การกีดกันทางการค้าก็คงทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกและกระทบกับการท่องเที่ยวรวมทั้งไทยด้วย
ในระยะกลาง ถ้านโยบายของ Trump ในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดภาษีนิติบุคคลและบุคคลธรรมดารวมทั้งการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานหลายแสนล้านดอลลาร์นั้นเกิดไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ นั่นคือ เกิดการขยายตัวของหนี้สาธารณะ (ขณะนี้สูงถึง 75% ของ GDP) และเงินเฟ้อ เศรษฐกิจอเมริกาที่กำลังฟื้นก็อาจเผชิญการกลับมาของเศรษฐกิจที่ถดถอยลง (Recession) ในกรณีดังกล่าว จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม ภาพฉายดังกล่าวนี้ยังเป็นเพียงการดาดเดาเท่านั้น ความชัดเจนจะมีมากขึ้นหลังจากที่ Trump ดำเนินมาตรการในอนาคต
โดยสรุป นโยบายของ Trump ในระยะสั้นจะส่งผลในเรื่องความผันผวนของตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร อัตราแลกเปลี่ยน ตลาดโภคภัณฑ์ และในระยะกลางอาจสร้างปัญหาการกีดกันทางการค้าที่ขยายตัวมากขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะผลกระทบต่อจีนและภูมิภาคเอเชีย อาเซียน และรวมทั้งไทยด้วย