เท่าที่ผมได้สดับตรับฟังมา ผนวกกับการสังเกตสังกาด้วยตัวของผมเอง ทำให้สามารถพอจะสรุปได้ว่า ในยุคนี้ สมัยนี้ ไม่ว่าเราจะเรียกมันว่า “ยุคเศรษฐกิจใหม่” หรือ “ยุคดิจิทัล” หรือยุค 4.0 ฯลฯ อะไรก็ตามที ใครก็ตามที่มีคุณสมบัติเป็นคนพื้นๆ คนธรรมดาๆ มีผลงานอยู่แค่ในระดับ “ดีโดยเฉลี่ย” หรือ “ดีระดับสามัญ” หรือแม้แต่ “ดีตามมาตรฐาน” เพียงเท่านั้น เห็นท่าว่าจะไม่เพียงพอเสียแล้ว เขาต้องมีอะไรมากกว่านั้น จึงจะมีชีวิตอยู่ในโลกของการแข่งขัน อันโหดร้ายแบบนี้ได้
สินค้าและบริการที่ใครต่อใครต่างช่วงชิงแย่งกันผลิต แย่งกันออกมานำเสนอขายแก่ผู้คนก็เช่นกัน การมีสินค้าหรือบริการที่ดีแค่พื้นๆ ดีธรรมดาๆ ดีตามมาตรฐาน ก็ไม่มีทางที่จะดำรงคงอยู่ในตลาดได้ เว้นแต่จะต้องมีอะไรดีมากกว่านั้น จึงจะพอประสบความสำเร็จได้
ในมุมมองของผม ไม่ว่าจะเป็น “คน” หรือ “ของ” (สินค้า/บริการ) จะต้องมีคุณสมบัติ หรือมีสมรรถนะ อย่างน้อย 7 ประการ ดังต่อไปนี้ จึงจะสามารถแข่งขันกับเขาได้ (ส่วนว่าจะชนะหรือไม่ ก็ต้องไปว่ากันอีกชั้นหนึ่งต่อไป)
- ต้องเร็วกว่า
- ต้องมากกว่า
- ต้องดีกว่า
- ต้องประหยัดกว่า
- ต้องง่ายกว่า
- ต้องเอนกประสงค์กว่า และ
- ต้องสุขกว่า
ต้องเร็วกว่า :
ถ้าเป็นคน ก็ต้องเป็นคนที่ทำงานได้รวดเร็วกว่าคนอื่น แก้ปัญหาได้รวดเร็วกว่า สนองตอบลูกค้าได้รวดเร็วกว่า ฯลฯ
ถ้าเป็นสิ่งของ หรือสินค้า ก็ต้องเป็นสินค้าที่ใช้งานได้สะดวกและรวดเร็ว เช่น ถ้าเป็นเครื่องถ่ายเอกสารก็ต้องถ่ายสำเนาได้รวดเร็ว ในหนึ่งนาทีถ่ายได้เป็นร้อยแผ่น
ต้องมากกว่า :
ถ้าเป็นคน คนที่ทำงานได้ปริมาณงานมากกว่าคนอื่น ในเวลาที่เท่ากัน ย่อมได้เปรียบ ย่อมเป็นต่อ ย่อมเข้าตากรรมการมากกว่า คำว่า “ต้องมากกว่า” นี้ หมายรวมถึง การที่สามารถทำงานได้ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานกว่าคนอื่นด้วย เช่น ในขณะที่คนอื่นเขาทำงานกันวันละ 8 ชั่วโมง แต่ถ้าเราสามารถทำงานได้ถึงวันละ 10 ชั่วโมง หรือ 12 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น เราย่อมเป็นคนที่ไม่ธรรมดา
ถ้าเป็นสิ่งของ สินค้า หรือผลิตภัณฑ์ หรือบริการ ที่ให้คุณประโยชน์ใช้สอย หรือคุณค่า ได้มากกว่า ย่อมชนะใจผู้บริโภคได้มากกว่า
ต้องดีกว่า :
ถ้าเป็นคน เป็นเรื่องของคุณภาพ คนที่ทำงานได้คุณภาพของงานที่ดีกว่า ก็ย่อมก้าวหน้ามากกว่า ประสบความสำเร็จมากกว่า
ถ้าเป็นสิ่งของ สินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือบริการ ที่มีคุณภาพดีกว่า ก็แน่นอนอยู่แล้ว ผู้คนเขาก็ย่อมอยากซื้ออยากใช้มากกว่า
ต้องประหยัดกว่า :
ถ้าเป็นคน คนที่ทำงานเกินเดือน ทำแล้วหน่วยงานรู้สึกคุ้มค่าที่จ้างเขาไว้ ได้คนอย่างเขาไว้ทำงาน เหมือนกับจ้างคนสองคนเลยทีเดียว แบบนี้แหละที่ทำให้ใครๆ ก็อยากจ้างเขา เพราะจ้างเขาแล้ว ประหยัดกว่าจ้างคนอื่น
ถ้าเป็นสิ่งของ สินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือบริการก็เช่นกัน ผู้ซื้อซื้อไปแล้วรู้สึกคุ้มค่า ประหยัดเงิน ประหยัดเวลา มากกว่ายี่ห้ออื่น เขาก็อยากใช้ยี่ห้อนี้ไปเรื่อยๆ
ต้องง่ายกว่า :
ถ้าเป็นคน ต้องเป็นคนที่สามารถทำเรื่องซับซ้อน ให้เรียบๆ ง่ายๆ หรือในอีกความหมายหนึ่ง ต้องเป็นคนไม่เรื่องมาก ไม่มีพระยศพระเกียรติ ไม่มีพิธีรีตองอะไรมากมาย ว่าง่ายๆ ใช้งานง่ายๆ ไม่ใช่คนเรื่องมาก หรือชอบทำตัวให้เป็นคนยุ่งยาก
สินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือบริการ ก็เช่นกัน ต้องใช้งานง่าย เข้าถึงง่าย คนเขาถึงจะชอบ คนเขาถึงจะอยากซื้อ อยากใช้กัน
ต้องเอนกประสงค์กว่า :
ถ้าเป็นคน ต้องเป็นคนที่สามารถทำงานได้หลายอย่าง ไม่ใช่แค่งานในหน้าที่ตามตำแหน่งเท่านั้น เดี๋ยวนี้ แม้จะเป็นหมอ เป็นวิศวกร เป็นนักวิชาการ ก็ต้องทำการตลาดเป็น ต้องขายเป็น ต้องรู้เรื่องการเงิน การบัญชี การภาษี ฯลฯ ด้วย จริงอยู่ที่คนเราอาจจะเก่ง หรือเชี่ยวชาญเพียงอย่างเดียว แต่ในยามจำเป็นก็ต้องสามารถทำอย่างอื่นๆได้ด้วย จึงจะเป็นที่ต้องการของหน่วยงาน เดี๋ยวนี้ คนที่พูดได้สองภาษาดูจะเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว หลายองค์กรต้องการคนที่รู้ภาษาที่สามด้วย
ถ้าเป็นสิ่งของ ยุคนี้ โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้โทรได้อย่างเดียว คนเขาเลิกใช้กันแล้ว โทรศัพท์เคลื่อนที่ต้องเอนกประสงค์ถึงขนาดสามารถถ่ายรูปได้ ถ่ายวีดิโอได้ ฟังเพลง ฟังข่าวได้ ซื้อสินค้า ชำระเงินค่าจิปาถะได้ ซื้อขายหุ้น ตรวจล็อตเตอรี่ได้ เป็นดิคชันนารี่ได้ ฯลฯ สรุปคือสินค้าและบริการทุกอย่างต้องมีคุณสมบัติตอบสนองความต้องการของ ผู้บริโภคได้หลายอย่างจึงจะดี ขนาดบริษัท ไปรษณีย์ไทยฯยุคนี้ยังรับจองพระเครื่อง พระบูชา ขายเครื่องสำอางผ่านเคาน์เตอร์รับส่งอาหารทั่วประเทศกันแล้ว
ต้องสุขกว่า :
ถ้าเป็นคน คนที่ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี ทำงานเป็นทีมได้ยอดเยี่ยม อยู่ที่ตรงไหน คนที่ตรงนั้นเขาก็มีความสุขกันถ้วนหน้า มีหัวใจบริการ มีวิญญาณของผู้รับใช้ เป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ เป็นผู้ช่วยแก้ปัญหามากกว่าเป็นผู้สร้างปัญหา คนแบบนี้ ใครๆ ก็อยากได้ตัวไปทำงานด้วย
ถ้าเป็นสิ่งของ สินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่ทำให้ผู้ซื้อ หรือผู้บริโภคเกิดความอุ่นใจ สบายใจ ไร้กังวล รู้สึกเป็นสุข รู้สึกว่าคิดถูกแล้วที่ซื้อสินค้ายี่ห้อนี้มาใช้ ย่อมทำให้ผู้ซื้อ กลับมาซื้อซ้ำ กลับมาซื้อแล้วซื้ออีก ช่วยบอกต่อ ช่วยปกป้องแก้ตัวแทน ปวารณาตัวเป็นลูกค้าแฟนพันธุ์แท้ไปในที่สุด แบบนี้ ก็ไม่มีทางเป็นอื่นไปได้ นอกจากเป็นเบอร์หนึ่งในตลาด หรืออย่างแย่ๆก็ต้องอยู่ในท้อปไฟ้ว์
ลองใช้เกณฑ์สมรรถนะ 7 อย่างนี้ คอยเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ หรือกับคู่แข่งอยู่เสมอๆ (Benchmarking) แล้วพยายามพัฒนาตนเอง พัฒนาสินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือบริการของเรา ให้เหนือกว่าคนอื่น หรือเหนือกว่าคู่แข่งให้ได้ แม้ไม่ครบทุกอย่าง ก็ให้ได้มากอย่างที่สุด เราจึงจะอยู่รอด และพอจะมีหนทางชนะได้บ้าง