The Entrepreneur ว่าด้วยเรื่อง “ผู้ประกอบการ” โดย ดร.วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์

วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์

แม้เป็นลูกจ้าง แต่กล้าที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการทำงานให้ดีขึ้นทั้ง “ประสิทธิภาพ” และ “ประสิทธิผล” (นี่ก็แตกต่างกันอีก “ประสิทธิภาพ : Efficiency” กับ “ประสิทธิผล : Effectiveness”..แต่ไว้ค่อยว่ากล่าวกันในโอกาสต่อไปครับ) กล้าที่จะคิด กล้าที่จะทำอะไรใหม่ๆ ที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์

เมื่อเอ่ยคำว่า “ผู้ประกอบการ” หรือคำในภาษาอังกฤษว่า “Entrepreneur” นั้น คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ก็คือ คนคนเดียวกับคนที่เป็น “เจ้าของกิจการ” (Business Owner) นั่นเอง ซึ่งในความเห็นของผม น่าจะเป็นความเข้าใจที่ผิด

ในความเข้าใจของผม ผมเห็นว่า “ผู้ประกอบการ” (Entrepreneur) นั้น เป็น “คุณสมบัติ” (Attribute) ไม่ใช่เป็น “สถานะ” (Status) ดังนั้น แม้ว่าใครก็ตามจะมีสถานะเป็น “ลูกจ้าง” (Employee) ทั้งลูกจ้างของรัฐหรือเอกชน หรือเป็น “เจ้าของธุรกิจส่วนตัว / ทำงานอิสระ” (Self-employed) ก็อาจมีคุณสมบัติเป็น “ผู้ประกอบการ” (Entrepreneur) กันได้ทั้งสิ้น นอกจากนั้นแล้ว ผู้ที่มีสถานะเป็น “เจ้าของกิจการ” (Business Owner) ก็อาจจะมีคุณสมบัติเป็นผู้ประกอบการหรือไม่ก็ได้ และจำนวนไม่น้อยเลย ผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการ กลับไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้ประกอบการเลย

ถ้าเช่นนั้นแล้ว “ผู้ประกอบการ “ (Entrepreneur) จะต้องมีคุณสมบัติเช่นไร จึงจะนับได้ว่าเป็นผู้ประกอบการปู ในความเห็นของผม ผู้ประกอบการจะต้องมีคุณสมบัติ 3 ข้อต่อไปนี้

                   1.ต้องมีความฝัน

                   2.ต้องมีความกล้า

                   3.ต้องมีความสนุก

ที่ว่า ต้องมีความฝัน ก็หมายถึงต้องเป็นคนที่มีจินตนาการ มีทั้งจุดมุ่งหมายและเป้าหมายที่ใหญ่ (ไม่เหมือนกันนะครับ จุดมุ่งหมาย กับเป้าหมาย เป้าหมายคือรู้ว่าจะไปไหน ส่วนจุดมุ่งหมายคือรู้ว่าจะไปที่นั่นทำไม) เป็นผู้ที่อยากมี อยากทำ อยากเป็น โน่นนี่นั่น ด้วยความปรารถนาอย่างแรงกล้า เรียกได้ว่าคิดถึงแต่สิ่งที่ตนฝัน คิดถึงแต่สิ่งที่ตนอยากมี อยากทำ อยากเป็น อยู่แทบจะทุกลมหายใจ ทั้งยามหลับและยามตื่นเลยทีเดียว คนแบบนี้นี่มักจะเห็นตัวเอง “มี ทำ เป็น” อยู่เรียบร้อยแล้วด้วยซ้ำในจินตนาการ!

ถ้าเป็นเจ้าของกิจการ แต่ไม่คิดใหญ่ ไม่ใฝ่สูง ก็อาจเป็นได้แค่เพียงพ่อค้า หรืออย่างมากก็เป็นนักธุรกิจธรรมดาเท่านั้น ยังไม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ประกอบการครับ ตรงข้าม แม้เป็นลูกจ้าง แต่มีความหวัง มีความฝัน คิดใหญ่ใฝ่สูง มีความทะเยอทะยาน มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะประสบความสำเร็จสูงสุดในวิชาชีพ ก็ถือได้ว่าเป็นลูกจ้างที่มีคุณสมบัติ หรือมีจิตวิญญาณของผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) ครับ

แน่นอน ความฝันในประการนี้ ย่อมไม่ใช่ความฝันลมๆ แล้งๆ แต่เป็นความฝันที่อยู่บนฐานของความเชื่อ ความศรัทธา ดังคำกล่าวที่ว่า “คนประสบความสำเร็จ เชื่อก่อนแล้วจึงเห็น ส่วนคนไม่ประสบความสำเร็จ ชอบอ้างว่าขอเห็นก่อนแล้วจึงจะเชื่อ” การจะเชื่อในสิ่งที่ตนเองฝันนั้น อาจเรียกได้ว่าเป็นความศรัทธาก็ได้เลยทีเดียว

และที่ว่า ต้องมีความกล้า นั้น เริ่มต้นก็ต้องกล้าที่จะคิด กล้าที่จะฝันเสียก่อน (ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น) จากนั้นก็ต้องกล้าตัดสินใจ (คนจำนวนมากตกม้าตายที่ประการนี้แหละครับ ไม่กล้าตัดสินใจ) กล้าเริ่มต้นลงมือทำ กล้าลองผิดลองถูก กล้าล้มเหลว (เคยมีคนเขียนหนังสือ “กล้าล้มเหลว” : Dare to Fail มาแล้วด้วยนะครับ ติดอันดับหนังสือขายดีเล่มหนึ่งเลยทีเดียว) กล้าถูกวิพากษ์วิจารณ์ กล้าเผชิญกับความไม่มั่นคง ความคลุมเครือ ความไม่รู้ กล้าแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ ฯลฯ

แม้เป็นลูกจ้าง แต่กล้าที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการทำงานให้ดีขึ้นทั้ง “ประสิทธิภาพ” และ “ประสิทธิผล” (นี่ก็แตกต่างกันอีก “ประสิทธิภาพ : Efficiency” กับ “ประสิทธิผล : Effectiveness”..แต่ไว้ค่อยว่ากล่าวกันในโอกาสต่อไปครับ) กล้าที่จะคิด กล้าที่จะทำอะไรใหม่ๆ ที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ ฯลฯ แบบนี้ ลูกจ้างคนดังกล่าวก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติผู้ประกอบการครับ ตรงกันข้าม เจ้าของกิจการที่ไม่มีจิตวิญญาณผู้ประกอบการ ก็มักเป็นเจ้าของกิจการที่ไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำอะไร เคยทำมาอย่างไรก็ทู่ซี้ทนทำไปอย่างนั้น รู้ว่าเปลี่ยนแปลงแล้วมันดีแต่ก็ไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ในที่สุดก็ต้องเผชิญกับภาวะ “อยู่ก็ไม่สบาย ตายก็ไม่สะดวก” อยู่จนกว่าชีวิตและกิจการจะหาไม่นั่นแหละครับ

ส่วนที่ว่า “ต้องมีความสนุก” นั้น หมายถึงต้องสนุกกับสิ่งที่ทำ แม้มันอาจจะยากลำบากอยู่บ้างแต่ก็หนักเอาเบาสู้ การสนุกกับสิ่งที่ทำนั้นคืออารมณ์ประมาณว่าแทบจะรอไม่ได้ที่จะต้องรีบไปทำมัน ใจจดใจจ่อว่าเมื่อไหร่จะได้กลับไปทำสิ่งนั้นอีก (ไม่ใช่อารมณ์แบบ..เมื่อไหร่จะเสร็จเสียที หรือ..นี่ต้องกลับไปทำอีกแล้วหรือนี่ ซึ่งแบบนี้ถือว่าไม่สนุกครับ) แม้อาจจะมีอะไรที่ผิดพลาด ผิดหวัง แต่ก็สามารถฟื้นตัวได้เร็ว เยียวยาตัวเองได้ไว คนที่ทำในสิ่งที่ตนเองฝันแล้วมีความสนุกนั้น จะเข้าใจและเข้าถึงความหมายของคำกล่าวที่ว่า “Success is a journey,not a destination” : “ความสำเร็จคือวิถีแห่งการเดินทาง ไม่ใช่แค่การเดินทางไปถึงที่หมาย”

มีผู้กล่าวว่า “จิตวิญญาณของผู้ประกอบการ” ซึ่งประกอบไปด้วย “ความฝัน ความกล้า ความสนุก” นี้ แท้ที่จริงก็คือ “จิตใจของความเป็นเด็ก” นั่นเอง จะเห็นได้ว่าเด็กทุกคนเกิดมาพร้อมคุณสมบัติเหล่านี้กันทุกคน คือ มีความฝัน มีความกล้า และมีความสนุก แต่ยิ่งโต อายุยิ่งมาก ดูเหมือนว่าคุณสมบัติเหล่านี้มันเริ่มหายไปทีละน้อย จนหลายคนแทบไม่มีคุณสมบัติเหล่านี้เหลืออยู่เลย

                   ดังนั้น จึงมีผู้สรุปว่า หากปรารถนาจะมีจิตวิญญาณของผู้ประกอบการแล้วไซร้ ก็จงนำจิตใจแบบเด็กๆ กลับคืนมาให้จงได้!

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ