ช่วยเหลือ SME ตอน 2 ดร.รัญชนา รัชตะนาวิน

Nanyarath Niyompong

ต่อเนื่องจากการลงพื้นที่ไปทำงานโครงการช่วยเหลือ SME ของภาครัฐตามจังหวัดต่างๆ ปัญหาของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่ได้รับข้อมูลจากผู้ประกอบการ คือ เรื่องของการเงิน ซึ่งหนี้ไม่พ้นจากเรื่องเล็กๆ ที่ดูเหมือนว่าจะไม่ก่อให้เกิดปัญหา แต่ปรากฎผลให้เห็นเด่นชัดในเวลาถัดมาจากการดำเนินกิจการได้ไม่นาน

ต่อเนื่องจากการลงพื้นที่ไปทำงานโครงการช่วยเหลือ SME ของภาครัฐตามจังหวัดต่างๆ ปัญหาของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่ได้รับข้อมูลจากผู้ประกอบการ คือ เรื่องของการเงิน ซึ่งหนี้ไม่พ้นจากเรื่องเล็กๆ ที่ดูเหมือนว่าจะไม่ก่อให้เกิดปัญหา แต่ปรากฎผลให้เห็นเด่นชัดในเวลาถัดมาจากการดำเนินกิจการได้ไม่นาน ยกตัวอย่างเช่น ไม่มีการจดบันทึกรายการรายรับและรายจ่ายของกิจการ และไม่มีการแยกค่าใช้จ่ายในครัวเรือนกับค่าใช้จ่ายของธุรกิจ ปัญหาเงินทุนหมุนเวียนไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถแยกปัญหาของธุรกิจที่ดำเนินกิจการกับปัญหาทางการเงินส่วนบุคคลได้ ในบทความนี้ จึงขอแยกปัญหาทางด้านการเงินเป็นหัวข้อย่อยๆ ดังต่อไปนี้

ค่าใช้จ่ายส่วนตัวของเจ้าของกิจการกับค่าใช้จ่ายธุรกิจ

ปัญหาที่พบ เจ้าของกิจการไม่แยกค่าใช้จ่ายของธุรกิจ และค่าใช้จ่ายครอบครัวแยกออกจากกัน เมื่อมีการรับเงินเข้ามาจากการหารายได้ของธุรกิจ แต่เมื่อมีการใช้จ่ายเกิดขึ้น จะพบว่ามีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจาก 2 แหล่ง คือ ค่าใช้จ่ายของกิจการและค่าใช้จ่ายในครัวเรือน หรือที่เราเคยได้ยินว่า “เงินเข้ากระเป๋าซ้าย ควักออกกระเป๋าขวา” นั่นเอง และปัญหาที่พบส่วนใหญ่ คือ การนำเงินไปซื้อสินทรัพย์ส่วนบุคคล ซึ่งมีมูลค่าค่อนข้างสูง

แนวทางแก้ไข คือ

(1) เจ้าของธุรกิจควรแยกค่าใช้จ่ายส่วนตัวหรือค่าใช้จ่ายในครัวเรือนออกจากค่าใช้จ่ายธุรกิจ ถ้าหากกิจการไม่แยกค่าใช้จ่ายของทั้ง 2 แหล่งนี้ออกจากกัน จะทำให้ไม่สามารถรู้ต้นทุนที่แท้จริงได้ว่า กิจการนั้นมีต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายเป็นยอดเงินเท่าไร บางธุรกิจเมื่อมีรายรับจากการขายสินค้าหรือบริการ จะนำเงินที่ได้รับส่วนใหญ่นั้น ไปลงทุนซื้อสินทรัพย์ที่เป็นของใช้ส่วนบุคคลหรือของครัวเรือน เช่น รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์เครื่องไฟฟ้าที่ใช้ในครัวเรือน หรือสิ่งของต่างๆ ที่คิดว่าเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้แก่ธุรกิจ

(2) จดบันทึกรายการรายรับรายจ่าย หรือทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีของกิจการแยกออกจากกัน

(3) เจ้าของธุรกิจควรคิดค่าแรงงานหรือเงินเดือนของตนเองตามตำแหน่งให้ชัดเจนในแต่ละเดือน โดยมีการจัดทำผังโครงสร้างองค์กร ระบุตำแหน่งงาน หน้าที่ความรับผิดชอบ และกำหนดอัตราเงินเดือนของแต่ละตำแหน่งงาน ซึ่งรวมถึงตนเองที่เป็นเจ้าของกิจการ และรับผิดชอบในตำแหน่งผู้จัดการ เมื่อถึงกำหนดการจ่ายค่าแรงหรือเงินเดือนให้แก่พนักงาน เจ้าของกิจการจะได้รับค่าจ้างตามที่ระบุ ซึ่งค่าจ้างนี้ ถือเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการ และเมื่อเจ้าของกิจการได้รับเงินเดือนแล้ว เงินเดือนที่ตนได้รับนั้น จึงจะนำไปซื้อสิ่งของหรือสินทรัพย์ต่างๆ ที่ตนเองปรารถนาได้

ขาดสภาพคล่องของเงินทุนหมุนเวียน

ปัญหาที่พบ การขาดสภาพคล่องของเงินทุนหมุนเวียนของกิจการนั้น เกิดขึ้นจากสาเหตุต่างๆ ที่เมื่อนำมาประกอบกัน จึงเป็นต้นเหตุของปัญหา คือ

(1) อาจเกิดขึ้นจากการที่ผู้ประกอบการไม่ได้จัดทำงบประมาณรายรับและรายจ่ายไว้ล่วงหน้า

(2) ไม่มีการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงไว้ จึงไม่สามารถรู้ว่ากิจการของตนเองนั้น มีค่าใช้จ่ายและรายได้ที่แท้จริงเท่าใด อีกทั้ง

(3) ผู้ประกอบการอาจจะไม่เข้าใจโครงสร้างของเงินทุน เมื่อเริ่มต้นธุรกิจจึงหาแหล่งเงินทุนภายนอกหรือการกู้ยืมเงินที่มีต้นทุนทางการเงินสูง (ดอกเบี้ยสูง) มากกว่าแหล่งเงินทุนภายใน หรือเงินลงทุนจากเจ้าของกิจการก่อน เมื่อกิจการไม่มีรายรับที่แท้จริงสูงมากพอที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน จึงทำให้ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่อง จนส่งผลกระทบต่อธุรกิจระยะยาว และอาจต้องสิ้นสุดการดำเนินธุรกิจลงได้

(4) ขาดเงินทุนขยายกิจการ เป็นปัญหาใหญ่ของกิจการขนาดเล็กอีกหนึ่งปัญหา ทำให้ไม่สามารถรับงานได้เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้มีข้อจำกัดอื่นๆ ตามมา เช่น ไม่สามารถจ้างงานโดยรับคนงานได้เพิ่มขึ้น เงินทุนไม่เพียงพอต่อการสั่งซื้อสินค้า หรืออุปกรณ์การผลิต จำนวนมากที่จะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง

แนวทางแก้ไข คือ

(1) เมื่อเริ่มต้นกิจการ เจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการควรมีเงินลงทุน (เงินเย็น) ที่ไม่มีภาระผูกพันในการจ่ายชำระคืนในระยะเวลาสั้น และไม่มีต้นทุนทางการเงิน (ดอกเบี้ย) ที่สูงเกินไป ซึ่งผู้ประกอบการควรที่จะมีเงินก้อนที่เก็บสะสมให้เพียงพอต่องบประมาณจ่ายที่จำเป็นต้องใช้อย่างน้อย 6 เดือน  (ระยะเวลาขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ) โดยที่ไม่ต้องไปกู้ยืมจากเจ้าหนี้ (ที่คิดดอกเบี้ยสูงๆ) หากผู้ประกอบการบางรายใช้วิธีการกู้ยืมระยะสั้นที่อัตราดอกเบี้ยสูง หรือการกู้ยืมเงินนอกระบบ เมื่อถึงกำหนดจ่ายชำระเงิน มีการค้างชำระเงินต้นสูง จะทำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูง จนส่งผลให้กิจการไม่มีกำไร

(2) ควรใช้ระบบการรับชำระเงินเป็นเงินสด หรือพยายามให้มียอดลูกหนี้ค้างชำระให้น้อยที่สุด จึงจะช่วยแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องได้ดี กิจการที่มีการรับชำระเป็นบัตรเครดิตในปัจจุบันนี้ สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาการจ่ายชำระเป็นเงินเชื่อได้ค่อนข้างดี เนื่องจากลูกค้าอาจจะไม่สามารถชำระเป็นเงินสดได้ แต่กิจการสามารถที่จะป้องกันความเสี่ยง ได้โดยรับเงินสดจากธนาคารแทนจากลูกค้าได้ก่อน โดยกิจการมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น จากการจ่ายค่าธรรมเนียมให้แก่ธนาคาร เช่น ร้อยละ 1.25-1.50 ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคารที่รับบัตรเครดิต

(3) จดบันทึกรายการรับและจ่ายในสมุดรายวันทั่วไป และรวมยอดเมื่อสิ้นสุดทุกวัน (ถ้าหากผู้ประกอบการยังไม่มีความเชี่ยวชาญในการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์)

(4) จัดทำงบประมาณการรายรับและรายจ่าย โดยนำข้อมูลที่ได้จดบันทึกจากสมุดรายวันทั่วไป ว่ากิจการมีรายการจ่ายเงินในแต่ละเดือนประมาณเท่าใด จึงนำยอดนั้นมาจัดทำงบประมาณจ่าย นอกจากนี้ การจัดทำงบประมาณรับ สามารถจัดทำด้วยวิธีการเดียวกัน คือ ดูยอดรายรับที่กิจการได้รับในแต่ละเดือน นำมาประมาณการรายรับ เมื่อผู้ประกอบการประมาณการรายรับและรายจ่ายได้ จะสามารถมองเห็นส่วนต่างว่ากิจการมีรายรับมากกว่า หรือรายจ่ายมากกว่า หากเดือนไหนมียอดรายรับค่อนข้างน้อย ผู้ประกอบการควรวางแผนที่จะต้องหาลูกค้าหรือทำให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย

(5) วิธีแก้ไขการขาดสภาพคล่องของธุรกิจที่ได้ผล จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายส่วนบุคคลของเจ้าของกิจการ เพื่อให้เจ้าของกิจการมีวินัยในการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เจ้าของกิจการมีเงินสะสมมากขึ้น และสามารถนำมาเพิ่มทุนเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจโดยเสียต้นทุนทางการเงินหรือดอกเบี้ยน้อยลง

จากข้อมูลที่ได้รับของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ทำให้พบว่าปัญหาทางด้านการเงินของเจ้าของกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก เป็นปัญหาที่เกิดจากส่วนบุคคล ดังนั้น หากกิจการต้องการปรับเปลี่ยนให้ธุรกิจตนเองนั้น มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน คงต้องปรับเปลี่ยนที่ตัวของเจ้าของกิจการเสียก่อน จึงจะทำให้ธุรกิจมีการดำเนินงานที่เป็นระบบและเติบโตได้

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ