ทำอย่างไรให้ธุรกิจ SMEs เติบโต : รัญชนา รัชตะนาวิน

Nanyarath Niyompong

SMEs มีประเด็นที่ควรพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หาก SMEs ยังไม่ปรับเปลี่ยนตนเอง ไม่กล้าที่จะก้าวออกมาจากสิ่งเดิมๆ ที่ตนเองคุ้นเคยหรือเคยชินแล้ว ธุรกิจของ SMEs จะมียอดขายก้าวกระโดดได้อย่างไร ลองสำรวจธุรกิจและตนเองจากประเด็นดังต่อไปนี้

จากข้อมูลการศึกษาวิจัยของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้เก็บรวบรวมข้อมูลในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา (สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เครือข่ายมหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2548: ออนไลน์) พบว่าปัญหาโดยรวมของ SMEs มีประเด็นที่ควรพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หาก SMEs ยังไม่ปรับเปลี่ยนตนเอง ไม่กล้าที่จะก้าวออกมาจากสิ่งเดิมๆ ที่ตนเองคุ้นเคยหรือเคยชินแล้ว ธุรกิจของ SMEs จะมียอดขายก้าวกระโดดได้อย่างไร ลองสำรวจธุรกิจและตนเองจากประเด็นดังต่อไปนี้

 

1. มองการตลาดอย่างไร: SMEs ส่วนใหญ่มองความต้องการของตลาดตามความต้องการของคนในท้องถิ่น และความต้องการเฉพาะกลุ่มในประเทศเท่านั้น ซึ่งหากมองความต้องการที่คนในท้องถิ่นต้องการแล้ว แต่มองตลาดให้ไกลออกไปถึงกลุ่มคนต้องการที่ใหญ่ขึ้น อาจจะเป็นประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศที่ไม่มีวัตถุดิบอย่างที่ประเทศไทยมี มีผู้ประกอบการ SMEs หลายรายที่ประสบความสำเร็จจากการคิดค้นเพิ่มมูลค่าสินค้าที่ประเทศไทยเรามี ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น เมื่อขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศทำให้สินค้านั้นมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น  

 

2. สินค้าของท่านดีจริงหรือไม่:  ปัญหาที่เกิดขึ้นจากสินค้าของ SMEs ส่วนใหญ่ เป็นสินค้าที่ไม่มีการคิดค้นวิจัยหรือไม่มีความแตกต่างจากสินค้าเดิมที่มีอยู่ หากเจ้าของ SMEs ลองนำภูมิปัญญาหรือนำเทคโนโลยีเฉพาะทางในการสร้างความแตกต่างจากสินค้าเดิม รวมถึงมีการรับรองสินค้าจากหน่วยงานมาตรฐานที่รองรับ จะทำให้สินค้าของท่านมีความน่าเชื่อถือ และได้รับการยอมรับ รวมถึงสามารถสร้างมูลค่าให้กับสินค้าของท่านได้เพิ่มสูงขึ้น

 

3. การรุกของธุรกิจขนาดใหญ่เราคงเถียงไม่ได้ว่าธุรกิจขนาดใหญ่นั้น มีทั้งกำลังทรัพย์และกำลังทุนจำนวนมาก เขาสามารถเข้ามาแข่งขันและตีตลาดของธุรกิจเราได้โดยง่าย หากธุรกิจของท่านได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นธุรกิจที่มีอนาคตสดใส SMEs หลายแห่งประสบความสำเร็จด้วยการสร้างความเป็น “นวัตกรรมใหม่” ของสินค้าหรือบริการของตน ที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้

 

4. เทคโนโลยีการผลิต: ผู้ประกอบการไม่เปิดใจยอมรับในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่ทันสมัย รวมถึงพนักงานขาดความรู้พื้นฐานที่รองรับเทคนิควิชาการที่สูงขึ้น จึงทำให้ขาดการพัฒนารูปแบบสินค้าตลอดจนการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานที่ดี

 

5. การบริหารจัดการที่เป็นระบบ: SMEs จำนวนมากเริ่มจากการดำเนินงานแบบครอบครัว โดยอาศัยบุคคลในครอบครัวและญาติมาช่วยในการดำเนินงาน ใช้ประสบการณ์การเรียนรู้จากการลองผิดลองถูก ไม่มีการวางระบบแบบแผนไว้ก่อน หากเริ่มต้นธุรกิจในช่วงแรก จะมีข้อดีในการควบคุมการบริหารจัดการได้ง่าย แต่เมื่อธุรกิจเริ่มขยายตัว เริ่มมีการวางระบบการบริหารจัดการ หากบุคคลในครอบครัวและญาติที่เข้ามาช่วยสามารถปรับตัวกับการบริหารจัดการ และมีความรู้ความสามารถในแต่ละด้าน จะสามารถบริหารจัดการอย่างมีระบบได้ไม่ยาก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ SMEs มีการหมุนเวียนเข้า-ออกของแรงงานอยู่ในระดับสูง เนื่องจากแรงงานที่มีฝีมือและมีความชำนาญที่สูงขึ้น มักจะโยกย้ายไปสู่ธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่กว่า ด้วยเหตุผลของผลตอบแทนและโอกาสในการเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน หากธุรกิจ SMEs รู้ถึงปัญหาข้อนี้แล้ว ควรที่จะวางระบบการบริหารจัดการตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ

 

6. การสร้างพฤติกรรมการเป็นพนักงานและแรงงานที่ดี: จากการเคลื่อนย้ายของพนักงานและแรงงานที่มีฝีมือและมีความชำนาญไปสู่อุตสาหกรรมที่ดีกว่า ส่งผลให้ธุรกิจ SMEs มีคุณภาพของพนักงานและแรงงานที่มีอยู่นั้นแตกต่างกันและทำให้การพัฒนาไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพของสินค้าโดยตรง ทำอย่างไรจึงจะรักษาและสรรหาพนักงานและแรงงานที่มีฝีมือและมีความชำนาญนั้นอยู่กับธุรกิจ SMEs ให้ได้นาน การให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าอาจจะเป็นความต้องการของพนักงานและแรงงาน แต่จากผลการวิจัยจำนวนมากพบว่าพฤติกรรมการเป็นพนักงานที่ดีขององค์กรนั้น ได้รับการยอมรับและทำให้การลาออกลดลง (Chughtai and Zafar (2006); Khalid and Ali (2005); Meyer et.al. (1997); Podsakoff and Mackenzie (1997)

 

7. แหล่งเงินทุนไม่ใช่เรื่องยาก: ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการที่ไม่เป็นระบบ ทำให้ธุรกิจ SMEs ส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงการจัดทำระบบบัญชีของกิจการให้ถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองเชื่อถือกันโดยทั่วไป ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินและใช้ไปของเงินได้ รวมถึงผู้ประกอบการยังมองว่าค่าใช่จ่ายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางบัญชีของกิจการนั้น เป็นค่าใช้จ่ายส่วนเกิน ที่ยังไม่สมควรจ่ายในขั้นเริ่มต้น จากสาเหตุนี้ เมื่อกิจการมีความจำเป็นจะต้องขยายกิจการ เพื่อขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน จึงพบกับอุปสรรคที่ทางสถาบันการเงินมีความไม่เชื่อถือในเอกสารทางการเงินที่กิจการนำมาแสดงประกอบเป็นหลักฐานการกู้ยืม หากผู้ประกอบการลองเปลี่ยนมุมมองความคิดใหม่ว่า ถ้าต้องการที่จะให้ธุรกิจของตนเองโตอย่างก้าวกระโดด การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ โปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ มีการวางระบบการบัญชี เมื่อกิจการมีโครงการขยายกิจการ สามารถจัดทำแผนธุรกิจที่มีความเป็นไปได้ และกู้ยืมเงินไปใช้ตามวัตถุประสงค์นั้น การได้แหล่งเงินทุนก็จะไม่ใช่เรื่องยากที่ SMEs ทำไม่ได้

 

8. หน่วยงานของรัฐพร้อมให้บริการ: จากปัญหาการจัดตั้งกิจการที่มีรูปแบบไม่เป็นทางการ ทำให้ธุรกิจ SMEs จำนวนมากไม่กล้าที่จะเปิดตัวเอง และเข้ามาใช้บริการของรัฐ เนื่องจากไม่มีการจดทะเบียนโรงงาน ไม่จดทะเบียนพาณิชย์หรือทะเบียนการค้า ไม่ยื่นเสียภาษี ไม่รักษาสิ่งแวดล้อม หรือไม่มีการรักษาความปลอดภัยที่กำหนดตามกฎหมาย หากกิจการ SMEs แค่ปรับทัศนคติตนเองใหม่เท่านั้น ตั้งแต่เริ่มต้นคิดจะดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องเป็นระบบ ให้คิดว่าธุรกิจ SMEs เป็นหน่วยเล็กย่อยๆ หน่วยงานหนึ่งเปรียบเสมือนคนๆ หนึ่งที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ดังนั้น กิจการ SMEs มีความจำเป็นที่จะต้องเชื่อมโยงเครือข่ายจากหน่วยงานต่างๆ เช่นเดียวกัน การให้บริการจากหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน มีการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมส่งเสริมการส่งออก หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เป็นต้น โดยผู้ประกอบการสามารถรับรู้ข้อมูลและใช้บริการจากหน่วยงานต่างๆ ได้ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจ SMEs มีโอกาสในการเปิดตัวและเป็นส่วนหนึ่งที่หน่วยงานเหล่านี้ได้ช่วยเหลือสนับสนุน

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ