บูรพา-อาคเนย์ : สิงคโปร์จัดการแท็กซี่แบบเก่าให้อยู่ร่วมกับ แกรป-อูเบอร์ – บัณรส บัวคลี่

บัณรส บัวคลี่

สิงคโปร์มีแท็กซี่ 4 เจ้า คือ ComfortDelGro ผู้ประกอบการรายใหญ่สุดมีส่วนแบ่งตลาด60% รองลงมาคือ Trans-Cab, Premier Taxi และ Prime Taxi ตามลำดับ ผู้ประกอบการเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากอูเบอร์ / แกรปมานาน ความเปลี่ยนแปลงเกิดจาก Trans-Cab กับ Premier Taxi เริ่มต้นคิดเพื่อขอปรับโครงสร้างอัตราค่าบริการ จนที่สุดผู้ประกอบการทุกรายก็เห็นด้วย

บัณรส บัวคลี่

สิงคโปร์เป็นประเทศแถวหน้าที่พยายามปรับตัวเองให้เข้ากับเศรษฐกิจใหม่ยุคดิจิตอล หลังจากที่หลิ่วตาให้กับธุรกิจใหม่เพื่อศึกษาพฤติกรรม และผลกระทบมานานพอสมควรจนเริ่มจะจับทางได้ ก็ได้ฤกษ์เริ่มลงมือจัดการอย่างจริงๆ จังๆ เสียที

ทางหนึ่ง เพื่อให้เศรษฐกิจใหม่ยุคดิจิตอลสามารถเริ่มต้น และรัฐก็สามารถเข้าไปควบคุมได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว

อีกทางหนึ่ง เพื่อให้ผู้ประกอบการรายเดิมไม่ล้มหายตายสูญเพราะพิษ disruptive technology อะไรที่ปรับเปลี่ยนได้ ก็ปรับปรุงระบบขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามา

ถือว่าเร็วมาก เมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียด้วยกัน และก็มีวิธีการในแบบของตนเอง

เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า ทางการได้เปิดให้ผู้ขับขี่ทั่วไปมาลงทะเบียนเพื่อขอใบอนุญาตขับขี่รถแท็กซี่แบบไม่เต็มเวลา  (Private Hire Car Driver Vocational License – PDVL) มีเงื่อนไขอยู่บ้างเช่นต้องพูดภาษาอังกฤษพื้นฐานได้ (มิฉะนั้นจะสื่อสารกับลูกค้าไม่รู้เรื่อง สิงคโปร์เป็นเมืองรับแขกอยู่แล้ว) และเงื่อนไขให้ทำประกันสังคมเป็นต้น

จากนั้นเขาก็จะอบรม และสอบเพื่อปล่อยใบอนุญาต PDVL ไปเรื่อยๆ จนถึงราวกลางปีหน้า ซึ่งอาจเกิดมีจะมีผู้ประกอบการรายใหม่ ในสาขา Digital sharing economy ขับขี่รถอูเบอร์ แกรป และแอพพลิเคชั่นลักษณะเดียวกันอีกร่วมหมื่นคน เพราะจากแค่สองสามวันแรกที่เปิดให้ลงทะเบียนก็ปาไปกว่า 5 พันคนแล้ว

ระหว่างนี้ก็ปล่อยผีให้อูเบอร์ แกรปทำมาหากินไปพลางๆ

ปัญหาของสิงคโปร์ก็เหมือนกับทุกๆ ประเทศนั่นล่ะ เพราะสตาร์ทอัพ-เศรษฐกิจใหม่ดิจิตอล กระทบกับผู้ประกอบการรายเดิม แต่สิงคโปร์เขาก็มีวิธีประนีประนอม ของใหม่มาแต่ของเก่าก็ต้องอยู่ได้

สิงคโปร์มีแท็กซี่ 4 เจ้า คือ ComfortDelGro ผู้ประกอบการรายใหญ่สุดมีส่วนแบ่งตลาด60% รองลงมาคือ Trans-Cab, Premier Taxi และ Prime Taxi ตามลำดับ ผู้ประกอบการเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากอูเบอร์ / แกรปมานาน ความเปลี่ยนแปลงเกิดจาก Trans-Cab กับ Premier Taxi เริ่มต้นคิดเพื่อขอปรับโครงสร้างอัตราค่าบริการ จนที่สุดผู้ประกอบการทุกรายก็เห็นด้วย และได้ทำหนังสือร่วมกันเสนอต่อหน่วยงานที่ชื่อว่า สภาขนส่งโดยสารสาธารณะ Public Transport Council (PTC)

มันเป็นโครงสร้างที่น่าสนใจมาก เพราะเจ้าสภาขนส่งโดยสารสาธารณะ PTC ที่ว่า มันไม่ได้เป็นหน่วยงานกำกับงานด้านการขนส่งโดยตรง หากแต่เป็นหน่วยงานที่มาจากตัวแทนฝ่ายต่างๆ ของประชาชน ทำหน้าที่สอดส่อง รายงาน และจับตาปัญหาระบบการขนส่งโดยสารสาธารณะของประเทศ โดยเฉพาะดูเรื่องอัตราค่าโดยสารต่างๆ ทั้งรถโดยสาร รถไฟฟ้าทุกชนิดที่มีให้เกิดความเป็นธรรม สื่อมวลชนเรียกว่าเป็น Public Transport Watch Dog เมื่อผ่านความเห็นดังกล่าวแล้ว จึงค่อยเป็นประกาศนโยบายจากกระทรวงขนส่ง Minister for Transport

อัตราค่าโดยสารแท็กซี่แบบใหม่ที่เพิ่งประกาศ เป็นอัตราแปรผันไปตามดีมานด์-ซัพพลายและช่วงเวลา ไม่ใช่เป็นแบบตายตัวผันแปรตามระยะทาง x เวลาแบบเดิม และน่าจะทำให้ค่าโดยสารในบางช่วงแพงขึ้นกว่าเดิม

รัฐบาลเขายอมให้กับผู้ประกอบการแท็กซี่ตามที่ขอมา เพียงแต่ย้ำว่าค่าโดยสารต้องเป็นไปตามเหตุผลคือ ตามดีมานด์-ซัพพลาย และจังหวะเวลาจริงๆ

มันเป็นหมากที่แยบยลมาก เพราะแท็กซี่เดิมพอใจ บนความคาดการณ์ว่าผู้โดยสารยังมีตัวเลือกที่มากพอ เพราะหากไม่พอใจราคาของแท็กซี่ปกติ อาจจะยังใช้บริการอูเบอร์ได้ ไม่เพียงเท่านั้นหากวิเคราะห์ลึกลงไป มาตรการที่แท็กซี่เสนออาจมีผลกระทบต่ออูเบอร์ด้วย หากว่าในจังหวะที่การจราจรหนาแน่นสูงสุดเช้า-เย็นรถติดมากๆ  แท็กซี่ที่ถูกโบกได้รับค่าบริการคุ้มค่า (คือแพงขึ้น) ขณะที่อูเบอร์ได้เท่าอัตราเดิม ไม่รู้จะคุ้มค่าเหนื่อยหรือเปล่า

สิงคโปร์นี่หาแท็กซี่ลำบากในบางช่วงเวลานะครับ ผู้เขียนเคยรอแท็กซี่ที่บริเวณที่จอดรอ (สิงคโปร์มีจุดจอดแท็กซี่ในย่านการค้า) ตอนห้างปิดคือหลัง 3 ทุ่ม รออยู่นานทีเดียวกว่าจะมา ส่วนอูเบอร์แถบดาวน์ทาวน์ก็คงหายากในตอนดึก เพราะคนส่วนใหญ่จะไปอยู่นอกเมืองกัน พวกผู้ประกอบการแท็กซี่คงคำนวณปัจจัยต่างๆ แล้วเลยเสนอโครงสร้างแบบนี้ออกมา

การแก้ปัญหาระหว่างแท็กซี่แบบเดิม กับ อูเบอร์/แกรป ของสิงคโปร์รอบนี้สะท้อนวิสัยทัศน์ของผู้บริหารประเทศเขาว่าเห็นความสำคัญของธุรกิจใหม่ยุคดิจิตอล แต่ก็พยายามปรับจูนไม่ให้มันทำลายระบบเดิม ไม่ใช่แค่นั้น รัฐยังต้องเข้าไปมีบทบาทกำกับควบคุมธุรกิจใหม่ด้วย อย่างเช่น การออกใบขับขี่รถบริการสาธารณะแบบไม่ประจำให้กับคนทั่วไป กล่าวคือจะมีทั้งพนักงานออฟฟิศ คนเกษียณอายุ คนอาชีพต่างๆ ที่หวังจะหาลำไพ่พิเศษมีรายได้เพิ่มขึ้นมา ถือเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจระดับประชาชนขึ้นมา แล้วก็ควบคุมได้หากเกิดกรณีไม่ดีไม่งามเพราะสิงคโปร์มีกล้อง CCTV เต็มทั้งเมืองอยู่แล้ว เขาแค่อบรมให้พนักงานขับมีทักษะของผู้ให้บริการขับขี่สาธารณะเพิ่มขึ้นมาเท่านั้น

ต่อไปสิงคโปร์จะมีทั้งใบอนุญาตขับขี่รถสาธารณะทั่วไปสำหรับผู้ประกอบอาชีพ กับใบขับขี่แบบไม่เต็มเวลา เปิดกว้างกันไปเลยโดยรัฐและสภาควบคุมที่มาจากผู้บริโภคเห็นชอบให้กำหนดราคาค่าตอบแทนเป็นพิเศษกว่าอีกกลุ่ม และให้พลังของตลาดคือ ดีมานด์-ซัพพลายเป็นตัวควบคุมอีกทอด

ย้อนมองดูบางประเทศ ไม่ใช่แค่ไทยประเทศเดียวหรอก ผู้ขับขี่สาธารณะสอบผ่านได้ใบอนุญาตเรียบร้อยแต่ทำมาหากินอิสระไม่ได้ เพราะป้ายทะเบียนรถถูกจำกัดจำนวน หรือไม่ก็มีค่าคิวเพื่อให้สามารถเข้าไปทำมาหากินราคาแพง ต้องกัดฟันผ่อนค่าป้าย-ค่าคิวเพื่อให้ตนเองได้ทำมาหากินได้  รัฐในบางประเทศไม่ได้คิดจะให้บริการขนส่งสาธารณะโดยมีประชาชนเป็นเป้าหมาย หากแต่มุ่งให้บริการผู้ประกอบการผูกขาดบางกลุ่มเป็นเป้าหมาย เราจึงเห็นอะไรพิลึกแปลกๆ เช่น คิวที่ยาวเหยียดตามสนามบินที่หวังจะรับนักท่องเที่ยวต่างชาติไปฟันในราคาเหมาแพงๆ  การปฏิเสธเปิดมิเตอร์ทั้งที่กฎหมายกำหนด ไปจนถึงการจับมือกับรัฐเพื่อกีดกันธุรกิจใหม่ดิจิตอลชนิดตามล้างตามล่า

คลื่นดิจิตอลและเศรษฐกิจดิจิตอลที่กำลังโถมซัดเข้ามาอยู่ตอนนี้จะมาแรงและเร็วกว่าที่หลายคนคาด จากนี้ไปจะมีผู้ที่เกาะกระแสคลื่นไปได้ และจะมีกลุ่มที่ถูกพัดพาทำลายล้างไป

ไม่ต้องบอกใช่ไหมว่าพวกที่ไหนที่จะถูกทำลายล้าง.

 

คลิกอ่านประกอบ

Taxi companies get green light to implement dynamic pricing system  http://www.straitstimes.com/singapore/transport/authorities-give-taxi-companies-green-light-to-implement-surge-pricing-system

 

 

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ