บูรพา-อาคเนย์ ตอนแรงงานพม่า หลังอองซานซูจีมาชวนกลับบ้าน : บัณรส บัวคลี่

บัณรส บัวคลี่

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าแรงงานพม่า-มอญที่มหาชัย (รวมไปถึงปริมณฑลภาคกลาง) จะเฮโลสาระพาหิ้วกระเป๋ากลับไปพม่าทันทีทันใด แล้วประเทศไทยก็จะเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานในบางเซ็กเมนท์กะทันหัน

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าแรงงานพม่า-มอญที่มหาชัย (รวมไปถึงปริมณฑลภาคกลาง) จะเฮโลสาระพาหิ้วกระเป๋ากลับไปพม่าทันทีทันใด แล้วประเทศไทยก็จะเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานในบางเซ็กเมนท์กะทันหัน

แรงงานไทย กับ แรงงานพม่า เป็นปัญหาที่ฟังคล้ายๆ กันว่าเป็นคนละเรื่อง แต่ที่แท้แล้วเป็นเรื่องเดียวกัน สิ่งที่ควรพิจารณาไม่ใช่เรื่องเฉพาะหน้าซึ่งก็แค่เป็นกระแสข่าวประเดี๋ยวประด๋าว  หากแต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากที่จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในระยะ 10 ปีจากนี้

มันเป็นปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ทิศทางนโยบาย  ว่ารัฐไทยจะเอาอย่างไร และไปทางไหน

10 ปีจากนี้ โครงสร้างประชากรของไทยจะยิ่งมีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากขึ้น ต่อให้มีการเร่งอัตราการเพิ่มของประชากรแบบพรวดพราดกันวันนี้ แต่ประชากรใหม่ในอีก 10 ปีก็จะยังเป็นแค่เด็กเยาวชน สัดส่วนของกำลังแรงงานจะลดลงอย่างแน่นอน …แปลอีกทีว่า หากไทยยังมีขนาดของเศรษฐกิจในระดับนี้ ก็จำเป็นจะต้องอาศัยกำลังแรงงานหนุ่มสาววัยฉกรรจ์อายุต่ำกว่า 50 ปีอีกจำนวนหนึ่ง….แรงงานเหล่านี้จะหามาจากไหน?

10 ปีจากนี้ อุตสาหกรรมตะวันตกดินที่ใช้แรงงานพื้นฐานเชิงปริมาณ Labor Intensive ของไทยคงจะหมดสิ้นไปตามธรรมชาติ อุตสาหกรรมใช้แรงงานเหล่านี้ย้ายฐานไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่ต้นทุนค่าจ้างถูกกว่า อย่างเวียดนาม พม่า เขมร อย่างแน่นอน พม่าเขาประกาศอัตราค่าแรงขั้นต่ำเมื่อปีกลาย วันละ 3600 จ๊าต หรือประมาณ 100 กว่าบาทนิดๆ ถูกกว่าของเรา 1 ใน 3 ส่วนเงินเดือนของเสมียนคนทำงานในเวียดนามตอนนี้ก็ราวๆ 5,500 บาทไทย ถูกกว่ากัน 1 ใน 3 เช่นเดียวกัน

ต่อให้อองซานซูจีไม่มาชวน ก็ไม่แน่ว่าต่อไปอุตสาหกรรมใช้แรงงานของไทยก็จะล้มหายไปเอง และแรงงานต่างด้าวจำนวนหนึ่งก็ต้องกลับบ้านอยู่แล้ว

สิ่งที่รัฐไทยและภาคเอกชนไทยน่าจะคิดทำจริงๆ ก็คือ การดึงให้แรงงานทักษะฝีมือ (Skill Labor) อยู่ต่อในระหว่างการปรับโครงสร้างและยกระดับภาคอุตสาหกรรมของไทยรองรับอนาคตในทศวรรษหน้า

หลักการเรื่องพวกนี้ที่จริงทั้งภาครัฐภาคเอกชนคิดทำกันอยู่แล้ว แม้กระทั่งยุทธศาสตร์ไปสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ SEZ ตามแนวพรมแดนเพื่อตรึงอุตสาหกรรมและการลงทุนใช้แรงงานเชิงปริมาณเราก็ทำกันอยู่

ประเทศเราสังคมผู้สูงอายุแล้ว มีความจำเป็นต้องการแรงงานมาเสริมกำลังแรงงานวัยทำงานที่จะลดลง แต่แรงงานที่จะมาเสริมควรจะเป็นกลุ่มคุณภาพ ฝีมือ ถูกกฎหมาย ส่วนแรงงานลักลอบ ไร้ฝีมือ คุณภาพต่ำ หรือเป็นอาชญากรแฝงเราไม่ต้องการหรอก เรื่องเหล่านี้เราก็รู้กันดี

แต่ปมปัญหาอีกเราต้องคิดให้มากๆ ก็คือ พม่าเองก็ต้องการแรงงานทักษะฝีมือกลับไปพัฒนาบ้านเขา ไปๆ มาๆ พวกที่ถูกชักชวนให้กลับพม่าไปพัฒนาบ้านเกิดเป็นพวกทักษะฝีมือ เหลือทิ้งแต่พวกเชิงปริมาณค่าจ้างรายวันกองอยู่แถว SEZ พรมแดนอย่างที่แม่สอด ก็ไม่ไหวเหมือนกัน

อองซานซูจี เอ่ยปากชักชวนแรงงานพม่ากลับประเทศ ไม่ได้เป็นปาหี่ อีเวนท์กลวงๆ หรือแค่โปรโมทกระแสนิยมทางการเมืองดอกเลยครับ แต่พม่าโตจริงๆ และแนวโน้มชัดเจนว่าเขาต้องการแรงงานจำนวนมากในอนาคตจริงๆ

พม่ามีบีโอไอเหมือนกัน เรียกว่า DIRECTORATE OF INVESTMENT AND COMPANY ADMINISTRATION– DICA คลิกไปดูข้อมูลในเว็บไซต์ของเขา http://www.dica.gov.mm/en/why-invest-myanmar  เห็นสถิติการขยายตัวของการลงทุนต่างประเทศ จะเห็นได้ชัดเจนว่าเขาต้องการแรงงานไปรองรับการขยายตัวจริงๆ

นับแต่ปี 2011 ที่มีการปฏิรูปการเมือง GDP Growth พม่าไต่ระดับอย่าน่าตื่นตามาก 2012-7.3%  2013-8.4% 2014-8.5%  2015-8.5% แล้วก็คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตจะเป็นเช่นนี้คือเกิน 7% ไปจนถึงปี 2020 โน่น

ยุทธศาสตร์ทางนโยบายของเขาก็ชัดเจนว่าจะมีการปฏิรูปเศรษฐกิจ รัฐบาลเพิ่งอนุมัติธนาคารต่างชาติมาทำธุรกิจในประเทศ เพิ่งเปิดตลาดหลักทรัพย์ เปิดกว้างทางด้านการท่องเที่ยวดึงเงินตราต่างประเทศ แล้วก็มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ SEZ พร้อมๆ กัน 3 พื้นที่คือที่ ติวาลา-ตอนใต้ของย่างกุ้ง  จ๊อกผิว-รัฐยะไข่ และเขตอุตสาหกรรมทวาย-รัฐตะนาวศรี การวางแผนเปิด SEZ 3 แห่งดังกล่าวสะท้อนวิธีคิดและการวางแผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของพม่าชัดเจนมาก จ๊อกผิวที่ยะไข่ ร่วมทุนกับจีน เพราะจีนมีผลประโยชน์บริเวณดังกล่าวทั้งท่าเรือและท่อก๊าซข้ามประเทศต่อไปถึงยูนนาน ส่วนที่ติวาลา Thilawa นั้นคนไทยอาจไม่คุ้นชื่อ จุดดังกล่าวเป็นชายทะเลตอนใต้จากย่างกุ้งราว 25 ไมล์ เป็นเขตมอญเก่าคนไทยรู้จักในชื่อว่าเมืองสิเรียม นิคมแห่งนี้ญี่ปุ่นโดย JICA เป็นผู้ลงทุนหลัก และเริ่มเปิดดำเนินการแล้ว ญี่ปุ่นเอาจริงมากระดมการลงทุนไปไม่น้อยเช่นโรงงานประกอบรถมอเตอร์ไซด์ เป็นต้น ส่วนที่ทวายเราก็รู้กันมาก่อนว่าแรกทีเดียวเป็นรัฐบาลไทยและทุนไทยเป็นหลัก ต่อมาล่าช้าพม่าจึงดึงเอาญี่ปุ่นมาเสริม  โดยภาพรวมแล้วพม่าเขาดุลผลประโยชน์ระหว่างจีน ญี่ปุ่น และไทย ให้แข่งกันลงในบ้านเขา

จะเห็นได้ชัดเจนว่ายุทธศาสตร์ผลประโยชน์ของรัฐบาลพม่าที่ต่อเนื่องกันมาจากยุคเต็งเส่งถึงยุคถิ่นจอ-ซูจี ไม่ได้ขาดตอนหรือพลิกเปลี่ยนอะไร พม่ามีแบบแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ชัดเจนส่งมอบกันมา

ด้วยภาพรวมลักษณะดังกล่าว มันจึงไม่แปลกอะไรที่อองซานซูจีจะเดินทางไปพบแรงงานคนบ้านตัวเองชักชวนให้กลับไปพัฒนาประเทศ ที่สำคัญคือแรงงานพม่าในไทยจำนวนไม่น้อยเป็นแรงงานทักษะฝีมือด้วยน่ะสิครับ  ถ้าลองได้ค่าจ้างต่ำกว่าในไทยไม่กี่เปอร์เซ็นต์ มีความมั่นคงในชีวิต มีคุณภาพชีวิตที่ดีพอสมควร ก็ไม่แน่นะ…ที่เขาอาจจะตัดสินใจย้ายกลับ

ที่ผ่านๆ มารัฐไทยและสังคมไทยปฏิบัติต่อแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านดีแค่ไหน เราท่านก็รู้ๆ กันอยู่ ผู้เขียนได้ทราบข้อมูลจริงในพื้นที่ว่าสังคมไทยไม่ค่อยได้จำแนกแรงงานต่างด้าวว่าเป็นกลุ่มที่เข้ามาแบบถูกกฎหมาย เป็นแรงงานทักษะฝีมือ หรือเป็นพวกลักลอบ เข้ามาใช้แรงเอาดาบหน้า เจ้าหน้าที่ด่านตรวจตราบนถนนสายหลักแถวพรมแดนบางแห่งแค่รู้ว่าเป็นต่างด้าวต่อให้มีเอกสารพาสปอร์ตและใบอนุญาตทำงานก็ยังจะไถเงิน ขอค่าอำนวยความสะดวก ปฏิบัติกับเขาไม่ต่างไปจากกลุ่มหลบหนีเข้าเมืองด้วยซ้ำไป  หรือกระทั่งความสะดวกในเรื่องเอกสารที่จะไปต่ออายุแต่ละครั้งช่างยุ่งยาก ไม่เหมือนกับจ้างเอเยนซี่เดินเอกสารให้ แพงกว่ากันเกือบ 3 เท่าตัว แต่ราชการไทยอำนวยความสะดวกไม่นานก็เสร็จ

การปฏิบัติให้ยุ่งยากเข้าไว้แบบเหมารวมดังที่กล่าวตัวอย่างมา ก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะผลักให้แรงงานเพื่อนบ้านเหล่านั้นตัดสินใจกลับบ้านไปตามคำชักชวน

พร้อมๆ กันนั้น ผู้คนในสังคมไทยจำนวนไม่น้อยที่ยังมีภาพมองแรงงานเพื่อนบ้านโดยเฉพาะพม่าในด้านเดียวล้วนๆ คือด้านลบ ไม่ได้จำแนกด้วยซ้ำว่า มีพวกที่จบปริญญาพูดภาษาอังกฤษทำงานในกิจการมั่นคง พวกที่เป็นทักษะฝีมือบริษัทถึงกับขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนและเดินเรื่องต่ออายุใบอนุญาตทำงานให้เนื่องจากเป็นทรัพยากรสำคัญ  … แต่คนในสังคมจำนวนไม่น้อยก็ยังเหมารวมปนๆ ไป ว่าเป็นพวกที่เข้ามาแย่งงานแย่งทรัพยากรก่อเกิดปัญหาสังคม ฯลฯ

ที่ล้วนแต่ต้องรีบให้ไปให้พ้นๆ ให้หมด!

ทัศนคติ ความรับรู้และความคิดของผู้คนในสังคมก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะกำหนดว่า ในอีก 10 ปีประเทศของเราจะอยู่ในจุดใด ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ ผู้คน และสังคมอย่างขนานใหญ่ของภูมิภาคนี้

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ