บูรพา-อาคเนย์ : เมื่อรัฐบาลอินโดนีเซียฟ้องบริษัทก่อมลพิษควันไฟ : บัณรส บัวคลี่

บัณรส บัวคลี่

บริษัท PT National Sago Prima (NSP) ยักษ์ใหญ่ผลิตแป้งสาคูของอินโดนีเซีย เพิ่งแพ้คดีที่รัฐบาลอินโดนีเซีย โดยประธานาธิบดีโจโค วิโดโด เป็นโจทย์กรณีก่อมลพิษควันไฟในเกาะสุมาตราเมื่อปี 2014 คำฟ้องระบุว่าบริษัทแห่งนี้ปล่อยปละไม่มีมาตรการและอุปกรณ์ป้องกันเหตุเพลิงไหม้ในแปลงเกษตรของตน ซ้ำเติมปัญหามลพิษฝุ่นควันซึ่งเกิดขึ้นประจำทุกปี สาเหตุหลักของไฟไหม้มาจากกิจการพืชเกษตรที่ลดต้นทุนการเตรียมแปลงพื้นที่ปลูกด้วยวิธีการเผาซึ่งง่ายที่สุดแต่เป็นวิธีการที่กฎหมายห้ามไว้

บริษัท  PT National Sago Prima (NSP) ยักษ์ใหญ่ผลิตแป้งสาคูของอินโดนีเซีย เพิ่งแพ้คดีที่รัฐบาลอินโดนีเซีย โดยประธานาธิบดีโจโค วิโดโด เป็นโจทย์กรณีก่อมลพิษควันไฟในเกาะสุมาตราเมื่อปี 2014 คำฟ้องระบุว่าบริษัทแห่งนี้ปล่อยปละไม่มีมาตรการและอุปกรณ์ป้องกันเหตุเพลิงไหม้ในแปลงเกษตรของตน ซ้ำเติมปัญหามลพิษฝุ่นควันซึ่งเกิดขึ้นประจำทุกปี สาเหตุหลักของไฟไหม้มาจากกิจการพืชเกษตรที่ลดต้นทุนการเตรียมแปลงพื้นที่ปลูกด้วยวิธีการเผาซึ่งง่ายที่สุดแต่เป็นวิธีการที่กฎหมายห้ามไว้

บริษัท NSP โดยต้องจ่ายค่าปรับก้อนใหญ่ที่สะเทือนถึงสถานะการเงินชนิดที่หนักหนาสาหัสถึง 1 ล้านล้านรูเปียะ หรือประมาณ 76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2,585 ล้านบาท)

นี่ไม่ใช่แค่เป็นการเชือดไก่ให้ลิงดูเท่านั้น

หากยังเป็นการประกาศดังๆ ไปยังบรรษัทยักษ์ใหญ่ด้านเกษตร ไม่ว่ากิจการปาล์มน้ำมันหรือเยื่อกระดาษอีก 4-5 รายที่ถูกเพ่งเล็งว่าก่อมลพิษฝุ่นควันไฟป่า และยังส่งสัญญาณข้ามช่องแคบมะละกาไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน สิงคโปร์ มาเลเซีย ว่านับจากนี้รัฐบาลอินโดนีเซียเอาจริงแล้วนะ

ความสัมพันธ์ระหว่างอินโดนีเซียกับเพื่อนบ้าน สิงคโปร์ มาเลเซียในเรื่องปัญหาฝุ่นควันไฟป่าย่ำแย่มาโดยตลอดในหลายปีหลัง เฉพาะปี 2014-2015 ซึ่งปัญหาลุกลามสูงสุดควันไฟยังเคยแผ่ขึ้นมาถึงจังหวัดสุราษฏร์ธานีของประเทศไทยเราด้วยซ้ำไป

ประเด็นฝุ่นควันไฟเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นเพราะมันกระเทือนถึงผลประโยชน์ของชาติเพื่อนบ้าน อย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย ซึ่งควรจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวก็พลอยเสียหายจากสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ก่อ มิหนำซ้ำยังมาเจอวาทะของ Jusuf Kalla รองประธานาธิบดีอิเหนาที่พูดเหมือนไม่รับผิดชอบอะไรว่า “เป็นเวลาถึง 11 เดือนที่พวกเขา (สิงคโปร์-มาเลเซีย) มีความสุขสดชื่นจากอากาศบริสุทธิ์ที่พัดจากอินโดนีเซีย พวกเขาไม่เคยขอบคุณเราเลย ก็แค่เวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้นที่พวกเขาเดือดร้อนจากฝุ่นควัน”

รัฐบาลสิงคโปร์จึงตัดสินใจใช้ไม้แข็งฟ้องร้อง 5 บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่อินโดนีเซีย เมื่อกลางปีก่อน จากนั้นในราวปลายปี ก็เกิดการปะทะคารมข้ามประเทศระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมสิงคโปร์ กับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอินโดนีเซีย เป็นข่าวฮือฮาของอาเซียนพอสมควรเพราะปกติจะไม่มีคนระดับรัฐมนตรีเพื่อนบ้านปะทะคารมตรงๆ กันแบบนี้ (คลิกอ่าน ฝุ่นควันไฟอาเซียน ตอน การปะทะคารม (อีกครั้ง) ระหว่างสิงคโปร์-อินโดนีเซีย  https://www.smartsme.co.th/content/29894 )

ซึ่งหากมองในแง่การชิงไหวชิงพริบของประเทศที่ถูกเพื่อนบ้านเขม่น ขนาดสิงคโปร์ยื่นฟ้องร้องศาลเพื่อจะเอาผิดกับผู้ก่อมลพิษเอง แบบที่ไม่สนว่ารัฐบาลอินโดนีเซียจะรู้สึกอย่างไร  การที่รัฐบาลอินโดนีเซียชิงฟ้องเอาผิดบริษัทเอกชนของตนเองเสียก่อน ถือเป็นการรักษาหน้าประเทศของตัวไว้ได้พอสมควร ดีกว่ารอให้ศาลสิงคโปร์สั่งเอาผิดบริษัทเอกชนของตนเอง (บริษัทพวกนี้บางรายมีสำนักงานในสิงคโปร์ด้วย) ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น อินโดนีเซียจะเสียหน้ามาก

sumatra_tmo_09mar05

อีกเดือนสองเดือนนับจากนี้ จะเข้าสู่ฤดูฝุ่นควันไฟป่าของสุมาตรา-กาลิมันตันอีกคำรบ แต่ปีนี้อาจจะไม่เหมือนกับสองปีที่ผ่านมาเพราะรัฐบาลกลางอินโดนีเซียส่งสัญญาณเอาจริงกับการเผา ระบบการบริหารราชการของอินโดนีเซียจะให้อำนาจรัฐบาลท้องถิ่นในการดูแลปัญหาก่อนเป็นเบื้องต้นหากลุกไหม้รุนแรงจึงค่อยประกาศเขตภัยพิบัติสถานการณ์ฉุกเฉินจึงค่อยเป็นอำนาจของรัฐบาลกลาง ซึ่งกลไกดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ การเผาในแปลงเกษตรเกิดขึ้นตำตาเพราะเจ้าหน้าที่รัฐปล่อยปละละเลย

สถานการณ์ปัญหาฝุ่นควันไฟจากอินโดนีเซีย เป็นหนึ่งในปัญหาหลักข้ามพรมแดนของอาเซียน เกิดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายนของหลายปีย้อนหลัง  ขณะที่ชาติอาเซียนตอนบน ไทย ลาว พม่า ทางตอนเหนือก็ประสบปัญหาฝุ่นควันไฟข้ามพรมแดนเช่นกัน หากแต่มักเกิดในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายนของทุกปี

ปัญหาของฝุ่นควันในตอนใต้ดูจะหนักหนาและมีผลกระทบมากกว่าเพราะเป็นพื้นที่เมืองหลวง และเขตเศรษฐกิจ ผู้คนหนาแน่น จึงเกิดการกดดันให้รัฐบาลกลางแก้ปัญหา และใช้มาตรการเด็ดขาดอย่างเช่นการฟ้องร้องต่อศาลและปรับเงินมูลค่ามหาศาลที่อาจจะทำให้บริษัทถึงกับล้มกิจการได้เลย แต่สำหรับปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่ภาคเหนือของไทย ลาว พม่ากลับแตกต่างออกไป เพราะในลาวและพม่าเป็นเขตกสิกรรม ป่าเขาที่รัฐบาลอยากจะพัฒนาให้เป็นแปลงเกษตรอยู่ก่อนแล้ว วิธีการง่ายที่สุดสำหรับการเตรียมพื้นที่ก็คือการเผา ดังที่เราจะได้เห็นจากจุดความร้อน (Hot spot) จากภาพถ่ายดาวเทียมให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพื้นที่เหล่านั้นติดกับพรมแดนไทย เพราะจะสามารถลำเลียงผลผลิตมายังตลาดได้

มีแต่ประเทศไทยตอนบนเท่านั้นที่เผชิญกับปัญหาฝุ่นควัน เพราะเป็นเขตที่มีผู้คนอาศัยหนาแน่น ทั้งยังมีเมืองท่องเที่ยวหลายเมือง ฝุ่นควันที่ประเทศไทยประสบก็เหมือนกับชาติอาเซียนอื่น นั่นก็คือมีเหตุมาจากแปลงเกษตรเป็นปัจจัยหลัก

แต่รัฐบาลไทยไม่เคยถูกกดดันเหมือนอินโดนีเซียที่ถูกเพื่อนบ้านจี้ไชให้เร่งแก้ปัญหา รัฐบาลไทยจึงไม่คิดจะเลือกใช้วิธีการฟ้องร้องบริษัทเอกชนหรือกิจการเกษตรกรรมที่ก่อมลพิษ แบบที่อินโดนีเซียหยิบขึ้นมาใช้

ฝุ่นควันไฟเป็นปัญหาร่วมกันของชาติอาเซียน ที่เราต่างจะต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าวอยู่ต่อไปอีก ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย พม่า ลาว ที่ต่างเผชิญกับปัญหาในบริบทที่แตกต่างกัน บ้างก็เป็นผู้ก่อมลพิษ บ้างเป็นแค่ผู้รับผลกระทบ และบ้างก็เป็นทั้งประเทศที่ก่อเองและรับผลเอง มาตรการฟ้องร้องเอกชนผู้ก่อมลพิษ เป็นมาตรการใหม่สุดที่น่าสนใจทีเดียว

ฤดูฝุ่นควันอาเซียนตอนใต้ที่กำลังเริ่มในเดือนข้างหน้ากำลังจะมาถึง มารอดูกันว่าการฟ้องค่าเสียหายเป็นพันล้านบาทจะมีผลบรรเทาสถานการณ์ให้ดีขึ้นแค่ไหน-อย่างไร

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ