บูรพา-อาคเนย์ : Airbnb กำลังเติบโตที่สิงคโปร์ : บัณรส บัวคลี่

บัณรส บัวคลี่
12115965_792817900828443_2998394679730160945_n
บัณรส บัวคลี่

 

 

 

 

 

 

 

……..เมื่อปีกลายหรือก่อนหน้านั้นไป… ธุรกิจใหม่ห้องแบ่งเช่าอย่าง Airbnb ยังเป็นของใหม่อยู่ในสิงคโปร์ ประเทศเล็กๆ ที่ทุกอย่างแออัดไปหมด เพราะพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชนชาวเมืองลอดช่องโดยทั่วไปมักจะเป็นห้องชุดที่ต้องใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกันแบบกระเบียดกระเสียรอยู่เดิมแล้ว มันยากที่จะมีใครสักคนเปิดห้องตัวเองให้กับนักท่องเที่ยวแปลกหน้า สับเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาใช้พื้นที่ในแฟลตที่มีเพื่อนบ้านอยู่รายรอบแล้วไม่เกิดปัญหาใดๆ

ห้องแบ่งเช่าระยะสั้น Airbnb เป็นประเด็นหัวข้อถกเถียงในสังคมสิงคโปร์มานานพอสมควร แต่ธุรกิจใหม่ที่เปิดโอกาสให้กับปัจเจกชนเจ้าของอสังหาริมทรัพย์รายย่อยชนิดนี้ก็เติบโตเอาๆ อย่างน่าสนใจ

หนังสือพิมพ์สเตรทไทม์ ฉบับ 6 ธันวาคมที่ผ่านมาไปสัมภาษณ์นาย Julian Persaud ผู้อำนวยการของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคของ Airbnb แล้วก็ขึ้นพาดหัวสกู๊ปว่า… Average Singapore Airbnb host ‘makes about $5,000 a year’ — โดยเฉลี่ยชาวสิงคโปร์มีรายรับจากห้องแบ่งเช่า Airbnb ปีละ 5 พันเหรียญสิงคโปร์ หรือประมาณ 1.25 แสนบาท

ถ้าคิดว่ามันเป็นรายได้พิเศษแล้ว นี่เป็นตัวเลขที่น่าสนใจทีเดียว!

Airbnb06

 

และที่น่าสนใจกว่าก็คือ ทั้งๆ ที่การให้แบ่งเช่าห้องระยะสั้นต่ำกว่า 6 เดือนยังเป็นเรื่องที่กฎหมายสิงคโปร์ไม่ได้อนุญาตด้วยซ้ำไป ซึ่งนี่เป็นไม่กี่อย่างที่เจ้าหน้าที่รัฐของประเทศที่เข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายสุดๆ จะแกล้งหลับตาข้างหนึ่ง เหมือนกับว่ายังไม่รู้จะจัดการอย่างไรดีกับ New Business Model ที่เพิ่งจะเข้ามา

สถิติที่ Airbnb เอามาโชว์บอกว่า มีคนสิงคโปร์เอาที่พักของตนมาเข้าระบบแล้วถึง 7 พันรายการ สถิติการเข้าพักเฉลี่ยที่แต่ละรายได้ลูกค้าคือ 45 วัน/ปี และเขาเหล่านั้นได้รับรายได้เฉลี่ย 5 พันเหรียญสิงคโปร์จากลูกค้ากว่า 2.4 แสนคน/ปี ราคาห้องพักเฉลี่ยแล้วตกคืนละ 2 พันกว่าบาทไทย

ลองคลิกเข้าไปค้นหาห้องพัก Airbnb ในสิงคโปร์ ก็จะเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่า ห้องพักที่เขาเอามารับแขกส่วนใหญ่เป็นห้องชุดอพาร์ทเมนท์ มีทั้งแบบเล็กๆ ธรรมดาและแบบหรูหรา ราคามีตั้งแต่ราว 500 บาทต่อคืนไปถึงกว่า 3 พันบาท หรือแพงกว่านั้น โฆษณาและทำธุรกิจกันอย่างเปิดเผย

ผมลองค้นลึกลงไปอีก ไปดูห้องสนทนาของชาวสิงคโปเรี่ยน แล้วก็พบว่ามีคนที่สนใจหาข้อมูลการหารายได้พิเศษแบบนี้เยอะ ถามกันตรงๆ ว่ามันผิดกฎหมายหรือเปล่า แล้วก็มีคนไปตอบว่ากฎหมายยังไม่อนุญาตแต่ก็ทำกัน เพราะแนวโน้มเริ่มชัดว่ารัฐบาลจะไฟเขียว แต่บ้างก็เอาข้อมูลมาบอกว่ามีผู้ที่ถูกยึดห้องเพราะทำผิดกฎ (แปลว่าปล่อยให้เขาเช่าแล้วเกิดปัญหากับเพื่อนบ้านจนการเคหะของสิงคโปร์หรือ HBD ต้องบังคับใช้กฎหมาย)

หน่วยงานการเคหะฯ หรือ HBD ของเขาก็มีการลงโทษผู้กระทำผิดกฎ ตัวอย่างเช่นกรณีนี้ :- Two lose HDB flats for renting them to tourists  แต่นั่นก็เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน

การที่ธุรกิจนี้เติบโตขึ้นๆ ในภาพรวม แบบที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่กล้าจะลงดาบทั้งๆ ที่มันผิดกฎหมาย เพราะว่า รัฐบาลสิงคโปร์อยู่ระหว่างการพิจารณาอย่างจริงจัง และก็มีแนวโน้มสูงมากที่รัฐบาลของลีเซียนลุง จะไฟเขียว Airbnb ตลอดถึงธุรกิจใหม่อย่าง Uber หรือกิจการค้าออนไลน์เถาเป่า taobao ให้ชัดเจนกันไป

Uber เกิดมาแย่งอาชีพแท็กซี่อย่างชัดเจน และก็น่าจะเกิดยากในเมืองที่กฎหมายจราจรเข้มงวดอย่างสิงคโปร์ แต่ก็ยังเกิดได้ เพียงแต่คนขับอาจจะต้องมีใบอนุญาตขับขี่สาธารณะชนิด Class 3/3A ที่ต่างจากคนทั่วไปเท่านั้นกระมัง ผู้ที่นิยมบริการนี้คงจะต้องการความสะดวกกว่าแท็กซี่ทั่วไปที่ไม่ได้ร่อนขับหาผู้โดยสารเหมือนบ้านเรา บางจุดโบกได้แต่ถนนบางสายต้องไปรอที่จุดจอดแท็กซี่เท่านั้น ผู้เขียนเคยรอแท็กซี่สิงคโปร์ที่จุดจอดหน้าห้างสรรพสินค้าหนึ่งอยู่นานทีเดียว ซึ่งนี่อาจเป็นช่องโหว่ให้ Uber โจมตี

ส่วนการค้าออนไลน์เถาเป่านั้นก็กำลังเป็นที่นิยม และน่าแปลกที่เถาเป่ามีภาษีเหนือกว่า Lazada ที่เป็นยี่ห้อฮิตในประเทศเพื่อนบ้าน อันที่จริงห้างสรรพสินค้าท้องถิ่นก็ยังเป็นศูนย์กลางกิจกรรมของชาวสิงคโปร์อยู่ เพราะเขามีพื้นที่น้อย แหล่งพักผ่อนนอกบ้านแทบไม่มี นึกอะไรไม่ออกก็ไปห้างสรรพสินค้า แต่ทว่าในภาพรวมธุรกิจห้างสรรพสินค้ากำลังตกต่ำลง อย่างห้างย่านออร์ชาร์ดที่เน้นนักท่องเที่ยวต่างชาติกำลังย่ำแย่มาก

นายกรัฐมนตรี ลีเซียนลุง เป็นคนทันสมัย เท่าทันเทคโนโลยีและมองการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างใส่ใจ เขาเอ่ยถึง Airbnb /Uber  มาหลายครั้งแล้วว่า ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของโลกที่มีเทคโนโลยีหรือธุรกิจใหม่ที่อาจจะทำลายของเดิมลง ก็ต้องรีบปรับตัวรับกันมัน ลีเซียนลุงยังพูดเรื่องนี้ในการประชุม APEC ที่เปรูเมื่อเดือนตุลาคม และก่อนหน้านั้นเขาก็มีสปีชแสดงวิสัยทัศน์ว่าด้วยเศรษฐกิจและงานอาชีพของชาวสิงคโปเรี่ยนในวันแรงงานเมย์เดย์ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ปาฐกถาครั้งนั้นชัดเจนอย่างยิ่งว่านายกรัฐมนตรีลีเซียนลุงได้มองเห็นโอกาสในความเปลี่ยนแปลงใหญ่ของเทคโนโลยีใหม่ทำลายของเก่าที่เรียกกันว่า disrubtors ทางหนึ่งต้องเปิดให้แข่งขันอย่างเป็นธรรมระหว่างของเก่ากับของใหม่ และอีกทางหนึ่งให้ของเก่าได้เร่งปรับตัวรับกับสภาพเปลี่ยนแปลงใหม่ อันหมายถึง ธุรกิจโรงแรมและห้องพักแบบเดิม รวมไปถึงบริการแท็กซี่และขนส่งสาธารณะแบบเดิมที่มีอยู่

                สื่ออย่างสเตรทไทม์ ก็ยังเชื่อว่านี่เป็นสัญญาณไฟเขียวจากรัฐบาลให้กับ Airbnb รวมถึงธุรกิจที่เป็น New Model ทั้งหลาย

 

Average Singapore Airbnb host ‘makes about $5,000 a year’  

http://www.straitstimes.com/singapore/housing/average-singapore-airbnb-host-makes-about-5000-a-year

สปีชแสดงวิสัยทัศน์ว่าด้วยเศรษฐกิจและงานอาชีพ

http://www.straitstimes.com/singapore/manpower/7-things-about-pm-lee-hsien-loongs-may-day-rally-speech

http://news.asiaone.com/news/singapore/two-lose-hdb-flats-renting-them-tourists

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ