บัณรส บัวคลี่
ไม่น่าเชื่อว่าโทรศัพท์สมาร์ทโฟนสัญชาติจีนอย่างหัวเว่ย P9 จะกลายเป็นหัวข้อสนทนาในวงคุยโซเชียลมีเดียเทียบเคียงคุณภาพกับสองผู้นำเดิม แอปเปิ้ล-ซัมซุง ชนิดไหล่กระแทกไหล่…ข้อเท็จจริงเรื่องคุณภาพจะเปรียบเทียบกันแบบไหนก็เรื่องหนึ่ง แต่ที่น่าสนใจก็คือทันทีที่มีการหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาถกเถียง ก็เท่ากับได้ยอมรับโดยนัยว่าแบรนด์ของจีนได้ขยับขึ้นมาเทียบชั้นคุณภาพกับแบรนด์ระดับโลกไปเรียบร้อยแล้ว
ไม่ใช่แค่ปรากฏการณ์ในไทยเท่านั้น เพราะข้อเท็จจริงก็บอกชัด การจัดอันดับล่าสุด หัวเว่ย เป็นแบรนด์สินค้าเทคโนโลยีสัญชาติจีนที่ขยับขึ้นเป็นท็อป 100 ของโลกไปแล้ว เมื่อมองย้อนทบทวนการก้าวขยับขึ้นมาแถวหน้าของแบรนด์จีน ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโชคช่วย หากแต่เป็นผลจากการกำหนดยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี และการทุ่มเททำงานหนักภายใต้กรอบนโยบายที่รัฐบาลจีนประกาศออกมาอย่างเป็นทางการเรียกว่า Made In China 2025 Strategies
แผนดังกล่าวถูกประกาศออกมาเมื่อกลางปี 2015 กำหนดเป้าหมายบรรลุผลสำเร็จภายใน 10 ปี นี่เป็นแผนยุทธศาสตร์พร้อมกับแผนปฏิบัติที่อาจกล่าวว่าสะเทือนเศรษฐกิจโลกทั้งใบ เพราะขนาดเศรษฐกิจจีนใหญ่เป็นอันดับสองพลิกกายที่โลกก็สะเทือน ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศแผน Made in China 2025 ระบบเศรษฐกิจจีนส่วนใหญ่ยังเป็นแค่ผู้ผลิต หรือ ผู้รับจ้างผลิต ไม่มีแบรนด์ใหญ่ๆ ระดับโลกของตัวเองแต่หลังจากนี้ผู้ประกอบการจีนต้องพยายามสร้างแบรนด์ของตนเองขึ้นมา แทรกตัวอยู่แถวหน้าของโลก ซึ่งนั่นหมายถึงการต้องถีบตนเองในด้านคุณภาพให้เกิดการยอมรับพร้อมกันไปในตัว ยุทธวิธีหนึ่งก็คือ สินค้าคุณภาพ (และแบรนด์) จีนจะเดินทางออกนอกประเทศควบคู่กับการบุกเบิกเส้นทางสายไหมยุคใหม่ที่รู้จักกันในนาม หนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทาง
น่าสังเกตนะครับ หลังจากที่รัฐบาลจีนประกาศยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า บรรดาแบรนด์หัวรถจักรก็ขยับกันเป็นการใหญ่ หัวเว่ย มาเปิดตัวสำนักงานใหญ่อาเซียนที่กรุงเทพฯ เมื่อพฤษภาคมปีที่แล้ว ดูจากภาพข่าวเก่ามีรองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ไปร่วมพิธีเปิด ฮับที่กรุงเทพฯจะคลุมไปถึงอินเดีย เนปาล ศรีลังกา มาเก๊า ไต้หวัน ที่สำนักงานดังกล่าว มี ศูนย์นวัตกรรมและการเรียนรู้ CSIC (Customer Solution Innovation and Integration Experience Center – CSIC) ขนเอาเทคโนโลยีชั้นนำไม่แพ้ยักษ์ใหญ่ของโลกมาโชว์ ซึ่งเป็นอะไรที่แสดงถึงความมุ่งมั่นจะสร้างแบรนด์อินเตอร์ฯ ของกิจการจีนยี่ห้อนี้
ไม่รู้เกี่ยวกันหรือไม่ แต่ผลจากการนั้นอีกหนึ่งปีถัดมาหัวเว่ยประเทศไทยก็ผงาดยืนขึ้นแถวหน้า กลายเป็นยี่ห้อสินค้าเทคโนโลยีชั้นนำที่ใครจะดูถูกไม่ได้ แค่วงวิจารณ์/วงสนทนากล่าวถึงควบคู่กับสินค้าเรือธงของซัมซุง หรือขนาดเอาไปเปรียบกับไอโฟน 7 ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในการสร้างภาพลักษณ์สินค้ากลุ่มไฮเอนด์ไปเรียบร้อยแล้ว
ความสำเร็จดังกล่าวไม่ใช่หยุดแค่ในประเทศไทยเท่านั้น หัวเว่ยยังแทรกตัวเข้าไปอยู่แถวหน้าในสิงคโปร์เกาะที่ขึ้นชื่อว่าก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในเวลาที่รวดเร็วมาก นอกจากคำวิพากษ์วิจารณ์เปรียบเทียบตัวสินค้าตามสื่อแล้ว ตัวอย่างของความสนใจจากผู้คนยังปรากฏในเฟซบุ้คเพจของ Huawei Singapore ซึ่งสะท้อนความนิยมได้ชัดเจนจากจำนวนไลค์ แชร์ และคอมเมนท์จากผู้บริโภคชาวสิงคโปร์โดยตรง
พร้อมๆ การก้าวรุกตามนโยบาย Made in China 2025 ของหัวเว่ย ยังมีกิจการสัญชาติจีนอีกแบรนด์หนึ่งที่กำลังขยับก้าวสู่ความเป็นแบรนด์ระดับโลกได้อย่างน่าสนใจ นั่นก็คือ อาลีบาบา ของมหาเศรษฐี แจ๊ค หม่า
อาลีบาบา กลายเป็นกิจการขายสินค้าออนไลน์อันดับหนึ่งในอาเซียนได้อย่างไม่ยากเย็นด้วยการซื้อกิจการ Lazada ไปด้วยมูลค่า 1 พันล้านเหรียญ (เพิ่มทุนใหม่ 500 ล้านเหรียญ/ซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิม 500 ล้านเหรียญ) หรือราว 3.5 หมื่นล้านบาท ลาซาด้าเป็นกิจการสัญชาติเยอรมันที่บุกเบิกอาเซียนมาก่อน การได้ลาซาด้าเท่ากับร่นระยะเวลาการลงทุน ลดการแข่งขันจากผู้ครองตลาดเดิม เท่ากับตอนนี้ทุนจีนได้เป็นเจ้าตลาดสินค้าออนไลน์อันดับหนึ่งในย่านอาเซียนไปอย่างเบ็ดเสร็จแล้ว เพราะลาซาด้ามีกิจการอยู่ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม เฉพาะตลาดที่กล่าวก็มีประชากรเกิน 560 ล้านคน เอาเฉพาะที่ใช้อินเตอร์เน็ตก็ 200 ล้านคนและยอดการซื้อสินค้าออนไลน์ก็ยังเป็นเทรนด์ที่จะขยายตัวต่อเนื่อง
มีคนวิเคราะห์เหตุผลมากมายที่อาลีบาบา ซื้อกิจการ ลาซาด้า แต่ที่ผู้เขียนสนใจเป็นพิเศษและดูเหมือนจะไม่มีใครกล่าวถึงมาก่อนก็คือ ลาซาด้า ได้ลงทุนไปในโครงข่ายจัดส่งสินค้าในประเทศอินโดนีเซียไปมาก การได้ลาซาด้า อินโดนีเซีย เท่ากับได้โครงข่ายจัดส่งสินค้าที่พัฒนามาระดับหนึ่งแล้วไปด้วยเป็นของแถม ซึ่งนี่น่าสนใจมาก
อินโดนีเซียมีประชากรมากเกือบ 250 ล้านคน เอาแค่ 20% ของประชากรก็รวยไม่รู้เรื่องแล้ว แต่ถึงแม้อินโดนีเซียจะเริ่มพัฒนาโครงข่ายอินเตอร์เน็ตไปไกลแต่ทว่าด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นเกาะแก่ง น้อยใหญ่ราว 3,000 เกาะ แถมอยู่ห่างไกล ตะวันตกสุด-ออกสุดห่างกันร่วมๆ 5,000 กิโลเมตร ดังนั้นระบบจัดส่งสินค้าจึงมีปัญหามาก ลาซาด้าอินโดนีเซียเลยลงทุนสร้างโครงข่ายส่งสินค้าของตนเองขึ้นมาเพื่อปิดจุดอ่อน มีทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์ร่วม 600 คันอยู่ในโครงข่ายนั้น อาลีบาบา ได้ลาซาด้าและโครงข่ายจัดส่งในอินโดนีเซียก็เท่ากับได้ลูกค้าอาเซียนไปเกือบครึ่ง
ยกตัวอย่าง หัวเว่ย กับ อาลีบาบา/ลาซาด้า ในอาเซียนเพื่อจะบอกว่า จะมีปรากฏการณ์คล้ายๆ กันแบบนี้ทยอยมาให้เห็นอีกอย่างแน่นอน จีนโตอย่างรวดเร็วในเวลา2-3 ทศวรรษ เพราะเขามีแผนยุทธศาสตร์และเดินตามแผนนั้น การพยายามดันแบรนด์จีนให้ผงาดในตลาดโลกเป็นการรุกอย่างมีเป้าหมาย มีทิศทาง และมีความกระตือรือร้นที่สมควรจับตามอง
นักวิจารณ์ตะวันตกจับตามองแผนการยกระดับเศรษฐกิจจีนทั้งยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง และเมดอินไชน่า 2025 อย่างสนอกสนใจ บ้างมองว่าหากจีนทำสำเร็จก็จะเป็นการยกระดับตนเองให้ผงาดกลายเป็นมหาอำนาจใหม่ที่น่าเกรงขาม ความสำเร็จนั้นจะเหมือนกับเยอรมนีที่สร้างเศรษฐกิจตนให้พลิกฟื้นคืนจากซากปรักพังหลังสงครามโลกครั้งที่สองในระยะเวลาเพียง 2 ทศวรรษ จนมีการกล่าวขานว่านี่อาจจะเป็นการซ้ำรอย ความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจแบบเยอรมัน หรือ Wirtschaftswunder (economic miracle) ที่เราท่านกำลังจะได้พิสูจน์ด้วยตาของตนเองในอีกไม่ช้า
……………………..