การเจรจาสันติภาพครั้งยิ่งใหญ่ในรอบ 70 ปี หรือที่เรียกกันว่า ปางหลวง #2 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเนปิดอว์ได้ผ่านพ้นไปแล้ว แบบที่ไม่ถึงกับเรียกว่าสำเร็จ หรือล้มเหลวได้เต็มคำนัก
เพราะนี่เป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นปัญหาเรื้อรังที่อีรุงตุงนังมาตั้งแต่เริ่มได้เอกราช เอาแค่มีตัวแทนของกลุ่มต่างๆ ทั้งที่เจรจาสงบศึกไปแล้วกับที่ยังรบพลางคุยพลาง แต่งกายชุดประจำเผ่าตนมานั่งร่วมกันในห้องประชุมร่วมกันได้ ก็ถือว่าเก่งแล้ว อย่างน้อยที่สุดยังกล่าวได้ว่าได้เริ่มนับหนึ่งอย่างเป็นทางการ
และการเจรจาที่ว่าก็จะยังมีเส้นทางอีกยาวไกล อาจจะเป็นสิบปีหรือมากกว่านั้นโดยมีธงผืนใหญ่ที่ฝ่ายพม่าเองก็แสดงท่าทียอมรับให้อยู่บนโต๊ะเจรจานั่นก็คือรูปแบบรัฐแบบสหพันธรัฐหรือ Federal State
ข่าวเด่นๆ ที่ปรากฏระหว่างการประชุมเช่น การไม่ไปร่วมประชุมของเจ้ายอดศึก แห่งกองกำลังกู้ชาติไทยใหญ่ S.S.A แค่ส่งตัวแทนไปร่วม ซึ่งนี่สามารถมองเป็นกลยุทธ์หนึ่งบนโต๊ะเจรจาต่อรองได้ แต่ข่าวซึ่งได้รับการรายงานอย่างกว้างขวางและเป็นเรื่องใหญ่ขนาดที่รัฐบาลพม่าต้องออกเป็นแถลงการณ์อย่างเป็นทางการระงับปัญหาบานปลาย เพราะมันเกิดกรณีตัวแทนประชุมของกองทัพสหรัฐว้า UWSA บอยคอตจากที่ประชุมในวันที่สองเนื่องจากได้รับป้ายหน้าอกเป็นผู้สังเกตการณ์ แทนที่จะเป็นตัวแทนผู้ร่วมเจรจา
สถานะระหว่าง ผู้สังเกตการณ์กับผู้ร่วมเจรจาสำคัญมากเพราะมันมีผลผูกพัน เรื่องนี้รัฐบาลพม่าประกาศแล้วว่าเป็นความผิดพลาดของฝ่ายเขา ขอโทษขอโพยให้รู้กันทั่วไป แต่สื่อทั้งพม่าและต่างประเทศเล่นกันไปแล้ว เพราะกองกำลังสหรัฐว้า UWSA เป็นชนกลุ่มน้อยที่เข้มแข็งสุด มีกองทัพใหญ่สุดในบรรดาชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่ม
เหยียบตาปลาใครไม่เหยียบ ดันเหยียบเอานักเลงที่ไม่กลัวเจ้าบ้านซะอีกแน่ะ
ว้านี่ ไม่ได้กลัวพม่าเลยนะครับ เพราะว้ามีแบคอัพดี เงินถึง ข่าวกรองทหารยังเชื่อว่าว้าสั่งเฮลิคอปเตอร์จากจีนมาใช้เองด้วยซ้ำไป อาวุธยุทโธปกรณ์ไปต้องห่วง พม่าเอาเครื่องบินมาว้าก็มีจรวดส่องก็แล้วกัน
เขตปกครองของว้าอยู่เหนือเชียงตุง ติดกับชายแดนจีน พื้นที่ของว้าต่อเนื่องจากเขตปกครองตนเองชนชาติไต เมืองลาที่อยู่ด้านใต้และติดกับพื้นที่ของกลุ่มโกกั้งที่อยู่เหนือขึ้นไป
ทั้งเมืองลา ว้า และ โกกั้ง ล้วนแต่เป็นพื้นที่ชายแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือติดกับจีน เป็นเขตที่ทหารพม่ายังควบคุมได้ไม่สมบูรณ์ ต่อเนื่องขึ้นเป็นเขตคะฉิ่นซึ่งนั่นก็เป็นเขตปลอดอิทธิพลทหารพม่าเช่นกัน ทั้งเมืองลา ว้า โกกั้ง ต่างก็เป็นพื้นที่อิทธิพลชนกลุ่มน้อยที่ตัดแบ่งดินแดนทำมาหากินประกอบการเศรษฐกิจกันเอง โดยมีช่องทางด่านชายแดนเข้าออกทางจีนที่เปิดเชื่อมกับชนกลุ่มน้อยโดยเฉพาะ ดังนั้นการก่อสร้าง ตึกรามบ้านช่อง รถราที่ใช้ขับขี่ ล้วนแต่สามารถนำเข้าจากจีนได้โดยตรงโดยไม่ง้อพม่า โกกั้ง ว้า รวมถึงคะฉิ่นและเมืองลา ใช้ภาษาจีน อักษรจีน ทำมาค้าขายกับจีนจนกลายเป็นดินแดนของจีนกลายๆ ไปแล้ว
การตัดแบ่งดินแดนโดยกองกำลังท้องถิ่นไปครอบครองอย่างอิสระคล้ายกับยุคขุนศึกศักดินาสมัยกลาง เกิดขึ้นมานานแล้ว ชนกลุ่มน้อยท้องถิ่นให้สัมปทานตัดไม้ ทำเหมือง ประกอบกิจการต่างๆ กับทุนจีนที่ข้ามพรมแดนมาทำอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เมื่อต้นปีที่แล้ว กองกำลังทหารพม่าที่เพิ่งจะควบคุมชายแดนตะวันออกเฉียงเหนือของคะฉิ่นได้จับกุมชาวจีนร้อยกว่าคนที่ข้ามมาตัดไม้พร้อมกับของกลางเป็นรถบรรทุกนับร้อยคันบอกว่านี่เป็นการลักลอบเข้ามาตัดไม้ แต่แท้จริงแล้ว นี่คือบริษัทรับสัมปทานทำไม้ที่ได้ตั๋วจากกองกำลังคะฉิ่นที่ทำกันโจ๋งครึ่มมานานแล้ว
เมืองลา เคยโด่งดังสำหรับนักท่องเที่ยวไทยเพราะไม่ไกลจากเชียงตุง มีผู้หญิงและมีคาสิโน พื้นที่ดังกล่าวมีผู้ยิ่งใหญ่หลายกลุ่มครอบครอง ทหารว้าใหญ่กว่าทหารพม่าด้วยซ้ำไป และเขตดังกล่าวมีการเศรษฐกิจที่เจริญก้าวหน้ามาก ตึกรามใหญ่โต มีนักลงทุนจีนทำไร่กล้วยเป็นพันๆ ไร่ นอกเหนือจากเข้ามาปลูกยางพารา เมืองทั้งเมืองเป็นเขตเศรษฐกิจที่เป็นผลประโยชน์ของจีน
ดังนั้นการเจรจาสันติภาพอะไรทั้งหลายจึงไม่ใช่เรื่องของความเป็นเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ หรือดุลกำลังทางทหารแต่ด้านเดียว หากแต่มีเรื่องของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจรวมอยู่ด้วย
ซึ่งจะว่าไปความขัดแย้งและการสงครามในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติแทบทั้งหมดก็เป็นเรื่องผลประโยชน์และเศรษฐกิจเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว
นักวิชาการชื่อดัง ถั่นมิ้นอู Thant Myint-U ผู้เป็นหลานชาย อูถั่น อดีตเลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ ก็มองการเจรจาปางหลวงรอบนี้ข้ามไปที่จีนและผลประโยชน์ของจีน จีนเป็นตัวแปรสำคัญอีกตัวหนึ่งของการเจรจาสันติภาพพม่า
ถั่นมิ้นอู เกิดที่นิวยอร์ค เป็นพม่าไฮโซที่ได้รับการศึกษาดี ผ่านโลกศิวิไลซ์ แล้วกลับมาอยู่ในพม่า เขามีกิจกรรมอนุรักษ์อาคารประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ แล้วก็เป็นที่รู้จักกว้างขวางจากต่างประเทศ ตอนที่ซูจีประกาศไม่รับตำแหน่งปธน. สื่อสิงคโปร์อย่างสเตรทไทม์เคยใส่ชื่อเขาเป็นหนึ่งในตัวเก็ง ปธน.ด้วยซ้ำไป
ถั่นมิ้นอูเขียนหนังสือ แล้วก็เขียนบทความในสื่อตปท.บ่อยๆ งานชิ้นล่าสุด Thant Myint-U — Myanmar beyond the peace process ลงใน นิเคอิ Nikkei Asian Review ยาวทีเดียว คลิกอ่าน http://asia.nikkei.com/…/Thant-Myint-U-Myanmar-beyond-the-p…
บทความนี้แบ่งเป็นส่วนๆ กล่าวถึงการเจรจาสันติภาพที่กำลังจะเริ่ม 31 สิงหาคม แม้จะไม่รู้ว่าผลปลายทางจะออกมาแบบไหน แต่ที่แน่ๆ มันเป็นความมั่นใจ และรูปธรรมของสันติภาพในรอบ 7 ทศวรรษ
ถั่นมิ้นอู พยายามวิเคราะห์ปรากฏการณ์นี้จากหลายๆ มิติ แต่ที่เขาเอ่ยถึง 2 รอบ ทั้งตอนต้นและช่วงพาดหัวแยกท้ายบท ก็คือ บทบาทของจีน ซึ่งมีอิทธิพลต่อชนกลุ่มน้อยชายแดนตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะพวกว้า เพราะจีนมีน้ำหนักต่อพม่า ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและการเมือง รวมไปถึงบทบาทที่มี (ข้างหลัง) ต่อชนกลุ่มน้อยบางกลุ่ม
ปักกิ่งคงไม่สบายใจนักหากว่าการเจรจานี้จะทำให้ชาติตะวันตกหรือญี่ปุ่นเข้าไปยุ่มย่ามในเขตอิทธิพลของตนดังนั้น การวางน้ำหนักยุทธศาสตร์และจุดยืน กับจีนให้เหมาะสม เป็นโจทย์สำคัญของซูจี และชนชั้นตัดสินใจของพม่า
ในท่ามกลางการสู้รบและเจรจาระหว่างชนกลุ่มน้อยต่างๆ และระหว่างทหารพม่ากับชนกลุ่มน้อย มีประเด็นเรื่องการเศรษฐกิจและผลประโยชน์ควบคู่ไปด้วยตลอดเวลา กลุ่มที่เข้มแข็ง มักจะร่ำรวย และมักจะมีน้ำหนักในการเจรจาต่อรองมากขึ้นด้วย
แค่เริ่มต้นปางหลวง# 2 สังคมโลกก็ได้เห็นตัวอย่างไปแล้ว.