- ทางสายไหมรถไฟ
นโยบายของจีนว่าด้วยยุทธศาสตร์ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One belt-One Road) ที่ต่อเชื่อมลงมาทางใต้ผ่านประเทศลาวและจะต่อเชื่อมกับไทยลงไปถึงมาเลเซีย สิงคโปร์กำลังเป็นรูปร่าง เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2559 ที่ผ่านมาได้มีพิธีเริ่มก่อสร้างเส้นทางรถไฟจีน-ลาวอย่างเป็นทางการ จากนี้ไปจะไม่มีการเจรจาต่อรองอะไรแล้ว รถไฟความเร็วสูงระดับปานกลางซึ่งจะวิ่งด้วยความเร็วประมาณ 160 ก.ม./ชม. ระยะทาง 427 กิโลเมตรจากยูนนาน ผ่านด่านบ่อเตน ผ่านอุดมไชย หลวงพระบาง วังเวียง เข้าไปถึงนครหลวงเวียงจันทน์ และปี 2560 ก็คือปีแห่งการก่อสร้างให้เกิดเป็นรูปธรรม
อันที่จริงลาวได้ให้ความชัดเจนในเรื่องทางรถไฟมาตั้งแต่เดือนตุลาคม หลังการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ปโอบาม่าร่อนแอร์ฟอร์ซวันลงที่สนามบินวัดไต เป็นประธานาธิบดีคนแรกเยือนลาวนั่นล่ะ ผมเคยเขียนถึงดีลการเจรจาลาว-จีนไปแล้ว ในนั้นมีรายละเอียดว่าทางรถไฟมีกี่สถานี ผ่านอุโมงค์กี่แห่ง ใช้บริษัทจีนกี่บริษัท (คลิกอ่าน) บูรพา-อาคเนย์ หลังเยือนลาว : โอบาม่า ได้กล่อง หลี่เค่อเฉียง ได้เงิน – https://www.smartsme.co.th/content/47659
ทางรถไฟลาว-จีน มีพลังในตัวของมันเอง ไม่ใช่แค่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น ในทางการเมืองมันจะเป็นสัญลักษณ์ของอิทธิพลมหาอำนาจแดนมังกรที่เชื่อมต่อกับชาติอาเซียน นี่คืออีกหนึ่งรูปธรรมของบูรพาภิวัตน์แห่งศตวรรษ 21
พลังของทางรถไฟความเร็วสูงที่เจอภูเขาเจาะอุโมงค์ เจอเหวสร้างสะพาน จะเปลี่ยนภูมิรัฐศาสตร์เดิมๆ ที่เคยมีสภาพภูมิประเทศขวางกั้นให้กลายเป็นภูมิรัฐศาสตร์ใหม่
จีนน่ะ ได้ประโยชน์เต็มๆ จากหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางอยู่แล้วเขาถึงได้คิดค้นยุทธศาสตร์นี้ขึ้นมาสร้างทางสายไหมยุคใหม่คุมอิทธิพลซีกโลกตอนเหนือจากฉานอานผ่านเอเชียกลางเชื่อมรัสเซียไปถึงยุโรป ทางตอนใต้ก็ลงมาถึงอาเซียน รัฐบาลจีนสนับสนุนประชาชนของตนให้เดินทางออกไปเก็บเกี่ยว ลงทุน อาศัยเส้นทางเชื่อมโยงใหม่เป็นโอกาสและช่องทางทำมาหากิน มีเงินทุนสนับสนุนอีกต่างหาก ถึงไม่มีทางรถไฟมีแต่ทางถนน R3A จากยูนนานผ่านลาวลงมาทุนจีนก็เต็มพื้นที่ลาวเหนือไปหมดแล้ว ข่าวเรื่องการเช่าที่ดินปลูกกล้วยตามแนวถนน R3A เป็นแค่ตัวอย่างเล็กๆ เพราะที่จริงทุนจีนไม่ได้มีแค่ภาคเกษตร เขาลงทุนทั้งอสังหาริมทรัพย์ ภาคบริการอย่างการแพทย์ /โรงพยาบาลก็ลงไป ไปเที่ยวตลาดหลวงพระบางมี cluster ร้านค้ามือถือและอุปกรณ์สื่อสารเรียงรายกันหลายคูหา นึกว่าเป็นหลายเจ้าของที่ไหนได้กลายเป็นทุนจีนรุ่นใหม่รายเดียวเป็นเจ้าของแล้วกระจายพรรคพวกไปอยู่หน้าร้าน
ยิ่งมีทางรถไฟมา ทุนจีนก็คงจะฮุบผลประโยชน์ต่างๆ ตลอดรายทาง 400 กว่ากิโลเมตร 33 สถานีจอดรับ-ส่งอย่างแน่นอน ต่อให้รัฐบาลลาวไม่ให้พื้นที่สองข้างทางให้บริษัทจีนหาประโยชน์ก็เหอะ แต่แบบแปลน ที่ตั้งของสถานีอยู่ในมือจีนอยู่แล้ว เขาย่อมต้องมองออกว่าแต่ละสถานีอันเป็นชุมชนสำคัญของลาวมีศักยภาพแค่ไหน ด้านใดบ้าง ระยะเวลาปีสองปีจากนี้คงมีชาวมังกรไปยึดหัวหาด เช่าสถานที่ หรือปักหลักสร้างกิจการรองรับไว้ก่อนแล้วอย่างแน่นอน –เพราะนี่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง one belt, one road model
ระยะเวลาในการก่อสร้างราว 5 ปี ไม่ช้าไม่เร็วหรอกครับ เพราะการเตรียมรับในเชิงยุทธศาสตร์น่ะปุบปับไม่ได้ แต่ก็เพิกเฉยไม่ได้ รอจนรถไฟมาถึงก็ไม่ทันเขากินแล้ว
2. หนองคาย
รถไฟจีน-ลาวมาถึง ไทยจะได้อะไร?
เมื่อปลายปีที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่กระทรวงคมนาคมของลาวได้หารือเรื่องการเชื่อมเส้นทางรถไฟลาว-ไทยรอบล่าสุดหลังจากลาวมีความชัดเจนเรื่องทางรถไฟความเร็วสูงแล้ว
แผนการเชื่อมโยงระบบรถไฟจากลาว ข้ามสะพานมิตรภาพที่ 1 เวียงจันทน์-หนองคายคงจะปรากฏออกมาในปี 2560 นี้ และมันก็ชัดเจนมาตั้งแต่แรกว่าต่อให้ลาวหรือจีนมีเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงจะวิเศษสักขนาดไหนแต่เมื่อข้ามสะพานแม่น้ำโขงมาก็ต้องเปลี่ยนมาใช้บริการของรถไฟไทยทันที เนื่องจากระบบรางของจีน-ลาวเป็นรางมาตรฐาน 1.435 เมตร ส่วนรางไทยเป็นรางขนาด 1 เมตร
นั่นยังไม่น่าสนใจเท่ากับแนวคิดเชิงนโยบายของรัฐบาลไทยว่าจะรับมือกับผู้คนที่มากับทางรถไฟสายนี้แบบไหน เอาง่ายๆ ว่า จะออกแบบระบบเข้าเมือง ด่านศุลกากร ด่านต.ม. และโลจิสติกเชื่อมสินค้า เชื่อมคนเข้าสู่พื้นที่ชั้นในกันอย่างไร จะดึงดูดผู้คนทั้งจีน ลาว และต่างชาติที่มากับรถไฟให้เข้าสู่อีสานตอนในเช่น ขอนแก่น อุดรธานี ก่อนที่จะเข้ากรุงเทพฯ แบบไหน จะใช้หรือขยายสนามบินอุดรธานีหรือไม่?
เรื่องเหล่านี้ทั้งภาคประชาชน หอการค้า และรัฐบาลไทยน่าจะชัดเจนให้ได้ภายในปี 2560
ปีสองปีหลังที่ผมเดินทางในจีน สังเกตเห็นว่าเขาลงทุนสร้างสถานีรถไฟ สถานีขนส่ง และสนามบินด้วยโครงสร้างใหญ่โตมโหฬาร บางสถานีใหญ่มากจนดูจะเกินความจำเป็นด้วยซ้ำไปเพราะเป็นเมืองเล็กๆ แต่รัฐบาลจีนลงทุนให้สถานีขนส่งรองรับผู้คนเป็นหมื่นๆ ได้เพราะจะมีช่วงเทศกาลที่คนเป็นร้อยๆ ล้านพร้อมใจกันเดินทาง การรับเข้าและระบายผู้คนจึงต้องใช้สถานที่ใหญ่โตรองรับ ดังนั้นในวันปกติ จึงดูจะโหรงเหรงหรือเกินความจำเป็นไป .. แต่นั่นก็สะท้อนวิสัยทัศน์ของรัฐบาลของเขา
แต่สถานีขนส่งสาธารณะทั้งรถไฟ สนามบิน รถโดยสารของไทยเราไม่เคยสร้างเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ระยะยาว เอาแค่ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ต้องคิดว่าจะเชื่อมหนองคาย-อุดรธานีกับกรุงเทพฯ อย่างไรเลย เพราะตอนนี้ดอนเมืองกับสุวรรณภูมิก็แน่นขนัดจนล้นไปแล้ว
แต่ก็ไม่ใช่ว่ารัฐบาลไทยจะงอมืองอเท้าไม่ได้คิดเตรียมอะไรเลยหรอกนะครับ มีรูปธรรมที่สะท้อนว่า รัฐบาลไทยเองพยายามจะรับมือกับการก้าวลงใต้ของจีนในแง่ยุทธศาสตร์เช่นกัน
3.เชียงของ-R3A
พื้นที่ซึ่งไทยเราสามารถจะฉกฉวยประโยชน์จากเส้นทางคมนาคมใหม่ จีน-ลาว ยังมีอีก 2 จุดสำคัญนอกเหนือจากจุดต่อเชื่อมรถไฟหนองคาย นั่นก็คือ จังหวัดน่าน และ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เพิ่งแสดงความชัดเจนให้บอร์ดการรถไฟเดินหน้าโครงการก่อสร้างทางรถไฟเด่นชัย-เชียงของ (เชียงราย) มูลค่าประมาณ 76,980 ล้านบาท เพื่อให้สามารถลงมือก่อสร้างให้ได้ภายในปี 2560 นี้ ขนาดที่จะแบ่งการก่อสร้างออกเป็นสามส่วนพร้อมๆ กันเพื่อให้เสร็จเร็วขึ้น
รถไฟเด่นชัย-เชียงของ (เชียงราย) เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ที่เชื่อมต่อกับเส้นทางถนน R3A ต่อลงมาถึงกรุงเทพฯ-แหลมฉบังได้
อำเภอเชียงของนั้น กำลังเป็นพื้นที่เปลี่ยนแปลงใหญ่ถึงขนาดจะมีเขตเศรษฐกิจพิเศษรับการเชื่อมโยงลาว-จีน นอกจากทางรถไฟแล้วจะมีการก่อสร้างถนนไฮเวย์พิเศษจากพรมแดนต่อลงมาถึงเชียงใหม่ ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงใหญ่มีทั้งโอกาสและการเสียโอกาส มีทั้งการสร้างและทำลายพร้อมๆ กัน อันที่จริงแล้วตัวเมืองเชียงของเก่านั้นเป็นชุมชนเก่าที่มีเสน่ห์ ควรจะรักษาให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมแบบเดียวกับเมืองท่องเที่ยวสำคัญระดับโลกที่เขาแยกเขตเศรษฐกิจออกมาจากเขตชุมชนและย่านท่องเที่ยว ปัจจุบันรัฐมีแผนผลักดันเขตเศรษฐกิจใหม่ชัดเจนแต่ค่อนข้างละเลยพื้นที่เมืองเก่าที่มีศักยภาพ สามารถเป็นแม่เหล็กดึงดูดการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ได้ด้วยซ้ำไป
เชียงของและแนวถนนที่จะมุ่งไปยังด่านพรมแดนเป็นโอกาสของผู้ประกอบการรายย่อยและขนาดกลางของไทย ทุนจีนเองก็เล็งเห็น ข่าวที่ปรากฏว่ามีทุนจีนเช่าที่ดินอำเภอพญาเม็งรายปลูกกล้วยส่งกลับไปจีนก็คือเขตที่อยู่ในเส้นทางถนนสายนี้ไม่ไกลจากเชียงของ
4. น่าน-หลวงพระบาง
ขณะที่จังหวัดน่าน เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจใหม่รองรับทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ที่ชัดเจนและน่าสนใจที่สุด เนื่องจากสถานีหลวงพระบางจะเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญที่สุดในเส้นทางรถไฟลาว-จีน นักท่องเที่ยวต่างชาติจะแวะลงสถานีนี้แทบทุกคนไป ใช้หลวงพระบางเป็นศูนย์กลางไปวังเวียงก็ได้ ทุ่งไหหินก็ได้ แล้วค่อยกลับมาเดินทางต่อ
น่านอยู่ใกล้หลวงพระบางนิดเดียวเอง ก่อนหน้านั้นการเดินทางจากห้วยโก๋นไปหลวงพระบางได้สองทาง ผ่านเมืองเงินแยกไปยังเชียงแมน (จอมเพ็ด) ฝั่งตรงข้ามหลวงพระบางทางหนึ่ง ส่วนอีกเส้นไปทางไชยะบุรี เมืองนาน ข้ามสะพานท่าเดื่อไปถึงหลวงพระบางได้ แต่ทางทั้งสองเส้นยากลำบากมาก จนกระทั่งรัฐบาลไทยโดย NEDA หรือ สพพ. (องค์กรมหาชนของภาครัฐ ) ให้เงินกู้สร้างถนนเชื่อมเมืองหงสากับจอมเพ็ด หลวงพระบาง ระยะทาง 114 ก.ม. คาดว่าจะเสร็จภายในปี 2561 ย่นเวลาเดินทางจากเดิมเกือบทั้งวันเหลือแค่ไม่ถึง 3 ชั่วโมง
นอกจากทางถนนที่ต่อเชื่อมกันได้ ครม.ยังมีมติให้บขส.เดินรถโดยสารระหว่างน่าน กับ หลวงพระบาง รอรับไว้แล้วด้วย แม้ตอนนี้จะยังไม่มีรถวิ่งจริงแต่พอถนนเสร็จแล้ว การคมนาคมระหว่างน่านกับหลวงพระบางจะสะดวกมาก ใช้เวลาพอๆ กับวิ่งจากกรุงเทพฯไปนครสวรรค์
หลวงพระบาง และ น่าน เป็นพื้นที่แห่งโอกาสที่มากับทางรถไฟจีน เดิมนั้นหลวงพระบางเป็นเมืองมรดกโลกที่อยู่ภายใต้การควบคุมของยูเนสโก้และห้องแขวงที่จะบังคับนักลงทุนให้ปฏิบัติตามกรอบอนุรักษ์ สี่ห้าปีหลังมานี้ราคาค่าเช่าในหลวงพระบางก็แพงขึ้นมาก จบแทบไม่น่าจะลงทุนแล้ว
ทางรถไฟจีนที่หลวงพระบางจะนำมาซึ่งพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ เมืองใหม่ รัฐบาลลาวมีแผนจะย้ายศูนย์ราชการใหม่มายังฝั่งเชียงแมน-จอมเพ็ด ซึ่งจะทำให้พื้นที่บ้านจอมเพ็ด เชียงแมน ฝั่งตรงข้ามของเมืองหลวงพระบางกลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ทันที จะมีสะพานเชื่อมการคมนาคมสองฝั่งแบบกรุงเทพฯ-ธนบุรี อะไรที่ยูเนสโก้ห้าม แต่พื้นที่จอมเพ็ด-เชียงแมนไม่ได้ห้าม ลองหลับตานึกถึงโรงแรมรีสอร์ท ร้านอาหารใหม่ริมน้ำโขงที่ฝั่งตรงข้ามจะขยายอย่างรวดเร็ว ประกอบกับปี 2560 นี้รัฐบาลลาวกำลังแก้ไขกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติขึ้น น่าเชื่อว่าจะมีทุนจากจีนพาเหรดไปรอรับโอกาสจากทางสายไหมตอนใต้กันเยอะในช่วงปีนี้
ถนนปรับปรุงใหม่ที่มาจากน่านมาถึงจอมเพ็ดฝั่งตรงข้ามหลวงพระบาง เชื่อมกับโครงการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ที่กำลังดำเนินการ ซึ่งนั่นหมายถึงถนนใหม่เส้นนี้จะนำมาซึ่งโอกาสใหม่ๆ ต่อเชื่อมถึงกับพรมแดนไทย-ลาวที่ด่านห้วยโก๋นและจังหวัดน่าน
เมืองน่าน จะกลายเป็นเมืองเปิดจากการคมนาคมสายใหม่
เมืองน่านเป็นเมืองที่มีเสน่ห์ มีแบบแผน มีความเก่าและมีอัตลักษณ์ จะถูกบังคับให้โตเร็วขึ้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงไม่ใช่อัตราการขยายตัวการค้าการลงทุนหรือการบริการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับลาว-จีนหรอก หากแต่เป็นกรอบการอนุรักษ์ของเก่าของเดิม/สภาพบ้านเมืองแบบเดิมๆ ไม่ให้ถูกกลืนกลายนั่นล่ะที่สำคัญ อย่างน้อยควรจะมีเทศบัญญัติควบคุมอาคาร แบบแปลนที่เป็นไกด์ดีไซด์สถาปัตยกรรมเก่าใหม่ให้กลมกลืนกัน อย่าเหมือนเชียงใหม่ที่กว่าจะคิดอนุรักษ์อะไรก็ช้าไปแล้ว
ถนนที่จะเชื่อมจังหวัดน่านไปถึงหลวงพระบางจะเสร็จในปี 2561 เวลาปีหรือสองปี เปลี่ยนแปลงอะไรเยอะ
ทั้งบวกและลบ / ทั้งได้โอกาสและสูญเสียโอกาส.
***อ่านข่าวประกอบ Luang Prabang Awaits Decision on Mekong Railway Bridge
http://www.laotiantimes.com/2016/11/11/luang-prabang-awaits-decision-mekong-railway-bridge