บูรพา-อาคเนย์ เศรษฐกิจการ (แข่ง) ถมทะเลในอาเซียนยุคใหม่ : บัณรส บัวคลี่

บัณรส บัวคลี่

มาเลเซียมีโครงการถมทะเลสร้างเกาะใหม่เพื่อเร่งพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ในรูปแบบที่คล้ายคลึงกับโครงการเกาะปาล์ม Palm Island ที่ดูไบ ซึ่งเน้นรูปทรงการออกแบบที่สวยงาม วางแผนกำหนดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะบรรจุลงในพื้นที่แต่ละส่วนไว้ล่วงหน้า

การถมทะเลเพื่อใช้ที่ดินทำประโยชน์ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในย่านอาเซียนต้องยกให้สิงคโปร์เป็นเจ้าแห่งการถมทะเล เพราะเริ่มถมปรับสภาพพื้นที่พรุเป็นอาคารสถานที่กันตั้งแต่ยุคอังกฤษปกครอง แล้วก็ตั้งอกตั้งใจขยายพื้นที่ประเทศออกไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  สนามบินชางงี หรือ ย่านมาริน่าเบย์ที่เป็นแลนด์มาร์คสำคัญเกิดจากการถมทะเล ไม่เพียงเท่านั้น สิงคโปร์ยังต่อเชื่อมเกาะเล็กเกาะน้อยให้เป็นเกาะขนาดใหญ่สามารถทำประโยชน์ได้มากขึ้น อย่างสวนอุตสาหกรรมจูร่ง ที่เป็นเกาะด้านใต้นั้นเกิดจากการต่อเชื่อมเกาะเล็กๆ 7 เกาะเข้าด้วยกันจากนั้นก็ให้เป็นที่ตั้งของย่านอุตสาหกรรมใหม่ทำรายได้เข้าประเทศมหาศาล

ในยุคแรกๆ ประเทศในอาเซียนเราก็มีแต่สิงคโปร์นี่แหละ เพราะประเทศอื่นใหญ่โตมีที่ว่างเหลือเยอะ จะถมทะเลไปทำไม สิงคโปร์ถมทะเลไปพลางค้าขายไปพลางร่ำรวยเกินหน้าคนอื่นทั้งๆ ที่ทรัพยากรตัวเองไม่มีอะไร ในยุคแรกๆ เขาซื้อทรายจากมาเลเซียเพราะใกล้ที่สุด แต่ต่อมารัฐบาลมาเลเซียสั่งห้ามส่งทรายออก สิงคโปร์เลยหันไปซื้อจากอินโดนีเซีย…ทำได้ไม่นานอินโดฯก็ห้ามอีก เลยต้องหาวัตถุดิบทรายไกลออกไปเรื่อยๆ มียุคหนึ่งที่เคยมีข่าวว่ามีบริษัทสิงคโปร์เสนอตัวขุดลอกปากแม่น้ำตะกั่วป่าให้ฟรีๆ แลกกับทรายที่ขุดได้ ก็เพื่อจะเอาไปถมทะเลนั่นเองแต่เหมือนว่าข้อเสนอดังกล่าวถูกต่อต้านเสียก่อน ทรายที่สิงคโปร์ได้ไปใช้ถมทะเลระยะ 10 ปีหลังส่วนใหญ่ได้มาจากกัมพูชา แม้รัฐบาลฮุนเซนจะมีประกาศห้ามส่งออกทรายขายก็ตาม แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับบางคนที่ใกล้ชิด เช่น ธุรกิจในเครือมหาเศรษฐี พัด สุภาภา หรือ ออกญา ลี ยง พัด คนโตแห่งเกาะกง ที่ยังสามารถส่งออกทรายไปให้สิงคโปร์ได้เป็นล่ำเป็นสัน ไอ้ที่รวยอยู่แล้วก็รวยยิ่งขึ้นไปอีก

จนบัดนี้สิงคโปร์ก็ยังถมทะเลอยู่ เพื่อจะรองรับประชากรที่จะเพิ่มเป็น 6.9 ล้านคนภายในปี 2030 ตอนนี้พวกเขามีพื้นที่ราวๆ 71,400 เฮกตาร์ จะขยายเป็น 76,000 เฮกตาร์ โดยมีผังและแผนงานวางไว้เรียบร้อย

ทรายเคยเป็นวัตถุดิบนำเข้าสำคัญของสิงคโปร์ แล้วก็เป็นเครื่องมือที่บรรดาเพื่อนบ้านใช้เตะสกัดขาเศรษฐีลอดช่องด้วยข้ออ้างไม่ขายทรายให้ แต่มาถึงพ.ศ.นี้ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีก่อสร้างทำให้การถมทะเลง่ายขึ้น ไม่ต้องระเบิดภูเขา หรือออกกว้านซื้อทรายจากที่อื่นมาถมแล้ว โครงการถมทะเลที่กำลังเดินการอยู่ที่เกาะ Pulau Tekong ทางด้านตะวันออกของเกาะสิงคโปร์ ใช้เทคนิคใหม่จากเนเธอร์แลนด์ที่ชำนาญด้านการสร้างเขื่อนป้องกันระดับน้ำทะเล เรียกว่า Polder development method เทคนิคนี้จะสร้างพนังหรือเขื่อนที่แข็งแรงล้อมรอบเกาะ และพื้นที่จะใช้ประโยชน์ จากนั้นจะสร้างระบบเดรนน้ำ / สูบน้ำด้านในระบายทิ้งออกไปด้านนอก แล้วจึงสร้างพื้นที่ใช้สอยภายในเขตนั้น วิธีนี้ไม่ต้องใช้ทรายจำนวนมากยกระดับเกาะขึ้นมา เพราะตัวเกาะและพื้นที่ใช้สอยยังต่ำกว่าระดับน้ำได้ (คลิกอ่าน Singapore to adopt Dutch polder concept as new land reclamation method at Pulau Tekong http://www.dutchwatersector.com/news-events/news/22419-singapore-to-adopt-dutch-polder-concept-as-new-land-reclamation-method-at-pulau-tekong.html )

สิงคโปร์นั้นใช้เทคนิคที่ก้าวหน้าขึ้นถมทะเลขยายพื้นที่รองรับประชากร ถัดขึ้นมาไม่ไกลนัก เพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียก็กำลังขะมักเขม้นทำโครงการถมทะเลเช่นเดียวกัน แต่เป็นคนละวัตถุประสงค์

มาเลเซียมีโครงการถมทะเลสร้างเกาะใหม่เพื่อเร่งพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ในรูปแบบที่คล้ายคลึงกับโครงการเกาะปาล์ม Palm Island ที่ดูไบ ซึ่งเน้นรูปทรงการออกแบบที่สวยงาม วางแผนกำหนดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะบรรจุลงในพื้นที่แต่ละส่วนไว้ล่วงหน้า จัดเป็นอภิโครงการด้วยมูลค่าการลงทุนระดับแสนล้านบาทขึ้น 2 จุดพร้อมๆ กัน

โครงการเกาะใหม่จุดแรกอยู่ที่ยะโฮร์ ตอนใต้สุดของประเทศตรงช่องแคบที่ต่อเชื่อมกับสิงคโปร์พอดี มีชื่อว่า โครงการ Forest City จะเป็นเกาะที่ถมโดยมนุษย์จำนวน 4 เกาะขนาดเกือบๆ 2 พันเฮกตาร์ หรือกว่า 6 พันไร่ ..โครงการนี้จะเป็นเมืองใหม่ขนาดย่อมๆ ประกอบด้วยเขตพักอาศัยอาคารสูงและย่านการค้าพาณิชยกรรมภายใต้สิ่งแวดล้อมสีเขียวที่เนรมิตขึ้น ภาพจำลองโครงการดูยิ่งใหญ่ ทันสมัย และเต็มไปด้วยสีเขียว มูลค่าก่อสร้างราว 4.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โครงการนี้เป็นการร่วมทุนจีนและกลุ่มของสุลต่านรัฐยะโฮร์ (คลิกอ่าน The case of Forest City and the Johor sultan Read more: https://www.malaysiakini.com/news/268649#ixzz4f87hrlL1 )

โครงการนี้ตั้งประจันหน้ากับสิงคโปร์และจะเป็นจุดต่อเชื่อมในการเดินทางข้ามไป-มาใหม่อีกจุด สิงคโปร์กับมาเลเซียกำลังจะมีโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง KL-Singapore ยิ่งขับเน้นความน่าสนใจของเมืองใหม่กลางช่องแคบแห่งนี้เป็นอย่างดี สำนักข่าวบลูมเบิร์กวิจารณ์ว่ามันจะเป็นเซินเจิ้นแห่งใหม่ ที่ต่อเชื่อมความเจริญของฮ่องกง แค่แทนที่ฮ่องกงเป็นสิงคโปร์เท่านั้น

แต่คนท้องถิ่นมาเลเซียเองก็วิพากษ์วิจารณ์ความใหญ่มหายักษ์ของ Forest City ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยจับจ้องที่ขั้นตอนอนุญาตก่อสร้างและผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกฯ มองว่าเป็นการขายอธิปไตย เพราะต่างชาติโดเฉพาะจีนได้สิทธิ์เช่า 99 ปี ส่วนนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซะก์ ซึ่งเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการร่วมกับสุลต่านรัฐยะโฮร์  บอกว่า นี่จะเป็นดูไบแห่งภาคพื้นตะวันออก

ส่วนโครงการมหายักษ์ถมทะเลอีกแห่งก็คือ Melaka Gateway ที่ทุนจีน (อีกแล้ว) กำลังก่อสร้างด้วยมูลค่าเกือบๆ 5 แสนล้านบาทไทย และจะได้สิทธิ์สัมปทาน 99 ปี ยิ่งใหญ่กว่าเพราะเกี่ยวข้องกับท่าเรือ การขนส่ง และยุทธศาสตร์การค้าบนช่องแคบที่คับคั่งที่สุดในโลก

อันที่จริงรัฐบาลท้องถิ่นของมะละกาถมทะเลขยายพื้นที่เมืองออกไปมาก่อนหน้าแล้ว แต่แผนผังของเมืองใหม่ถมทะเลดังกล่าวถูกรื้อและปรับใหม่ให้กลายเป็นเกาะรูปวงแหวน ที่อลังการงานสร้างยิ่งขึ้นไปอีก นี่จะเป็นพื้นที่กิจกรรมเศรษฐกิจใหม่ และทั้งจะเป็นจุดที่จีนใช้ดูแลผลประโยชน์การค้าของตนในช่องแคบมะละกาอีกทางหนึ่ง

มาเลเซียนั้นใช้การถมทะเลเพื่อสร้างโครงการพิเศษขนาดใหญ่เพื่อเป็นหัวรถจักรผลักดันเศรษฐกิจ วงเงินของโครงการจึงสูงมาก พร้อมกับคาดหวังผลรับตามมาไว้สูง สิ่งที่อยู่ในใจรัฐบาลทุกชุดต่อจากรัฐบาลดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด ก็คือเงื่อนไขที่รัฐบาลประกาศว่าจะทำให้มาเลเซียพ้นจากประเทศกำลังพัฒนาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2020 ซึ่งนี่ก็เหลืออีกแค่ 3 ปีเท่านั้น

ดูเพื่อนบ้านแล้วย้อนมาดูตัวเองบ้าง

ส่วนประเทศไทยมีพื้นที่มาก ในอดีตไม่จำเป็นต้องถมทะเลเพื่อก่อสร้างทำประโยชน์ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีเปลี่ยนแปลง การยกระดับพื้นที่พัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดภายใต้แนวคิดระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกที่กำลังดำเนินการ จะมีการถมทะเลเพื่อทำท่าเทียบเรือน้ำลึกแหลมฉบังเฟส 3 พื้นที่ประมาณ 1,600 ไร่  และก็ไม่แน่ว่าเมื่อมีการประกาศพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษไปแล้วก็อาจจะมีโครงการถมทะเลทำอภิโครงการแบบเดียวกับเพื่อนบ้านก็ใช่จะเป็นไปไม่ได้ เพราะเงื่อนไขสำคัญที่จะดึงดูดให้ทุนมาลงก็คือการเช่าที่ดินระยะยาว สอดรับกับรูปแบบพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบใหม่จะมีประกาศใช้ในร่างกฎหมาย EEC ด้วย .

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ