บูรพา-อาคเนย์ ทำไมจีนถึงยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน : บัณรส บัวคลี่

บัณรส บัวคลี่

สร้างความฮือฮาให้กับแวดวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างมาก หลังจากรัฐบาลจีนประกาศยกเลิกการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินใหม่ 107 โรง รวมกำลังการผลิต 120 กิกะวัตต์ ซึ่งเป็นปริมาณที่ไม่น้อยเลย เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของไทยเราที่รวมกันแล้วอยู่ที่ราว 41 กิกะวัตต์ นั่นเพราะจีนผลิตมลภาวะและก๊าซเรือนกระจกมากเป็นลำดับต้นๆของโลก

รัฐบาลจีนประกาศยกเลิกการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินใหม่ 107 โรง รวมกำลังการผลิต 120 กิกะวัตต์ ซึ่งเป็นปริมาณที่ไม่น้อยเลย เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของไทยเราที่รวมกันแล้วอยู่ที่ราว 41 กิกะวัตต์

เรื่องนี้สร้างความฮือฮาให้กับแวดวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่น้อย จีนผลิตมลภาวะและก๊าซเรือนกระจกมากลำดับต้นของโลก ทั้งจีนก็เป็นยักษ์ใหญ่ที่พอจะอ้างอิงเป็นแม่แบบให้กับประเทศอื่นได้ แต่อย่างไรก็ตามก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่ากาประกาศยกเลิกรอบนี้เป็นเพราะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการแล้วต่างหาก ไม่ได้รักสิ่งแวดล้อมอะไรจริงหรอก !?

ขอตอบว่า จีนเอาจริงครับ!

เพราะไม่ใช่แค่โรงไฟฟ้าถ่านหินเท่านั้น ปี 2017 เป็นปีที่นโยบายสีเขียวเริ่มมีผลปฏิบัติอย่างจริงจังกว้างขวางครอบคลุมในทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรมผลิตอื่น นโยบายไอเสียรถยนต์ที่ยกระดับมาตรฐานใหม่ทั้งหมด

นั่นเพราะว่าตลอด 2 ทศวรรษที่จีนเติบโตก้าวกระโดดตัวเลขการเติบโตเกิน 10% ต่อเนื่องหลายปี เป็นโรงงานผลิตของโลกจนจีนผงาดเป็นหัวแถวของชาติเศรษฐกิจชั้นนำ การได้มาซึ่งผลสำเร็จดังกล่าวมีต้นทุนที่ต้องแลกเปลี่ยนที่สาหัสสากรรจ์พอสมควร ปักกิ่งและเมืองใหญ่อีก 20 กว่าเมืองจมอยู่ในหมอกควันมลพิษที่ร้ายแรงมาก เมื่อปีสองปีก่อนมีชายคนหนึ่งใช้เครื่องดูดฝุ่นเก็บมลพิษในกรุงปักกิ่งแล้วเอามาทำก้อนอิฐได้ก้อนใหญ่ เป็นข่าวเชิงประชดประชันที่น่าสนใจ ภาพลักษณ์ของจีนที่ปรากฏต่อสายตาคนทั่วโลกก็คือ ประเทศที่มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมย่ำแย่ นึกจะทิ้งก็ทิ้ง ทั้งดิน น้ำ และอากาศ ปนเปื้อนเต็มไปด้วยมลพิษ ทั้งหมดทั้งมวลทำให้รัฐบาลต้องตัดสินใจ ใช้มาตรการเข้มเพื่อลดค่ามลพิษโดยรวมลงมาด้วยนโยบายและแบบแผนปฏิบัติ

สายตาของนักสังเกตการณ์ภายนอกอาจมองเรื่องนี้แค่จีนกำลังติดหล่มความรุ่งเรืองของตนเอง เพราะปัญหามลพิษเป็นต้นทุนของการพัฒนา ได้อย่าง-ก็ต้องเสียอย่าง !

ซึ่งหากมองจากมุมนี้ มันก็ไม่ใช่เพียงแค่มลพิษเท่านั้น ผลพวงการจากผลักดันเศรษฐกิจบูม ก่อเกิดโรงงานอภิมหาการผลิตยักษ์ของโลก เร่งโตเกินไปผลด้านลบของมันได้นำมาซึ่งปมปัญหาอื่นให้แก้ ทั้งฟองสบู่ที่อาจนำมาซึ่งการถดถอย ปัญหาค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ปัญหาสังคม รถติด ภาพลักษณ์เสียหาย สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาเฉพาะหน้า รัฐบาลจีนประกาศว่าปี 2017 จะไม่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ประมาณการตัวเลขแบบประคับประคอง ลดดีกรีความร้อนแรงลงมาเหลือราว 6.5% ขณะที่สื่อตะวันตกจับจ้องว่าจีนกำลังสะดุด เฮดจ์ฟันด์จ้องถล่มค่าหยวนซ้ำไปอีก

สื่อตะวันตกบางสำนักตัดตอนมอง แล้วก็ชี้เปรี้ยงว่า จีนกำลังแย่ … ซึ่งก็ถูกของเขาแต่ถูกเพียงครึ่งเดียวเพราะมองแบบตัดตอน เอาช่วงรุ่งสุดมาเทียบกับช่วงปรับฐาน ยังไงๆ ก็ได้ผลว่าแย่ลง

แต่แท้จริงแล้วจีนไม่ถึงกับย่ำแย่ขนาดนั้น ในทางกลับกัน จีนได้ใช้จังหวะเวลานี้ แก้ปัญหาเดิมไปพลาง พักเพื่อปรับฐานก้าวในระดับขั้นต่อไปด้วยซ้ำ

                การชูนโยบายสีเขียวเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ใหม่ ที่จะผลักให้จีนก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจเต็มตัว การผลิตสีเขียวที่มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมระดับเดียวกับตะวันตก กลายเป็นตัวชูโรงใหม่ที่สีจิ้นผิงใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญของการเสนอขายแพ็กเกจความร่วมมือไปตามหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง One Belt, One Road ก่อนที่จะออกไปขายชาวบ้าน ตัวเองต้องแสดงให้ดูก่อน…นี่เป็นห้วงเวลาของการลอกคราบ เพื่อจะกลายเป็นผีเสื้อโบกโบยบินต่างหาก

                ยุทธศาสตร์ยกระดับการผลิต Made in China 2025 บ่งบอกชัดเจนว่า ปักกิ่งมองเห็นความตีบตันของการผลิตแบบเดิมที่เน้นกำลังการผลิต การลงทุน เป็นโรงงานรับจ้างผลิตสารพัดอย่างให้กับโลก เน้นต้นทุนราคาถูก เลยไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ฯลฯ แบบที่เคยเป็นมา ยุทธศาสตร์การผลิตใหม่มุ่งยกระดับผลิตภัณฑ์เมดอินไชน่าให้ยืนเทียบชั้นสินค้าแถวหน้าของโลก ทั้งด้านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานเดียวกับตะวันตกที่หมายรวมถึงการจัดการสิ่งแวดล้อม การยกระดับแบรนด์ ความน่าเชื่อถือ นวัตกรรมและการวิจัยค้นคว้า  เอาแค่เริ่มต้นตอนนี้แบรนด์จีนอย่าง Huawei ก็เทียบชั้น Apple, Samsung, Sony แล้ว  จากนี้ต่อไปก็พวกรถยนต์ เครื่องบิน เครื่องใช้ไฮเทคทั้งหลาย ที่จะทยอยพาเหรดขึ้นแถวหน้า

การก้าวออกสู่โลกภายนอกไปตามหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง นำเสนอภาพลักษณ์ที่ทันสมัยของจีน พร้อมๆ กับการยกระดับวิถีการผลิตให้พ้นจากกรอบเดิม

ข้อโจมตีจากสื่อนิยมตะวันตกที่จับผิดจีนพยายามจะยกพฤติกรรมที่ไม่สนใจสิ่งแวดล้อมของจีน/และทุนเชื้อชาติจีนขึ้นมา ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ชาวจีนมีจุดอ่อนในเรื่องนี้จริงๆ มีตัวอย่างมากมายตลอด 2 ทศวรรษแห่งการผลักดันเศรษฐกิจยุคใหม่จนละเลยการรักษาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต อย่างเช่นล่าสุดการออกมาลงทุนนอกประเทศเพื่อปลูกสวนกล้วยส่งกลับไปจำหน่ายในประเทศที่ลาวที่ปล่อยสารเคมีลงสู่สิ่งแวดล้อมจนเจ้าของประเทศต้องสั่งระงับไม่ให้เช่าที่ดินทำแบบนี้อีก ก็ชัดเจนว่ามันเป็นจุดอ่อน และเป็นพฤติกรรม/ความเคยชินที่ต้องแก้ไขโดยเร่งด่วนหากจีนจะกรีธาทัพทุนไปตามหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง สถาปนาระเบียบโลกใหม่ใต้กระแสบูรพาภิวัตน์ได้จริง

สื่อสิงคโปร์อย่างช่อง Channel News Asia ที่จับจ้องการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทางสายไหมท้องทะเล พยายามจะชี้ว่าหากทุนจีนเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็อาจจะมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยยกตัวอย่างการใช้เครื่องจักรไปขุดถมพื้นที่สำคัญในท้องถิ่นโดยคนท้องถิ่นไม่รู้เห็น และรายงานว่าจีนอาจจะใช้ถ่านหินที่อินโดนีเซียเพื่อนิคมอุตสาหกรรมลงทุนที่นั่น (ซึ่งจะส่งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมให้กับเจ้าถิ่น)

ข้อกังวลด้านลบเหล่านี้ จะดังขึ้นเรื่อยๆ หากจีนไม่รีบป้องกัน และมันอาจจะกระทบต่อยุทธศาสตร์ใหญ่หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางชนิดเส้นผมบังภูเขา

ถ้าจีนจะขยับจากกับดักมหาอำนาจอันดับสองที่ยังเป็นเพียงโรงงานรับจ้างผลิตของโลกและเต็มไปด้วยภาพลักษณ์ด้านลบทางด้านคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม อย่างไรเสียก็ต้องรีบจัดการจุดอ่อนเรื่องนี้ และชูสีเขียวเข้ามาแทนให้ได้โดยเร็ว

เราจึงเริ่มได้เห็นภาพข่าวความสำเร็จทางด้านการใช้พลังงานสีเขียว โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากสื่อจีนออกมาบ่อยขึ้น

นโยบายสีเขียว เป็นการแก้ปัญหาเก่าที่ทำพร้อมไปกับการสร้างฐานใหม่ที่จะกระโดดทะยานไปข้างหน้าควบคู่กันไปของมหาอำนาจมังกร

 

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ