บทที่ 3 เป้าหมายชีวิต : ดร.สมฤดี ศรีจรรยา

ดร.สมฤดี ศรีจรรยา

“เป้าหมาย คือ จุดเริ่มต้นแห่งความสำเร็จ นักบริหารที่ดี จะต้องถือว่า เป้าหมายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการบริหารงาน”

“เป้าหมาย คือ จุดเริ่มต้นแห่งความสำเร็จ นักบริหารที่ดี จะต้องถือว่า เป้าหมายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการบริหารงาน”

 

เป้าหมาย คือ จุดเริ่มต้นแห่งความสำเร็จ

มีนิทานกล่าวถึงพระราชาองค์หนึ่งได้เสด็จไปในป่า พร้อมด้วยข้าราชบริพารมากมาย ตลอดเส้นทางเสด็จทรงแปลกใจที่มีลูกธนูปักอยู่กลางเป้าอย่างแม่นยำตามต้นไม้ตลอดทางลึกเข้าไปในป่า ด้วยความสงสัย จึงทรงสั่งมหาดเล็กให้ตามหามือธนูผู้แม่นฉมังมาให้ได้ว่าเป็นใครมาจากไหน

มหาดเล็กก็ตระเวนหาทั่วป่า จนในที่สุด ก็ได้พบเด็กคนหนึ่งในมือถือคันธนูอยู่ จึงเข้าไปถามว่า
“เจ้าหนูน้อย เอ็งรู้ไหมว่า ใครเป็นคนยิงธนูปักเป้าที่เห็นเต็มไปหมดนี้ได้อย่างแม่นยำ”
เด็กน้อยก็ยืดอกรับด้วยความภาคภูมิใจว่า “ข้านี่เองแหละ”
มหาดเล็กไม่เชื่อก็ถามซ้ำ “เจ้าไม่โกหกแน่นะ”
เด็กน้อยก็ยืนยันเสียงแข็ง จึงพาตัวไปเข้าเฝ้า พระราชาก็ทรงถามคำถามเดียวกัน
เด็กน้อยตอบอย่างภาคภูมิใจว่า “ข้าเองพระเจ้าข้า”
พระราชาก็รับสั่งว่า “ถ้าเจ้าทำได้จริง ข้าจะให้รางวัลเจ้า และจะแต่งตั้งให้เป็นทหารเอก แต่ถ้าเจ้าโกหกข้าละก็ เจ้าจะต้องโดนลงโทษสถานหนัก เอ้า… ไหนแสดงให้ข้าดูซิ”
เด็กน้อยตกลงรับปากทันที เขาหยิบธนูขึ้นมาขึ้นสายก่อน ยิงไปยังต้นไม้ต้นหนึ่ง จากนั้นเขาก็เดินถือกระป๋องสีเดินไปที่ต้นไม้ต้นนั้น  และวาดวงกลมล้อมลูกธนู กลายเป็นว่าลูกได้ธนูปักอยู่กลางวงกลมอย่างแม่นยำ

ข้อคิดที่ได้เหมือนกับชีวิตของคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีการตั้งเป้าหมายไว้ล่วงหน้า ปล่อยชีวิตล่วงลอยไปวันๆ ทำงานก็ไม่มีเป้าหมาย มีงานมาก็ทำ ไม่มีงานก็อยู่เฉยๆ ไม่มีการขวนขวายอะไร เวลาทำอะไรสำเร็จก็อ้างว่าตรงตามเป้าหมายแล้ว พอใจแล้ว

ตรงข้ามกับบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เมื่อเป็นนักเรียนก็ขยันหมั่นเพียร ตั้งอกตั้งใจเรียน เพื่อจะสอบให้ได้คะแนนดีๆ เหนือกว่าคนอื่น บางคนสอบได้ที่หนึ่งก็ตั้งเป้าว่าจะต้องรักษาตำแหน่งที่หนึ่งเอาไว้ให้ได้ตลอด บางคนก็ตั้งเป้าไกลกว่านั้น

 

เป้าหมาย เริ่มต้นจากความฝัน

ถึงแม้ว่าคนเราจะมีความฝันแบบเด็กๆ แต่ก็เป็นความฝันที่ถือเป็นแรงจูงใจ ทำให้เกิดความขยันหมั่นเพียร ความอดทน ความวิริยะอุตสาหะ ทำให้เกิดนิสัยติดตัว มีความเป็นระเบียบ สามารถควบคุมตัวเองให้มีในการทำให้ถึงเป้าหมาย เมื่อทำงานก็สามารถพัฒนาศักยภาพให้ตัวเองไต่เต้าตำแหน่งขึ้นไปอยู่ในระดับสูงได้

คนเหล่านี้ทำงานที่ไหนก็ก้าวหน้ารวดเร็ว มีความสามารถเหนือกว่าคนอื่น ประสบความสำเร็จเพราะมีความเก่งเป็นตัวนำหน้า มีความดีเป็นฐานหลัก ไปอยู่องค์กรไหน คนก็จะรักและอยากได้ เวลาลาออกจากองค์กรไปเขาก็จะเสียดาย

 

เป้าหมาย ทำให้คุณประสบความสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว

            คนที่มีเป้าหมาย คือ คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะเรารู้จักบริหารชีวิตตนเอง มีทัศนคติที่ดีต่อชีวิต มีปรัชญาชีวิตแจ้งชัด มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้เหมือนกับผังภูมิข้างล่างนี้

  1. การตั้งเป้าหมาย

ถ้าเราตั้งคำถามกับทุกคนว่า “อยากรวยไหม? อยากสวย อยากหล่อไหม? อยากประสบความสำเร็จไหม?” ทุกคนก็ต้องตอบว่า “อยาก” แน่นอน แต่ถ้าถามต่อว่า “อยากรวยแค่ไหน?” คนส่วนใหญ่จะอ้ำอึ้ง ไม่กล้าบอกตัวเลขเพราะไม่เคยคิดมาก่อน

ความกลัวที่จะตั้งเป้าหมาย ความกลัวที่จะตั้งตัวเลข ความกลัวที่จะผิดหวัง ความกลัวว่าจะทำไม่ได้ เหล่านี้คือ อุปสรรคขวางหนามใหญ่ในชีวิตมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิสัยคนไทยที่ไม่คุ้นกับการตั้งเป้าหมายแห่งความสำเร็จ

 

เป้าหมายที่ชัดเจน ทำให้คุณเป็นนักบริหารมืออาชีพ

นักบริหารรุ่นใหม่จะมีการตั้งเป้าอย่างชัดเจน ตั้งแต่เริ่มต้นเป็นเป้าที่ถูกหลักวิชา 3 ประการ คือ

  1. ต้องเป็นเป้าหมาย ที่เป็นตัวเลขวัดได้
  2. ต้องเป็นเป้าหมาย ที่มีกำหนดเวลาชัดจน แน่นอน
  3. ต้องเป็นเป้าหมาย ที่มีความเป็นไปได้ ไม่เพ้อฝัน ไม่สูงเกินไป ไม่ต่ำเกินไป

ตัวอย่างเช่น จะตั้งเป้าในเรื่องความรวย ก็จะกำหนดตัวเลขว่าจะรวยสักเท่าไร  และกำหนดเวลาชัดเจน

แน่นอนว่าเมื่อไหร่  ซึ่งตัวเลขนั้นไม่ควรสูงเกินไปจนเหลือวิสัย  แต่เป็นเป้าหมายที่มีความเป็นไปได้สูงสำหรับเรา

 

  1. การค้นหาวิธีการ

เมื่อกำหนดเป้าหมายแล้ว จากนั้นก็ต้องศึกษาวิธีการ ถ้าเราจะไปสู่ความร่ำรวยนั้น จะต้องทำอย่างไร ต้องประกอบอาชีพอะไร ถ้าจะทำสินค้าอะไร และทำอย่างไร สินค้านั้นจึงจะประสบความสำเร็จ เช่น

  • ต้องศึกษาวิธีทางการค้า
  • หาเคล็ดลับทางการค้า
  • ศึกษาประวัติบุคคลที่ประสบความสำเร็จ
  • ไปฟังการบรรยาย ไปร่วมการสัมมนา
  • ไปเข้าหลักสูตรอบรม
  • ไปคุยกับผู้รู้ หรือผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในวงการนั้นๆ

จากนั้นก็คือ การกำหนดยุทธศาสตร์ ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว

 

  1. การปรับปรุงตนเอง การพัฒนาตนเอง

มีคนเป็นจำนวนมากที่รู้มาก อ่านมาก ฟังเยอะ เรียนเยอะ รู้ทฤษฎีเต็มไปหมด ใครพูดอะไรก็รู้ไปทั้งนั้น แต่พอลงมือเข้าจริงๆ ปรากฏว่าล้มเหลว

ที่สำคัญคือ เราจะทำได้ต้องนึกถึง 3 เหลี่ยมแห่งความสำเร็จนี้ไว้ ทำแล้วทำเล่า ทำซ้ำๆ ปรับแล้วปรับอีก วนเป็นวงกลม ทำจนในที่สุดเราก็เจ้าสู่ความเป็นเลิศได้ เพราะความเป็นเลิศมาจากการตอกย้ำซ้ำเติมและการฝึกฝนเท่านั้น

 

จากตำรา สู่ชีวิตจริง

                ตัวอย่างของการนำทฤษฎีมาใช้ในงานจริง ทำแล้วปรับ ปรับแล้วทำ เป็นสิ่งที่ทุกองค์กร นักบริหารทุกคนจะทำกันเสมอๆ แม้ในที่ทำงานซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เล็กๆ สร้างคอนโดมิเนียม หมู่บ้าน แถวคลองหลวง ปทุมธานี คือ  กลุ่มเมืองแก้วมณี และคริสตัลฟลอเรสกรุ๊ป ซึ่งเริ่มตั้งเป้าหมายจากความฝัน จากฝันก็แปลงเป็นวิสัยทัศน์ จากวิสัยทัศน์ก็ปรับเป็นพันธกิจ และจากพันธกิจก็กำหนดเป็นเป้าหมาย ทุกอย่างเป็นไปตามหลักการบริหารทุกประการ

โชคดีที่ประธานของกลุ่มคืออาจารย์มานิต รัตนสุวรรณ นักการตลาดมืออาชีพคนดัง และเป็นอาจารย์ที่มีลูกศิษย์ทั่วเมืองไทย อาจารย์มานิตเป็นทั้งครูและพี่เลี้ยงที่ช่วยในการชี้แนะ ในทีมจึงทำงานเหมือนกับได้กางตำราเป๊ะ เริ่มจากงานสารนิพนธ์ (Independent Study) ที่ทำเสนออาจารย์เพื่อสอบปริญญาโท ภาคภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชื่อหัวข้อ “หมู่บ้านสมาธิเพื่อสุขภาพ สำหรับคนรุ่นใหม่” (Meditation Village for Health) เป็นงานวิจัยผสมวิเคราะห์ทางทฤษฎี ที่แม้แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยท่านก็ยังแปลกใจที่เลือกทำหัวข้อนี้

แต่นั่นก็คือ การตั้งเป้าหมายไว้อย่างแจ้งชัด พิสูจน์ความเป็นไปได้ด้วยการทำการวิจัยและการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค ผลการวิจัยสะท้อนว่ามีความต้องการสูงมาก ถ้าทำได้ดีจริงตามต้นแบบที่เขียนไว้

ในที่สุดความฝันก็กลายเป็นจริง จากงานสารนิพนธ์กลายเป็นเป้าหมายทางธุรกิจที่มีตัวเลขชัดเจน มีกำหนดเวลาแน่นอน จากนั้นก็เริ่มซื้อที่ดิน เริ่มออกแบบ ตอกเสาเข็มและเริ่มก่อสร้าง ทุกอย่างเป็นไปตามกำหนดเวลา

จากนั้นก็มีการประชุมพนักงานทั้งบริษัท เพื่อให้ทราบเป้าหมายและพันธกิจของบริษัท เขียนติดไว้ที่ข้างฝาห้องประชุมเพื่อกันลืม ในฐานะกรรมการผู้จัดการต้องไปยืนกลางห้องประชุม อธิบายหลักการบริหารแบบ 7S ของ McKinsey ให้พนักงานทุกคนเกิดความร่วมใจกัน และให้กำหนดเป้าหมายแต่ละฝ่ายอย่างแจ้งชัด ประชุมเขียนขึ้นบนกระดาน ติดตามงานทุกสัปดาห์ แก้ปรับแผน มีกำหนดเวลาอย่างเคร่งครัด

การประชุมเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ทำงานสนุก ทุกคนได้มีส่วนในการแสดงความคิดเห็น แก้ไข เสนอแนะในทุกระดับ และงานก็คืบหน้าไปตามลำดับ ลูกค้าเริ่มสนใจเข้ามาซื้อบ้าน และจับจองทั้งที่ที่ดินยังถมไม่เสร็จ

ไม่น่าเชื่อเลยจากความฝันในผลงานส่งอาจารย์กลายมาเป็นความจริง ได้เป็นจุดกำเนิดบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีเป้าหมายชัดเจน สร้างหมู่บ้านในฝัน “หมู่บ้านสมาธิเพื่อสุขภาพ” หรือมีชื่อเล่นว่า “บ้านแก้วพุทธรักษา”

 

ข้อคิด 15 ประการในการตั้งเป้าหมายที่ดี ของการทำงานแบบนักบริหารมืออาชีพ

ถ้าจะถามว่า ได้อะไรบ้านจากการทำงานแบบพลิกตำรากลายมาเป็นชีวิตจริง ทำงานจริง ประสบการณ์จริง นี่คือสิ่งที่ได้เรียนรู้และจดจำเพื่อนำมาเป็นข้อคิดคำชี้แนะสำหรับนักบริหาร-นักการตลาดรุ่นใหม่ ดังนี้

  1. นักบริหารที่ดีจะต้องถือว่าการตั้งเป้าหมายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต และในการที่จะบริหารกิจการหรือ
    งานอะไรก็ตามที่พลาดไม่ได้
  2. ถึงแม้ว่าจะรู้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวด แต่ก็ต้องไม่รีบผลีผลาม ตั้งเป้าหมายโดยไม่ได้ไตร่ตรองให้รอบคอบ ปรึกษาให้รอบคอบ ถ้าผิดต้องรีบแก้ไขใหม่
  3. เมื่อมีการตั้งเป้าหมายที่ดีแล้ว ต้องให้เวลาตัวเองเพียงพอในการวางแผนให้รอบคอบ มีกำหนดเวลาชัดเจน มีระบบการติดตามควบคุม วัดผล ประเมินผลตลอดเวลา
  4. การตั้งเป้าหมายที่ดี คือการตั้งเป้าหมายในทุกกิจกรรม ทุกฝ่าย ทุกแผนก จะต้องตั้งเป้าหมายรองรับเพื่อให้สอดคล้องกัน เป็นเป้าหมายที่วัดผลได้ ติดตามรายละเอียดได้ทุกขั้นตอน มีผู้รับผิดชอบชัดเจนของแต่ละกิจกรรม มีการปรับแผนตลอดเพื่อให้ทันเหตุการณ์ และ ทันกับการเปลี่ยนแปลง
  5. การตั้งเป้าหมายที่ดี คือการให้ทุกฝ่ายได้ร่วมกันตั้งเป้าหมาย จะได้มีส่วนร่วมในความรับผิดชอบร่วมกัน การบริหารสมัยใหม่จะไม่ให้ฝ่ายบริหารระดับนโยบายตั้งเป้าหมายอย่างเดียว จะเปิดโอกาสให้ผู้บริหารและพนักงานระดับรองลงมาได้มีส่วนร่วมด้วย จะได้มีการวัดประสิทธิผลและประสิทธิภาพ
  6. จะต้องสร้างบรรยากาศให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ในการตั้งเป้าหมายและทำแผนงาน แม้มีการผิดพลาดในกาตั้งเป้าหมายและผิดไปจากแผนงาน ก็ต้องอดทน อดกลั้น ค่อยๆ ปรับไป แก้ไขกันไป ไม่ทำให้เกิดบรรยากาศในทางลบ ทำให้เกิดความกลัวในความผิด เลยหลบนิ่งเงียบกันหมด
  7. การตั้งเป้าหมายกับการวางแผนดำเนินงานเป็นของคู่กัน จะต้องฝึกฝนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้วางแผนเป็น ให้มีความรอบคอบละเอียดลออ พัฒนาตัวเองให้ก้าวขึ้นมาทันกัน จนพนักงานทุกระดับคุ้นกับการวางแผน แม้แต่งานเล็กๆ น้อยๆ
  8. ในบางองค์กรจะมีการนำบุคคลภายนอกผู้รู้จริงมาร่วมในการวางแผนหรือเป็นที่ปรึกษาบริษัท การประชุมที่ดีแทนที่จะใช้บุคคลภายในองค์กรซึ่งคุ้นกันมากเกินไปและเกรงใจกัน ถ้าใช้บุคคลภายนอกการตั้งเป้าหมายอาจดูดีมีเหตุผล ไม่มีอารมณ์ไม่มีอคติระหว่างฝ่ายเกี่ยวข้อง
  9. การตั้งเป้าหมายและการวางแผน คือประสบการณ์ที่ดีที่สุดที่เรียนรู้จากคนอื่นจากที่ประชุม เป็นการฝึกฝนสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับทุกคน เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาพนักงานทุกคนให้เป็นนักวางแผน นักบริหารผู้นำบางครั้งการนำเสนอหลักวิชาการก็จะเป็นเป็นต้นแบบที่ดีทำทุกคนได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แนวความคิดใหม่ๆ
  10. การวางแผนและตั้งเป้าที่ดี คือเขียนบนกระดานให้ชัดเจนติดไว้ในที่เห็นชัดเพื่อเป็นการเตือนใจทุกคน จะได้คอยติดตามดูความคลื่นไหวของตัวเองและคนอื่น

 

 

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ