“วิเคราะห์ตัวเอง มองเห็นตัวเองในกระจก เห็นทั้งภายนอก เห็นทั้งภายใน เราก็คงจะแก้นิสัย แก้ศักยภาพ แก้อารมณ์ และความคิดในตัวเองได้เยอะทีเดียว”
เริ่มค้นหาตัวเอง ซะตั้งแต่วันนี้
ไม่น่าเชื่อเลย มนุษย์เราทุกวันนี้มีความเก่งรอบด้าน ทั้งความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ก้าวไกลถึงขนาดสำรวจดาวดวงใหม่ในอวกาศ แล้วยังเรื่องอื่นๆ แทบจะเรียกว่ารู้ไปหมดทุกอย่าง มีหนังสือนับล้านเล่มครอบคลุมความรู้ไปหมดทุกด้าน ใครอยากจะเรียนอะไรก็สามารถทำได้เพียงแค่เปิดอินเทอร์เน็ต
แต่ปรากฏว่าเรากลับรู้เกี่ยวกับตัวเราเองน้อยที่สุด ยิ่งเกี่ยวกับความคิดและจิตใจ คนส่วนใหญ่ไม่เคยเรียนรู้ว่า อคติ หรือความลำเอียงที่ทำให้โลกเอียงและวุ่นวายทุกวันนี้มี 4 ประเภท ด้วยกัน คือ ลำเอียงเพราะรัก ลำเอียงเพราะเกลียด โกรธ อิจฉา ลำเอียงเพราะกลัว ลำเอียงเพราะโง่ เราไม่เคยเรียนรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เกขึ้นได้อย่างไร ทำไมถึงเกิด ควบคุมได้อย่างไร และจะแก้ได้อย่างไร
ถ้าเรามีเจ้านายที่ลำเอียง ก็จะเกิดบริษัทลำเอียง แล้วบริษัทก็จะลำเอียง ธุรกิจกะเอียงแล้วก็ล้มไปในที่สุด ถ้าพ่อแม่ลำเอียงแล้วบ้านก็เอียง เพราะคำส่า “อคติ 4” ในตัวมนุษย์นี่เอง
ปรับใจตัวเอง ให้รับได้ทุกสถานการณ์
ความคิดในการช่วยตัวเองหรือปรับปรุงตัวเองนี้ก็แปลก บางคนก็มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่บางคนก็ไม่มีเลย ไม่เคยคิดวิเคราะห์ตัวเอง ปรับปรุงตัวเอง แก้ไขตัวเองได้เอง
คนเราถ้าเรารู้จักวิเคราะห์ตัวเองว่า เรามีความได้เปรียบอะไร มีความเสียเปรียบอะไร รู้จุดอ่อนจุดแข็งตัวเอง แล้วหาทาแก้ไข ปรับปรุงไปเรื่อยๆ นานๆ ไปก็ดีเอง แต่นิสัยบางอย่างอาจต้องใช้กลยุทธ์และความใจเด็ดที่ยิ่งใหญ่ทีเดียว
ตอนเรียนปริญญาที่อาจารย์ฝรั่งสอนให้ทำ SWOT เพื่อประโยชน์ในการทำวิเคราะห์ธุรกิจการลงทุน นั่นคือการวิเคราะห์ Strength คือ จุดแข็ง Weakness คือ จุดอ่อน Opportunity คือ โอกาส และ Threats คือ อุปสรรค ซึ่งทำให้ได้ข้อคิดน่าสนใจ ถ้ามนุษย์รู้จักทำ SWOT วิเคราะห์ตัวเอง รู้จักตัวเอง มองตัวเองในกระจก เห็นทั้งภายนอกเห็นทั้งภายใน ก็คงจะแก้นิสัย แก้ศักยภาพ แก้อารมณ์ความคิดในตัวได้เยอะทีเดียว เพราะทุกวันนี้เก่งอย่างเดียวไม่พอต้องดีด้วย อยากเก่งก็ทำงานหนัก ทำไปแก้ไขไปไม่นานก็เก่ง แต่จะให้ทั้งเก่งและดีนั้นเป็นสิ่งยาก
ถ้าบริหารตัวเราเองยังไม่ได้ จะไปบริหารใครได้
ทุกครั้งที่เห็นป้ายนักการเมืองที่ติดหาเสียงเพื่อขออาสาไปบริหารบ้านเมือง เคยตั้งข้อสงสัยว่าคนเหล่านี้ รู้หรือเปล่าว่าระบบราชการมีข้าราชาการเป็นแสนๆ คน จะสามารถบริหารได้หรือเปล่า เพราะคนบางคนแค่บริหารธุรกิจตัวเอง ยังเอาตัวไม่รอด ยังคิดจะไปบริหารบ้านเมือง
เช่นเดียวกัน ในชีวิตจริงหากจะเข้าไปทำงานในบริษัท หรือองค์กรใดก็ตาม บริษัทที่เขาทำธุรกิจมาดีๆ มียอดขายเป็นร้อยเป็นพันล้านบาท มีหรือเขาจะปล่อยให้คนมือใหม่ที่ไม่รู้หัวนอนปลายเท้าอย่างไรเข้าไปบริหาร เพราะเห็นความสามารถก็แค่ใบปริญญากับใบเกรดที่วางตรงหน้า นิสัยเป็นอย่างไร ซื่อสัตย์หรือไม่ เก่งจริงหรือเปล่า จะอยู่กับเขานานไหม หรือถ้าได้งานดีกว่าก็จะรีบเปิดหมวกอำลาไป ทั้งที่บริษัทนั้นเขาอุตส่าห์รับเข้าไปแล้วฝึกอบรมให้แทบตาย
รู้จักตัวเอง ดีแล้วหรือ?
ตรงนี้เองที่ยากที่สุด คนเราส่วนใหญ่มักจะลำเอียงเข้าข้างตัวเอง และส่วนที่หายากในมนุษย์ยุคนี้คือคุณธรรมกับจริยธรรม
ในวิชาการบริหารทรัพยากรมนุษย์สมัยใหม่ กล่าวถึงการพัฒนามนุษย์ว่าจะต้องพัฒนา 4 ด้านด้วยกัน คือ
- Attitude ทัศนคติ
- Knowledge ความรู้
- Skill ทักษะเชี่ยวชาญหรือความเก่ง และ
- Potential แววความฉลาดเฉลียว หรือ ศักยภาพในการเติบโตก้าวหน้าในองค์กร
นักบริหารที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งคือ คุณชุมพล พรประภา ประธานบริษัทเอสพีไอฯ เมื่อไปบรรยายที่ไหน จะให้ข้อคิดเรื่องการเวลารับคนว่า “ผมดูแค่ 2 อย่างง่ายๆ คือ 1. ไม่โกง 2. ไม่โง่”
ข้อแรกสำคัญที่สุด “เพราะถ้าคนเก่งแต่โกง ผมไม่รู้จะเอาไว้ทำอะไร มีแต่ทำให้ผมเจ๊ง ถ้าข้อนี้ไม่ผ่าน อย่างอื่นไม่ต้องพิจารณา
ข้อที่สองคือ เอาแค่ไม่โง่ ไม่ต้องเอาฉลาดอะไรนักหนา เอาแค่สอนได้เรียนรู้ได้ ผมก็ทำให้เก่งได้”
ข้อคิดของเจ้าสัวชุมพลนี้ ถ้าสรุปให้ทันสมัยก็ต้องบอกว่าคนเราต้องทั้งเก่งและดีนั่นเอง
เก่งและดีทำไง
ถ้าจะปรับให้เข้ากับตำราพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สมัยใหม่ ในองค์กรจะต้องมีการพัฒนา คือ
- ทักษะ หรือ ความเก่ง (Skill)
- ความรู้ทั้งในงานและในตัวเอง (Knowledge)
- ความเฉลียวฉลาดหรือ ศักยภาพในการเติบโตก้าวหน้าในการเป็นผู้บังคับบัญชาในองค์กร (Potential)
สรุปก็คือ “การพัฒนาความเก่งให้ค้าขายเก่ง วางแผนเก่ง คิดเก่ง ทำเก่ง พูดเก่ง”
และสิ่งที่ยากที่สุดคือ 4. การพัฒนาทัศนคติ ( Attitude) บางคนมีติดตัวมาอย่างไร ก็จะติดอยู่อย่างนั้น แก้ยากที่สุด ถ้าคนทีทัศนคติต่อตัวเอง ต่อครอบครัว และต่อสังคมที่ดี เมื่อได้มาร่วมงานก็จะทำให้ได้คนดี มาช่วยสร้างสรรค์สังคมเล็กๆ นั้น ทำให้องค์กรนั้นน่ารัก อบอุ่น มีแต่ความรัก สมัครสมาน ไมตรีจิต มีความซื่อสัตย์ มีความสำนึกผิดชอบ มีความรักองค์กร อุทิศตนอยากให้องค์กรประสบความสำเร็จแล้วตัวเองก็จะประสบความสำเร็จด้วย
กลับกันองค์กรไหนที่โชคร้ายได้พนักงานที่มีทัศนคติในทางลบ ซ่อนตัวเงียบเหมือนงูเห่าในที่มืด ถ้ามีโอกาสโกงก็จะโกง มีโอกาสขี้เกียจได้ก็จะขี้เกียจ มีนิสัยนินทาว่าร้าย ชอบพูดให้แตกสามัคคี เอาเปรียบคนอื่น โผงผางรุนแรง บางคนถึงกับทำร้ายกันเอง ยิ่งเวลาเมาขาดสติ ชอบพูดเสียงดังข่มขู่คนอื่น โกหกพกลมเป็นนิสัย พูดจาเพ้อเจ้อเลอะเทอะ น่าเบื่อหน่าย ก็นับว่าเป็นกรรมขององค์กรนั้นที่จะต้องมีการไขขนานใหญ่
ประสบการณ์ที่ทำงานในหลายบริษัท ผ่านองค์กรมาแล้วทั้งบริษัทเล็กและใหญ่ต้องเป็นลูกน้อง ต้องเป็นเจ้านายที่มีลูกน้อง สิ่งที่เล่ามานี้คือภาพที่เห็นจนชินตา ประสบการณ์ที่แอบมองคนเหล่านั้นด้วยสายตาที่เห็นใจ เข้าใจ และอยากช่วย อยากเป็นกระจกให้เขาเห็น อยากให้ปรับปรุงแก้ไขตัวเอง เพื่อให้ชีวิตของเขาจะได้ดีขึ้น ดีทั้งต่อองค์กร และดีทั้งต่อตัวเองด้วย
เราจะบริหารตัวเอง ให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร
บททดสอบตนเองของอาจารย์มานิต รัตนสุวรรณ ได้กล่าวถึง “นักบริหารสอบตก 11 ข้อ” ซึ่งบรรยายให้ห้องเสมอๆ ได้กล่าวถึง ข้อแรกของนักบริหารที่มักสอบตกกันทุกคน คือ “การบริหารตัวเอง”
คำว่าบริหารตนเองนั้น หมายถึงการควบคุมตัวเองให้มีระเบียบวินัย ตรงต่อเวลา บริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพใช้เวลาในแต่ละวันให้มีประโยชน์สูงสุด ไม่ชอบอ้างว่าไม่มีเวลาทั้งที่ 24 ชั่วโมงนั้น ถ้าบริหารให้ดีจะทำให้มนุษย์ทำอะไรได้เยอะทีเดียวในวันหนึ่ง
บางคนบ้างาน ทำงานหามรุ่งหามค่ำ นั่งทำงานจนดึกยังไม่พอ หอบงานกลับบ้าน ข้าวปลาไม่ค่อยได้กิน เสาร์อาทิตย์ไม่เคยพักผ่อน ทำงานด้วยความเครียด ซึ่งถือว่าบริหารตนเองไม่ดี
บางคนเฉื่อยแฉะ ไม่รับผิดชอบงาน เกี่ยงงาน ขี้เกียจ คอยหลบงาน เอาเปรียบคนอื่น ได้แต่ชอบวิจารณ์คนอื่น แต่ลืมดูตัวเอง ให้งานไปก็ไม่ค่อยสำเร็จ หรือสำเร็จแต่ก็มีปัญหา มีปัญหากับคนอื่นทุกเรื่อง ทำงานไปก็ทะเลาะกับคนนั้นคนนี้ แม้ทำงานเสร็จแต่มีปัญหาเรื่องการเงินไม่เรียบร้อย ไม่โปร่งใส มีลับลมคมใน
ฉะนั้นคำว่าบริหารตนเองนั้น คือการควบคุมตัวเองทั้งความประพฤติ การทำงานให้ได้ประโยชน์สูงสุด ใช้เวลา ทรัพย์สิน คน สิ่งของ อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด นอกจากนี้ สามารถควบคุมจิตใจ อารมณ์ ความคิด ทัศนคติได้ดี มีวิสัยทัศน์ มีความคิดสร้างสรรค์เป็นนักแก้ปัญหา มีมนุษยสัมพันธ์ มีบารมี มีแววในการเป็นผู้นำที่ดี มีความซื่อสัตย์ต่อองค์กร ต่อตัวเอง และต่อสังคม
เราสามารถทำแบบฝึกหัดเพื่อทดสอบตัวเองทำได้ง่ายๆ ดังนี้ เอากระดาษมาหนึ่งแผ่น ลากเส้นตรงลงมาหนึ่งเส้นกลางกระดาษ ด้านซ้ายให้เขียนความเก่งของตัวเรา ความดีของตัวเอง จุดแข็งของตัวเรา ด้านขวาให้เขียนจุดอ่อน และข้อเสียของตัวเรา ต้องไม่อคติและเข้าข้างตัวเอง คุณก็จะเห็นภาพที่แท้จริงของตัวเองได้ชัดขึ้น
แต่ถ้าคุณลำเอียงเข้าข้างตัวเอง ก็แปลว่าคุณมีปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไข และถ้าคุณไม่กล้าเขียนข้อเสียของตัวเอง คุณก็เป็นผู้นำไม่ได้ เพราะสอบตกด้าน “แวว” ในการพัฒนาศักยภาพตนเอง
“ถ้าเรายังบริหารตัวเราเองไม่ได้ แล้วจะคิดไปบริหารคนอื่นได้อย่างไร คำสอนของพระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ว่า ‘คนฉลาดชอบจับผิดตัวเอง (เพื่อแก้ไขปรับปรุง) แต่คนโง่ชอบจับผิดคนอื่น (แล้วลืมแก้ไขตนเอง)’”