บทที่ 12 ทีมเวิร์กคือคำตอบสุดท้าย : ดร.สมฤดี ศรีจรรยา

ดร.สมฤดี ศรีจรรยา

บางครั้งต้องไปอยู่บริษัทเล็กๆ แต่งแข่งกับบริษัทใหญ่ เหมือนสมัยอยู่พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้ง ช่วยกันทำน้ำมันพืชตราองุ่น ต้องสู้กับยักษ์ใหญ่ที่มีกำลังแข็งแกร่งกว่าทั้งการเงิน การตลาด และพนักงานขายเป็นกองทัพใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโลตัส ของลีเวอร์บราเธอร์ หรือ ทิพ ของดีทแฮล์ม และ กุ๊ก เจ้าตลาดกลุ่มล็อกเลย์

“การทำงานเป็นทีมที่ประสานกันเป็นหนึ่งเดียว มีหัวใจดวงเดียว คือเราต้องเป็นทีมแชมเปี้ยน”

หัวใจขององค์กรคือทีมเวิร์ก
ทีมเวิร์กคือหัวใจสำคัญที่สุดของการทำงานในองค์กร
ทีมบาสเก็ตบอสที่ชนะได้เพราะทุกคนในทีมตั้งใจ ทำงานสู่เป้าหมาย คือการโยนลูกบาสใส่ห่วงให้ได้มากที่สุด แต่กว่าจะลำเลียงจากจุดเริ่มต้นไปถึงห่วงเหล็กที่แป้นของคู่แข่งขัน เป้าหมายอยู่สูงตรงหน้า มองเห็นชัด แต่มิใช่จะเข้าไปได้ง่ายๆ
คู่แข่งที่ตัวใหญ่กว่า สามารถยกมือปิดป้องได้ตลอด แต่ถ้าได้โอกาสเราก็ยิง ท่ามกลางเสียงเชียร์ของกองเชียร์ที่ส่งเสียงร้องเพลงให้กำลังใจตลอด
ตลอดเวลาคือการทำงานประสานกันเป็นทีม วันไหนการทำงานประสานกันดีทุกอย่างก็สำเร็จราบรื่น เล่นสนุก ทำแต้มได้ แต่ที่สำคัญคือทุกอย่างเป้นไปตามแผนของโค้ชที่วางแผนมาดี และคอยยืนตะโกนคอยเตือนข้างสนาม

เวิร์กให้เป็นทีม
        เมื่อมาทำงาน ทุกอย่างก็เหมือนสนามบาสที่คุ้นเคย มีการแบ่งการทำงานเป้นกองหน้า กองกลาง กองหลัง เหมือนเล่นกีฬา
1. กองหน้า คือ ฝ่ายขาย มีหน้าที่วิ่งไปทำประตู
2. กองกลาง คือ ฝ่ายตลาดและฝ่ายบริหาร คอบวางแผน ทำเกม ช่วยจ่ายลูกสวยๆ ให้
3. กองหลัง คือ ฝ่ายบัญชีการเงิน ฝ่ายผลิต ฝ่ายสำนักงาน มีหน้าที่คอยป้องกันประตู ผลิตสินค้าให้ดีมีคุณภาพ เก็บเงินให้ได้ คอยส่งกำลังบำรุง ทุกคนต้องช่วยกันหมด
บางครั้งต้องไปอยู่บริษัทเล็กๆ แต่งแข่งกับบริษัทใหญ่ เหมือนสมัยอยู่พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้ง ช่วยกันทำน้ำมันพืชตราองุ่น ต้องสู้กับยักษ์ใหญ่ที่มีกำลังแข็งแกร่งกว่าทั้งการเงิน การตลาด และพนักงานขายเป็นกองทัพใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโลตัส ของลีเวอร์บราเธอร์ หรือ ทิพ ของดีทแฮล์ม และ กุ๊ก เจ้าตลาดกลุ่มล็อกเลย์
ตอนนั้นเป็นน้ำมันพืชโนเนมเพิ่งเข้าตลาด โลโก้ก็เป็นรูปพวงองุ่นเขียวๆ ยอดขายกระปิดกระปอย งบโฆษณาก็มีนิดหน่อยเท่านั้นเอง
ฝั่งตรงข้าม ลีเวอร์ฯ เพิ่งวางตลาด โลตัสก็มีงบมหาศาล เพราะบริษัทอันดับหนึ่ง แม่ทัพคือคุณวิโรจน์ ภู่ตระกูล เซียนเหยียบเมฆในวงการตลาด ส่วนค่ายดีทแฮล์มคือมิสเตอร์ เซน เฮาเซอร์ นายห้างใหญ่ชาวสวิส ส่วนกุ๊กของบริษัทธนากรในกลุ่มล็อกเลย์ของตระกูลล่ำซำที่มีคุณธงชัย ล่ำซำ นำทีม
ล้วนแต่ทีมใหญ่ กองทัพใหญ่ เงินล่ำซำทั้งนั้น (ถ้าเป็นคุณจะทำอย่างไรดี)
แต่ก็มีอาจารย์มานิต รัตนสุวรรณ มือดีจากโอสถสภามาเป็นหัวหน้าทีมเป็นโค้ช วางแผนการต่อสู้ มีพวกเราซึ่งเป็นมือใหม่หัดขับแต่มีใจสู้ ต้องปลุกระดมกันทุกเดือน มีเพลงเชียร์ มีหน่วยคอมมานโด เริ่มจากแรกๆ หน้าแตก ลูกค้าไม่ยอมซื้อชนิดต้องอ้อนวอน ถึงขนาดคุกเข่าอ้อนวอนขายอาเจ้ อาเฮียตามร้านซาปั้ว ฮี่ปั้วทุกร้าน “ช่วยซื้อผมด้วยนะ ไหว้ล่ะเจ้” เพราะสินค้าไม่มีใครรู้จักมาก่อน
แต่การทำงานเป็นทีมที่น่ามหัศจรรย์ของทีมเล็กๆ แต่ใจสู้ไม่เคยย่อท้อ ทุกคนในบริษัทต้องหันมาช่วยเหลือกัน ตอนนั้นดูแลสินค้าปลาสวรรค์ทาโร่ ก็ต้องถูกระดมมาช่วยขายน้ำมันองุ่นกับเขาด้วย เราทำทีมคอมมานโด ฝ่ายตลาด ฝ่ายขายจับมือกันออกตลาดไปช่วยกันขาย ช่วยกันติดโปสเตอร์ ช่วยกันคุกเข่าและให้กำลังใจกันขายตลอดเส้นทาง ทุกคนต้องออกทำงานหมดเกือบทั้งบริษัท เหลือไว้ฝ่ายการเงิน บัญชี
และผลงานของทีมก็พุ่งสู่เป้าหมาย สิ่งมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้นหลังจากคลำทางไม่กี่เดือน ทันทีที่โฆษณาใหม่ออกสู่สายตาประชาชน ด้วยการวาง Positioning อย่างเฉียบขาด โดยความคิดของหัวหน้าทีมเรา อาจรย์มานิต ซึ่งเป็นครีเอทีฟเก่า คิดเอง วางเอง เขียนโฆษณาเอง วางแผนการตลาดร่วมกับทีมการตลาด ช่วยกันออกไอเดีย
แล้วสโลแกน “น้ำมันพืชตราองุ่น ไม่มีไข ไม่มีคลอเลสเตอรอล” ก็กลายเป็นคำขวัญที่จับใจแม่บ้านทุกบ้าน ยอดขายพุ่งพรวดทะลุฟ้า ขายกันขนิดหยุดตัวเลขไม่ได้ เพราะของผลิตไม่ทัน ถ่วเหลืองหมดสต๊อก วุ่นวายกันทั้งตลาด
สินค้าโนเนมก็พลิกแผ่นดิน พลิกล็อก เจ้าตลาดยักษ์ใหญ่ตะลึง ไม่รู้เจอบริษัทเด็กวานซืนมาจากไหน ไม่รู้ว่าเราทำได้อย่างไร สินค้ากลายเป็นอันดับหนึ่ง ในตลาดขายเป็นพันๆ ล้าน จนทุกวันนี้
เคล็ดลับก็คือ การทำงานเป็นทีม ที่ประสานกันเป็นหนึงเดียว มีกัวใจดวงเดียว คือเราต้องเป็นแชมเปี้ยน และสุดท้ายเราก็ทำสำเร็จ
ทีมเวิร์กคือคำตอบสุดท้าย

เก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องเก่งแบบสมดุล
การที่มีทีมขายเก่ง การตลาดเก่ง ทำงานแบบบุกตลุย หามรุ่งหามค่ำ มิได้แปลว่าถ้าบริษัทมีทีมขายเก่ง บริษัทก็จะประสบความสำเร็จ หามิได้ ความลับก็คือ การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดให้ทุกคนพยายามทำสิ่งที่ดีที่สุดในความถนัดของตนเอง
นับตั้งแต่เจ้าของโรงงาน ฝ่ายผลิตก็ต้องเก่งเรื่องการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ ความสม่ำเสมอ ฝ่ายขายก็ขายเก่งวางตลาดได้ทั่ว ฝ่ายตลาดก็วางแผนการส่งเสริมการตลาด ยุทธศาสตร์ดี ราคาดี โฆษณาจูงใจ ฝ่ายการเงินก็ต้องทำหน้าที่ ฝ่ายสำนักงานก็ต้องทำหน้าที่ ทุกคนก็ต้องช่วยกันทั้งบริษัท ผลสำเร็จก็งดงาม
มาซึ้งตอนมาเรียนปริญญาโท และอาจารย์ก็งัดตำราฝรั่งมาสอนเรื่อง Balance Scorecard  ว่าบริษัทจะประสบความสำเร็จได้ต้องมีความเก่งสมดุล
Balance Scorecard คือต้องมี 4 มุมมอง
1. มุมมองด้านการเงิน
2. มุมมองด้านลูกค้า
3. มุมมองด้านกระบวนการภายใน
และ
4. มุมมองด้านการเรียนรู้พัฒนา
เจ้าของทฤษฎีชื่อ โรเบิร์ต แคปแลน เป็นศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และคนที่รีบเอามาใช้ก่อนเพื่อน คือคุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานหนุ่มของธนาคารกสิกรไทย ที่บอกว่าเอามาใช้แล้วเห็นผล ทำให้องค์กรมีการปรับตัวดีขึ้นทันตาเห็น
โปรเฟสเซอร์แคปแลน อธิบายหลัก 5 ประการของความเป็นเลิศของทีมแชมเปี้ยน คือ
1. ปลุกระดม จุดไฟ เติมพลัง (Mobilize) โดยผู้นำองค์กรจะต้องจุดชยวนให้เกิดความคิดในการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวขึ้นในองค์กร
2. ถ่ายทอด (Translate)  เป้าหมาย นโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนการรบให้เป็นภาษาที่ง่าย เข้าใจได้สำหรับทุกคน ให้ทุกคนเข้าถึงได้ เข้าใจจริงและเข้าไปอยู่ในใจ
3. ประสานพลัง (Alignment) ทำให้ทุกคนเข้าแถวอยู่ในระเบียบวินัย มีการผสมผสาน ทำงานเป็นหนึ่งเดียว มีความผูกพัน มีความรักองค์กร ทำงานเป็นทีม
4. สร้างพลังจูงใจ (Motivate) สร้างสิ่งจูงใจ ให้กำลังใจ ให้รางวัล กระตุ้นให้ทุกคน มุ่งไปสู่เป้าหมาย ให้เอาชนะคู่แข่งขัน ให้ทำดีกว่าคู่แข่งขัน
5. ควบคุมดูแล (Govern) ติดตามดูแล ควบคุมให้ทุกคนทำงานไปสู้เป้าหมาย มีการวัดผล มีการแก้ไขปรับปรุง ปรับแห้ยุทธศาสตร์
สรุปผลสุดท้าย คือทำให้ลูกค้าพอใจ เพราะได้สินค้าที่ดี ที่เขาอยากได้ บริษัทมีกำไร มีกำลังขยายงาน ให้รางวัล พนักงานพอใจได้ทำงานสนุกทำงานเป็นทีม มีความเชื่อมั่น มั่นคง และข้อสุดท้าย มีการเรียนรู้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ปรับตัวให้เก่งขึ้นไปอีก ดีขึ้นขึ้นไปอีก
เรามาถึงบางอ้อ เพราะอ่านข้อไหนเราก็เข้าใจ ก็โถ… เราผ่านบริษัทที่เขาทำมาแล้ว อย่างนี้ทุกข้อแหละไม่ต้องอาศัยตำราก็ได้ บริษัทคนไทยก็ทำได้อย่างนี้เยอะแยะ และก็ทำมาแล้วด้วย แต่อาจจะลืมตั้งชื่อให้เก๋ๆ แบบฝรั่งไป
แต่อย่างว่า ถ้าเป็นตำราฝรั่งแล้วมันเท่ มีซอฟแวร์ให้เสร็จ ง่ายต่อการปฏิบัติ มีคู่มือให้อ่าน แถมฝรั่งยังมีทีมรับจ้างทำให้ด้วย พวกยูนั่งกระดิกเท้าดื่มกาแฟตอบคำถามไอก็พอ เดี๋ยวไอทำให้เรียบร้อยเลย ประเมินผลให้เสร็จ ยูจ่ายมาก็แล้วกันนะ แต่ถ้าบอกว่าเป็นตำราของคนไทยก็ไม่มีใครอยากซื้อ
เป็นเสียอย่างนี้แหละ… แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่าของเขาไม่ดีไม่ต้องไปตามเห่อ ถ้าใครที่ยังไม่ได้ทำตามนี้ ก็ทำตามนี้ก็จะดี แต่สุดท้ายคำตอบก็จะอยู่ที่ชัดเจน คือ ทีมเวิร์คกับคนนั่นเองค่ะ

ทีมเวิร์กคืออะไร
เราเคยลองนั่งเขียนคำจำกัดความและลักษณะขององค์กรที่ทำงานเป็นทีมเวิร์ก ก็ได้มาเป็นข้อๆ ดังนี้

        ในสายตาของบริษัท

  1. ทุกคนทำงานด้วยความสนุก อยากทำ อยากมาทำงาน ไม่อยากหยุด
  2. คนทำงานด้วยบรรยากาศยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ทะเลาะกัน ไม่เกี่ยงงานกัน
  3. ทุกคนมีความคิดไปทางเดียวกัน ไม่ใช่ไปคนละทิศละทาง
  4. ถ้าเป็นม้าลากรถ ก็ลากรถไปในทางเดียวกัน สไตล์เดียวกัน
    5. คนที่เก่งกว่าเหมือนม้าที่เร็วกว่า ถ้าเข้าโค้งก็ต้องชะลอความเร็ว รอม้าที่ช้ากว่า ม้าที่วิ่งช้ากว่าก็ต้องเร่งฝีเท้าให้เร็วขึ้น เวลาเข้าโค้ง ให้ได้น้ำหนักเดียวกัน
    6. ทุกคนช่วยเหลือกัน ใครพลาดก็มีคนช่วยเหลือ ไม่ใช่ซ้ำเติม เห็นอะไรที่ดีกว่าก็เสนอแนะอย่างสร้างสรรค์ ถ้ามีวิกฤตเกิดขึ้นก็เข้าช่วยเหลือโดยไม่ต้องขอ
    7. เห็นคนอื่นทำดีก็ชม ให้กำลังใจ ยินดีด้วย ไม่อิจฉาริษยา มีมุทิตาจิต
    8. รู้จังหวะการทำงานขององค์กร บางครั้งงานด่วนเร่งรีบก็ต้องเร่งรีบด้วย บางครั้งช้าให้รอก็ต้องรู้จักรอ ไม่ใจร้อนหงุดหงิด แอบทำไปก่อน เหมือนนักเต้นรำ ต้องเต้นจังหวะดียวกัน
    9. เวลาทีมชนะก็ต้องยินดีด้วยกัน ไม่ใช่ทำเฉย เวลาแพ้ก็ไม่ซ้ำเติม รู้สึกเสียใจด้วยกัน
    10. ทุกคนรู้เป้าหมาย มีศรัทธาในผู้นำองค์กร เชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ ความมุ่งมั่น ฝีมือ และช่วยกันทำงานให้ได้เป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างมีประสิทธิผล และอย่างมีประสิทธิภาพ
    11. ทุกคนให้เกียรติกัน เคารพในความเห็นของผู้อื่น ยอมรับการทำงานของผู้อื่น เมื่อตกลงกันแล้ว ก็ต้องมีหน้าที่ไปทำให้ได้ตามที่ตกลงไว้ ถ้าไม่ได้ก็จะต้องรีบขอความช่วยเหลือ ไม่มุบมิบปิดบังความผิดพลาด จนกลายเป็นเรื่องใหญ่
    12. ทุกคนทำงานด้วยความหนักแน่น อดทน อดกลั้น ผู้นำไม่หูเบา มีศิลปในการประชุม ในการให้กำลังใจ ในการปลอบขวัญ
    ในสายตาของพนักงาน
    1. ทุกคนรู้สึกอบอุ่ม มีความมั่นคงในการทำงาน
    2. ทุกคนได้รับความยุติธรรม ทำดีได้ดี ทำไม่ดีต้องถูกลงโทษ
    3. พรุ่งนี้เช้าอยากไปทำงานให้เสร็จ ทำให้ดีที่สุด
    4. มีความรู้สึกว่าทุกคนมีจิตใจดีต่อกัน แบ่งเบากัน ช่วยเหลือกัน
    5. เราได้รับเกียรติ ได้รับการยกย่อง เป็นบุคคลสำคัญในทีม ไม่ใช่แค่ลูกจ้าง
    6. ดีใจเมื่อบริษัทประสบความสำเร็จ สินค้าขายได้
    7. ผู้บริหารดี ไม่เอาเปรียบ ไม่ทะเลาะกัน มีความกลมเกลียวเป็นหนึ่ง
    8. เมื่อแสดงความคิดเห็น ก็มีผู้รับฟัง ที่ประชุมให้เกียรติ มีโอกาสได้ร่วมในการเสนอข้อคิดเห็น ได้แสดงไอเดียดีๆ 9. ใครทำไม่ดีเอาเปรียบบริษัท ก็ต้องถูกลงโทษ เห็นอะไรไม่ดีก็คอยเตือนไม่กลัว
    10. ใครได้ดีกว่าทำงานเก่งกว่า ก็สมควรได้รับตำแหน่งสูงขึ้น ไม่ว่ากัน
    11. มีพนักงานมาใหม่ เราก็ต้องคอยช่วยเหลือ ชี้แนะถ้าเขาไม่เข้าใจ
    12. อยากให้ทุกคนกลมเกลียว สมัครสมานกัน อยู่ด้วยกันไปนานๆ
    13. ฯลฯ

“การสร้างทีมงานที่มีความเป็นเลิศ คือการสร้างทีมงานที่มีความเก่งสมดลกันทั้งทีม ทีมที่ดีไม่ต้องการวีรบุรุษ หรือใครเก่งคนเดียว (We don’t need a hero) เราต้องการความเก่งเป็นทีม เก่งทั้งทีม”

 

 

 

 

 

 

 


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ