บทที่ 11 ครู โค้ช พี่เลี้ยง : ดร.สมฤดี ศรีจรรยา

ดร.สมฤดี ศรีจรรยา

คำว่าโค้ช หรือพี่เลี้ยงเป็นหน้าที่สำคัญของผู้บังคับบัญชาทุกคน เพราะการสั่งงานไปไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะทำได้อย่างนั้น เราต้องคอยติดตามว่าสั่งแล้วเขาทำได้หรือเปล่า เขาทำไหวไหม เราใช้คนผิดงานหรือเปล่า เราไปไว้วางใจเขามากไปไหม เพราะบางคนก็ทำได้ดี เหมือนนักมวยที่สอนไปแล้วก็ทำได้ดี แต่บางคนเราก็ต้องคอยจี้ คอยติดตาม คอยแก้ทางให้ถ้าเกิดปัญหา

 

“ผู้บริหารที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงขึ้น ก็เหมือนนักกีฬา ถ้าได้ครูดี โค้ชดี พี่เลี้ยงดี ก็มีความได้เปรียบ”

ครู โค้ช พี่เลี้ยง สำคัญไฉน
นักมวยดีต้องมีพี่เลี้ยงดี ที่คอยวางแผนการชกให้ล่วงหน้า วิเคราะห์จุดอ่อนคู่ต่อสู้ล่วงหน้า พยายามตะโกนให้เราใช้จุดแข็งชกตรงจุดอ่อนคู่ปรปักษ์
นักฟุตบอลอเมริกันยิ่งใหญ่กันใหญ่ โค้ชหรือผู้วางแผนข้างสนามจะมีหลายคน จะมีโค้ชใหญ่ที่คุมเกมตลอด ควอเตอร์แบ็คคนเก่งคนดังจะทำอะไร ถ้าไม่แน่ใจก็จะขอเวลานอก ออกมาปรึกษากับโค้ชก่อนทุกครั้ง เพราะเขามีทั้งโค้ชทีมรับ และโค้ชทีมบุก มีกระดานขาวคอยเขียนแผนปรับยุทธศาสตร์ตลอดมีหูฟังคอยสั่งงาน เป็นตัวอย่างของกีฬาที่ทำงานเป็นทีมที่เห็นได้ชัดสุด
คนที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น ก็เหมือนนักกีฬา ถ้าได้ครูดี โค้ชดี พี่เลี้ยงดี ก็มีความได้เปรียบ ไปที่ไหนใครเขาก็รัก ใครก็อยากช่วยเหลือ คอยสอน คอบบ่น คอยเตือน คอยชี้แนะ คอยให้กำลังใจ
เจ้านายบางคนลุแก่อำนาจ ไม่รู้จักใช้คำปิยวาจา เกิดความเข้าใจผิดในตัวเอง หลงตัวเอง
ในชีวิตจริงก็เคยเห็นเจ้านายประเภทนี้มาบ้าง แม้จะไม่มากนัก แต่ก็เป็นสัจธรรมในองค์กร เพราะกลับกันไม่เพียงแต่เจ้านายจะเป็น ลูกน้องก็เอาอย่างด้วย หรือไม่ก็ ลูกน้องนั่นแหละตัวสำคัญ ยุไปยุมา เจ้านายก็เลยเป็นไปด้วย ถ้าไปเจอเจ้านายประเภทหูเบา ก็จะพลอยเป็นกันไปทั้งทีม

ประเภทของพี่เลี้ยง
        ในชีวิตคนตั้งแต่เกิดมา เขาถึงบอกว่าอยู่ที่กัลยาณมิตร 6 ทิศ เราจะได้ดีหรือไม่ได้ดี ก็ขึ้นอยู่กับเราได้ครูดี โค้ชดี พี่เลี้ยงดีหรือไม่ ถ้าจะบอกว่าชีวิตเรามีพี่เลี้ยง 6 คน คือ
1. พ่อแม่
2. พระอาจารย์ หลวงปู่ หลวงพ่อ หรือบาทหลวง (นักบวช)
3. ครู อาจารย์
4. ครอบครัวญาติพี่น้อง
5. เพื่อนที่โรงเรียน เพื่อนที่ทำงาน
6. บริวาร หรือผู้ใต้บังคับบัญชา
        คนเหล่านี้หล่อหลอม สั่งสอน ชี้แนะ ทำให้เรามีทัศนคติต่อชีวิตที่ดี หรือเลวก็อยู่ที่คนเหล่านี้
        ในชีวิตนี้ถือว่าโชคดีกว่าคนอื่นอีกมาก เมื่อเกิดมาก็ได้พ่อแม่ดีเป็นตัวอย่าง เป็นครู เป็นโค้ช ที่สอนด้วยความรักความห่วงใย เมื่อไปโรงเรียนก็ได้ครูดี คอยให้กำลังใจ ให้รางวัลถ้าเราทำดี และสอนให้ขยันเรียน สมัยเด็กๆ ก็เคยสอบได้ที่หนึ่งเหมือนกัน ซิสเตอร์ได้มอบหนังสือการ์ตูนฝรั่งสี่สี ปกแข็งสวยงาม ท่านประกาศชื่อดังทั่วโรงเรียน โดยให้นักเรียนพันกว่าคนปรบมือและยกเป็นตัวอย่างที่ดี แบบนี้ก็ทำให้เด็กมีกำลังใจ และยังปลื้มมาจนทุกวันนี้
พอโตขึ้นปัจจุบันก็ได้พระดี ได้วัดดี ได้หลวงพ่อดี คอยชี้แนะทางสว่างให้กับชีวิต ให้เรารู้เป้าหมายของชีวิตว่า คนเราเกิดมาทำไม เรามาจากไหน และการเป็นคนดีนั้นต้องเป็นอย่างไร คำสอนของท่านช่วยให้เราได้แก้ไขสิ่งผิดๆ ขัดเกลานิสัยที่ไม่ดีให้เบาบางลง
เช่นทุกวันนี้ทำงานไปก็แอบดู “ฝันในฝัน” ของคุณครูไม่ใหญ่ หรือหลวงพ่อธัมมชโยไปทั้งวัน เพราะสนุกและมีสาระได้ความรู้เพิ่มในสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน
คำว่าโค้ช หรือพี่เลี้ยงเป็นหน้าที่สำคัญของผู้บังคับบัญชาทุกคน เพราะการสั่งงานไปไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะทำได้อย่างนั้น เราต้องคอยติดตามว่าสั่งแล้วเขาทำได้หรือเปล่า เขาทำไหวไหม เราใช้คนผิดงานหรือเปล่า เราไปไว้วางใจเขามากไปไหม เพราะบางคนก็ทำได้ดี เหมือนนักมวยที่สอนไปแล้วก็ทำได้ดี แต่บางคนเราก็ต้องคอยจี้ คอยติดตาม คอยแก้ทางให้ถ้าเกิดปัญหา
ความยากของการเป็นผู้บริหาร หรือผู้จัดการก็อยู่ที่ตรงนี้

โค้ชดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
        สมัยที่เรียนมหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสเล่นบาสเก็ตบอลเป็นตัวแข่งของคณะ บุคคลที่สำคัญที่สุดในทีมก็คือโค้ช ซึ่งเป็นรุ่นที่คณะ สไตล์การสอนของรุ่นพี่แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ดร.ซัง หรือ พี่ซังในสมัยนั้นจะสอนด้วยเหตุด้วยผล ให้กำลังใจ ชี้แนะจุดอ่อน จี้ให้ใช้จุดแข็งวางแผนการเล่น ส่วนรุ่นพี่อีกคนมักจะใช้วิธีกระตุ้นด้วยคำรุนแรง เรียกว่าด่าก็แล้วกันเพราะถือว่าเป็นรุ่นน้องสนิทและเพื่อให้เราแก้ไข     แต่ไม่โกรธกัน ถ้าทีมชนะทุกคนก็ดีใจ ถ้าทีมแพ้ทุกคนก็คอตกเสียใจ เสียใจเหมือนกันทุกคน เพราะฉะนั้นจิตวิญญาณแห่งการกระหายชัยชนะนี่อหละจะถูกปลูกฝังให้อยู่ในตัวนักกีฬาทุกคน

นิสัยนักกีฬา กลายเป็นซอฟท์แวร์ติดตัว
เพื่อนๆ ให้ฉายาว่า “ยัยบู๊” ตอนหลังที่เรียนจบแล้ว คงจะเห็นนิสัยเวลาเล่นกีฬาที่มุมานะ ทุ่มเท จะเรียกว่าบู๊ก็คงได้ คือไม่กลัวใคร เพราะไม่ชอบแพ้ แต่ก็ไม่ใช้วิธีเกเร เล่นตามกติกา มีน้ำใจและรักการทำงานเป็นทีม
จิตวิญญาณแห่งความเป็นเลิศนี่แหละ ถ้าเราเอาเป็นซอฟท์แวร์ติดตัวมาจนถึงตอนทำงาน เพื่อให้ได้คำว่าดีที่สุด คำว่า “ไม่ได้เป็นไม่มี และคำว่า ไม่ดีเป็นไม่ได้ ต้องได้ แล้วก็ต้องดี” อันนี้ก็พยายามเอามาสอน เอามาใช้ เอามากระตุ้นให้กำลังใจ
เมื่อตอนเรียนหนังสือ จะมีทั้งครูที่ใจดีและครูที่ดุ ส่วนมากที่มักจะได้ดีก็ตรงที่ครูดุนั่นแหละ ทำให้กลัว เกิดความตื่นตัว ไม่กล้าทำผิด แต่ลึกๆ รู้ว่าครูหวังดี ไม่อยากให้ไปล้มเหลวในอนาคต

คำสอนคือรางวัลที่ดี
ถ้าจะถามว่า “คนเราทำงานต้องการอะไร” ทุกคนก็จะตอบว่า “ต้องการความสำเร็จ”
ความสำเร็จคืออะไร ความสำเร็จคือการได้ตำแหน่งสูงขึ้น ได้เงินเดินสูงขึ้น ได้รับการยอมรับนับถือ มีเกียรติ มีหน้ามีตาในสังคม นี่คือความคิดของพนักงานทุกคน
คนทำงานทุกคนก็อยากได้ความมั่นคงในชีวิต ตำแหน่งงานที่มั่นคง บริษัทที่มั่นคง อยากได้เงินเดือนเยอะๆ จะได้มีชีวิตที่สุขสบาย
ทุกคนอยากได้รางวัลทั้งนั้น ไม่ว่าจะตำแหน่งเล็ก ตำแหน่งใหญ่ รางวัลในการทำงานก็คือ เงินเดือน ซึ่งต้องได้เป็นปรกติ โบนัสสิ้นปี ถ้าบริษัทผลงานดี มีกำไร รางวัลการขายถ้าเป็นพนักงานขาย หรือรางวัลพิเศษ ถ้ามีการแข่งขันอะไร รางวัลส่วนใหญ่จึงมักจะเป็นตัวเงิน
แต่มีรางวัลอีกชนิดหนึ่ง คือรางวัลที่ไม่เป็นตัวเงอน และเจ้านายทุกคนสามารถให้ได้ก็คือ ให้ความรู้สึกที่ดี อบอุ่น ทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี เป็นครูที่ดี ให้ความคิดใหม่ๆ ให้วิสัยทัศน์ คอยให้ทางสว่างแก่ชีวิต ให้การฝึกอบรมและที่สำคัญที่สุดคือ “ปิยวาจา”
สิ่งที่เป็นกำลังใจที่ดี และมีส่วนมากคือ บรรยากาศในที่ทำงาน บรรยายกาศในการประชุม ถ้าการประชุมไหน ผู้นำการประชุมไม่เป็นงาน ก็จะมีแต่ความขัดแย้งโต้เถียงกันเสียงดัง ไม่มีใครยอมใครและไม่มีใครเกรงใจประธานที่ประชุม การประชุมก็เละ และสภาพการทำงานก็เครียด
ถ้าสภาพที่ทำงานไม่น่าทำงาน มีแต่ความกลัว ความแตกแยก ความอิจฉาตาร้อน มีแต่เรื่องถูกดุถูกด่า ต้องระวังตัวแจ ต้องคอยดูว่าวันนี้เจ้านายอารมณ์ดีหรืออารมณ์ไม่ดี
การสร้างบรรยากาศที่ทำงานให้เต็มไปด้วยความยิ้มแย้ม ช่วยเหลือ มีเสียงหัวเราะ มีเสียงปรบมอืในการประชุม อันนี้อยู่ที่ผู้จัดการหรือผู้บริหารที่ทำหน้าที่เรียกประชุมและเป็นประธาน เพราะบริษัทที่ดีจะต้องมีการประชุมบ่อย ประชุมเป็นประจำ เพื่อติดตามและแก้ไขปัญหา
ผู้จัดการที่ดีจึงต้องทำหน้าที่ครู โค้ช หรือพี่เลี้ยง ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญของผู้บังคับบัญชาที่จะพาทีมไปสู่ชัยชนะ ที่จะคอยสอน คอยเตือน คอยชี้แนะ คอยแก้ปัญหา คอยตัดสินใจในเรื่องสำคัญ

วาฬกระโดดรับรางวัล
ต่างประเทศมีสวนสนุกแห่งหนึ่ง มีการแสดงที่เรียกว่า วาฬ ซึ่งแสดงเหมือนปลาโลมา เพราะวาฬตัวใหญ่ขนาดยี่สิบตัน สามารถกระโดดจากน้ำมากินปลา ที่ยื่นเหนือน้ำได้อย่างอัศจรรย์ เรียกเสียงปรบมือได้ดังสนั่นหวั่นไหว
มิหนำซ้ำวาฬที่ว่าเป็นวาฬเพชรฆาตเสียด้วย
คนก็ไปถามคนฝึกวาฬว่า “ทำได้อย่างไรวาฬตัวใหญ่น้ำหนักมากกว่ารถบรรทุก ถึงได้กระโดดลอยน้ำขึ้นมาได้อย่างนั้น” เขาก็บอกว่า “ไม่ยากเลย เพราะวาฬก็อยากได้รางวัล”
เขาบอกว่าทำอย่างนี้ง่ายๆ เขาจะขึงเชือกไว้เส้นหนึ่งใต้น้ำ ทันที่ที่มันว่ายข้ามเชือกนั้นได้ เขาก็จะให้รางวัลเป็นปลามันกินตัวหนึ่ง พอวาฬรู้ว่าว่ายข้ามเชือกได้ มันจะได้กินปลา มันก็ทำได้บ่อยๆ ต่อมาเขาก็ยกเชือกให้สูงขึ้น ปลาวาฬก็ยังว่ายข้ามได้อีกจนถึงระดับผิวน้ำ เพราวาฬอยากได้รางวัล มันก็กระเสือกกระสน ใช้พลังหางของมัน ผลักตัวให้ลอยเหนือน้ำ แล้วก็ได้รางวัล”
เขาก็ทำอย่างนี้แหละ มันก็กระโดดสูงขึ้นทีละน้อย ในที่สุดก็สามารถเป็นแชมป์กระโดดสูงสู่เป้าหมาย คือได้กินปลาที่มันอยากจะกิน
แต่เคล็ดลับอยู่ตรงการตั้งเป้าหมายให้กับวาฬ เขาจะตั้งทีละน้อย แล้วค่อยๆ ยกเชือกขึ้น ถ้าอยู่เฉยๆ เอาเชือกไปแขวนบนฟ้าแล้วให้วาฬโดด มันคงได้แต่มองปลารางวัลเท่านั้น
การอ่านคนให้ทะลุ ให้เป้าหมายที่พอทำได้ เขาก็จะมีกำลังใจ เพราะดูแล้วพอเอื้อมถึง ตรงนี้แหละที่เจ้านายหลายคนพลาด เพราะนึกว่าคนทุกคนเก่าเท่ากัน ไม่จริงเลยค่ะ บางคนคะแนนเต็มสิบคะแนน เราตั้งแปดคะแนนเขาก็ทำได้สบาย แต่บางคนต้องตั้งเป้าตั้งแต่สองคะแนน แล้วค่อยขยับเป็นสี่คะแนน แล้วขยับไปเรื่อยๆ สุดท้ายเขาก็ทำได้เหมือนคนอื่น
อุทาหรณ์เรื่องนี้สอนว่า “ไม่ว่ามนุษย์จะหนักแค่ไหน ก็ยังน้ำหนักน้อยกว่าวาฬ ถ้าวาฬยังสามารถถีบตัวเองให้สูงขึ้นได้ แล้วทำไมมนุษย์เราจะทำไม่ได้”
ถ้าทำไม่ได้ ก็เพราะไม่ได้ทำต่างหาก
คนบางคนทำตัวต่ำต้อยไม่กระตือรือร้น ไม่ขวนขวาย ไม่พัฒนาตัวเอง ทั้งที่มองเห็นรางวัลอยู่เบื้องหน้า อยากได้แต่ไม่มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ไม่ต้องการเปลี่ยนนิสัย อะไรที่ลำบากไม่เอา ไม่เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
สู้วาฬก็ไม่ได้ ถ้าเป็นลูกศิษย์ก็ถือว่าเป็นคนที่ต้องปล่อยวาง ถ้าเป็นลูกน้องก็เป็นลูกน้องที่เหมือนนอตเกลียวหวาน ขันเท่าไรก็ไม่แน่น
ถ้าเป็นคนก็ต้องปล่อยไว้ข้างหลัง เป็นนักกีฬาคงไม่ได้ลงเล่นถ้าเป็นพนักงานก็ต้องพิจารณาแล้วว่ากันไปตามกฎเกณฑ์ แม้เป็นรัดับหัวหน้า ถ้าพาทีมแพ้ บริหารไม่ไชดีก็ต้องถูกพิจารณาเช่นกัน

“คนเราถ้าโชคดีได้อยู่ในสังคมดี ที่ทำงานดี เจ้านายดี บริษัทดี แล้วยังไม่รู้ค่า ทำตัวไม่ดี ทำตัวตกต่ำ สอนเท่าไรก็ไม่กระเตื้อง เตือนเท่าไรก็ไม่เปลี่ยน ก็ถือว่าเป็นโชคร้ายในชีวิต เมื่อวันหนึ่งสิ่งที่ตัวได้สูญหยไปมานึกเสียดายทีหลังก็สายไปแล้ว”

 

 

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ