บูรพา-อาคเนย์ 2017 มาเลย์เปิด Digital Free Trade Zone แห่งแรกของโลก : บัณรส บัวคลี่

บัณรส บัวคลี่

นี่เป็นเรื่องที่คู่ควรต้องจับตาอย่างจริงจัง นาจิบ ราซะก์ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียประกาศว่า สิ่งที่กำลังจะเกิดนั้นถือเป็นเขตเศรษฐกิจดิจิตอลเสรีแห่งแรกของโลก The world’s first Digital Free Zone กิจกรรมทางเศรษฐกิจการค้าที่ผนวกรวมโลกเสมือนกับโลกใบจริงเข้าไว้ด้วยกัน

รัฐบาลมาเลเซียกับแจ๊ค หม่า จะร่วมกันเปิด Digital Free Trade Zone ให้เกิดสำเร็จภายในปี 2017 นี้ โดยจะส่งเสริมการค้าดิจิตอลยุคใหม่ทั้ง e-commerce และ e-payment อย่างจริงจัง  ในเดือนมีนาคมนี้ แจ๊ค หม่า จะเดินทางไปมาเลเซียอีกครั้งในฐานะที่ปรึกษาเศรษฐกิจดิจิตอลของรัฐบาล และผลจากงานนี้เศรษฐกิจดิจิตอลและตลาดใหม่เชื่อมจีน-อาเซียนจะปรากฏรูปธรรมว่าการเชื่อมการค้า-การเงิน-การบริการด้วยเทคโนโลยีการเงิน (ฟินเทค) ยุคใหม่จะยังสีสันและบุกเบิกพรมแดนใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจได้ขนาดไหน

          นี่เป็นเรื่องที่คู่ควรต้องจับตาอย่างจริงจัง นาจิบ ราซะก์ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียประกาศว่า สิ่งที่กำลังจะเกิดนั้นถือเป็นเขตเศรษฐกิจดิจิตอลเสรีแห่งแรกของโลก The world’s first Digital Free Zone กิจกรรมทางเศรษฐกิจการค้าที่ผนวกรวมโลกเสมือนกับโลกใบจริงเข้าไว้ด้วยกัน เขาบอกว่า จีนมีชนชั้นกลางที่สามารถจับจ่ายมากถึง 300 ล้านคน ซึ่งมากกว่าประชากรทั้งหมดของประเทศอเมริกาเสียอีก

          แจ๊ค หม่า จะเปิดแคมเปญ อาลีทริปมาเลเซียทัวริสซึ่ม Alitrip Malaysia Tourism Pavilion ดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนไปมาเลเซีย ซึ่งเราจะได้เห็นรูปธรรมของการท่องเที่ยวที่ผูกเศรษฐกิจดิจิตอลไปพร้อมกัน เพราะสถานที่พัก ร้านอาหาร ร้านค้าของที่ระลึกต่างๆ จะรับค่าใช้จ่ายบริการผ่านระบบ e-payment จ่ายเงินผ่านแอพพลิเคชั่นมือถือ และแอพฯ ที่ร้านรวงของมาเลเซียใช้จะแสดงผลเป็นภาษาจีนตั้งแต่ข้อมูลพื้นฐานทั่วไปจนกระทั่งการแสดงผลตอบรับ/ยืนยันหลังจากจ่ายเงินค่าบริการ และไม่เพียงเท่านั้นจะยังมีการสร้างแพลตฟอร์ม e-commerce เชื่อมตลาดมาเลย์-จีนที่ใช้การง่าย สะดวก เป็นมิตรกับผู้ใช้ขึ้นมา เรียกว่าบุกเบิกพรมแดนการค้าในโลกยุคใหม่ให้เกิดเป็นรูปธรรมกันให้คนทั่วไปจับต้องได้กันในงานนี้  โดยมาเลเซียหวังจะได้ตลาดนักท่องเที่ยวจีนเข้ามามากขึ้นพร้อมๆ กับใช้ช่องทางการค้าดิจิตอลช่วยเปิดช่องดัน SMEs มาเลเซียให้เข้าสู่ตลาดอันกว้างใหญ่ของจีนในอีกทางหนึ่ง 

          รัฐบาลนาจิบ ราซะก์ ประกาศใช้นโยบายสนับสนุนและผลักดันเศรษฐกิจดิจิตอลอย่างเป็นรูปธรรมในการแถลงนโยบาย 2017 ถึงการสถาปนาเขตเศรษฐกิจดิจิตอลเสรีแห่งแรกของโลก ใช้นโยบายภาษีเพื่อดึงดูดและจูงใจให้เกิดการค้าและบริการใหม่บนโลกอินเตอร์เน็ตและดิจิตอล ลดภาษีเพื่อให้คนเข้าถึงสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ ยกพัฒนาความเร็วของสัญญาณบรอดแบรนด์เท่าตัว อุดหนุนการสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ รวมไปถึงการเน้นเงินทุนเงินอุดหนุนไปที่กลุ่ม SMEs และสตาร์ทอัพทั้งหลายเป็นสำคัญ ปี 2017 จึงเป็นปีแห่ง Startup and SME Promotion Year พร้อมกันไปด้วย

          อันที่จริงแล้วไม่ได้แค่มาเลเซียประเทศเดียวหรอกครับ ที่ต้องเร่งขยับตัวเองรับคลื่นความเปลี่ยนแปลงใหญ่ยุคเศรษฐกิจดิจิตอล จะว่ากันจริงๆ ไทยเราเองก็ขยับไปก่อนแล้วจากการตั้งกระทรวงเศรษฐกิจดิจิตอล การประกาศใช้ระบบ Promptpay ซึ่งเป็น e-payment ภาครัฐไปแล้ว ส่วนภาคเอกชนของเราก็ไม่ได้ล้าหลังอะไร แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องยอมรับว่า คลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงที่โถมซัดมาก่อให้เกิดภูมิทัศน์ใหม่ สิ่งแวดล้อมใหม่ ปัจจัยใหม่ สภาพการณ์ใหม่ฯลฯ ที่ยากคาดการณ์ มันไม่มีแบบมาตรฐานที่บอกว่าอย่างนี้ผิด อย่างนี้ถูก เพราะทุกๆ การบุกเบิกย่อมต้องมีผู้พลาดหลงเสียเวลาไปก็มีไม่น้อย จนบัดนี้ผู้คนจำนวนไม่น้อยยังไม่รู้จัก ไม่เข้าใจระบบใช้จ่ายภาครัฐ Promptpay –พร้อมเพย์ด้วยซ้ำไป บ้างก็วิจารณ์ว่ามันไม่ดึงดูด อย่างเช่นน่าจะให้ประชาชนใช้ระบบนี้การชำระค่าสาธารณูปโภคต่างๆ โดยไม่มีค่าธรรมเนียม ฯลฯ เพื่อให้เกิดใช้และหมุนเวียนจริงเป็นต้น

          ในความเป็นจริง ตลาด e-payment แอพพลิเคชั่นจ่ายเงินผ่านโทรศัพท์ของจีนแบบที่รัฐบาลมาเลเซียจับมือกับ แจ๊ค หม่า พยายามดันให้มันเกิดในแดนเสือเหลือง มันเดินทางมาถึงประเทศไทยและเผชิญหน้ากับ SMEs ไทยมานานพอสมควรอย่างน้อยก็ตั้งแต่ปีที่แล้ว แอพพลิเคชั่นอย่าง Wechat ออกมาเจรจากับร้านรวงในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทยให้ติดตั้งระบบ เพื่อนักท่องเที่ยวจีนใช้จ่ายด้วยการยิงสมาร์ทโฟนแบบเดียวกับที่ทำได้ในประเทศเขา ปรากฏว่ามีคำเตือนจากธนาคารแห่งประเทศไทยต่อผู้ประกอบการร้านรวงให้ระวังเพราะหากเกิดการเบี้ยวขึ้นมา ธปท.ไม่สามารถไปควบคุมหรือบังคับให้เขามาจ่ายได้ จนกระทั่งปลายปีค่อยมีการแถลงข่าวเปิดตัวผู้ให้บริการร่วมทุน Wechat ในไทยขึ้นมา แบบเดียวกับพันธมิตรธุรกิจ Alipay ที่เปิดตัวไปก่อนโดยมีทรูมันนี่ และเซเว่น-อิเลฟเว่นเป็นหัวหอก

          e-payment ภาคราชการของบ้านเราอาจจะช้าไปบ้างแต่น่าเชื่อว่าด้วยอิทธิฤทธิ์ของนักท่องเที่ยวจีนมากกว่า 10 ล้านคนที่เข้ามาบ้านเรา บวกกับอิทธิฤทธิ์ช่องทางจำหน่ายเซเว่น-อิเลฟเว่น น่าจะเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคไทยให้หันมาใช้สมาร์ทโฟนจ่ายเงินผ่านแอพพลิเคชั่นได้ไม่ยากนัก 

          ห้วงเวลานี้เป็นจังหวะที่ท้าทายของสถาบันการเงินแบบเดิมอย่างยิ่ง การโอนเงินผ่านแอพพลิเคชั่นโดยประชาชนประเทศหนึ่งไปยังประชาชนอีกประเทศหนึ่งผ่านหน้าจอมือถือกำลังเคลื่อนมาแทนที่บัตรเครดิตและบัตรเดบิตผ่านสถาบันการเงินแบบเดิม  ต่อไปท่านอาจโอนเงินให้ลูกที่กำลังเรียนหนังสือในประเทศจีนผ่านแอพพลิเคชั่นบนหน้าจอมือถืออย่างง่ายดายแค่เลื่อนแล้วจิ้มแตะ  ฯลฯ นี่เป็นภาพใหญ่ที่กำลังเคลื่อนโถมทับเข้ามา

          ดังนั้นมันจึงน่าสนใจมากสำหรับแบบจำลองธุรกิจและแพลตฟอร์มเศรษฐกิจดิจิตอลแบบที่แจ๊ค หม่ากับรัฐบาลมาเลเซียจะเปิดตัวเริ่มประกาศใช้เขตเศรษฐกิจดิจิตอลเสรีแห่งแรกของโลก ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกไม่กี่วันข้างหน้า  ทุกอย่างมีสองด้านเสมอ มีส่วนได้ก็ต้องมีส่วนที่ต้องจ่ายออกไป นี่ล่ะที่น่าสนใจสำหรับต้นแบบความร่วมมือแจ๊ค หม่าโมเดล กับตลาดอาเซียนที่เขาพยายามบุกเบิกให้กับอาลีบาบาตลอดปีกว่าๆ มานี้ไม่ว่าการซื้อกิจการลาซาด้า การหาพื้นที่สร้างแวร์เฮ้าส์ใหญ่เพื่อกระจายสินค้าในเขต EEC ภาคตะวันออกของไทย หรือการออกไปจับมือกับผู้นำชาติอาเซียนต่างๆ เพื่อเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจใหม่ขายโมเดลธุรกิจดิจิตอลแบบของเขา

          ดูโลก ดูเขา เพื่อย้อนมาดูเราในท่ามกลางกระแสเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้.

คลิกอ่านประกอบ

Alibaba Founder Appointed As Malaysia’s Digital Economy Advisor Amid Digital Free Trade Zone Initiative

 http://fintechnews.sg/6757/malaysia/alibaba-founder-appointed-malaysias-digital-economy-advisor-amid-digital-free-trade-zone-initiative/

Budget 2017 Tax Incentives for Malaysia’s Internet Industry http://blog.exabytes.my/2016/10/budget-2017-tax-incentives-malaysias-internet-industrystry

 

 

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ