อองซานซูจี เยือนสหรัฐอเมริกาเมื่อกลางเดือนกันยายนได้รับของขวัญชิ้นใหญ่กลับมา นั่นก็คือการประกาศยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่โดยเฉพาะด้านการค้าหยกและอัญมณี รวมถึงการปลดล็อกบัญชีดำนักธุรกิจและกิจการค้าที่เคยถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับอำนาจปกครองฝ่ายทหารอีกกว่า 100 รายชื่อ
นี่เป็นเรื่องใหญ่มากในมิติเศรษฐกิจ ผลจากการปลดล็อกครั้งนี้จะทำให้เศรษฐกิจพม่าทะยานเป็นพยัคฆ์ติดปีกขึ้นไปอีก เพราะเปิดโอกาสให้ทุนจากอเมริกาเข้าไปในพม่าแบบไม่ต้องมีข้อจำกัด สามารถร่วมมือกับบรรดายักษ์ใหญ่ไทคูนกลไกเศรษฐกิจพม่าตัวจริง เพราะเป็นที่รู้ๆ กันว่ากว่าครึ่งของบรรษัทยักษ์ใหญ่ที่กุมเศรษฐกิจแทบทุกด้านเป็นเครือข่ายของทหาร ทำมาหากินกับทหาร และโตมาจากระบอบทหาร
รายชื่อนักธุรกิจ-นักการเมืองคนสำคัญ ที่ได้รับอานิสงส์นี้ที่สื่อต้องกล่าวถึง เช่น
U Myint Swe อูมิ้นส่วย รองประธานาธิบดีคนที่หนึ่งจากพรรคทหาร นายคนนี้เป็นอดีตทหารแล้วต่อมาดำรงตำแหน่งการเมืองก็จริง แต่เกี่ยวข้องกับเงินธุรกิจมหาศาล ถ้าท่านจำเรื่องอื้อฉาว ปานามาลีกส์ ได้ อูมิ้นส่วนคนนี้มีชื่อไปเกี่ยวข้องกับการโอนเงินโพ้นทะเลในเกาะฟอกเงินด้วยคนหนึ่ง
U Tay Za อูเตซา (เตชะ) เจ้าของเครือธุรกิจ Htoo Group และ แอร์พุกาม (Air Bagan) ครอบครัวของเตซา สนิทสนมกับพล.อ.หม่องเอ พวกเขาได้งานจากรัฐและยังเป็นนายหน้าจัดซื้ออาวุธให้กับกองทัพด้วย เขาเป็นหนึ่งในธุรกิจใหญ่ไม่กี่คนที่สื่อยักษ์ใหญ่ตะวันตกรายงานเรื่องราวความเกี่ยวกับตัวเขา Forbes Asia เคยเขียนถึงไว้เมื่อปี 2014 Burmese Tycoon Tay Za Under Scrutiny และชื่อของเขาก็เป็นหนึ่งในรายงานของสถานทูตสหรัฐว่าด้วยเครือข่ายธุรกิจที่ใกล้ชิดกับอำนาจทหารผู้ปกครองที่เคยหลุดออกมาในวิกิลีกส์
http://www.forbes.com/sites/forbesasia/2014/07/23/burmese-tycoon-tay-za-under-scrutiny/#5ebfcaf457e8
U Zaw Zaw อูซอซอ คนนี้เป็นหนุ่มไฟแรงเจ้าของเครือธุรกิจ Max Group กิจการของเหล่านักธุรกิจใหญ่แต่ละรายครอบคลุมเซ็กเมนท์ธุรกิจเกือบจะครบวงจร มีทั้งธนาคาร บริษัทก่อสร้าง โรงแรม สายการบิน เหมืองและอัญมณี เป็นธุรกิจแถวหน้า ใครไปพม่าจะเห็นเครือข่ายปั๊มน้ำมัน MAX สีแดงโดยทั่วไปตามถนนสายสำคัญ นี่เป็นหนึ่งกิจการในเครือของเขา นอกจากนั้นยังมีกิจการตัวแทนขายเครื่องจักรกลหนัก การเกษตรขนาดใหญ่ และที่เหมือนๆ กับบิ๊กธุรกิจอื่นของพม่าก็คือกิจการก่อสร้าง ที่ไว้รับงานจากรัฐ
อูซอซอคนนี้ยังมีตำแหน่งเป็นนายกสมาคมฟุตบอลของพม่า และสนิทสนมกับหลานชาย พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย แบบไม่ต้องปิดบังหรือเกรงใจสาธารณะ เคยเป็นเจ้าภาพควักเงินจัดงานวันเกิดหรูหราให้ เนฉ่วยทวยอ่อง หลานชายเพลย์บอยไฮโซสุดหล่อของพม่าคืนเดียวแค่ราว 2.5 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ (คลิกอ่าน เน ฉ่วย ทวย อ่อง ผู้ (เคย) คิดจะซื้อทีมแมนยู https://www.smartsme.co.th/content/18873 )
แต่ทั้ง อูมิ้นส่วย อูเตซา หรือ อูซอซอ ที่ว่าเป็นแถวหน้า ก็ยังต้องหลบให้ชื่อยักษ์ใหญ่ตัวจริงเสียงจริงซึ่งจะว่าไปแล้ว คนนี้ล่ะที่ได้รับอานิสงส์สูงสุดจากการยกเลิกแบล็คลิสต์ นั่นก็คือ มหาเศรษฐีเชื้อสายจีนโกกั้งทางตอนเหนือของรัฐฉาน นามว่า Steven Law สตีเวน โลว์ หรือ Htun Myint Naing ตุนมิ้นไนง์ หรือ Lo Ping Zhong โลผิงจ้ง ซึ่งจากนี้จะขอเรียกชื่อฝรั่งของเขาเพื่อความสะดวกเพียงชื่อเดียว
สตีเวน โลว์ เป็นเจ้าของเครือข่ายธุรกิจ เอเชียเวิลด์ – Asia World ยักษ์ใหญ่แถวหน้าสุดของพม่า
นามของคน เงาของไม้
สตีเวน โลว์ ถูกจับตามานานแล้วเพราะเขาเป็นบุตรชายของราชันย์ยาเสพติดชื่อก้องโลก โลชิงฮัน ร่วมรุ่นกับ ขุนส่า-จางซีฟู แต่โลชิงฮันอายุยืนกว่าขุนส่า เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี 2556 ที่ผ่านมาแล้วก็มีทายาทสืบทอดอย่างยิ่งใหญ่ ส่วนขุนส่านั้นจบตำนานของตนไปแบบไม่มีอะไรเหลือไว้
กลุ่มธุรกิจเอเชียเวิลด์ เป็น โลชิงฮัน ที่สร้างขึ้นมาแล้วค่อยส่งมอบให้กับ สตีเวน โลว์ จึงไม่แปลกอันใดที่กิจการในเครือเอเชียเวิลด์จะถูกคว่ำบาตรในลำดับต้นของบัญชี แม้ว่าต่อมาโลชิงฮันจะวางมือ ส่งมอบให้ลูกชาย แต่เอเชียเวิลด์ ก็ยังต้องห้ามสำหรับชาติตะวันตกอยู่ดี สตีเวน โลว์ ก็พลอยรับมรดกแบล็คลิสต์ต่อจากบิดาไปด้วย
กิจการค้า Asia World Group ของโลชิงฮัน-สตีเวน โลว์ เริ่มขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2535 ภายใต้ร่มเงาของคณะทหาร ประเทศพม่าในเวลานั้นถูกตะวันตกบอยคอตแล้ว แต่ต่อให้ชาติตะวันตกคว่ำบาตรโลชิงฮันก็ยังพอมีทุน ส่วนพม่านั้นมีทรัพยากรเหลือเฟือที่ยังสามารถค้ากับจีนและชาติพันธมิตรอื่น โลชิงฮัน-สตีเวน โลว์ ได้สัญญาสัมปทานและการก่อสร้างจากรัฐบาลมากมาย สตีเวน โลว์ได้ภรรยาเป็นชาวสิงคโปร์ และมีเครือข่ายธุรกิจในสิงคโปร์ด้วย อเมริกาบอยคอตก็ทำไป แต่ทุนสิงคโปร์พาเหรดลงทุนในพม่าผ่านเครือข่ายเอเชียเวิลด์เป็นว่าเล่น พวกเขาเป็นข้อต่อทางเศรษฐกิจที่สำคัญเชื่อมพม่าในยุคที่ถูกปิดล้อมกับตลาดทุนเสรี และยังมีช่องเชื่อมกับทุนใหญ่จากจีนในอีกด้านหนึ่ง
สตีเวน โลว์ กลายเป็นหนึ่งในเสาหลักเศรษฐกิจของพม่าไปแล้ว ในห้วงรอยต่อของการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมือง เขามีความยืดหยุ่นมากพอที่จะเข้าร่วมวงกับนักการเมืองพรรค NLD มีภาพถ่ายหลายภาพที่สตีเวน โลว์ ปรากฏตัวพร้อมๆ กับประธานาธิบดี ถิ่นจอ ตอกย้ำ และแสดงให้เห็นถึงปรัชญาของผลประโยชน์ธุรกิจและการค้าว่าอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมืองอย่างแน่นอนที่สุด
การปลดแบล็คลิสต์ของนักธุรกิจใหญ่และแถมด้วยกิจการหยก-อัญมณีได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักสิทธิมนุษยชนและกลุ่มที่จับจ้องการเมืองพม่าอยู่ไม่น้อย เพราะรู้ๆ กันอยู่ว่า ธุรกิจยักษ์ใหญ่แต่ละรายมีสายสัมพันธ์ย้อนกลับไปยังคณะนายทหารกลุ่มอำนาจเก่าแทบทั้งนั้น ยิ่งธุรกิจเหมืองและอัญมณีด้วยแล้ว ยิ่งเป็นที่รู้ว่ามีแต่ผู้มีอำนาจเงิน อำนาจรัฐ เครือข่ายขั้วอำนาจเดิมเท่านั้นที่ดำเนินกิจการนี้อยู่ เสียงวิจารณ์ด้านหนึ่งมองว่าการปลดล็อกแบล็กลิสต์เป็นการช่วยหนุนระบอบทหารอำนาจเก่าในทางอ้อม
แต่ดูเหมือนว่า วอชิงตันดี.ซี.ได้ชั่งน้ำหนักอย่างใคร่ครวญแล้วว่า มีแต่ต้องปลดล็อกทุกอย่างให้กระแสทุนนิยมได้เติบโตหลั่งไหล เศรษฐกิจพม่ากำลังโตพรวด จีดีพี.เกิน 7% ต่อเนื่องหลายปีแล้ว ทุนอเมริกามัวแต่บอยคอต อ้างโน่นนี่มีแต่เสียเปรียบชาติอื่นโดยเฉพาะจีนที่มีมูลค่าลงทุนเป็นลำดับต้น โครงการใหญ่ๆ มีแต่ของจีนทั้งนั้น
อเมริกาก็ต้องทำลืมๆ ไปว่า เครือข่ายกิจการยักษ์ใหญ่ทั้งหลายมีนายพลทหาร SPDC แบมือรับร่วมอยู่ด้วย และยิ่งธุรกิจเติบโต ส่วนหนึ่งของทุนจะวิ่งไปสนับสนุนขั้วอำนาจฝ่ายทหารอย่างชนิดแหงแซะร้อยเปอร์เซ็นต์
ทุน และผลประโยชน์ธุรกิจ ไม่มีฝักฝ่าย ไม่มีขั้ว สิ่งใดที่เคยเป็นข้ออ้างมากมายของการตั้งข้อรังเกียจ เมื่อเวลามาถึง ก็จะมีข้ออ้างและเหตุผลใหม่ที่จะร่วมหัวจมท้ายกัน.