บูรพา-อาคเนย์ มอง อูเบอร์ แล้วย้อนมองเรา : บัณรส บัวคลี่

บัณรส บัวคลี่

การใช้แอปพลิเคชั่นเรียกรถรับจ้างต้องมีพันธมิตรและต้องทำงานร่วมกับวงสื่อสารอื่น ปรากฏว่า Uber ต้องเจอกับยักษ์ใหญ่เจ้าถิ่น ไม่ให้ใช้งานใน We chat ฯลฯ เป็นต้น เลยตัดสินใจถอนตัวจากสมรภูมินี้

Uber – อูเบอร์ เป็นแอปพลิเคชั่นเรียกใช้บริการพาหนะเจ้าใหญ่ที่สุดของโลกจากอเมริกาเพิ่งไปพลาดท่าเสียทีในตลาดจีน ต้องยอมถอยทัพเข้าร่วมกับทุนท้องถิ่น Didi Chuxing ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการแอปพลิเคชั่นเรียกพาหนะคู่แข่ง

เหตุการณ์นี้เกิดเมื่อปลายปี 2559 ที่ผ่านมาสดๆ หลังจากที่เข้าไปบุกเบิกตลาดจีนเมื่อปี 2557 เพียงแค่ 2 ปียักษ์ใหญ่ก็รู้ผลว่าแข่งดุ แรงเสียดสีสูง และจีนไม่ใช่หมูในตลาดเทคโนโลยีใหม่ เพราะจีนเองก็มีระบบและสภาพแวดล้อม Ecosystem ตามแบบของเขา คนจีนใช้แอปพลิเคชั่น E-payment เจ้าดังอย่าง We chat / Alipay มี Weibo ชุมชนทางอินเตอร์เน็ตของตัวเอง การใช้แอปพลิเคชั่นเรียกรถรับจ้างต้องมีพันธมิตรและต้องทำงานร่วมกับวงสื่อสารอื่น ปรากฏว่า Uber ต้องเจอกับยักษ์ใหญ่เจ้าถิ่น ไม่ให้ใช้งานใน Wechat ฯลฯ เป็นต้น เลยตัดสินใจถอนตัวจากสมรภูมินี้

          การสัประยุทธ์ของอูเบอร์ในถิ่นมังกรนี่เป็นกรณีศึกษาให้กับวงการเศรษฐกิจดิจิตอลโลกได้เลยโดยเฉพาะกลุ่มคนที่กังวลว่าแอปพลิเคชั่นและเศรษฐกิจใหม่ช่วยเปิดทางให้ต่างชาติเข้ามาตักตวงได้ง่ายขึ้น

หลังจากนั้นไม่นาน รัฐบาลจีนก็ออกประกาศกติกาใหม่ควบคุมกิจการ Startup แอปพลิเคชั่นเรียกพาหนะขนส่งทั้งหมดด้วยความเข้มงวดขึ้น นอกจากต้องจดทะเบียน ต้องมีรายละเอียดต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมป้องกันแล้ว ยังเปิดให้ท้องถิ่นกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ให้ขับขี่/โชเฟอร์ขับรถ เป็นคนท้องถิ่นนั้นๆ
โดยสัดส่วนใหญ่ นัยว่าเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ประชาชนของเขา 
แปลว่า มหาอำนาจที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างจีนประกาศรับรองแอปลิเคชั่นเรียกพาหนะอย่างเป็นทางการไปแล้ว ก่อนหน้านั้นจีนเป็นตลาดเสรีสำหรับ Startup ทั้งหลายให้ได้ลองผิดลองถูก เพราะธุรกิจพวกนี้เป็นของใหม่ เกิดยากอยู่แล้ว ทั้งต้องอาศัยเวลาและเงินทุนรัฐบาลปักกิ่งทันสมัยและฉลาดพอ มันถึงเกิดยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีที่พร้อมจะเขย่าโลกออกมาทั้ง Huawei, Xiaomi, Alibaba, Alipay, WeChat ฯลฯ และอื่นๆ อีกมากมายที่กำลังเข้ามาประชิดตัวผู้บริโภคในอาเซียนตอนนี้

          โลกที่กำลังมาถึงเป็นโลกของเทคโนโลยีใหม่ที่ยังไงเราก็ปฏิเสธมันไม่ได้ ลองคิดดูหากว่า เมืองท่องเที่ยวและมหานครใหญ่ในโลกเขาพร้อมใจกันเปิดให้ใช้แอปพลิเคชั่นเรียกรถแบบแกรป-อูเบอร์ รวมทั้งแอปพลิเคชั่นแบบเดียวกันของท้องถิ่นให้นักท่องเที่ยว/ผู้มาเยือนได้ใช้งาน แต่ทว่าในประเทศไทยอย่าง กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต ยังเที่ยวล่อซื้อ ไล่จับ ยังติดอยู่กับกรอบความคิดแบบสัมปทานโดยรัฐ…มันจะเกิดอะไร

สัปดาห์ที่ผ่านมา สนามบินสุวรรณภูมิมีป้ายประกาศห้ามรถอูเบอร์เข้ามารับผู้โดยสารในพื้นที่กำหนด หลังจากนั้นก็มีเหตุการณ์ ล่อซื้อจับปรับรถป้ายดำแกรป ที่เชียงใหม่ ก่อนหน้านั้นขนส่งจังหวัดทั้งแถลงข่าวทั้งมีประกาศไม่ให้ประชาชนเข้าร่วมกับแกรป-อูเบอร์ เพราะผิดกฎหมายขนส่ง … ปรากฏการณ์นี้บ่งบอกความลักลั่น ไปคนละทิศละทางของราชการไทย ไม่รู้จะเอายังไงแน่…

ทางหนึ่งรัฐบาลตั้งกระทรวงใหม่ชื่อว่ากระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมพูดเรื่อง เศรษฐกิจใหม่ ประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 มีศูนย์บ่มเพาะเอย มีพร้อมเพย์ระบบ E-payment ของภาครัฐเอยแต่พอมาลงในระดับปฏิบัติจริงไปคนละทิศละทาง

          เศรษฐกิจของโลกยุคใหม่เน้นไปที่ประชาชนกับประชาชน เทคโนโลยีใหม่จะช่วยให้คนเล็กคนน้อยมีโอกาสและช่องทาง ลองคิดดูหากสินค้าของหมู่บ้านหนึ่งเกิดดังขึ้นมา วางขายบน Alibaba หรือ Lazada แล้วมียอดสั่งจากทั่วทั้งอาเซียนรวมไปถึงเมืองจีน คนเล็กคนน้อยนั้นจะลืมตาอ้าปากแบบไหน มาเลเซียกำลังผลักดันเขตเศรษฐกิจดิจิตอลเสรีเวลาเขาผลักดันเขาดันทั้งแพ็กเกจ ลดราคาอุปกรณ์ต่างๆ  และค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต/ไวไฟ เท่านั้นยังไม่พอเขาเพิ่งประกาศว่าจะไม่เก็บภาษีการซื้อขายสินค้ามูลค่าต่ำกว่า 1,200 ริงกิต (เอา8 คูณ) จากเดิมที่มีเพดานแค่ 500 ริงกิตก็เพื่อกระตุ้นให้มีการซื้อขายสินค้าผ่าน E-commerce มากขึ้น ฯลฯ ดังนั้นการที่แอปพลิเคชั่นหนึ่งใดจะช่วยให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้นจากงานประจำก็ควรจะส่งเสริมให้เกิด หากแต่รัฐต้องเข้าไปกำกับมาตรฐาน กฎระเบียบ และความปลอดภัยเพิ่ม เช่น แอปพลิเคชั่นนั้นๆ ต้องดำเนินการโดยบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย เป็นต้น

          จริงอยู่ที่ไทยเราก็เหมือนกับประเทศอีกมากมายในโลกที่ยังเพิ่งก้าวเข้าสู่พรมแดนของเศรษฐกิจใหม่ยุคดิจิตอล การยกประเทศจีนสามารถต่อกรกับยักษ์ใหญ่อูเบอร์ได้ นั่นเพราะเขามีสภาพแวดล้อมของโลกไซเบอร์ที่ก้าวหน้ากว่าประชากรจีนใน E-payment มากพอ ทำให้เขามีฐานและพลังพอจะต่อกรกับยักษ์ต่างถิ่นได้ แต่เรานั้นเพิ่งเริ่ม จะเปิดกว้างรับทีเดียวก็ไม่ดี มันควรต้องเป็นขั้นเป็นตอน ขนาดเมืองใหญ่ๆ ในอเมริกาเองบางเมืองยังไม่รับอูเบอร์-จัดเป็นธุรกิจที่กฎหมายไม่รับรองเช่นกัน ประสาอะไรกับประเทศเรา …คิดแบบนี้ก็ถูกครับ ต้องมีเวลาให้เราปรับตัวอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

          แต่ก็ไม่ควรนานมากเกินไปจนกลายเป็นล้าหลังเขา เพราะว่าทุกประเทศในย่านนี้ต่างก็สปีดตัวเองเข้ากับเศรษฐกิจใหม่ทั้งนั้น ไม่ว่ามาเลเซียหรือสิงคโปร์   อูเบอร์-แกรป เข้ามานี่ เป็นภาพเปรียบเทียบสะท้อนสิ่งที่เราเป็นอยู่ได้ชัดเจนขึ้น

อย่างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลมีเดียหลังมีการล่อซื้อคู่แข่งรถแดงที่เชียงใหม่ ที่วิจารณ์ว่าระบบขนส่งคนที่มีอยู่เดิมก็ผิดกฎหมาย ไม่ตอบสนอง ไม่มีมาตรฐานเอาเปรียบราคา ไม่ว่ารถแดง หรือแท็กซี่มิเตอร์ที่ให้บริการอยู่ในเชียงใหม่ เอาง่ายๆ กฎกระทรวงประกาศอัตราค่าบริการไว้เรียบร้อยแต่ไม่เคยมีการเปิดใช้มิเตอร์จริงผู้โดยสารระบุว่าถูกบังคับให้เหมาจ่ายทุกครั้งไป มันจึงเป็นเหตุผลว่าเหตุใด แอปพลิเคชั่นที่คนกรุงเทพฯใช้งานสะดวกเช่น แกรปแท็กซี่จึงไม่เวิร์คในเมืองเชียงใหม่ เพราะแท็กซี่มิเตอร์ที่เชียงใหม่ไม่รับอัตราโดยสารแบบที่แอปพลิเคชั่นระบุ …สู้เอาเวลาไปรับผู้โดยสารที่สนามบินในราคาเหมาไม่ดีกว่าหรือ?

          น่าสังเกตว่า Startup และเศรษฐกิจใหม่นั้นส่วนใหญ่มักจะอยู่ในภาคบริการ เศรษฐกิจ 4.0 จะใหม่อย่างไรแต่ที่สุดแล้วก็คือการต่อยอดจากฐานเดิม เช่นจากการค้าขายทั่วไปมาสู่ E-commerce และ E-payment  ประเทศทั้งหลายในโลกยุคนี้กำลังแข่งกันพัฒนาภาคบริการขึ้นมาเพื่อเป็นรายได้หลักอีกขาหนึ่ง
สำหรับไทยนั้นมีภาคการท่องเที่ยวที่ใหญ่และอันดับต้นของโลกอยู่แล้ว ตามหลักแล้วเพียงแค่ปรับปรุง-เปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่เดิมก็สามารถต่อยอดไปสู่ไปเศรษฐกิจใหม่ง่ายขึ้น แต่ในทางปฏิบัติจริงกลับยากเอาการเพราะกิจกรรมภาคการบริการและการท่องเที่ยวไทยยังอยู่ภายใต้ระบบหัวคิวและสัมปทานผูกขาด
เช่น คิวรถสนามบิน เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่นกฎกระทรวงกำหนดให้บวกราคาแท็กซี่มิเตอร์ที่สนามบินเชียงใหม่แค่ 50 บาทแล้วกำหนดให้รถใช้มิเตอร์คิดราคาค่าโดยสาร แต่ในทางปฏิบัติจริงกลับมีหัวคิวจัดการโดยคิดเหมารวมในราคาสูงกว่าราคาที่กฎหมายกำหนด 

          การจะปรับกติกาเงื่อนไขอะไรเพื่อให้รับกับเศรษฐกิจใหม่ก็ยากขึ้นมาทั้งๆ ที่ไม่น่ายาก. 

***อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : 

Didi Chuxing Is Slowly Killing Off Uber
China’s Brand

http://fortune.com/2016/10/28/didi-chuxing-uber-china-brand/

Minister announces DFTZ tax exemption

http://www.thestar.com.my/business/business-news/2017/02/20/minister-announces-dftz-tax-exemption/

 

 

 

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ