Trend Social Media และ เทคโนโลยี ปี 2017 : ชีพธรรม คำวิเศษณ์

ชีพธรรม คำวิเศษณ์

SocialMedia และ เทคโนโลยี  2017 ผมอยากเขียนเพื่อพยากรณ์ตามประสบการณ์ในวงการสื่อสารมวลชนเทคโนโลยีมา 20 ปี เวลาไวเหมือนโกหก จำได้ว่า เดือน พฤศจิกายน 2539 ผมเหมือนกับคนเสื่อผืนหมอนใบจากเชียงใหม่เข้ามาหากินในกรุงเทพฯ เวลานั้นการใช้อินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย ต้องต่อสายโทรศัพท์กับบ้าน เสียค่าบริการชั่วโมงละ 30 บาท ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในวันนั้นหรือ ISP หายไปจากตลาดเกือบจะเกลี้ยงเหลือแต่ TOT , 3BB , True เท่านั้น

หายหน้าจาก SmartSME ไปหนึ่งเดือนเพราะมีงานสอนโซเชียลมีเดียเพื่อการประชาสัมพันธ์เดือน พฤศจิกายน 2559 เต็มเหยียด  ไม่อยากเขียนลวกๆ เขียนไปที เกรงใจบรรณาธิการและท่านผู้อ่าน อยากให้ได้รับความสนุกสนาน และความรู้นำไปใช้กับชีวิตประจำวันได้  การเป็นผู้เขียนก็ต้องเอาใจผู้อ่าน เดาใจว่าอยากได้อะไรก็จัดไปตามที่ต้องการ

อยากเล่าให้ฟังเพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพการใช้โซเชียลมีเดียที่มีต่อชีวิตและธุรกิจในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย   เริ่มด้วยไปสอนให้กับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ไปสอนถึงเชียงรายโน่น

เขาเชิญผู้นำสตรีชุมชมจากหลายอำเภอของจังหวัดพะเยา มาเรียนที่เชียงราย หัวข้อถ้าจำไม่ผิด

นวัตกรรมกับสตรีผู้นำชุมชม

อะไรคือนวัตกรรมชุมชน  อยากจะได้อะไรในสิ่งที่เรียน  เทคโนโลยีกับชุมชน

ความเก่งของกลุ่มสตรีเหล่านี้คือ การทอผ้าในลายต่างๆ  ออกแบบเอง เป็นสินค้าหัตกรรม ถ้าไปขายเมืองนอก นี่เป็นงานศิลปะราคาแพงทีเดียว แต่เขาขายถูก  ไม่รู้จะประชาสัมพันธ์อย่างไร

ผมก็เลยไปสอนการใช้ Facebook Live บวกกับการทำคลิป แล้วอัพโหลดขึ้นยูทูบ  นี่คือสิ่งที่ง่ายที่สุดในการบอกให้โลกและคนนอกชุมชนรู้ว่าพวกเขากำลังทำอะไรอยู่    หัวหน้าชุมชนแม่บ้านท่านหนึ่งยังบอกผมว่า ที่หมู่บ้านของเธอในอำเภอเชียงม่วนเป็นจุดแหล่งแพของแม่น้ำน่าน อยากประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวไปเที่ยวในช่วงสงกรานต์

เราจะใช้พลังของโซเชียลมีเดียที่ประชาชนกลายเป็นสื่อช่วยโปรโมทสถานที่ท่องเที่ยวของชุมชนและสินค้าจากท้องถิ่น ไปยังสายตาที่จับจ้องอยู่บนสมาร์ทโฟน

มาเริ่มพยากรณ์กันเลยว่าโซเชียลมีเดีย ปี 2017 หรือ พ.ศ. 2560 จะเป็นอย่างไร

1. Line จะเปิดการถ่ายทอดสดได้เหมือนกับ Facebook Live  และ Bigo Live

กระแสอันเชี่ยวกรากของการถ่ายทอดสดวีดีโอที่คนธรรมดาเป็นสื่อได้เริ่มแรงขึ้นเรื่อย ๆ

Line เป็นแอพโซเชียลที่สูสีกับ Facebook ในประเทศไทย  อย่างไรแล้วไม่น่าเกินไตรมาส 2 น่าจะเปิดให้ถ่ายทอดสดได้  ถ้า Line ถ่ายทอดสดได้ จะเปลี่ยนกระแสการรับชมและคนธรรมดาเป็นสื่อเพิ่มขึ้น

ทีวีดิจิตอลที่มีต้นทุนการผลิตหนักอยู่แล้วอาจจะหนักเพิ่มไปอีก สื่อสิ่งพิมพ์อาจปิดตัวเพิ่มขึ้

ในสัปดาห์นี้ กลุ่มอัมรินทร์ ถูกกลุ่ม เบียร์ช้าง เข้าซื้อหุ้นไปแล้ว 850 ล้านบาท  หนังสือพิมพ์บ้านเมืองปิดตัวลงไป

2. ระบบลูกขุนพิพาษาในสังคมบนโซเชียลมีเดียจะเพิ่มมากขึ้น

ผมเป็นนักเรียนกฏหมายจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ แต่เลือกทางเดือนของชีวิตมาเป็นสื่อสารมวลชน  ผมรักในกฏหมายและความยุติธรรม  เห็นความอยุติธรรมจากการใช้กฏหมายในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน   น๊อต กราบรถกู เป็นกระบวนการทางสังคมผ่านโซเชียลมีเดียที่กดดันพิพากษาจากหลักฐานที่ปรากฏส่งต่อในโซเชียลเน็ตเวริ์กต่างๆ โดยที่ฝ่ายน๊อตบอกว่าเขาป้องกันตัว แต่ต่อยคู่กรณีอย่างเดียว ระบบลูกขุนในโซเชียลมีเดียพิพากษาลงโทษทันที โดยไม่รอกระบวนการทางกฏหมาย  และล่าสุด ผู้ขับรถมอเตอร์ไซค์ รวมกลุ่มผ่านเฟซบุ๊ก ไปกดดันตำรวจ ที่จับปรับ และกลุ่มผู้ขับมอเตอร์ไซค์

พยายามที่จะเปลี่ยนแปลงกฏหมายในกรุงเทพที่ห้ามขับรถมอเตอร์ไซค์ ลงอุโมงค์และขึ้นสะพาน เป็นการริดรอนสิทธิพลเมือง ซึ่งผมเป็นก็เป็นผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ รู้สึกว่าไม่เท่าเทียมกัน อย่างยิ่ง

3. รูปแบบธุรกิจใหม่ๆ จะปรากฏบนโซเชียลมีเดียมากขึ้น

ว่าไปแล้วโลกทุกวันนี้อะไรก็ขายได้  เมื่อวันเสาร์ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา ผมได้ไปเป็นอาสาสมัครสอนลูกหลานชาวนาเกี่ยวกับเรื่องการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการประชาสัมพันธ์ขายข้าว  โดยผมสอนเรื่อง

การสร้างเฟซบุ๊กแฟนเพจบนสมาร์ทโฟน และ ซื้อโฆษณาเฟซบุ๊ก เพื่อให้คนเห็นข้าวที่ต้องการขายไม่ว่าจะเป็นโลโก้หรืออะไรก็ตามที่ต้องการขาย  ซื้อโฆษณาไม่กี่ร้อยมีคนเห็นทันที   ซึ่งจะมีธุรกิจเกิดใหม่เกิดขึ้นมากมาย

4. ประชาชนจะเก่งกว่าข้าราชการและรัฐวิสาหกิจในโลกโซเชียลมีเดีย

กระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ของราชการ ที่มีอยู่ปัจจุบัน ได้ถูกความท้าทายของเทคโนโลยีกัดกร่อน

ประชาชน ชาวบ้านธรรมดา ผู้ใฝ่เรียนใฝ่รู้กำลัง ใช้ความรู้ในการศึกษาด้วยตนเองผ่านอินเทอร์เน็ตและสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ  ให้เก่งกว่าข้าราชการแล้ว  พวกเขาเหล่านั้นไม่ต้องรอความรู้ใหม่ๆ จากรัฐบาลอีกต่อไป  ความช่วยเหลือเกิดขึ้นกันเอง  หน่วยงานราชการจะเป็นเพียงสัญลักษณ์ของการช่วยเหลือเท่านั้น ส่วนการปฏิบัติชาวบ้านร้านตลาดเดินหน้าพึ่งพาตนเองไปแล้ว

5. มหาวิทยาลัยเหลือแต่เพียงตึก

ขุมทรัพย์สุดปลายฝัน  The Alchemist หนังสือนวนิยายเรื่องเยี่ยมผลงานของ Paulo Coelho นักเขียนชาวบราซิล ได้ชี้ให้เห็นว่า ขุมทรัพย์ทั้งหลายอยู่ในของเรา และ ผู้เขียนขอเพิ่มเติมไปด้วยว่าอยู่ในอินเทอร์เน็ตผู้เขียนใช้เวลาถึง 17  ปี เพื่อกลับไปสหรัฐอเมริกา ตามล่าความฝันเมื่อครั้งเป็นวัยรุ่น  เมื่อไปถึงสหรัฐฯ ไปเที่ยวชมมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก  Columbia University , MIT, Harvard University ได้แสงสว่างทางปัญญาเหมือนขุมทรัพย์สุดปลายฝัน ว่าความรู้อยู่ในอินเทอร์เน็ต และความรู้อะไรก็ได้ขอให้ชีวิตเราเอาตัวรอดมีคนจ้างเราทำงาน หรือเราทำงานของเราเองที่มีคนอยากซื้อและอยากใช้บริการ

อ.ราม โชติคุต แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกกับผมว่า “มหาวิทยาลัยจะเป็นเพียงตึก เท่านั้น เพราะนักศึกษาทุกวันนี้ สนใจที่จะศึกษาด้วยตนเองมากกว่า  และทุกอย่างก็อยู่บนอินเทอร์เน็ต”

คณะนิเทศศาสตร์ บางมหาวิทยาลัย ถ้าไม่ปรับหลักสูตร คณะมีสิทธิล่มสลาย นักศึกษาจบไปแล้วองค์ความรู้ไม่มีพอจะสู้กับคู่แข่งและโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว

6. เยาวชนไทยเป็นนักแสดงผ่าน Youtube และ Bigo Live

ประสบการณ์ชีวิตและโลกใบนี้ได้พิสูจน์แล้วว่า การเรียนเก่ง กับ การมีความสามารถเป็นละประเด็นแต่ทุกคนประสบความสำเร็จในชีวิตได้เหมือนกัน  สังคมไทยเป็นสังคมอนุรักษ์นิยม ต่อต้านความก้าวหน้าโลกใบใหม่อยู่ตลอดเวลา  สมัยเมื่อแรกเริ่มอินเทอร์เน็ต บนอินเทอร์เน็ตมีแต่ภาพโป๊  ปลัดกระทรวงศึกษาออกมาพูดเองเมื่อเกือบ 10 ปีทีผ่านมา ทำให้พ่อแม่ไม่กล้าลงทุนเรื่องเทคโนโลยีให้กับลูกหลาน   เด็กเล่มเกมส์บอกเด็กติดเกมส์  ในโลกที่เจริญแล้ว จะไม่ต่อต้านแต่จะหาสนามมาให้แข่งขันประลองเช่น การแข่งขันเกมส์ออนไลน์ เหมือนกับกีฬา ลูกศิษย์ของผมคนหนึ่งอยู่ที่ภูเก็ต  เอาเช็ค 20,000 เหรียญที่ ลูกชายของเธอวัย 15  ปี เล่นเกมส์ออนไลน์แล้วถ่ายทอดสดบนยูทูบ การถ่ายทอดสดนั้นต้องมีการพากย์ไปด้วยระหว่างเล่น ผู้ชมได้รับความสนุกตื่นเต้น เหมือนกับเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ มีผู้เข้าไปชมเป็นหลักล้านวิว

เวลานี้ แอป Bigo Live กำลังมาแรง เยาวชนไทยเข้าไปแสดงความสามารถเหมือนกับดารา พวกเขาเหล่านั้นบางคนอยู่ต่างจังหวัด  ไม่มีใครสนับสนุนเหมือน The Star , The Voice , Thailand Got talent

แต่พวกเขาสามารถโชว์การแสดงต่างๆ ที่สำคัญ ผู้ชมสามารถให้เงินเรียกว่าจ่ายเป็นถั่วเพื่อสนับสนุนให้กับนักแสดงได้โดยตรง   เด็กสาวหน้าตาสวยๆ ไม่ต้องไปเชียร์เบียร์ ไปต้องไปนั่งดริงก์ ไม่ต้องไปขายตัว

โชว์การแสดงความสามารถ อะไรก็ได้   แน่นอนว่าการล่อลวงก็อาจจะมีบ้าง แต่ในโลกของเทคโนโลยีต้องเปิดใจให้กว้างไว้   กระทรวงศึกษาต้องเปิดกว้างทางเทคโนโลยี จัดร่วมกับบริษัทที่ผลิตแอพออกมาเพื่อเป็นเวทีให้กับเยาวชนได้แสดงออกถึงความสามารถที่เกิดขึ้นไม่ใช่ออกมาห้ามแต่เพียงอย่างเดียว

7. โรงภาพยนตร์ ค่ายเพลง รายได้ลดลงเหมือนกับทีวีดิจิทัล

ถ้าท่านใดใช้แอป Joox และ Apple Music ก็พอได้สัมผัสถึงความเก่งกาจของแอปและทีมบรรณาธิการในการจัดสรร Playlist สร้างสรรค์เพลงให้เป็นหมวดหมู่เหมาะกับกิจกรรม และรสนิยมของผู้ใช้แอพ

ผมยังจำได้ดีถึงสมัยวัยรุ่น ซื้อเทปเพลง มาเป็นซีดี กลายเป็นแผ่น MP3 และมาเป็นเครื่องเล่นไอพอด

ซื้อเพลงจาก iTunes  มาวันนี้ฟังเพลงแบบฟรีและเหมาจ่าย

ความน่ากลัวอีกอย่างของเทคโนโลยีกับโรงภาพยนตร์กำลังถูกคุกคามอีกครั้งเมื่อครั้งเครื่องเล่นวีดีโอเข้ามาใหม่ๆ  มาวันนี้กำลังเจอแอปหนังอย่างเช่น Hollywood HD, Primetime, iFlix , Hooq ฯลฯ สารพัดจ่ายเพียง 199 หรือบางค่ายจ่ายเพียง 100 บาทต่อเดือนได้ดูหนังเป็นร้อยๆ เรื่องแบบไม่จำกัด

8. กรมอุตุนิยมวิทยา ถูกท้าทายจากแอปพยากรณ์อากาศ

ตื่นเช้ามาหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมา เปิดแอป Google ขึ้นมาพยากรณ์อากาศบอกเลยว่าเท่าไหร่ กี่องศา

อุณหภูมิของประเทศไทยไม่ได้ผันผวน เหมือนกับในต่างประเทศ ความรุนแรงของภัยธรรมชาติน้อยกว่ามากแต่การที่สมาร์ทโฟนฉลาดขึ้นมา พยากรณ์อากาศแม่น ทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งไม่ต้องพึ่งข้อมุลข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยาอีกต่อไป   แต่ผมเองก็อยากรู้ว่าชาวประมงที่เพิ่งข้อมูลจากกรมอุตุฯ ในการเดินเรือเขาใช้อะไรในการติดตามข้อมูลของการออกหาปลา

9. การโอนเงินผ่านโซเชียลมีเดียจะเป็นธุรกรรมที่จำเป็น

การโอนเงินผ่านแอปธนาคารดูจะเป็นเรื่องปกติไปแล้ว  การเข้ามาของ Alibaba จับมือกับซีพี อาจทำให้สังคมไทยต้องปรับตัวเรื่องการเงินอีกครั้ง รวมถึง Line กับ Facebook ที่มีใช้งานเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรประเทศไทย ในปี 2560 การโอนเงินผ่านแอปโซเชียลต่างๆ คงมีอะไรมาให้เห็นกัน  ในรูปแบบการบริการที่เชิญชวนมากขึ้น ผมจำได้ว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ตอนที่เรียนชั้นมัธยม โรงเรียนยุพราช จังหวัดเชียงใหม่ ธนาคารพาณิชย์ไปทำบัตร ATM ให้กับนักเรียนตอนนั้นก็ดีใจแทบมากแถมเท่ห์มาก เพราะเป็นของแปลกใหม่มาก

10. AI Artificial intelligence ปัญญาประดิษฐ์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

AI ถ้าพูดอีกครั้งก็คงเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับผุ้ใช้งาน คิดว่าเป็นแต่ในระบบหุ่นยนต์และโรงงานอุตสาหกรรม คิดแทนเหมือนกับมนุษย์ได้

มาถึงทุกวันนี้ ใกล้ตัวเรามามากขึ้น ผมไม่สามารถที่จะเขียนเรื่อง AI ได้ลึกซึ้งเหมือนกับนักวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ แต่เราสัมผัสได้จากการใช้ Google Photos  ในการพยากรณ์จับภาพใบหน้า, สถานที่ หรือ Facebook ที่ตอนเราถ่ายภาพและแท็กให้เพื่อน ระบบรู้อัตโนมัติทันทีว่าภาพนั้นเป็นของใคร ที่สำคัญใกล้ตัวเรามากที่สุดระบบ AI อยู่ในสมาร์ทโฟนที่เราใช้นั่นแหละครับโดยที่เราไม่รู้ตัว

11. Internet of Things + IFTTT

IOT หรือ Internet of Things พูดง่ายๆ ก็คืออุปกรณ์ต่างๆ จะถูกเชื่อมเข้ากับอินเทอร์เน็ต

หลอดไฟ, รถยนต์, หม้อหุงข้าว, แอร์, แว่นตา, นาฬิกา, เสื้อผ้า, กางเกง, ตู้เย็น , เตาไมโครเวฟ ฯลฯ

ผมอยากให้ได้เข้าไปศึกษาที่เว็บไซค์ www.ifttt.com หรือ โหลดแอพ IFTTT ท่านจะได้ทราบเลยว่าอุปกรณ์เหล่านี้จะถูกเชื่อมเข้ากับอินเทอร์เน็ตและส่งระบบเตือนมายังสมาร์ทโฟนของเรา ทุกวันนี้ที่ผมใช้งานอยู่เป็นการเชื่อมโยงกับโซเชียลมีเดีย เช่น ถ้า องค์การ Nasa โพสต์รูปภาพอวกาศใหม่ ให้เปลี่ยนวอลเปเปอร์ให้โทรศัพท์มือถือของผมด้วย หรือสั่งว่า ถ้าหากผมชอบข้อความ Twitter ไหนให้เชื่อมโยงไปยังแอพ Pocket สำหรับเป็นที่เก็บข้อมูลอินเทอร์เน็ต   หรืออีกคำสั่งถ้าหากผมโพสต์ภาพใน Instagram ให้ออกไปยัง Twitter ด้วย คิดว่าปีหน้าผมคงได้ใช้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตแบบแปลก ๆ บ้างครับ เช่นหลอดไฟ ถ้าหากผมเดินเข้าห้องนอนให้หลอดไฟอ่านหนังสือเปิดเองเลย โดยไม่ต้องไปกดปุ่มเปิดปิดไฟ

12. แอปกับสุขภาพ

มนุษย์ที่เกิดมาบนโลกใบนี้แสนจะทุกข์ยากถ้าสุขภาพไม่ดี  ตายเสียยังดีกว่าอยู่ หรือจากกันไปเลยดีกว่าเพราะไม่อยากเห็นการทรมาน เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ผมขึ้นไปสอนหนังสือให้กับวิทยาสื่อและมัลติมีเดีย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สอนให้กับพวกนักธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่ให้เห็นความสำคัญของโซเชียลมีเดียกับธุรกิจที่เขาทำได้ด้วยตนเอง ซึ่งทุกก็ชื่นชอบมาก  ก่อนเริ่มไปสอนหนึ่งวันผมไปงานศพแม่ของเพื่อนรักที่เรียนหนังสือมาด้วยกัน  แม่ของเธอป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด หมดเงินค่ารักษาไปหลายแสนบาท แต่ในที่สุดก็เสียชีวิต

เพื่อนผมคงเสียใจมาก แต่เป็นการจากกันอย่างมีความสุขเพราะไม่ต้องทรมานกับโรคมะเร็งซึ่งไม่มีใครสามารถเอาชนะได้

กลางเดือน พฤศจิกายน แม่ของผมอยู่ๆ เกิดอาการเวียนศรีษะอย่างแรง ต้องส่งโรงพยาบาลเร่งด่วน

ผมไม่มีความรู้ทางการแพทย์แบบง่ายๆ เช่นการวัดชีพจร หรือวัดความดัน   ผมเองต้องการความรู้แบบนี้ในทางเทคโนโลยีทุกวันนี้  Apple Watch และ นาฬิกาออกกำลังมีความสามารถในการวัดอัตรการเต้นของหัวใจได้แล้วแบบ ผมเชื่อว่าในปี 2017  แอพเพื่อสุขภาพจะทะยอยออกมา เพื่อพยากรณ์โรคภัยไข้เจ็บได้และแอพการวัดความดันแบบง่ายๆ  จะต้องมีขึ้นอย่างแน่นอน  และอีกแอพที่โรคกำลังรอคอยอย่างใจจดจ่อก็คือแอพการคาดคะเนว่าในร่างกายของเรามีอัตราความเสี่ยงกับมะเร็งมากน้อยเพียงใด

เขียนคาดการณ์ Social Media และ เทคโนโลยี 2017 เป็นความเห็นส่วนตัวและนำเสนอให้กับท่านผู้อ่าน เห็นควรประการใดแลกเปลี่ยนกันได้ครับ

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ