บทที่ 2 ค่านิยมแห่งชีวิต : ดร.สมฤดี ศรีจรรยา

ดร.สมฤดี ศรีจรรยา

“ผู้นำดีมีคุณธรรมมีจริยธรรม องค์กรนั้นก็จะดีตาม ถ้าผู้นำมีมิจฉาทิฐิ องค์กรนั้นก็จะเอนเอียง และค่านิยมของคนทั้งองค์กรนั้น ก็จะบิดเบี้ยวตามไปด้วย”

“ผู้นำดีมีคุณธรรมมีจริยธรรม องค์กรนั้นก็จะดีตาม ถ้าผู้นำมีมิจฉาทิฐิ องค์กรนั้นก็จะเอนเอียง และค่านิยมของคนทั้งองค์กรนั้น ก็จะบิดเบี้ยวตามไปด้วย” 

เคยคิดไหม…เราคือใคร เกิดมาทำไม?

เคยตั้งคำถามกับตัวเองเล่นๆ ไหมว่า “คนเราเกิดมาทำไม ทำไมเราต้องเกิด ไม่เกิดได้ไหม” คำตอบนี้เถียงกันอย่างไรก็หาคำตอบที่แท้จริงไม่ได้

ในทางพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนว่า “คนเราเกิดมาเพื่อสร้างบารมี แปลว่า เราเกิดมาก็เพื่อทำความดี เพื่อสะสมความดี เพื่อชาติต่อไปเราจะได้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ลำบากเหมือนชาตินี้ ที่เราลำบากชาตินี้ก็เพราะเป็นผลแห่งวิบากกรรมแห่งชาติที่แล้ว

บางคนก็อาจจะเถียงว่า ชาตินี้เราก็ไม่ได้ลำบากอะไรหนักหนา บ้านก็มีอยู่ รถก็มีขับ เกิดมาก็สบายกว่าคนอื่นตั้งเยอะ พ่อแม่พี่น้องก็ดี ถือว่าดีแล้วหละ ไม่เห็นจะต้องสร้างบารมีอะไรต่อ น่าจะถือว่าเกิดมาเสวยสุขมากกว่า เพราะฉะนั้นต้องใช้ชีวิตอย่างมีความสุข อยู่อย่างสบายไปทั้งชาติ ใครจะลำบากอะไรก็ช่าง ไม่ใช่เรื่องของเรา ขอให้เรามีความสุขก็พอ

ฟังดูก็มีเหตุผลดี แต่ฟังแล้วน่ากลัว เพราะคนที่คิดอย่างนี้มีเยอะมาก ยิ่งบรรดาเด็กรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน แสวงหาแต่ความเพลิดเพลินใส่ตัว ไม่รับผิดชอบอะไร ถึงเวลาก็แบมือขอสตางค์พ่อแม่ ก็อยากมีสตางค์ให้ขอนี่

 

เชื่อผิดๆ ชีวิตก็เดินทางผิด

            บางคนหนักยิ่งกว่านั้น เกิดมาเต็มไปด้วยความลำบาก พ่อแม่ยากจน เห็นคนอื่นเขามีสตางค์ก็อยากมีบ้าง อยากอยู่บ้านสวยๆ กินอาหารดีๆ ใส่เสื้อผ้าสวยๆ ก็ใช้วิธีทางลัดด้วยการขโมยของเขา เอาเปรียบเขา หากินด้วยวิธีที่ไม่สุจริต ทำทุกอย่างเพียงเพื่อให้ได้เงินมาก็พอ บางครั้งถึงกับต้องทำความผิดประกอบอาชญากรรม ก็ไม่สนใจ ฆ่าคนได้ก็ฆ่า ปล้นได้ก็ปล้น ขโมยได้ก็ขโมย ค้าประเวณีก็เอา โกหกหลอกลวงก็ทำ ค้าเหล้า ค้ายาเสพติดก็ค้า เล่นการพนันก็เอาทั้งนั้น

ซึ่งคนเหล่านี้ยังคงเชื่อว่าตนเองไม่ได้ทำความผิดอยู่จนแล้วจนรอด

 

ความเชื่อ เป็นแก่นกลางของใจมนุษย์

ฉะนั้นความเชื่อของคนเรานี่แหละน่ากลัวมากที่สุด ถ้าคนเราเชื่ออะไรก็ตามแล้วทำแต่ความดี โลกนี้ก็จะมีความสุข ถ้าเราเชื่ออะไรแล้วเบียดเบียนคนอื่น โลกนี้ก็จะมีแต่ทุกข์ เกิดความไม่สงบเหมือนเช่นทุกวันนี้

หลักยึดแห่งชีวิต ที่เป็นแก่นของมนุษย์ ในทางตำราเรียกว่า Value of Life หรือ ค่านิยมแห่งชีวิต ซึ่งวันนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในชีวิตของมนุษย์ เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในตำราของนักบริหารระดับสูง ถ้าจะเรียกชื่อเต็มว่า “ปรัชญาชีวิต” ก็ดูลอยๆ เหมือนความฝันที่จับต้องไม่ได้ แต่วันนี้ในการวัดผู้บริหารระดับสูง ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอันโด่งดังทั่วโลก เขาใช้เป็นตัววัดผู้บริหาร ว่าจะเป็นผู้บริหารที่ก้าวไปสู่ที่สุดแค่ไหน

ผู้บริหารที่มีความสามารถสูง มีความเก่งกล้าสามารถ ประสบความสำเร็จในธุรกิจ ทำอะไรก็ร่ำรวย ถ้ามีค่านิยมในการดำรงชีวิตมีความเชื่อไปในทางที่ผิด ก็สามารถทำให้โลกแตกสลาย ไม่สงบ เกิดความปั่นปวนในวงธุรกิจ สร้างความไม่เป็นธรรมในวงการค้า เอาเปรียบลูกค้า เอาเปรียบผู้ถือหุ้น เอาเปรียบพนักงาน เอาเปรียบสังคม เอาเปรียบมนุษย์โลก

 

เก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องดีด้วย

            ในอดีตมหาวิทยาลัยประเภทท็อปเทนของอเมริกา เขาไม่ได้เน้นเรื่องเหล่านี้ เขาสอนแต่ให้เป็นนักธุรกิจที่เก่งกาจ มีความรู้ความสามารถ ให้ออกไปทำชื่อเสียงสร้างความร่ำรวย ทำกำไรให้ได้มากที่สุด Maximize Profit ถือเป็นค่านิยมในการทำธุรกิจ ยิ่งกำไรมากเท่าไร ก็ยิ่งเก่งเท่านั้น คนอื่นจะเป็นอย่างไรก็ช่าง

บริษัทอเมริกันจะยึดถือแต่การสร้างผลผลิต เพิ่มผลผลิต ประหยัดต้นทุน ใครทำงานเก่งก็ให้เงินเดือนตอบแทนสูง ใครทำงานไม่ได้ก็ไล่ออก จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน แล้วก็ไม่ต้องมองหน้ากัน ไม่ต้องมีเห็นใจกัน ไม่ต้องมีความปราณี เอาแต่กำไร กำไร กำไร

พนักงานก็เช่นเดียวกัน ถ้าอยู่ไหนให้เงินเดือนดีกว่าก็ไปอยู่ที่นั่น ไม่มีความภักดีต่อองค์กร ไม่มีความผูกพันกัน

แต่ว่าวันนี้ สหรัฐอเมริกาเจ้าตำราต้นตำรับการบริหารสูงสุดของโลก แพ้ญี่ปุ่นยับเยินทางเศรษฐกิจ ตำแหน่งเจ้าตลาดตกเป็นของสินค้าญี่ปุ่นทุกชนิด

เพราะนักบริหารญี่ปุ่น จะข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนในมหาวิทยาลัยท็อปเทนดังกล่าว แล้วก็ขนตำราอเมริกันกลับญี่ปุ่น เอาทฤษฎีอเมริกันไปปรับใหม่ ให้เข้ากับวัฒนธรรมความเชื่อของคนญี่ปุ่น ระบบบริหารแบบญี่ปุ่น แนวความคิดแบบตะวันออก แล้วก็เอากลับมาใช้ย้อนศรทฤษฎีอเมริกันทั้งหมด

 

จ้างทำงานตลอดชีวิต (Life Time Employment)

คนญี่ปุ่นมีค่านิยมในการทำงานว่า ทำงานอยู่กับองค์กรไปตลอดชีวิต Life Time Employment ทำอะไรก็ต้องนึกถึงส่วนรวม นึกถึงบริษัทมากกว่าตัวเอง ถ้าบริษัทดีเราก็ดีด้วย ถ้าบริษัทไม่ดีเราก็แย่ด้วย ความซื่อสัตย์และความภักดีต่อองค์กรเป็นเรื่องที่สุดของชีวิต

            วิธีคิดแบบนี้ทำให้ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าโลก ในอดีตคนญี่ปุ่นศรัทธาพระจักรพรรดิว่าเป็นเจ้าชีวิตสูงสุด สามารถยอมตายเพื่อจักรพรรดิได้ ในสงครามโลกครั้งที่สอง เหล่าทหารจะสาบานตนแล้วขับเรือบินคันเล็กพุ่งเข้าชนเรือรบอเมริกันแบบกามิกาเซ่ ยอมตายถวายชีวิตด้วยความภาคภูมิใจ

เมื่อคนญี่ปุ่นมาทำธุรกิจ ค่านิยมในการดำรงชีวิตก็ติดมาด้วย พวกเขาให้ความสำคัญกับองค์กรมากกว่าตัวเอง เมื่อเวลาต่อสู้กันทางธุรกิจ ระหว่างบริษัทนั้นเขาจะสู้กันเองแบบตาต่อตา ฟันต่อฟันอย่างซามูไร แต่ถ้าเป็นเรื่องระหว่างชาติแล้ว พวกเขาจะกลับใส่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว

แนวคิดแบบ Life Time Employment การสร้างศรัทธาให้พนักงานรักองค์กรนี้เอง ค่อยๆ ไปแพร่หลายเข้าไปในอเมริกา เมื่อสินค้าญี่ปุ่นเข้าไปตั้งโรงงานผลิตในสหรัฐฯ เรียกว่าบุกเข้าไปถึงบ้าน คนอเมริกันซึ่งเป็นดินแดนเสรีก็ยินดีเพราะถือว่าเป็นสินค้าที่ผลิตในอเมริกา ทั้งยังสร้างงานให้ชาวอเมริกันอีกต่างหาก

ชาวญี่ปุ่นนำวัฒนธรรมการทำงานมาใช้ เช่น การประชุมพนักงานตอนเช้าหน้าโรงงาน ให้พนักงานออกกำลังกายก่อนเข้าทำงาน ตอนแรกคนอเมริกันต่างทำด้วยความขบขัน แต่พอทำทุกวันก็กลายเป็นค่านิยมใหม่ที่ดี พนักงานได้พบกันทุกเช้า ก่อนแยกย้ายกันไปทำงาน ได้เห็นหน้ากันทุกเช้า ได้คุยกัน

ปรากฏว่างานดีขึ้น ปัญหาลดลง ผลผลิตเพิ่มขึ้น ทุกคนรักองค์กรมากขึ้น มีความภาคภูมิใจในชื่อสินค้าญี่ปุ่นที่ปักอยู่บนหน้าอกของตัวเอง ยอมรับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันใหม่ของคนอเมริกัน และคนอเมริกันก็รักคนญี่ปุ่น นับถือคนญี่ปุ่นยกย่องให้เกียรติกว่าชาติอื่น

 

ก้าวแรกในการเข้าทำงาน

ค่านิยมแห่งชีวิตในการทำงานของมนุษย์นี้แหละ คือตัวชี้วัดใหม่ของนักธุรกิจรุ่นใหม่ในการเข้าไปทำงานในองค์กร ถ้าองค์กรไหนเขาสามารถตรวจสอบได้เขาก็จะทำ เพราะการรับคนที่ไม่รู้หัวนอนปลายเท้า ถือว่าเป็นการเสี่ยงมหาศาล อาจเผลอไปรับโจรเข้ามาทำงานโดยไม่รู้ตัว

จะสังเกตว่าในใบสมัครงานของทุกบริษัทจะมีช่องกรอกประวัติการทำงาน ช่องสุดท้าย ถ้าเราเปลี่ยนงาน เขาจะถามว่าเปลี่ยนงานเพราะอะไร ถ้าใครเผลอตอบไม่ดี เขาจะถือเป็นเรื่องใหญ่ เช่น เปลี่ยนงานเพราะได้เงินเดือนน้อย เพราะเจ้านายไม่ดี เพราะบริษัทไม่ดี

บางคนเปลี่ยนงานบ่อยมากจนผิดสังเกต ทำงานไม่ถึงปี หรือแค่ปีสองปี ก็เปลี่ยนงานแล้ว คนสัมภาษณ์เขาจะตั้งข้อสังเกตว่า คนนี้น่าจะมีปัญหา ทำงานจับจด ไม่มีความอดทน หรือเห็นแก่เงินที่มากกว่า

ถ้าเป็นแบบนี้ก็ถือว่ามีทัศนคติที่ไม่ดี คงไม่มีบริษัทไหนอยากรับเข้าทำงาน

เพราะฉะนั้น ในการสัมภาษณ์เข้าทำงานจะถือว่าเป็นการวันตัดสินชะตากรรมของชีวิตทุกคน เป็นวันที่ต้องแต่งตัวให้เหมาะสมกับการสมัครงาน การเดิน การนั่ง การยกมือไหว้ การตอบคำถาม ทุกอิริยาบทจะถูกจับตาตลอดจากผู้สัมภาษณ์

มีทัศนคติที่ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

เพราะเป็นการวัดทัศนคติทุกชนิด ทัศนคติในการดำรงชีวิต ทัศนคติในการทำงาน ทัศนคติต่อเพื่อนร่วมงาน บางครั้งไปเจอการแกล้งถามเพื่อให้เราเกิดอารมณ์ เกิดความโกรธ ทั้งดูถูกถากถาง ทั้งลองวิชา แล้วดูปฏิกิริยาของเรา

บางองค์กรใดให้ความสำคัญกับการรับพนักงานว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เป็นวันเดียวที่สามารถวัดทัศนคติในการทำงานว่าจะไปกันรอดหรือไม่ จะได้คนดีมาร่วมงานหรือไม่

คนเราเก่งอย่างเดียวไม่มีประโยชน์ จะต้องดีด้วย เพราะความเก่งสอนได้ แต่ความดีสอนยาก ยิ่งถ้าเป็นนิสัยติดตัวจนเป็นสันดานจะแก้ยาก และถ้าไปอยู่องค์กรไหนก็จะทำให้องค์กรนั้นสั่นคลอน ไปทำความล้มเหลว ไปกอบโกยผลประโยชน์ ไปทำให้คนทะเลาะเบาะแว้งกัน ไปเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี

 

เราจะปลูกค่านิยมที่ดีในชีวิตอย่างไร

ต้นไม้พันธุ์ดีรากดีก็จะได้ต้นไม้ที่แข็งแรง เติบใหญ่ออกดอกออกผล แตกกิ่งก้านสาขา ทำให้คนปลูกชื่นใจฉันใด การปลูกค่านิยมที่ดีให้มนุษย์ก็ฉันนั้น

พ่อแม่ทุกคนเมื่อมีลูก ก็ฟูมฟักทะนุถนอมอยากให้ลูกเก่ง อยากให้ลูกดี อยากให้สวย อยากให้แข็งแรง ไม่งอแง อยากให้ลูกโตขึ้นเป็นคนดีของสังคม เป็นคนร่ำรวย มีอำนาจวาสนาบารมี เป็นที่พึ่งของคนในครอบครัว

เพราะฉะนั้นผู้ลิขิตชีวิตที่แท้ของเราคนแรกก็คือพ่อแม่ ซึ่งเป็นต้นแบบความคิด นิสัย ทัศนคติ พฤติกรรม ของลูกๆ ทุกคน ถ้าพ่อแม่ดี ครอบครัวอบอุ่น คอยสอนคอยติดตามประคับประคอง คอยตักเตือน ก็ถือว่าได้เปรียบไปมากแล้ว

 

ค่านิยมที่ดี เริ่มจากที่บ้าน ครูดี เพื่อนดี

เมื่อโตขึ้นก็ต้องไปโรงเรียน ถ้าโชคดีได้ครูดีที่ไม่เพียงแต่สอนความรู้ แต่ยังสอนหรือให้คำปรึกษาเรื่องชีวิต นิสัย ระเบียบวินัย คอยทำโทษถ้าทำผิด ให้รางวัลถ้าทำดี

ถ้าใครโชคร้ายได้โรงเรียนที่ไม่ดี ครูไม่ดี เพื่อนไม่ดี ก็จะได้พบแต่สิ่งไม่ดี ทัศนคติไม่ดี ความเชื่อไม่ดี นิสัยไม่ดี เปรียบกับต้นไม้ที่ได้คนเลี้ยงไม่ดี ดูแลไม่เป็น ไม่เอาใจใส่ ต้นไม้ก็หงิกๆ งอๆ แห้งเหี่ยวอับเฉา

สมัยเด็กเรายังโชคดีได้เรียนโรงเรียนคอนแวนต์ ซึ่งมีโบสถ์พระเยซู มีแม่พระ มีมาแมร์ มาเซอร์ ถึงเราจะไม่ได้นับถือคริสต์แต่ก็ได้เข้าโบสถ์ ซึ่งเป็นสิ่งสวยงาม พิธีสวยงาม ร้องเพลงกันไพเราะ สอนให้ทำความดี รู้จักอดออม มีระเบียบ รักความสะอาด และรักสามัคคีกัน เวลาคริสต์มาสทุกปีจะมีงานโรงเรียนมีของขวัญสวยงามมากมาย สนุกและอบอุ่น จนทุกวันนี้ยังจำได้ไม่ลืมเลือน เป็นความประทับใจ

จึงนับได้ว่า บ้าน โบถส์ โรงเรียน เป็นจุดเริ่มต้นของผู้สร้างค่านิยมที่ดี ทัศนคติที่ดี ความเชื่อที่ดี และทำให้เกิดนิสัยที่ดี แม้จะเป็นชาวพุทธที่เคารพบูชาพระพุทธเจ้า รักและปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ แต่บุญคุณของโบสถ์คริสต์ และครู มาเซอร์ หรือซิสเตอร์ ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รอดมาเป็นคนดีในสังคมทุกวันนี้ได้

ความจริงง่ายๆ คือคนที่ทำงานในองค์กร เพียงแต่ถือคำสอนของพระพุทธเข้าง่ายๆ 5 ข้อ คือ ศีลห้า แค่นี้ก็เอาตัวรอด และเป็นที่อยากได้ของทุกองค์กรแล้ว

บริษัทต้องการพนักงานที่ไม่มีใจ คิดอิจฉาทำร้ายกัน ทะเลาะเบาะแว้งกัน พนักงานที่ไม่คอร์รัปชั่น โกง เบียดเบียน และเอาเปรียบบริษัท พนักงานที่ไม่สร้างความวุ่นวายในเรื่องชู้สาวทำให้องค์กรปั่นป่วน พนักงานที่โกหก รายงานเท็จ ปิดบัง พูดจาเลอะเทอะ เพ้อเจ้อ พูดหยาบคาย และพนักงานที่ไม่ติดสุรายาเมา ติดการพนัน ติดยาเสพติด          ทั้งหมดในทางพุทธเราเรียกว่า “ศีล” คือ ข้อห้าม การถือศีลที่ถูกต้อง จะต้องถือศีล ทั้งกาย และวาจา ถ้าได้ใจด้วยก็วิเศษเลย

อีกส่วนเป็นธรรมะ คือข้อควรปฏิบัติ ที่เราเรียกว่าคุณธรรมบ้าง จริยธรรมบ้าง แม้จะไม่ใช่ข้อห้าม แต่ก็เป็นค่านิยมแห่งชีวิตคนดี คนที่เป็นนายที่ดี คนที่จะทำให้บริษัทดี ในบางองค์กรเรียกว่า “วัฒนธรรมองค์กร” หรือ “ธรรมที่ทำให้องค์กรเจริญ”

องค์กรที่ดีจะมีวัฒนธรรมที่ดี ซึ่งข้อนี้จะเป็นส่วนสะท้อนมาจากผู้นำองค์กร หากผู้นำที่ดีมีคุณธรรม จริยธรรม บริษัทนั้นสะท้อนซึ่งความดี แต่หากถ้าผู้นำมีมิจฉาทิฐิ องค์กรก็จะเอนเอียงไปตามนั้น ซึ่งค่านิยมของคนทั้งองค์กรก็จะบิดเบี้ยวตามไปด้วย

 

“ความดีทั้งหลายในโลกเริ่มต้นจากตัวเรานี้เอง ถ้าตัวเราดี ครอบครัวก็ดี ถ้าครอบครัวเราดีสังคมก็ดี เมืองนั้นก็จะดี และโลกก็จะดีตามไปด้วย”

 

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ